BAAN LAMPHUN
บ้านแบบนอร์ดิกในบริบทและสภาพแวดล้อมแบบไทย

บนที่ดินเปล่าผืนหนึ่งในจังหวัดลำพูน ครอบครัวขยายกำลังมองหาบ้านหลังใหม่ที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยและจำนวนสมาชิกที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยมีบ้านหลังเดิมของคุณแม่และเครือญาติเป็นเพื่อนบ้านที่รายล้อมในละแวกใกล้เคียง นำมาสู่โจทย์ของการออกแบบ BAAN LAMPHUN ที่มีพื้นที่ส่วนกลางระหว่างสมาชิกในครอบครัวใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญของบ้าน ผสมผสานกับการหยิบนำสถาปัตยกรรมนอร์ดิกอันเป็นที่ชื่นชอบส่วนตัวของเจ้าของมารีดีไซน์ใหม่ให้เข้ากับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมแบบไทย ๆ โดยมีทีมสถาปนิกท้องถิ่นเหนืออย่าง blankstudio เป็นผู้ออกแบบ

วางผังผ่านบริบทของทิศและมุมมอง

บ้าน 2 ชั้น ขนาด 260 ตร.ม. ถูกออกแบบให้พื้นที่ส่วนกลางอย่างส่วน Living กลายเป็นหัวใจ โดยทีมสถาปนิกออกแบบให้พื้นที่ส่วนนี้อยู่บริเวณกลางบ้านทางทิศเหนือหันหน้าเข้าสู่สระว่ายน้ำ เชื่อมต่อสู่ชานบ้าน ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ สวนและทางเดินเล็ก ๆ เชื่อมต่อไปสู่บ้านคุณแม่ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านทั้งสองหลังยังคงไปมาหาสู่ หรือมานั่งเล่น รับประทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ได้ในบางครั้งครา   

โดยพื้นที่ Living ในส่วนนี้ ยังออกแบบให้ห้องนั่งเล่นมีขนาดใหญ่ และเป็นลักษณะ Open Plan ที่เชื่อมต่อโซนโถงนั่งเล่น แพนทรี พื้นที่รับประทานอาหาร และโถงบันไดให้กลายเป็นพื้นที่เดียว อีกทั้งออกแบบให้มีฝ้าเพดานสูงเป็น Double Volume Space เพื่อความโปร่ง โล่ง และสร้างปฏิสัมพันธ์พื้นที่ในแนวราบและแนวตั้ง โดยหากเดินขึ้นบริเวณชั้นสอง ก็ยังคงมองเห็นและพูดคุยกับสมาชิกที่อยู่ด้านล่างของบ้านได้

ถัดไปไม่ไกล ด้านหลังแพนทรีเป็นที่ตั้งของครัวไทย ซึ่งสถาปนิกจัดวางส่วนเซอร์วิสต่าง ๆ ของบ้านอย่างห้องซักรีด ห้องเก็บรองเท้าไว้ทางทิศตะวันตกและทิศใต้เนื่องจากเป็นโซนที่รับความร้อนเต็ม ๆ ส่วนบริเวณหน้าบ้านติดริมถนนที่ค่อนข้างมีระยะประชิดกับรั้ว กลายเป็นพื้นที่จอดรถ และพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ ที่ช่วยแต่งแต้มบรรยากาศให้บ้านมีชีวิตชีวามากขึ้น อีกทั้งสถาปนิกยังเลือกวางห้องเก็บของโดยก่อเป็นห้องผนังทึบ ไร้ซึ่งช่องเปิด เพื่อสร้างขอบเขต เป็นบัพเฟอร์ทั้งในเรื่องมุมมองและเรื่องเสียง กั้นระหว่างพื้นที่ใช้สอยหลักภายในให้มีความเงียบสงบ และเป็นส่วนตัวมากที่สุด

สถาปัตยกรรมนอร์ดิก ในบริบทแบบไทย

ในส่วนของรูปลักษณ์หน้าตาบ้าน สถาปนิกเล่าว่าทางเจ้าของมีภาพ Reference ในใจมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นออกแบบ โดยภาพนั้นเป็นบ้านในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนอร์ดิกที่เรียบง่าย โชว์วัสดุและโครงสร้างที่โดดเด่นด้วยตัวของมันเอง ทีมสถาปนิกจึงนำโจทย์ที่ได้รับมาตีความต่อผ่านการรีดีไซน์ให้เข้ากับบริบทแบบไทย และส่งเสริมฟังก์ชันการใช้งานภายในที่ค่อนข้างลงตัว โดยเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก เนื่องจากสามารถออกแบบสแปนได้ยาวถึง 7.6 เมตร ทำให้พื้นที่ Living ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านโปร่งโล่ง รับแสงธรรมชาติได้ทั้งวัน เรียบและสะอาดตา โดยไม่มีเสาและคานขนาดใหญ่มาบดบังมุมมอง

ในขณะที่ชั้นล่างเป็นโครงสร้างคอนกรีตที่รับน้ำหนัก และสร้างความคอนทราสตัดกับพื้นที่สองชั้นได้อย่างมีคาแร็กเตอร์ โดยสถาปนิกยังเล่าเสริมว่า หนึ่งในความยากและความสนุกของการออกแบบบ้านหลังนี้ คือการทดลองใช้วัสดุร่วมไปกับเจ้าของ มีการปรึกษากันในทุกขั้นตอน โดยทางเจ้าของบ้านเองก็มีคอนเนคชันช่างก่อสร้างพื้นถิ่น ที่ช่วยเติมแต่งเรื่องราวให้บ้านหลังนี้ออกมาสมบูรณ์แบบตามที่ต้องการ

ความเป็นนอร์ดิก ถูกถอดเส้นสายมาตีความใหม่ ด้วยการออกแบบบ้านทรงหน้าจั่วที่ล่นระยะชายคาเข้าสู่ภายใน ทำให้มีพื้นที่ระเบียงภายนอกเพิ่มขึ้นอีกทั้งยังเพิ่มระยะให้แสงและความร้อนส่องเข้าถึงพื้นที่ห้องนอนภายในได้น้อยลง ซึ่งบริเวณนี้จะเปลี่ยนวัสดุโดยกรุด้วยไม้ เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลและลดความแข็งของสถาปัตยกรรมให้อ่อนลง

บ้านหลังนี้ไม่มีอะไรที่หวือหวา แต่รายละเอียดที่น่าสนใจกลับซ่อนอยู่ในเส้นสายของการออกแบบได้อย่างเรียบง่าย นั่นคือการถอดความแก่นสถาปัตยกรรมนอร์ดิกที่สถาปนิกเลือกนำมาใช้ ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าเส้นแนวตั้งของรั้ว วงกบช่องเปิด เส้นของแนวเสา หรือแม้แต่แผ่นเมทัลชีท เส้นสายทั้งหมดเรียงร้อยต่อเนื่องกัน ผ่านการควบคุมการออกแบบก่อสร้างอย่างลงตัว ซึ่งภายใต้รายละเอียดความเรียบง่ายเหล่านั้น ยังสะท้อนตัวตนของเจ้าของซึ่งเป็นคนใส่ใจในรายละเอียด แต่เรียบง่ายและไม่ซับซ้อนอีกด้วย

Owner : คุณพณิชย์ พลมณี
Area : 260 sq.m.
Architects : blankstudio อุกฤษฏ์ บวรสิน และคุณทักษพร ศรีประดิษฐ์
Structural Design :พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Photo : PanoramicStudio

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้