Castle Acre เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเมือง Norfolk ประเทศอังกฤษ เมืองแห่งประวัติศาสตร์นี้เป็นที่ตั้งของ Castle Acre Priory และ Castle Acre Castle and town walls ซากโบราณสถานอันโด่งดังซึ่งถูกทำลายจากเหตุการณ์การรุกรานของชาวนอร์มัน (Norman Conquest) ในยุคศตวรรษที่ 11
ไม่เพียงเท่านั้นที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของซากสถาปัตยกรรมอย่าง Water Tower แทงก์น้ำสนิมเขรอะซึ่งถูกทิ้งร้างหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ถึงแม้ว่าแทงก์น้ำนี้จะไม่ได้มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์เท่าไรนัก แต่มันก็เป็นตำนานบทหนึ่งที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แถมวันนี้แทงก์น้ำเก่านั้นก็กำลังกลับมาโด่งดังในวงกว้างอีกครั้ง แต่ในฐานะบ้านผสานการอนุรักษ์ที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร
Water Tower เป็นโปรเจกต์รีโนเวทแทงก์น้ำเศษเหล็กให้กลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ที่เก๋และอบอุ่น การปรับโฉมครั้งนี้กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกและเริ่มได้รับรางวัลด้านสถาปัตยกรรมในหลายเวที แรกเริ่มเดิมทีแทงก์น้ำนี้ตั้งอยู่บริเวณสนามบินท้องถิ่นของเมือง ก่อนจะถูกย้ายมาตั้งกลางทุ่งเวิ้งว้างเงียบสงบสวยงามในภายหลัง
ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์เท่าไรนักแต่ชาวเมืองก็ผูกพันและกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กอย่างไม่เป็นทางการของเมืองนี้ไปโดยปริยาย ว่ากันว่าคนท้องถิ่นแถบทุกคนต่างก็เคยปีนป่ายขึ้นไปเล่นบนนี้ในยามเด็กกันทั้งนั้น ก่อนที่แทงก์น้ำนี้จะถูกทำลายลงในปี 2015 ก็ได้ถูกประมูลไปโดย Dennis Pedersen ช่างภาพชาวอังกฤษที่หลงใหลและนึกเสียดายสถาปัตยกรรมเศษเหล็กที่มีคุณค่านี้ เขาเลยตัดสินใจเสนอแผนปรับเปลี่ยน Water Tower ให้กลายเป็นบ้านพักของเขาเองโดยที่ยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมไว้
แผนการรีโนเวท Water Tower ได้รับการเห็นชอบจากชาวบ้านท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเนรมิตรแท็กง์น้ำสนิมเขรอะให้เป็นบ้านน่าอยู่ โดย Dennis Pedersen ได้เชิญบริษัทสถาปนิกอย่าง Tonkiu Liu ของสองพาร์ทเนอร์ Mike Tonkin และ Anna Liu ซึ่งเป็นเพื่อนของเขาเองมาจัดการออกแบบรีโนเวทใหม่ทั้งหมดโดยมีโจทย์สำคัญก็คือการรักษา Water Tower ไว้ในคราวเดียวกัน
Mike Tonkin ผู้เป็นสถาปนิกหลักนิยามสถาปัตยกรรมครั้งนี้ว่าเป็น Steampunk Style โชว์ความดิบเท่ในแบบ Rustic Industrial ผสมผสานกับความโฮมมี่ของงานไม้แสนเรียบง่ายในสไตล์ Scandinavian Minimalism โดยไฮไลท์โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นห้องด้านบนสุดที่เคยเป็นแทงก์น้ำเก่า ผู้ออกแบบจึงเลือกที่จะคงโครงสร้างและวัสดุดั้งเดิมของแทงก์น้ำไว้ ส่วนด้านนอกซ่อมแซมให้เป็นผนังผิวเรียบแล้วทาสีเทาใหม่ให้ดูเท่และสวยงาม ส่วนด้านในคงความดิบของโลหะขึ้นสนิมตามแบบเอกลักษณ์เดิมที่มันเป็น นั่นทำให้เป็นการตกแต่งภายในจากธรรมชาติของความเสื่อมที่ดูเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือน แถมยังเล่าอดีตผ่านรายละเอียดผุกร่อนนี้ได้ดีอีกด้วย
จุดเด่นของการปรับเปลี่ยนห้องนี้ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการเสริมแนวกระจกยาวโดยรอบห้องที่เรียกว่า Ribbon Window เพื่อลดความอึดอัดและเพิ่มความกว้างของห้องได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในได้อย่างดีเยี่ยม แถมเปิดมุมมองที่ทำให้เราสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบได้แบบ 360 องศา ซึ่งทางสถาปนิกยังบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากระดับน้ำในแทงก์โดยน้ำเอาเส้นบอกระดับตามธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบครั้งนี้ให้กลายเป็นแนวเส้นของกระจก นอกจากนี้ยังมีการเสริมส่วนพื้นให้เป็นหินขัดที่เข้ากันได้ดีกับสไตล์ดิบเท่ และในส่วนเพดานเป็นปูนฉาบเรียบสีขาวที่ทำให้ห้องดูโปร่งโล่งขึ้น พร้อมเสริมการเปิดช่องแสงด้านบนที่ปูกระจกใสทับเพื่อให้แสงลอดผ่านมาภายในช่วยทำให้ห้องดูสว่างขึ้นได้ดีทีเดียว
สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในการตกแต่งห้องส่วนด้านบนสุดนี้ก็เลือกใช้เก้าอี้หนังไปจนถึงเก้าอีที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบเป็นหลักเพื่อช่วยทำให้ห้องนี้มีเสน่ห์ในแบบ Rustic Industrial โดยห้องด้านบนนี้ออกแบบให้เป็นห้อง Living Room ที่ผสมผานกับ Kitchen Room เพื่อใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจกับวิวสวย ๆ ไปจนไว้จัดปาร์ตี้ชิลล์ได้ในคราวเดียวกัน แถมท้ายด้วยโซนดาดฟ้าด้านบนสุดที่ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นลานเอนกประสงค์พร้อมเสริมระเบียงให้ปลอดภัย สามารถขึ้นมานั่งพักผ่อน เดินชมวิว หรือจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติได้เช่นกัน
ลักษณะของ Water Tower จะออกแนวแคบและสูง ทางเจ้าของและสถาปนิกเลือกที่จะคงรูปทรงแทงก์น้ำดั้งเดิมไว้ ซึ่งกลายมาเป็นข้อจำกัดด้านพื้นที่และการออกแบบ แต่อีกมุมข้อจำกัดนี้ก็กลับกลายเป็นโจทย์ที่สนุกสำหรับการออกแบบพื้นที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้งานได้หลากหลายมากที่สุดด้วยเช่นกัน
อาคารในส่วนล่างที่ถัดมาจากห้องเอนกประสงค์ชั้นบนสุด ถูกแบ่งเป็น 3 ห้อง 3 ชั้น ที่ประกอบไปด้วยห้องนอน 2 ชั้น ซึ่งแต่ละห้องออกแบบให้เป็นชั้นลอยแทรกอยู่เพื่อสามารถนอกได้ 2 เตียง ส่วนชั้นล่าสุดเป็นห้องซักล้างผสานพื้นที่ครัวเล็ก ๆ และโซนนั่งเล่นในอีกอารมณ์ ในส่วนของโครงสร้างอาคารยังมีการอนุรักษ์โครงเหล็กดั้งเดิมของฐานแทกง์น้ำไว้แล้วผสานการออกแบบสมัยใหม่เข้าไปให้กลมกลืนกัน โดยอาคารส่วนล่างนี้ถูกออกแบบให้เป็นแท่งยาวในแนวดิ่งที่ปิดล้อมผนังทึบ 3 ด้าน แล้วผนังอีกด้านเลือกใช้เป็นกระจกใสบานใหญ่ตลอดแนวทั้ง 3 ชั้นแทน
ฟาซาดอาคารด้านกระจกใสบานใหญ่นี้เราจะเห็นรายละเอียดภายในบ้านที่แสนมีเสน่ห์ทั้งในยามกลางวันและกลางคืน กระจกใสยังทำให้แสงธรรมชาติส่องเข้าในตัวอาคารได้ดีอีกด้วย นอกจากจะทำให้แต่ละห้องสว่างและดูกว้างขึ้นแล้ว มันยังลดความอึดอัดของผู้อยู่อาศัยได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงทำให้คนด้านในเห็นวิวธรรมชาติที่สวยงามได้พร้อมกัน
สำหรับฟาซาด 3 ด้านที่เหลือนั้นเลือกปูแผ่นอลูมิเนี่ยมลอนโค้งลักษณะคล้ายหลังคาสังกะสีในบ้านเรา สีเงินและวัสดุคุณภาพเยี่ยมทำให้สถาปัตยกรรมนี้ดูโมเดิร์นและเรียบเท่ขึ้นเลยทีเดียว แถมฟาซาดด้านหนังยังเสริมรายละเอียดสุดเก๋ที่ตกแต่งเข็มนาฬิกาแบบเรียบง่ายเพื่อใช้บอกเวลาและทำให้ Water Tower นี้มีบทบาทสำหรับชุมชนขึ้นมาอีกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ใหม่ที่ออกแบบได้น่าสนใจทีเดียว
มาถึงในส่วนของการตกแต่งภายใน ด้านในนั้นเลือกใช้ไม้ CLT (Cross-laminated timber) ปูผนัง พื้น เพดาน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์บางส่วน พร้อมตกแต่งเฟอร์เจอร์ให้เข้ากันอย่างลงตัวทำให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายแบบ Scandinavian Minimalism ที่มีเสน่ห์ และงานไม้ที่เป็นอีกจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คือบริเวณบันไดด้านในที่ออกแบบในสไตล์บันไดวนโดยได้แรงบันดาลใจมาจากขดเปลือกหอยด้านในไปจนถึงลักษณะบันไดสไตล์คลาสสิกแบบโบราณ ซึ่งการออกแบบนี้ทำให้บ้านมีเสน่ห์ขึ้นมากทีเดียว
จากเศษเหล็กกลายมาเป็นบ้านท่ามกลางทุ่งหญ้าที่งดงามและน่าอยู่ นี่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการอนุรักษ์ในยุคนี้ที่กำลังเป็นเทรนด์น่าสนใจ การอนุรักษ์ในทิศทางใหม่นี้อาจไม่ใช่การเก็บของเดิมไว้ทุกอย่าง (ที่บางอย่างอาจไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นภาระได้) หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัยและการใช้งาน รวมถึงผสานการสร้างสรรค์ใหม่เข้าไปให้กลมกลืน เป็นชีวิตใหม่ที่ไม่ทิ้งรากเก่าและยังคงรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมไว้ได้อย่างดีเยี่ยมเช่นเคย
Information
Tonkin Liu : https://tonkinliu.co.uk/water-tower
Photo Credit
The Architectural Review : https://www.architectural-review.com/awards/new-into-old/water-tower-in-castle-acre-uk-by-tonkin-liu
Architects Journal : https://www.architectsjournal.co.uk/buildings/building-study-water-tower-restoration-and-conversion-by-tonkin-liu
RIBA : https://find-an-architect.architecture.com/tonkin-liu/london/the-water-tower
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!