ในปัจจุบัน การออกแบบและก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่งานดีไซน์และฟังก์ชันเท่านั้น แต่ยังมองถึงการฟื้นฟูจิตใจของผู้ใช้งาน และการคืนคุณค่าบางอย่างสู่สาธารณะจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของการออกแบบอาคารทั่วโลก
หนึ่งในอาคารเหล่านั้นคือ The PARQ ไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสใจกลางกรุงที่ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Life Well Balanced หรือการใช้ชีวิตอย่างสมดุล ที่พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตพร้อมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากการระดมทีมสถาปนิก ภูมิสถาปนิก อินทีเรียที่มาร่วมรังสรรค์ให้อาคารตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกมิติ งานศิลปะที่ตกแต่งในอาคารเองก็ยังได้รับความสำคัญ โดยคัดสรรผลงานระดับมาสเตอร์พีซมาจัดแสดงเพื่อให้คนเมืองได้เสพศิลปะในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องไปที่ไหนไกล
อาคารสุขภาพดีที่ยกระดับคุณภาพชีวิตตามมาตรฐาน WELL
หากถามว่า เพราะอะไร อาคารสำนักงานหรือรีเทลในลักษณะนี้ จึงต้องมีงานศิลปะมาตกแต่งด้วย?
นั่นเป็นเพราะ The PARQ เป็นอาคารที่ได้รับรอง LEED Gold v4 อันเป็นมาตรฐานระดับสากลในการสร้างอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งมั่นที่จะได้มาตรฐาน WELL Certification หรือก็คืออาคารสุขภาพดีที่ยกระดับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานอาคาร
ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งแต่กระบวนการวางแผน ออกแบบและก่อสร้างอาคาร โดยผ่านมาตรฐานจาก WELL ซึ่งทั้งหมดต้องดีตั้งแต่ Air (อากาศ), Water (น้ำ), Nourishment (สาธารณูปโภค), Light (แสง), Fitness (การออกกำลังกาย), Comfort (สภาพแวดล้อม) และ Mind (จิตใจ) ซึ่งแน่นอนว่าจิตใจดีย่อมเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ดี แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ‘งานศิลปะ’ ยังเป็นสิ่งจรรโลงจิตใจที่ WELL กำหนดไว้ตามมาตรฐาน The PARQ จึงจัดให้มี The PARQ Collection เป็น Art Features หรืองานศิลปะร่วมสมัยที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศ สร้างสุนทรียะให้กับผู้ที่แวะเวียนมาใช้งานอาคาร ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตหรือทำงานในอาคารนั้น ๆ ดียิ่งขึ้น
The PARQ x DRIFT
สองผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซที่ชวนมาแบ่งกันชมบนพื้นที่สาธารณะ
“เราเข้ามาสำรวจพื้นที่ เริ่มพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการสร้างตึก ตั้งแต่อาคารยังเป็นแค่แบบในกระดาษ วางแผนร่วมกันไปกับดีไซน์เนอร์สาขาอื่น ๆ เพื่อดูว่ามีพื้นที่บริเวณไหนบ้างที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นมันจะไม่ใช่การมาตกแต่งผลงานศิลปะทีหลัง แต่เรียกได้ว่าเป็น Site specific public art” คุณปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ The PARQ เริ่มต้นเล่า
คุณปุ๋มเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับแนวคิดและพื้นที่ของ The PARQ โดยเลือกพื้นที่จัดแสดงผลงาน The PARQ Collection ทั้ง 5 ชิ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง มองเห็น และดื่มด่ำกับผลงานได้ง่ายที่สุด เกิดเป็นโซนของการติดตั้งอย่างบริเวณจุดรับส่งหน้าอาคาร, Rooftop Garden, พื้นที่สำคัญอย่างออฟฟิศล็อบบี้ที่พนักงานต้องเดินผ่านเข้าไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นของทุกวัน รวมไปถึงโถงกลางของพื้นที่รีเทล
ก่อนจะนำมาสู่การร่วมมือกับศิลปินระดับโลกอย่าง DRIFT คู่หูศิลปินชาวดัชท์จากเมืองอัมสเตอร์ดัมที่ก่อตั้งโดย Lonneke Gordijn และ Ralph Nauta ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ผลงานของเขามักจะโดดเด่นในการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ ซึ่งจัดแสดงผลงานผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือระบบกลไกที่ออกแบบขึ้นเอง ภายใต้ความเรียบง่ายที่สร้างสุนทรีย์ จึงมีเบื้องหลังที่ซับซ้อนและละเอียดละออ ไม่ต่างจากการออกแบบอาคารของ The PARQ คุณปุ๋มจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะนำศิลปะระดับมาสเตอร์พีซที่จัดแสดงในพื้นที่สำคัญระดับโลก มาจัดแสดงให้คนไทยสามารถชื่นชมได้ง่าย ๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการจัดแสดงผลงานถาวรในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
Meadow
ประติมากรรมดอกไม้ที่ผสานเทคโนโลยีและความประณีตของงานฝีมือ
เริ่มกันที่ Meadow ผลงานชิ้นแรกจาก DRIFT จัดแสดงอยู่บริเวณล็อบบี้ส่วนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ไล่ระดับที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานอาคารได้มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ผลงานชิ้นนี้เป็นประติมากรรมศิลปะรูปทรงดอกไม้ที่ทำขึ้นจากความประณีตของงานฝีมือทั้งหมด ห้อยแขวนลงมาจากบริเวณเพดานสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานพื้นที่ โดยกลีบดอกไม้ทั้ง 7 จะหุบและเบ่งบาน ไล่ระดับความสูงต่ำไม่เท่ากันตามการออกแบบพื้นที่ โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์และระบบไฟที่ DRIFT ตั้งเวลาควบคุมแบบอัตโนมัติทั้งหมด สร้างบรรยากาศให้ที่นั่งในบริเวณนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า ไม่หยุดนิ่ง ช่วยเพิ่มความเพลิดเพลินใจและความสวยงามโดยสามารถมองเห็นได้จากชั้นหนึ่งและชั้นสองในมุมมองที่แตกต่างกัน
ผลงานศิลปะชิ้นนี้ยังมีการจัดแสดงแบบชั่วคราวและถาวรที่พิพิธภัณฑ์และศูนย์การค้าชั้นนำระดับโลก อย่างพิพิธภัณฑ์ Stedelijk ในกรุงอัมสเตอร์ดัม, พิพิธภัณฑ์ Superblue ในไมอามี, ศูนย์การค้า Landmark ที่ฮ่องกง และศูนย์การค้า Chodov Centre ในสาธารณรัฐเช็ก แต่สำหรับที่โครงการ The PARQ ศิลปินยังมีการออกแบบกลีบดอกไม้จากผ้าย้อมสี ซึ่งเลือกใช้โทนสีที่อ่อนโยนกลมกลืนกับความเป็นธรรมชาติ และอ้างอิงมาจากอินทีเรียดีไซน์ของอาคาร เพื่อให้ Meadow ชุดนี้มีวิธีการจัดวางที่พิเศษ มีความเฉพาะและกลมกลืนไปกับพื้นที่ ไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ ทั่วโลก
และเรายังแอบเห็นได้ว่า ผลงานชิ้นนี้ มีการวางระบบที่เป็นส่วนหนึ่งกับงานอาคารได้อย่างเรียบร้อยสวยงาม ซึ่งเป็นข้อแสดงว่าผลงานศิลปะได้รับความสำคัญไม่ต่างไปจากการออกแบบอาคารในขั้นตอนอื่น ๆ
Amplitude งานศิลปะที่สร้างความเพลินตาจากท่วงท่าของฝูงนกบิน
อีกหนึ่งผลงานจาก DRIFT คือ Amplitude ที่จัดแสดงอยู่บริเวณออฟฟิศล็อบบี้ของอาคารทั้งสองฝั่ง โดยผลงานศิลปะชิ้นนี้จัดแสดงขนาบยาวและแขวนลงมาจากฝ้าเพดานสูงโปร่ง ทั้งหมดออกแบบให้เคลื่อนไหวได้ราวกับฝูงนกบินที่เกิดขึ้นจากการตั้งค่าด้วยคอมพิวเตอร์ควบคู่กับการถ่ายน้ำหนักภายในหลอดแก้วใสด้วยชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นจากมืออย่างประณีต ความละเอียดลออยังถ่ายทอดผ่านการเคลื่อนไหวของนกแต่ละตัวที่มีท่วงท่าแตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันนั้นเมื่ออยู่รวมกันก็สร้างมูฟเมนท์ต่อเนื่อง สง่างามและสร้างความเพลิดเพลินตาให้กับผู้ที่ผ่านมาพบเห็น เพิ่มความรู้สึกสงบและผ่อนคลายแก่ผู้ชมและพนักงานออฟฟิศในช่วงก่อนเริ่มงานและหลังเลิกงาน
นอกจากนี้ศิลปินยังออกแบบเพื่อให้ผลงานมีความเป็น Site-specific Public Art เช่นเดียวกับงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ โดยได้ร่วมมือกับคุณวรรณฤทธิ์ พงศ์ประยูร นักดนตรีสมาชิกวง Stylish Nonsense ที่ช่วยประพันธ์ดนตรีขึ้นใหม่เพื่อบรรเลงคู่ไปกับชิ้นงาน โดยใช้เสียงเปียโนผสมผสานกับเสียงธรรมชาติของนกและสภาพแวดล้อม ประกอบกับการใช้ซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์
“นอกจากเราจะทำเนื้อหาคอนเทนท์เป็น text สำหรับใครที่สนใจอยากอ่านเรื่องราวของผลงานชิ้นนั้น ๆ เรายังมีภาพ มีวิดิโอที่ทำร่วมกับช่างภาพและผู้กำกับ ตาล – ธนพล แก้วพริ้ง ซึ่งนี่ก็เป็นความสนุกของฝ่าย Curator เอง กล่าวคือ เราจะทำยังไงให้สื่อสารเรื่องราวของผลงานชิ้นนั้นได้มากที่สุด” คุณปุ๋มเล่า
คุณปุ๋มยังเสริมว่า การทำงานร่วมกันกับ DRIFT นั้นสนุกมาก เนื่องจากทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มออกแบบ ทีมงานของสองศิลปินระดับโลกจะต้องมีการมาดูงาน ณ สถานที่จริงเพื่อนำไปวางระบบไฟ ก่อนจะดีไซน์ให้ลงตัว โดยทั้งหมดมีการติดตามความคืบหน้าร่วมกันตลอดเวลา “เราทำงานร่วมกันตั้งแต่ 0 -100 พอเขาติดตั้งเสร็จ โปรแกรมทุกอย่างสามารถรีโมทมาจากเนเธอร์แลนด์ได้เลย ซึ่งเขาจะมาสอนงานคนไทยเบื้องต้น เผื่อสำหรับการเกิดปัญหาเฉพาะหน้า สิ่งที่น่าสนใจมันเลยไม่ใช่แค่ผลงานขั้นสุดท้าย แต่รวมอยู่ในทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ”
“สภาพแวดล้อม ผู้คน ตลอดจนช่วงเวลาในปัจจุบัน ล้วนมีอิทธิพลต่อตัวตนและทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป การเผชิญหน้ากับสิ่งเล็กน้อย ต่างเพิ่มข้อมูลใหม่ ๆ ให้กับเรา ซึ่ง Amplitude และ Meadow ก็ได้มาจัดแสดงถาวรในกรุงเทพฯ สถานที่ซึ่งจังหวะชีวิตของแต่ละวันกำหนดขึ้นโดยวิถีเมืองไม่ใช่ธรรมชาติ เราจึงดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเมืองได้สัมผัสประสบการณ์ของจังหวะชีวิตที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น รวมไปถึงช่วงเวลาแห่งความสงบ ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม” สองศิลปินจาก DRIFT กล่าว
3 ผลงานจากศิลปินแนวหน้าของไทย
นอกจากผลงาน 2 ชิ้นจากศิลปินระดับโลกที่เรากล่าวไปข้างต้น The PARQ Collection ยังรวมถึง 3 ผลงานจากศิลปินแนวหน้าของไทย ด้วยการออกแบบเน้นวัสดุที่แตกต่าง แต่ยังคงอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ตีความจากเรื่องราวในธรรมชาติผ่านมุมมองและเทคนิคที่แตกต่างของศิลปิน
‘เกื้อกูล’ โดยพงษธัช อ่วยกลาง
ประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดรับส่งหน้าอาคาร สื่อถึงการทำงานและการใช้ชีวิตที่เป็นพลังเกื้อกูลกัน และยังมีรูปทรงที่ลื่นไหล ไปด้วยกันได้ดีกับการออกแบบอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งในการสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้น ยังมีความท้าทายในการทำโลหะสเตนเลสผิวกระจกให้มีชิ้นใหญ่ ไร้รอยต่อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสะท้อนถึงความลื่นไหล เชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกัน
‘The Cradle’ โดยอ้อ สุทธิประภา
ปกติแล้ว เราเห็นขอบเขตของงานเซรามิกเป็นเพียงชิ้นเล็ก ๆ แต่สำหรับผลงานชิ้นนี้ จุดเด่นอยู่ตรงที่การขยายขอบเขตวัสดุดินจากธรรมชาติอย่างเซรามิก ให้สามารถก่อสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สอดประสาน ถักทอจากชิ้นเล็ก ๆ ด้วยความบรรจง โดยอาศัยความพิถีพิถันตั้งแต่การออกแบบ คำนวณโครงสร้าง ไปจนถึงการประกอบเซรามิกเป็นชุดประติมากรรมที่สมบูรณ์
‘The Cocoon’ โดยสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์
งานประติมากรรมชิ้นสุดท้ายแตกต่างจากเพื่อน ด้วยการมีฟังก์ชันที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน โดยเป็นพื้นที่หลบมุมมานั่งพักผ่อนเพื่อสร้างความสงบระหว่างวันในการทำงาน การออกแบบได้แรงบันดาลใจจากรังไหม ส่วนพื้นผิวของชิ้นงานทำขึ้นจากสเตนเลส เพื่อสะท้อนภาพธรรมชาติโดยรอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างกลมกลืน รวมถึงภายในยังมีกระดิ่งที่สร้างเสียงในยามลมพัดคลอเบา ๆ สร้างความสงบได้ชั่วขณะ
Public Art in Public Space ความสำคัญของศิลปะในพื้นที่สาธารณะ
“การมีศิลปะในพื้นที่สาธารณะที่คนเข้าถึงง่าย ๆ มันส่งผลดีทั้งเรา คนที่ใช้ชีวิตในอาคาร ไปสู่ย่าน จนถึงเมือง ถึงประเทศ เพราะเรามองว่างานศิลปะเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งของคุณภาพการใช้ชีวิตของคน ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับงานศิลปะที่อยู่ในพื้นที่ของเขา เช่น พิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรี่ แต่ถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกทำให้เห็นเป็นปกติมากขึ้น เราเชื่อว่าก็จะมีงานศิลปะดี ๆ ที่มีคุณภาพให้เราเห็น แปลว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปในแกลอรี่ถึงจะได้เสพงานศิลป์ เราแค่มาช้อปปิ้ง มารับประทานอาหาร มาทำงานทุกวัน เราก็ได้เห็นงานศิลปะชั้นนำเช่นกัน นอกจากนั้นศิลปินเองก็มีโอกาสในการทำงานหลากหลายมากขึ้นด้วย” คุณปุ๋มทิ้งท้าย
ไม่ใช่เพียงความรู้สึกสุนทรีย์ ที่ได้เสพแนวคิดจากงานศิลปะทั้ง 5 ชิ้นที่เราได้รับในวันนี้ แต่การได้เห็นพื้นที่สาธารณะในประเทศไทยให้ความสำคัญกับงานศิลปะหรืองานดีไซน์ นับเป็นเรื่องแปลกใจที่น่ายินดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างที่ดีที่ช่วยต่อยอดสู่อนาคต ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง เราอาจได้เห็นผลงานศิลปะ แนวคิดด้านการออกแบบมากมายตามหัวมุมถนน ที่ดึงดูดให้คนเมืองสามารถสัมผัส ชื่นชมได้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับ The PARQ Collection ที่จัดแสดงอยู่ภายในอาคาร The PARQ แห่งนี้
เข้าเยี่ยมชมผลงานศิลปะ The PARQ Collection ครบทั้ง 5 ชิ้นได้แล้ววันนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ The PARQ ได้ทาง Facebook THEPARQBKK Instagram: @THEPARQBKK หรือเว็บไซต์ www.Theparq.com
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!