Akha Ama coffee (la fattoria)
ร้านกาแฟที่ไม่จำเป็นต้องถ่ายรูปสวย แต่เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและธรรมชาติ

“สเปซ ที่เราตั้งใจออกแบบให้เกิดขึ้นมันมีความเป็นธรรมชาติ มีความเป็นชีวิต เพราะฉะนั้นคนในละแวกนั้น เขาไม่จำเป็นต้องแต่งตัวสวยเพื่อเข้าไปถ่ายรูป ก็ใช้บริการได้แบบไม่รู้สึกเขอะเขิน” แป๊ก-ศตวัชร ขัตลิวงศ์ สถาปนิกจาก Blankstudio เล่า

เราคุ้นชินกับบรรยากาศที่ว่า ร้านกาแฟหรือคาเฟ่ยุคใหม่ กลายเป็นหมุดหมายให้เหล่า Café Hopping แวะเวียนเข้าไปเช็คอิน ถ่ายรูป แข่งกันหามุมสวยเพื่ออวดโลกโซเชียล แต่สำหรับ Akha Ama coffee (la fattoria) พระสิงห์ สาขาใหม่ในย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ กลับต่างออกไปด้วยการออกแบบให้คาเฟ่ในอาคารพาณิชย์สองคูหาแห่งนี้ผสานไปกับชุมชนโดยรอบ พร้อมสะท้อนถึงแนวคิดธรรมชาติ ตามหัวใจสำคัญของแบรนด์ ‘อาข่า อ่ามา’ ที่พากาแฟและเกษตรกรไทยดังไปไกลถึงระดับโลก

เดิมที ร้านกาแฟอาข่า อ่ามา มีสาขาเดิมในย่านพระสิงห์ โดยตั้งอยู่ห้องริมในอาคารพาณิชย์ชุดเดียวกัน ก่อนจะหมดสัญญาและย้ายมาอยู่คูหาช่วงกลาง ขยายจากหนึ่งเป็นสองคูหา และมาพร้อมโจทย์ที่ต้องการให้มู้ดแอนด์โทนของร้านไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป บาร์กาแฟจะต้องเป็นหัวใจหลัก รวมไปถึงความต้องการให้พื้นที่ด้านหน้าอาคารลดขอบเขต เป็นโอเพ่นแอร์สเปซ ต้อนรับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาให้เข้ามานั่งพัก ปลูกต้นไม้ได้บ้าง เพื่อเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองไม่มากก็น้อย

เพื่อตอบความต้องการของทางเจ้าของและบริบทของเมืองเก่าเชียงใหม่เอง ทีมสถาปนิกเลือกนำวัสดุจากธรรมชาติอย่าง อิฐ มาสร้างคาแร็กเตอร์หลักของอาคารให้กลมกลืนไปกับชุมชนโดยรอบ โดยวัสดุนี้จะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของอาคารโดยไม่ใช้ระนาบของผนัง รั้ว เป็นการแบ่งกั้น ตามโจทย์ของทางเจ้าของ

ตั้งแต่ถนนทางเดิน จนถึงหน้าอาคารจึงถูกดีไซน์โดยใช้ อิฐ เป็น Feature wall ที่มีลูกเล่นของการก่อเพื่อดึงความน่าสนใจและยังมีฟังก์ชันซ่อนอยู่ “เราไม่อยากทำแค่อิฐโชว์แนว พยายามนึกถึงอะไรที่มันแตกต่าง เราออกแบบอิฐวางขวางด้วยฟังก์ชันที่มันยื่นออกมา เพื่อให้คนที่เขามายืนคุยกันด้านนอกสามารถวางแก้วกาแฟได้ เราอยากให้บรรยากาศที่เกิดขึ้นมันชิล ๆ มีคนมานั่ง ยืนคุยกัน ทำให้ร้านมันดูมีความเคลื่อนไหว มีชีวิตชีวาตลอด”

เมื่อเริ่มเข้าสู่ภายใน เราจะเห็นเคาน์เตอร์บาร์ถูกจัดวางไว้ที่ใจกลางพื้นที่ เพื่อให้ทุกโต๊ะโดยรอบที่จัดไว้ริมผนัง สามารถมองเห็นได้จากทุกมุมมอง พร้อมดีไซน์ให้เป็นทรงโค้งคล้ายเลข 0 เพื่อลดเหลี่ยมมุมทำให้ร้านดูมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ซึ่งเส้นโค้งนี้จะไหลต่อเนื่อง นำไปใช้ออกแบบบริเวณชั้นลอย โดยมีพื้นโค้ง และเส้นสายผนังตกแต่งทรงโค้งเข้ามาสร้างความกลมกลืนให้กับตัวร้านทั้งหมด คอนทราสกับอาคารด้านนอกซึ่งเน้นใช้ฟอร์มสี่เหลี่ยม หรือทรงเรขาคณิตเพื่อให้เชื่อมโยงกับอาคารภายนอกทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เนื่องจากเป็นกฏหมายเทศบัญญัติในเขตเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่ ความแตกต่างของภายนอกและภายในนี้เอง จึงสร้างความรู้สึกน่าสนใจให้ผู้ที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใน รับรู้ได้ถึงบรรยากาศรีแล็กซ์ที่เปลี่ยนไปจากสเปซ โดยยังคงมีอิฐ เป็นวัสดุหลักที่เชื่อมโยงภายนอกภายในให้กลมกล่อมเป็นเรื่องราวเดียว

เมื่อมีอิฐในโทนสีส้ม วัสดุในโทนสีอื่นจึงต้องเข้ามาเติมแต่งให้ลงตัว โดยผู้ออกแบบเลือกสีดำของเหล็ก และสีเทาของคอนกรีตเข้ามาผสมผสานเพื่อให้มู้ดของร้านไม่สว่างและมืดจนเกินไปตามโจทย์แรก และด้วยความที่วิวด้านหลังไม่น่ามองเท่าไรนัก จึงออกแบบให้เป็นผนังทึบทั้งหมด และเปิดพื้นที่ชั้นลอยด้านหลังซึ่งเป็นส่วนต่อเติมให้กลายเป็นสกายไลท์ที่สามารถนำแสงสว่างธรรมชาติเข้ามาจากทางด้านหลังอาคารได้

บริเวณผนังตกแต่งที่ออกแบบในเส้นโค้ง เชื่อมโยงกันคล้ายภูเขาซึ่งรีเรทไปถึงที่มาของแบรนด์ อาข่า อ่ามา ที่เริ่มต้นจากครอบครัวชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า โดยยังคงมีการนำอิฐมาสร้างแพทเทิร์นให้น่าสนใจ ผ่านลวดลายของการถักทอสะท้อนไปถึงลายผ้าของเผ่าอาข่า “เราออกแบบแพทเทิร์นของผนังอิฐ เพราะตัวอาคารเดิมมันจะเห็นโครงสร้างในแนวคาน เสาที่โผล่ออกมา เกิดเส้นของแนวพวกนี้ที่ไม่น่ามอง เราเลยทำแพทเทิร์นปิดเข้าไป โดยใช้อิฐที่มีหลายขนาด แนวเสาคานจะเป็นอิฐแบน ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ เป็นอิฐขนาดหนาหน่อย เวลาแสงไฟตกกระทบ มันก็เกิดความน่าสนใจได้มากขึ้นด้วย”

Something More : ผนังอิฐบริเวณสกายไลท์ด้านหลัง ยังเล่นแพทเทิร์นในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการนำกระเบื้องหลังคาที่เหลือใช้จากอีกสาขา มาออกแบบให้วัสดุเก่ากลับมามีประโยชน์อีกครั้ง

ภายในร้านกาแฟบริเวณชั้นหนึ่งและชั้นลอย ออกแบบให้เป็น Double Volume Space ทำให้บริเวณชั้นลอยสามารถโปร่งโล่งมองเห็นบาร์กาแฟได้ มีบรรยากาศที่ไม่ได้แยกกันชัดเจนระหว่างชั้นลอยและชั้นล่าง หรือแม้แต่ผู้คนด้านล่างเองก็ยังมองเห็นบรรยากาศพูดคุยกันของผู้คนในทั่วทั้งร้าน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร้านดูมีชีวิตชีวาตลอดวัน

“ตอนออกแบบ เราตั้งใจไม่ให้มันไปในแนวทางที่ถ่ายรูปสวยเพียงอย่างเดียว คือมันก็มีคนที่เขามาเที่ยวถ่ายรูปเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ปะปนไปกับคนในละแวกใกล้เคียงที่เขาแวะเวียนมาซื้อกาแฟ นั่งเล่น เราชอบบรรยากาศตรงนั้น มันเป็นภาพที่ดูมีชีวิตดี มันเป็นธรรมชาติ เพราะเราอยากให้บรรยากาศเป็นตัวดึงเขามาสัมผัสมากกว่า” คุณแป๊กกล่าวเสริม

Area : 200 ตารางเมตร
Architect & Interior : Blankstudio
Design Team : ศตวัชร ขัตลิวงศ์, ทักษพร ศรีประดิษฐ์ และวัณณา ตีรณวัฒนากูล
Structural Design : พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Photograph : PanoramicStudio

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้