เป็นธรรมดาของครอบครัวที่เมื่อลูกๆ โตขึ้น เข้าสู่วัยทำงานกันแล้วก็มีความต้องการที่จะมีพื้นที่ส่วนตัวอยู่ภายในบ้าน บางครอบครัวลูกๆ ก็แยกย้ายกันออกไปอยู่คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือ หอพัก ซึ่งสำหรับบางคนแล้วการแยกออกไปอยู่ภายนอกบ้านก็ทำให้คนเป็นพ่อ และแม่ อดเป็นห่วงลูกๆ ไม่ได้
นี่จึงเป็นที่มาการออกแบบของบ้าน Recessed Residence ที่ตั้งใจออกแบบพื้นที่ให้แยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนระหว่างพ่อกับแม่และลูก ราวกับเป็นสองหลังติดกัน ซึ่งภายในแต่ละส่วนต่างก็มีการออกแบบที่แตกต่างกันเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี งานนี้ออกแบบโดย วิน-ธาวิน จาก WARchitect
ความต้องการ และความจำกัดของพื้นที่
ทางคุณพ่อคุณแม่ต้องการสร้างบ้านสองหลังในพื้นที่ทั้งหมด 1 ไร่ โดยหลังแรกเป็นของคุณพ่อคุณแม่เอง ที่ทำไว้รองรับในช่วงวัยเกษียณ ส่วนอีกหลังสร้างขึ้นไว้ให้กับลูกที่กำลังเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งความแตกต่างแรกก็คือสไตล์ของคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากได้รูปแบบคลาสสิกดูอลังการสง่างาม แต่กลับกันในส่วนของลูกอยากได้สไตล์แบบมินิมอล หรือ สไตล์แบบ มูจิ แบบเรียบเนี้ยบ
“การออกแบบบ้านสองหลังมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่พื้นที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ที่ดินนี้จึงก่อสร้างได้เพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด เพราะมีกฎหมายระยะร่น และห้ามสร้าง หรือปลูกต้นไม้ที่มีความสูงเกิน 3 เมตร การแยกอาคารออกเป็นสองหลังและมีสไตล์ที่แตกต่างกัน ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะจะมีเรื่องระยะร่นระหว่างบ้านสองหลังที่จะทำให้บ้านมีขนาดเล็กลง”
รวมบ้านเป็นหลังเดียวกัน
เมื่อความต้องการดูจะไม่เป็นไปตามที่ทางเจ้าของคิดไว้ แต่ในแง่การออกแบบแล้ว ปัญหาเหล่านี้ดูจะกลายเป็นสิ่งที่เหล่าสถาปนิกมักจะพบเจอกันอยู่บ่อยๆ แต่การวิเคราะห์ก็ทำให้ค้นหากุญแจดอกสำคัญในการไขปัญหาจนเจอ เพื่อให้ถูกใจ และเหมาะสมกับตัวเจ้าของบ้านมากที่สุด
“เราเลยเสนอว่าให้รวมบ้านเป็นหลังเดียวกัน และทำสไตล์บ้านให้ออกมาตรงกลาง ในความหมายก็คือไม่ได้ให้อยู่ระหว่างกลางของคลาสสิกกับมินิมอล แต่เราต้องตีความสไตล์นั้นๆ ตามความหมายที่เจ้าของเข้าใจออกมา เช่น ความอลังการ เห็นแล้วดูหรูหราดูสง่า แต่ยังมีความน้อย และเรียบง่าย เราเลยถอดคิ้วบัวของสไตล์คลาสสิกมาใช้ ออกมาเป็นรูปแบบหยึกหยักมาใช้เป็นไอเดียในเรื่องของฟาซาด นำเสนอรูปแบบใหม่ให้กับเจ้าของ ซึ่งในส่วนนี้ทุกคนในบ้านก็ดูชื่นชอบกัน”
หน้าบ้านปิดทึบ และฟาซาดย่อมุม
การออกแบบอาคารด้านหน้าทางเข้าสถาปนิกเลือกที่จะทำให้อาคารปิดทึบทั้งหมด เพราะไม่มีฟังก์ชันส่วนใดที่ต้องหันออกมาทางหน้าบ้าน และไม่มีวัตถุประสงค์ของวิวที่ดี จึงทำให้หน้าตาบ้านออกมาทึบ ทำให้เรานึกถึงอาคารมิวเซียมศิลปะที่มักจะชอบทำเรียบๆ และปิดทึบ
“การที่เราทำอาคารให้ทึบนอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแล้ว ในอีกแง่หนึ่งคือ กันโจร เนื่องจากบริเวณมุมของบ้านมีสะพานที่สามารถกระโดดลงมาภายในบ้านได้ ขณะเดียวกันความทึบ ยังยาวต่อเนื่องเพื่อใช้กันแดดอีกด้วย เพราะบ้านหลังนี้ไม่ต้องการเห็นแสงอะไรแบบนั้น หน้าบ้านจึงเหลือแค่ประตูย่อมุมที่เมื่อเข้าไปแล้วจะพุ่งตรงไปยังสวนในร่มขนาดเล็ก และทะลุไปยังสนามหญ้าขนาดใหญ่”
ไฮไลท์สำคัญของบ้านหลังนี้ก็คือฟาซาดที่สถาปนิกได้ไอเดียมาจาก สถาปัตยกรรมคลาสสิก ซึ่งสถาปนิกได้แรงบันดาลใจนี้มาจากความต้องการของเจ้าของเอง สถาปนิกจึงหยิบการย่อมุม และบัวมาทำเป็นแพทเทิร์นใหม่ให้กับฟาซาดของบ้าน มีลักษณะนูนและลดหลั่นกันเป็นระดับขั้น ทำให้ภาษาของสถาปัตยกรรมมีความเป็นอัตลักษณ์ นอกจากจะกันแสงแดดไม่ให้ความร้อนเข้ามาในบ้านแล้ว แสงแดดยังส่องกระทบลงมาที่ฟาดซาดทำให้เกิด แสงและเงาที่ดูงดงาม
บ้านหนึ่งหลังที่มีฟังก์ชันสองหลัง
ฟังก์ชันภายในบ้านหลังนี้ประกอบไปด้วยส่วนของพื้นที่ของลูก ประกอบไปด้วย ห้องนั่งเล่นแบบหลุม และห้องครัว และในชั้นสองเป็นส่วนของห้องนอน และพื้นที่ทำงาน ในส่วนของพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่ จะมีห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องนอน และในชั้นสองจะเป็นห้องพระ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของลูก และคุณพ่อคุณแม่ ถูกแยกกันอย่างชัดเจนเสมือนเป็นบ้านสองหลังแต่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
“เมื่อเข้ามาภายในบ้านจากช่องประตูตรงกลาง ทางซ้ายมือจะเป็นส่วนของลูก และขวามือจะเป็นส่วนของพ่อแม่ ทั้งสองส่วนนี้แบ่งโถงทางเข้าแยกกันให้มีพื้นที่ของตัวเอง โดยพื้นที่ของลูกจะออกแบบให้เป็นห้องเดี่ยว เพราะคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยชอบการแบ่งย่อยห้องเท่าไหร่นัก อยากให้ห้องดูเป็นชิ้นเดียวกันมีความดูเพล็กซ์ และให้ฟังก์ชันอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่แบ่งแยกด้วยการเล่นระดับ เสริมด้วยคอร์ทยาร์ดให้เป็นจุดเด่นของบ้านด้วยต้นหมากฟอร์มสวย ถัดมาที่บันไดราวกันตกแบบกระจกเป็นตัวเชื่อมระหว่างระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 ที่ดูเหมือนชั้นลอยเป็นส่วนของห้องนอน ถัดมาจะเป็นส่วนทำงานที่มีชั้นวางที่ล้อไปกับฟาซาดภายนอกอีกด้วย”
“ในฝั่งคุณพ่อคุณแม่ การเดินขึ้นลงในวัยเกษียณบ่อยๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องดี ฟังก์ชันทั้งหมดจึงต้องอยู่ในบริเวณชั้น 1 และทำบรรยากาศให้ดูอบอุ่นเหมือนอยู่คาเฟ่ แต่พื้นที่ห้องนอน กับ พื้นที่รับแขกอยู่ติดกัน เราจึงออกแบบให้ประตูห้องนอนเป็นแบบบานหมุนที่เรียบเนียนไปกับผนัง เมื่อแขกเข้ามาก็จะเข้าใจว่าพื้นที่ในบ้านมีเพียงเท่านี้ นอกจากว่าจะเป็นแขกที่จะมาพักค้างคืนก็จะมีห้องรองรับอยู่ แต่ต้องให้เจ้าของบ้านเป็นคนเปิดให้เท่านั้น จะเห็นว่าในฝั่งพ่อแม่จะไม่ได้เล่นระดับ มีเพียงแค่บันไดขึ้นไปบนชั้นสองแต่ก็ทำให้มีความทึบ และดูแข็งแรงเพื่อให้การจับพยุงตัวเป็นไปได้สะดวก และมั่นใจ”
การเลือกใช้วัสดุ
พื้นผิวของอาคาร และภายในสถาปนิกเลือกใช้สีขาวทั้งหมด เพื่อให้บ้านดูมีความอบอุ่นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะเสริมความหรูหราในพื้นที่ของลูกด้วยกระเบื้องหินอ่อน และปูกระเบื้องยางลายไม้ ถัดมาในส่วนของพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่จะให้บรรยากาศอบอุ่นแบบผู้ใหญ่ด้วยการใช้กระเบื้องเอ็นจิเนียลายไม้ฝานทำมุม 45 องศา เพื่อให้สามารถเข้ามุมแบบเฉียงได้ นอกจากนี้ยังใช้เฟอร์นิเจอร์สีไม้ และสีครีมให้ดูกลมกลืนไปกับทุกๆ ส่วนอีกด้วย
การออกแบบบ้านที่โรงเรียนไม่มีสอน
“ฟังก์ชัน และความต้องการของเจ้าของบ้านทุกๆ หลังจะถูกบอกเล่ามาอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แถมยังเติมความต้องการเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่งานออกแบบจะออกมาดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับไหวพริบ หรือการต่อรองของผู้ออกแบบเอง ที่มองว่าเรายังรักษารูปแบบของการดีไซน์ของเราได้ขนาดไหน โดยที่เราไม่ได้ไปลดทอนความต้องการของเขา แต่เราต้องบอกข้อดี และข้อเสียในการออกแบบ และก่อสร้าง ว่าทางเจ้าของรับได้ไหม เพื่อให้เขาตัดสินใจ โชคดีที่เราได้เจ้าของบ้านที่เข้าใจ และเชื่อใจเราในการเลือกสรรสิ่งต่างๆ ให้กับบ้านหลังนี้ รวมไปถึงผู้รับเหมาที่ทำให้งานเราออกมาดี ถึงแม้จะมีการล่าช้าไปบ้าง แต่โดยรวมก็เป็นที่น่าพอใจ งานออกแบบบ้านเป็นงานเซอร์วิส เราจะประนีประนอม รักษาน้ำใจกัน วันแรกจนวันเสร็จให้แฮปปี้ไปตลอด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่โรงเรียนไม่มีสอน”
Architect/Interior/Landscape by WARchitect
Category : Private Residence
Area : 650 sq.m.
Photographer : Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!