จากวาทกรรม “I like the idea of a ruin philosophically. Life is a ruin” ของ Ricardo Bofill สถาปนิกชาวสเปนระดับตำนานจากแคว้นคาตาลุนญา แสดงให้เห็นถึงการที่เขาหลงใหลในสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ที่ถูกทิ้งร้างอย่างสุดขั้ว เขาได้มองลึกลงไปถึงรายละเอียดภายในซากอาคารโครงสร้างคอนกรีต และสัมผัสได้ถึงสุนทรียะความงามที่ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวของสัจจะวัสดุ การรับรู้เชิงพื้นที่ภายในที่โอ่อ่า โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมขนาดมหึมา หรือแม้กระทั่งแสงและเงาที่ตกกระทบผ่านช่องแสงภายในอาคาร สิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการที่สถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าวที่ถึงแม้ว่าจะข้ามผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน แต่ก็ยังความงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์อยู่เสมอ
อย่างที่ทราบกันว่า Brutalism Architecture คือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น มีลักษณะทางกายภาพที่ทึบตันใหญ่โต ใช้วัสดุประเภทคอนกรีตหล่อในการออกแบบ การลดทอนรายละเอียดของผนังอาคาร รวมถึงการใช้รูปทรงเรขาคณิตในการออกแบบตามแนวคิดแบบ Modernism โดยส่วนมากจะเป็นอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ที่แสดงออกถึงนัยยะทางการเมือง หรืออาจจะคล้ายกับอนุเสาวรีย์ที่ดูแปลกตาราวกับสิ่งปลูกสร้างจากนอกโลก
โดยหากมองในยุคปัจจุบันสถาปัตยกรรมรูปแบบดังกล่าวได้ล่วงเลยผ่านเวลามาเกือบครึ่งทศวรรษ รายละเอียดบางอย่างได้ทรุดโทรมและเสื่อมถอยตามกาลเวลา แต่ถึงกระนั้น การรับรู้เชิงพื้นที่และลักษณะทางกายภายที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรมที่ถึงแม้ว่าจะถูกทิ้งร้างแต่ก็ยังคงมีความสวยงามอย่างน่าทึ่ง โครงสร้างที่ใหญ่โตและพื้นผิวที่สง่างามของสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ยังคงดูมีสเหน่ห์และน่าหลงใหลเสมอ ส่งผลให้สถาปนิกจำนวนมากต้องการบูรณะอาคารเหล่านี้ให้กลับมาให้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง
คำถามว่า ทำไมเราถึงต้องทำการปรับปรุงสถาปัตยกรรมแบบ Brutalism?
“นั่นอาจจะเป็นเพราะการรื้อถอนมันทิ้งจะทำเกิดการสูญเสียคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รวมถึงสิ้นเปลืองพลังงานและวัสดุ” วาทกรรมนี้กล่าวโดย Anne Lacaton สถาปนิกชาวผรั่งเศสรางวัล Pritzker Architecture Prize ในปี 2021 ที่มีแนวคิดการนำสถาปัตยกรรมกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขั้นตอนรื้อถอนอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบูรณะมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและต้องการความละเอียดในการทำงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องอาศัยสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญในโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบคอนกรีตดั้งเดิม รวมถึงความเข้าใจในสภาพแวดล้อมเชิงกายภาพ สุนทรียะการรับรู้เชิงพื้นที่และอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่ออาคาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชั่นการใช้งานให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน
สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนในการคืนชีวิตให้กับอาคารสถาปัตยกรรมอันสง่างามแต่ได้รับความทรุดโทรมในอดีตให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ในวันนี้จะขอกล่าวถึงสองผลงานสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ที่ถูกทิ้งร้างและได้ทำการบูรณะในยุคสมัยที่ต่างกันด้วยวิธีการต่างๆที่น่าสนใจจนมาให้ฟังกัน
La Fabrica
โรงงานอุตสาหกรรมร้างขนาด 31,000 ตารางเมตร ชานเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครึ่งที่หนึ่ง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบ Brutalism ที่ถูกทิ้งร้างมานานและได้ถูก Ricardo Bofill ซื้อในปี 1973 จากการที่เขาได้เข้าสำรวจอาคารแห่งนี้ครั้งแรกและเกิดความหลงใหลในรูปแบบสถาปัตยกรรม จากนั้นเขาได้ทำการบูรณะเพื่อจะให้สถานที่แห่งนี้เป็นสตูดิโอสถาปัตยกรรม แกลลอลี่ และบ้านพักอาศัยส่วนตัวที่ชื่อว่า La Fabrica โดย Bofill ได้ทำการแปรสภาพจากโรงงานอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาใส่เสปซโปรแกรมมิ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างและฟังก์ชั่นการใช้งานของเขา โดยเริ่มจากขั้นตอนการสำรวจโครงสร้างอาคารและรื้อถอนองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่จำเป็นออก โดยการใช้ Jackhammer และระเบิดไดนาไมต์ ในการค้นหาห้องลับที่ซ่อนในอาคารที่ถูกทิ้งร้างเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างส่วนต่างๆ ในอาคาร รวมถึงการปิดพื้นที่ในส่วนที่เป็นอันตราย การตรวจสอบพื้นที่ห้องเครื่องยนต์ และยุ้งฉาง Silos ที่ไม่ได้ใช้งาน
ส่วนบนของโรงงานได้ถูกเปลี่ยนฟังก์ชั่นเป็นพื้นที่พักผ่อน ห้องสมุด และห้องนอน ที่ต่อเติมชุดหน้าต่างและซุ้มโค้งขนาดใหญ่เส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา เพื่อเปิดรับกับแสงธรรมชาติผ่านผ้าม่านสีขาวบางที่เชื่อมโยงเสปซภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน รวมถึงการติดตั้งโครงสร้างบันไดใหม่เพื่อเชื่อมพื้นที่ของโถงดับเบิลเสปซอันโอ่อ่าแต่มีการแบ่งฟังก์ชั่นการใช้งานของพื้นที่ได้อย่างลงตัว ส่วนชั้นกลางของโรงงานได้ทำการปรับปรุงเป็นห้องรับประทานอาหารโทนสีชมพู โดยมีการตกแต่งผนังด้วยกระเบื้องพื้นสีโทนแดง – ส้ม อันฉูดฉาดและมีการตกแต่งผนังและฝ้าเพดานด้วยแพทเทินแบบโมร็อกโกดั้งเดิม โดยโต๊ะรับประทานอาหารให้ความรู้สึกราวกับแท่นหินที่ทำจากหินอ่อนสีแดง Alicante และได้เลือกใช้ Iconic เฟอร์นิเจอร์จาก Antonio Gaudi สถาปนิกบรมครูชาวสเปน นำมาออกแบบใหม่และจัดวางลงในพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เสปซที่เกิดขึ้นแลดูมีความสวยงาม Timeless ไร้กาลเวลา
โถงบันไดวนได้รับการออกแบบให้มีเส้นสายที่แปลกตาและทาสีใหม่โทนสีม่วงไล่ระดับ เมื่อกระทำกับแสงธรรมชาติจะทำให้เกิดการรับรู้เชิงพื้นที่แนวดิ่งที่สวยงาม และจำนำพาไปสู่พื้นที่ทำงานส่วนสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมของ Bofill ชื่อว่า Taller de Arquitectura ซึ่งตั้งอยู่ใน Silos ของโรงงาน มีทั้งหมดสี่ชั้นและเชื่อมต่อกันด้วยบันไดเวียนอย่างลงตัว ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เหล็กและกระจกที่มีกลิ่นอายจากยุค Modernism ห้องโถงหลักของโรงงานได้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นเป็นห้องประชุมและห้องจัดแสดงนิทรรศการที่เปิดโล่งเชื่อมหากันได้ โดยเสปซภายในที่โอ่อ่าและมีเพดานสูงถึง 10 เมตร ซึ่งมีผนังคอนกรีตดิบคงไว้ซึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ความสวยงามของโรงงานอุตสาหกรรมดั้งเดิมพร้อมกับหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดรับกับภูมิทัศน์ที่จัดสวนด้วยพืชพันธุ์อย่าง ยูคาลิปตัส ต้นปาล์ม ต้นมะกอก อย่างสวยงาม โดยบริเวณชั้นใต้ดินได้ปรับปรุงเป็นส่วนแกลเลอรี่และห้องเก็บเอกสาร ส่วนยุ้งฉาง Silos ที่ไม่ได้ใช้งาน พื้นที่ส่วนดาดฟ้าและผนังอาคารได้ถูกปกคลุมด้วยไม้เลื้อยพันธ์พื้นเมืองสีเขียว สิ่งเหล่านี้ทำให้อาคารยังแลดูคล้ายกับซากปรักหักพังลึกลับที่ชวนค้นหา
การบูรณะกินเวลากว่า 40 ปี และได้ใช้ช่างฝีมือจำนวนมากในการปรับปรุงอาคารแห่งนี้ โดย Bofill ได้แรงบัลดาลใจจากแนวคิด Surrealism และ Modernism ถ่ายทอดลงในขั้นตอนการออกแบบ โดยที่ยังคงกลิ่นอายของโรงงานอุตสาหกรรมไว้อย่างลงตัว ทำให้เกิดรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆที่น่าสนใจอย่างเช่น ซุ้มโค้งรอบประตูและหน้าต่างที่มีเส้นสายราวกับยูโทเปียในจินตนาการ รูปแบบและทิศทางของแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามายังเสปซภายในผ่านช่องหน้าต่างอย่างสวยงาม รวมถึงระนาบเปลือกอาคารที่สลับซับซ้อนเป็นรูปทรงเรขาคณิตแปลกตาและถูกปกคลุมด้วยพื้นที่สีเขียวราวกับป้อมปราการในเทพนิยาย โดยทั้งหมดนี้ Bofill ได้เปรียบเปรยอาคารแห่งนี้ว่าเป็นดั่งผลงานประติมากรรมทางศิลปะชิ้นเอกที่ไร้กาลเวลามากกว่าเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรม
Boston City hall
การปรับปรุงอาคารศาลาว่าการเมืองบอสตัน (Boston City Hall) เป็นตัวอย่างการบูรณะอาคารสถาปัตยกรรมคอนกรีตแบบ Brutalist ที่น่าสนใจอีกครงการหนึ่ง เหตุเพราะเป็นการผสานผสานการโปรแกรมมิ่งของอาคารให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานตอบสอนกับความต้องการในยุคปัจจุบัน รวมถึงการออกแบบแสงสว่างที่ชาญฉลาดทำให้ช่วยขับเอาโครงสร้างสถาปัตยกรรมให้มีความโดดเด่น และเสปซภายในอาคารที่ใหญ่โตแบบ Brutalism ให้มีความสง่างามและแลดูร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
อาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1968 โดยสถาปนิก Kallmann, McKinnell และ Knowles โดยได้การยอบรับว่าเป็นอาคารแบบ Brutalist ที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยเป็นโครงสร้างตอนกรีตขนาดมหึมาและซับซ้อนในทั้งภายในและภายนอก ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฟอร์ของวิหารพิรามิด Ziggurat ไร้ยอดแหลมของชาวสุเมเรียน พื้นที่ส่วนกลางของอาคารเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ โดยได้เปิดการใช้งานมามากกว่า 50 ปี ซึ่งก่อนการปรับปรุง การใช้งานพื้นที่ต่างๆ ในอาคารจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา อย่างเช่นการเข้าถึงที่ค่อนข้างลำบาก และความเชื่อมโยงของพื้นที่ที่มีความแออัด ตลอดจนความต้องการใช้งานของพื้นที่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงระบบความปลอดภัยที่มีความล้าสมัย โดยชาวเมืองบอสตันบางคนเชื่อว่าอาคารนี้ไร้คุณค่าและต้องการให้มีการรื้อถอนออกไป
อย่างไรก็ตาม Marty Walsh นายกเทศมนตรีของเมืองบอสตันได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการฟื้นฟูอาคารแห่งนี้ โดยเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และจิตใจของพลเมือง และต้องการทำให้อาคารแห่งนี้เป็น landmark แห่งใหม่ของเมืองบอสตัน โดยไม่ต้องการปรับปรุงหรือรื้อถอนโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่าครึ่งทรรศวรรษออกไป มติที่ประชุมจึงเสนอให้ใช้วิธีการที่ละเอียดอ่อนอย่างการออกแบบแสงสว่างเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และบุคลิกของอาคาร โดยได้ Lam Partner สตูดิโดออกแบบแสงสว่างชื่อดังมาทำการใหม่ทั้งหมด ซึ่งได้ทำการติดตั้งไฟ LED ที่มีสีสันหลากหลายทั้งภายในและภายนอกซึ่งจะทำให้แสงและเงาที่ตกกระทบจากเปลือกอาคารคอนกรีตที่มีความสลับซับซ้อนดูสวยงามมากยิ่งขึ้นและเหมือนเป็นการไฮไลต์ฟอร์มของอาคารให้มีความโดดเด่นต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงเสปซภายในที่ได้การออกแบบแสงสว่างใหม่ ในการติดตั้ง Ambient light เพิ่มเข้าไปทำให้การรับรู้เชิงพื้นที่แลดูมีมิติและมีบรรยากาศทันสมัย และงดงามอย่างน่าชื่นชม
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของพื้นที่โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างของอาคารดั้งเดิม แต่เน้นคุณลักษณะที่สำคัญและปรับโครงสร้างแค่บางส่วนให้เข้ากับโปรแกรมมิ่งที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม Utile, Inc. โดยได้เก็บรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามเอาไว้อย่างเช่น ฝ้าเพดานคอนกรีตแบบตาราง รวมถึงผนังภายในและเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ และได้ทำการปรังปรุงพื้นที่ส่วนต้อนรับใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
โดยขยายทางสัญจรให้มีขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำหรับการใช้งานสาธารณะให้มีความแตกต่างจากบริบทเดิม โดยเลือกใช้วัสดุจำพวกได้และมีฟอร์มที่โค้งมน อย่างเช่นแผนกต้อนรับ คอฟฟี่บาร์ และม้านั่งยาว และการเลือกใช้วัสดุปิดผิวจำพวกกระเบื้องโทนสีส้มแดงและอิฐมาใช้ในการออกแบบภายใน ทำให้เกิดความ contrast ระหว่างวัสดุที่สวยงามกันอย่างลงตัว อีกทั้งยังมีการเพิ่มพื้นที่รักษาความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการสแกนด้วยเอกซเรย์
อาคาร Boston City Hall ครั้งหนึ่งได้ถูกขนานนามว่าเป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่มีรูปร่างทึบตันและน่าเกลียดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่จากการที่ได้ปรับปรุงใหม่ทำให้ได้รับรางวัลในหมวดสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์ยอดเยี่ยมจาก A+Award รางวัลดังกล่าวถือเป็นการพลิกฟื้นอย่างน่าทึ่งสำหรับอาคารดังกล่าวและได้รับการชื่นชมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของเมืองบอสตันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูอาคารสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ให้กลับมาใช้ใหม่ เป็นงานที่ซับซ้อนและท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้แรงงาน สถาปนิก และช่างฝีมือชำนาญการมากกว่าการก่อสร้างอาคารใหม่ รวมถึงจะต้องมีการตรวจสอบสภาพอาคารก่อนดำเนินการ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน การชุบชีวิตมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist ให้สามารถกลับมาใช้ได้ใหม่พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พื้นที่ในเสปซที่ใหญ่โต รวมถึงการพัฒนาทางด้านสุนทรียะความงามทั้งภายในและภายนอก ผสมผสานกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามของอาคารดั้งเดิม จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้ให้ดูมีความร่วมสมัยและน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น
Picture & Reference
la fabrica – ricardo bofill’s time capsule factory renovation
Cement Factory by Ricardo Bofill
https://www.dezeen.com/2019/10/22/boston-city-hall-renovation-utile/
Redemption: The “World’s Ugliest Building” Just Won a Major Architecture Award
https://www.archdaily.com/967215/the-refurbishment-and-adaptive-reuse-of-brutalist-architecture
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!