ARTi Architect ออฟฟิศสไตล์โมเดิร์นกับพื้นที่สีเขียวที่มอบความสุขให้กับคนทำงาน

ในยุคสมัยหนึ่งสเปซของพื้นที่ทำงานถูกแบ่งออกเป็น ‘ล็อก’ สำหรับพนักงาน และมีพื้นที่ หรือห้องเฉพาะของหัวหน้า แยกออกมาเป็นสัดส่วน โต๊ะทำงานกลายเป็นที่บ่งบอกสถานะของคนทำงานให้เข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องอธิบายอะไร จะเห็นได้ว่าระยะห่างของสถานะการทำงานทำให้ปฏิสัมพันธ์ของแต่ละคนก็ถูกแบ่งออกไปพร้อมกันด้วย

แต่ในทุกวันนี้ในหลายๆ ที่ทำงานเริ่มปรับเปลี่ยนไป และทำลายตัวกั้นของสเปซเหล่านั้นออกไป สร้างพื้นที่เปิดมากขึ้น และไม่จำกัดอยู่แค่โต๊ะประจำอีกต่อไป ที่ทำงานสมัยใหม่กลับมองไปที่ความสุขของคนทำงานเป็นหลัก เช่นเดียวกับ ARTi Architect ออฟฟิศสถาปนิกสไตล์โมเดิร์นที่ออกแบบสเปซของการทำงานให้มีองค์ประกอบพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพื้นที่บนตึกแถวชั้น 3 กลับไม่ใช่ข้อจำกัดในการปลูกต้นไม้ของออฟฟิศนี้เลย

แรงบันดาลใจจากพื้นที่เก่าอันคุ้นเคย

จากประสบการณ์ทำงานที่ DBALP เป็นระยะเวลา 4 ปี สถาปนิกได้ซึมซับบรรยากาศของสถานที่ทำงาน ที่เป็นโกดังเก่ารีโนเวทใหม่ พร้อมเปิดรับวิวด้านหน้าอาคารด้วยสนามหญ้า และต้นไม้ เมื่อ ARTi Architect กำลังวางแผนที่จะสร้างออฟฟิศ จึงได้หยิบเอาบรรยากาศที่คุ้นเคยเหล่านี้นำมาเป็นไอเดียในการออกแบบพื้นที่ ชั้น 3 ของตึกแถว ย่านเจริญราษฏร์

“การมองหาพื้นที่เปิดโล่งมีอาคารชั้นเดียว แบบ DBALP คงเป็นไปได้ยาก เราเลยนึกถึงตึกหลังหนึ่งที่เราเคยออกแบบร้านอาหารไว้ ทางเจ้าของร้านจึงชักชวนให้มาดูพื้นที่ในตึกแถว ปรากฏว่าในพื้นที่บริเวณชั้น 3 ขนาด 140 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ที่กำลังเหมาะสม และใช้แนวคิดในการออกแบบออฟฟิศให้มีพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ด้านนอก ให้ความรู้สึกว่าพื้นที่นี้ไม่ได้อยู่บนชั้น 3”

ออฟฟิศที่ต้อนรับด้วยความเป็นธรรมชาติ

ด้วยพื้นที่ของออฟฟิศอยู่ในพื้นที่ชั้น 3 การติดตั้งไม้สักไปบนเสา การใช้คอบเบิลสโตนปูพื้นภายนอก หรือการเลือกใช้วัสดุพืชพันธุ์นั้นอาจจะไม่ใช่ความท้าทายอะไรมากมายนัก  แต่ความท้าทายอยู่ที่การก่อสร้างกระถางต้นไม้ไม่ให้เกิดการรั่วซึมลงไปในพื้นที่ชั้นล่าง และภายนอกอาคาร สถาปนิกจึงออกแบบโครงสร้างเหล็กไว้บริเวณใต้กระถาง ตามด้วยวีว่าบอร์ด และปิดด้วย DRAINAGE CELL เพื่อป้องกันการรั่วซึมจากท่อน้ำที่ตั้งเวลาไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ยังออกแบบให้กระถางต้นไม้แบ่งแยกระหว่างพื้นที่ทางเดิน และระเบียงไม้สำหรับพักผ่อนให้แยกออกจากกันอีกด้วย

“การเลือกวัสดุพืชพันธุ์ต้องให้เหมาะสมกับแสงแดดทิศตะวันออก และทิศเหนือ และต้องมีรูปฟอร์มเพื่อสร้างสเปซด้วย อย่างไม้ประธานที่เลือกใช้สำหรับต้อนรับในส่วนทางเข้า คือ มอนสเตอร่า พร้อมเสริมเลเยอร์ชั้นล่างด้วยต้นเสน่ห์จันทร์แดง ที่มีลักษณะใบที่คล้ายคลึงกัน และเลือกใช้พืชคลุมดินเป็นเฟิร์นเงิน ถัดมาจะใช้ ยี่โถสีขาว ไทรใบด่าง ฟิโลเดนดรอนใบมะละกอ และคลุมดินด้านล่างด้วย เศรษฐีใหม่ ต้นขาไก่ พร้อมปลูกเฟิร์นไว้บนเพดานเพื่อให้เป็นเส้นระดับที่สองของการปลูกต้นไม้ ในกระถางสุดท้ายจะอยู่ติดกับโต๊ะทำงานของเรา เราเลือกใช้ริบบิ้นเขียวคลุมดิน ตามด้วยเล็บคุดเขียว ทั้งชนิดด่าง และถ้วย”

ในรายละเอียดสถาปนิกเลือกจบวัสดุระหว่างพื้น Cobble Stone และกระจก ด้วยหินกรวด เพื่อให้เกิดมิติความตื้นลึก ระหว่างวัสดุและวัสดุ

ดึงดีไซน์จากจิตวิญญาณความเป็นโมเดิร์น

ในพื้นที่ออฟฟิศทั้งหมด 140 ตารางเมตร  สถาปนิกออกแบบด้วยการร่นผนังกระจกให้มีระยะด้านหน้าเป็นระเบียงชายคา พร้อมออกแบบกระถางสำหรับปลูกต้นไม้ขนาบข้างไปกับทางเดินเข้าไปยังออฟฟิศ และระเบียงพักผ่อน หากเข้ามาสู่ภายในจะมีฟังก์ชันที่ประกอบไปด้วย ห้องประชุม พื้นที่ทำงาน และพื้นที่พักผ่อน

“เราเป็นออฟฟิศที่ดีไซน์สไตล์โมเดิร์น และมินิมอล ภายในอาคารจึงต้องสื่อสารกลับไปถึงยุคสมัยโมเดิร์น เราจึงเลือกหยิบวัสดุอย่าง Glass block ที่เริ่มผลิต และพัฒนาตั้งแต่ช่วงปี 1890 และได้รับความนิยมในช่วงปี 1920 มาใช้ทั้งในบริเวณพื้น และผนังของทางเข้า ต่อมาคือคานเหล็ก และผนังเหล็ก ที่เลือกใช้เพราะมันสวยงามด้วยตัวของมันเอง และผนังเหล็กก็มีฟังก์ชันที่สามารถยึดติดกับแม่เหล็ก เพื่อใช้สำหรับติดงานในการนำเสนอได้อีกด้วย ในอีกส่วนหนึ่งเราเลือกใช้วัสดุลามิเนตลายไม้ขนาดยาวเพื่อไม่ให้มีรอยต่อหลังชั้นวางโมเดล ที่สื่อให้นึกถึงบรรยากาศถึงธรรมชาติ ราวกับเรากำลังนั่งทำงานอยู่ติดกับพื้นดิน และวัสดุชิ้นสุดท้ายคือ กระเบื้องลอนใสโปร่งแสง นำมาติดตั้งไว้บนคานเหล็กระหว่างท้องพื้นชั้นบน และกระจก ทำให้ได้ความบรรยากาศภายในรู้สึกดูอบอุ่นขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

เฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกับเยอรมันพาวิลเลียน

การเสริมบรรยากาศให้ดูอบอุ่นมากขึ้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับวัสดุอื่นๆ คือ เฟอร์นิเจอร์ สถาปนิกเลือกใช้โต๊ะไม้จามจุรีขนาดใหญ่ให้สัมผัสถึงธรรมชาติ และความยิ่งใหญ่ ไว้ในห้องประชุม  พื้นหลังของห้องประชุมตั้งโมเดลอาคารอยู่บนชั้นวางไม้ทาสีลายสัก และเมื่อออกมาจากห้องประชุมจะพบกับบริเวณโต๊ะทำงานของสถาปนิก ที่เลือกใช้เป็นหินอ่อนสีเขียว ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างผ่อนคลาย รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ

“ไฮไลท์สำคัญของออฟฟิศนี้ก็คือ บริเวณพื้นที่พักผ่อนที่มี เก้าอี้บาร์เซโลนา ออกแบบโดย มีส ฟาน เดอร์ โรห์ และลิลลี ไรซ์ ซึ่งถูกติดตั้งไว้ที่เยอรมันพาวิลเลียนด้วย ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรจะสื่อสารถึงความเป็นโมเดิร์นได้ดีเท่ากับเก้าอี้ตัวนี้อีกแล้ว”

ออฟฟิศไม่เหมือนอาคารอื่น

“การออกแบบออฟฟิศสิ่งที่แตกต่างจากการออกแบบอาคารอื่นๆ คือเรื่องแสง เพราะสถาปนิกต้องใช้สายตาเป็นหลัก ถ้าแสงไม่พอหรือมีไม่เพียงพอจะส่งผลประทบต่อการทำงาน เราเลยเลือกใช้การเปิดกระจก และควบคุมแสงด้วยม่านม้วน ในเวลากลางคืนก็ต้องติดตั้งหลอดไฟที่ให้ค่าแสงสว่างที่เพียงพอ นอกจากนี้ ในเรื่องของการวางโซนนิ่งเราจะไม่แบ่งเป็นห้องๆ แต่จัดวางให้เป็นแบบ open plan คือสามารถมองเห็นการทำงาน และพูดคุยปรึกษากันได้ทุกช่วงเวลา และที่สำคัญเรื่องของพื้นที่สีเขียวที่นอกจากสร้างอากาศที่ดี และบังแดดแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานได้อีกด้วย หรือหากรู้สึกเมื่อยล้าจากการทำงานก็สามารถเดินออกไปยืดเส้นยืดสายบริเวณระเบียงสีเขียว เราอยากให้ออฟฟิศนี้เหมือนมาทำงานที่บ้านรุ่นพี่ บ้านเพื่อน ซึ่งมันให้ความรู้สึก และบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่าการทำงานออฟฟิศแบบทั่วๆ ไป

Area : 140 m²
Manufacturers :  Thaistoneshop, Wiboon Sintanavevong, Yongyuansawmill
Contractor : WAWARA design

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn