เราตื่นเต้นทุกครั้งที่จะได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้าน ด้วยความที่อยากสังเกตว่าบุคลิกและตัวตนของเจ้าของจะถ่ายทอดหรือสอดแทรกลงไปในงานสถาปัตยกรรมมากน้อยแค่ไหน บางหลังอาจเป็นเรื่องของสไตล์ เรื่องวิถีชีวิต หรือบางครั้งทั้งหมดนี้ก็ผสมผสานอย่างละหน่อย ออกมาเป็นที่อยู่อาศัยที่เรียกได้ว่าสั่งทำขึ้นเฉพาะคน ๆ นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มาเยือนขอนแก่นคราวนี้ เรามีโอกาสมานั่งคุยสบาย ๆ ในบ้านทรงกล่องสีขาวหลังใหม่ของคุณไก่-จันทนีย์ จิรัณธนัฐ สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณนัท-ณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน สถาปนิกสตูดิโอ JOYS ที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างงานดีไซน์ ความหลงใหล และวิถีชีวิตแสนธรรมดาของทั้งคู่
ห่วงความปลอดภัย บ้านจึงปิดล้อมอย่างเป็นส่วนตัว
เดิมทีนัทเป็นคนอุบลราชธานี ส่วนไก่เป็นคนเชียงใหม่ ทั้งคู่จึงเป็นคนต่างถิ่นที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมืองขอนแก่นแห่งนี้ ประกอบกับที่ไก่เป็นอาจารย์อาศัยอยู่ในที่พักภายในรั้วมหาวิทยาลัยและนัทซึ่งอาศัยในคอนโดในกรุงเทพมานานหลายปี ขอบเขตของการรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลมากนัก แต่เมื่อถึงเวลาย้ายมาสร้างบ้านใหม่ของตัวเอง โจทย์ตั้งต้นที่ทั้งคู่กังวลเป็นเรื่องแรก ๆ จึงเป็นเรื่องของ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว
“ตอนแรกเราอยากออกแบบให้มีคอร์ดข้างในบ้าน ส่วนข้างนอกทึบหมดเลย แต่ก็กลัวว่าถ้ามีคนแอบเข้ามาข้างใน มันจะไม่มีใครเห็น บ้านจึงต้องโพรเทคตัวเราได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมีความโปร่ง” คุณไก่เล่า
บ้านจึงถูกดีไซน์ให้มีกรอบล้อมรอบ ตั้งแต่เลเยอร์ของรั้ว คอร์ดบ้าน หรือการเลือกก่อผนังด้วยอิฐช่องลมรูปทรงเรียบ ๆ แต่จัดวางด้วยแพทเทิร์นพิเศษ ที่เมื่อเรียงตัวกันแล้วจะมีระยะของความลึกที่บดบังมุมมอง ทำให้คนที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นภายใน ต่างจากภายในที่ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ภายนอกได้อย่างชัดเจน
การวางผังบ้านยังเปิดมุมมองและทางเข้าจากสวน ทำให้คนภายในบ้านสามารถมองเห็นวิวลานหญ้า รับลมธรรมชาติได้บ้าง โดยไม่ต้องกังวลสายตาจากบ้านหลังอื่นจากระแวกใกล้เคียง อีกทั้งบริเวณฟาซาดอาคารในส่วนที่หันออกสู่สวน แพทเทิร์นอิฐช่องลมยังถูกเปลี่ยนเป็นบานเปิดขนาบยาวเทอเรซ เพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งให้กับบ้าน หากเปิดก็สามารถเชื่อมพื้นที่จากสวนสู่ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ไปถึงสเปซด้านข้างตัวบ้าน หรือหากปิดก็สามารถสร้างขอบเขตปิดล้อมบ้านได้อย่างแน่นหนาและปลอดภัย
Something More : เสริมในเรื่องของความปลอดภัยและการระแวดระวัง บริเวณรอบบ้านจึงดีไซน์ให้มีกรวดรายล้อม เพื่อให้รับรู้ได้ถึงเสียงเมื่อมีคนเดิน หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในเขตบ้าน อีกทั้งยังเพิ่มความแห้ง โดยกั้นขอบเขตระหว่างพื้นดินกับพื้นคอนกรีตของบ้าน ช่วยลดแมลงไปได้อีกทางหนึ่ง
หนอนหนังสือตัวยง
“ปริมาณอาจจะไม่ได้ดูเยอะมากนะ แต่เรารู้สึกว่ามันสำคัญสำหรับเราสองคน” นัทพูดถึงหนังสือหนาบางที่วางเรียงรายบนตู้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้เราเดาไม่ยากว่า หนังสือ จึงกลายเป็นโจทย์ต่อมาในการออกแบบของทั้งคู่
เพราะมีหนังสือเป็นของสะสมที่มีค่าต่อจิตใจ การออกแบบสเปซนอกจากจะดีต่อผู้อาศัย ยังต้องดีต่อหนังสือด้วย คุณไก่ซึ่งชอบให้พื้นที่เปียกและแห้งของบ้านแบ่งสัดส่วนชัดเจน จึงออกแบบยกพื้นประมาณ 0.70-1 เมตร เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทไหลผ่านใต้ถุนตลอดเวลา บริเวณนั่งเล่นและมุมโต๊ะทำงานออกแบบล้อมไปด้วยชั้นวางหนังสือทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมยามว่างของทั้งคู่ ส่วนครัวไทยก็ถูกกระจายออกไปที่ด้านหลัง เพื่อแยกส่วนการทำอาหารจริงจัง หลีกเลี่ยงละอองไขมันที่อาจมาเกาะทำให้หนังสือเสียหายได้
ดูแลง่าย แต่ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน
“เราเป็นคนรักความสะอาดมาก เราไม่มีแม่บ้าน ดูแลเองกันหมดเลยต้องการบ้านที่ดูแลง่าย”
นี่จึงเป็นเหตุผลให้บ้านสีขาวหลังนี้ลงตัวในแบบชั้นเดียว ที่ง่ายต่อการดูแลทั้งในปัจจุบัน และอนาคตที่ทั้งคู่ต้องมีอายุมากขึ้น และยังมีการวางผังที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน นอกจากนั้นยังต้องยืดหยุ่นพร้อมการปรับเปลี่ยน ซึ่งทั้งคู่ก็มีการวางแผนให้โซนนั่งเล่นในปัจจุบันของบ้านสามารถปรับเปลี่ยนเป็นออฟฟิศได้ในอนาคต แต่ละห้องจึงไม่มีการกั้นขอบเขต โดยเชื่อมถึงกันทั้งหมด ตั้งแต่ห้องนั่งเล่น มุมทำงาน ห้องรับประทานอาหาร และแพนทรี่ หรือแม้กระทั่งเทอเรซหลังบ้าน ส่วนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก ๆ ภายในบ้านจะอยู่ในลักษณะลอยตัวทั้งหมดเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ปรับพื้นที่ ยกเว้นก็แต่ชั้นหนังสือที่ถูกออกแบบ Built-in ไปกับผนัง อีกทั้งฝ้าเพดานไม่สูงมากเพื่อสามารถดูแลทำความสะอาดได้สะดวกทุกซอกมุม
“เรามีเพื่อนค่อนข้างเยอะ เวลาเพื่อนมาสังสรรค์สเปซทั้งหมดก็สามารถเชื่อมกันได้ทั้งหมด เราทำห้องน้ำข้างนอกด้วย เพื่อรองรับกิจกรรมพวกนี้ ซึ่งถ้าเราเปิดประตูทั้งหมด ก็สามารถโฟลวถึงกันและมองเห็นกันได้หมด”
Something More : “อีกอย่างคือ เราเป็นคนซักผ้าเยอะมาก ซักตลอดเวลา วันละ 4 ครั้งได้ ทุกครั้งที่เราออกไปข้างนอกเมื่อกลับเข้ามาก็ต้องซักทุกอย่าง ก็จะเคลียร์ ไหนจะผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน เราเลยต้องออกแบบพื้นที่ซักและตากผ้าให้อยู่ในขอบเขตบ้าน รวมทั้งให้มีเทอเรซที่เราสามารถเลื่อนราวมาตากได้ซึ่งสามารถใช้ในเวลาที่ไม่อยากออกไปตากที่ลานด้านนอกบ้าน”
บ้านขนาดพอดี กับงบประมาณที่มีจำกัด
ภายในบ้านหลังนี้ ทุกอย่างเรียบง่ายและไม่มีอะไรหวือหวา ซึ่งเป็นความชอบที่สั่งสมมาจากประสบการณ์การเป็นสถาปนิก รวมไปถึงงบประมาณที่มีจำกัด โดยทั้งคู่บอกกับเราว่า “เราออกแบบ Planning ที่อยากได้ แต่ต้องคุยกับผู้รับเหมา วิศวกรไปพร้อมกันด้วยว่างบเราเท่านี้ มันเป็นไปได้ไหม สแปนเสา กริดเท่านี้มันเป็นไปได้หรือเปล่า ตอนแรกเราอยากได้ผนังรับน้ำหนักแบบไม่มีเสา แต่คิดไปคิดมา งบมันไปไกล เราเลยแยกบอดี้ของเสาออกเพื่อให้งบประมาณมันถูกลง เพราะก่อสร้างง่ายกว่า คือ ผู้รับเหมาเขาจะบอกเลยว่า เขาก่อสร้างในงบนี้ได้ไหม ซึ่งเราก็ปรึกษากับเขาตลอด”
ถึงแม้แต่จะมีงบประมาณจำกัด แต่ความชอบ ความต้องการที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและธรรมดาของทั้งคู่ก็ถูกบรรจุลงในบ้านชั้นเดียวหลังนี้ได้อย่างครบถ้วน ภายใต้อาคารทรงกล่องเรียบนิ่งซ่อนความละเอียดอ่อนจากงานออกแบบที่ทั้งคู่ชื่นชอบ อย่างเรื่องปรากฏการณ์แสงเงา การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ มีบริบทของธรรมชาติเข้ามาสอดคล้อง ผสมผสานอย่างละนิดละหน่อย จนลงตัวเป็นบ้านที่มีเรื่องราวของสองชีวิตซ่อนอยู่ภายใน
“ถ้าสังเกต จะมีอะไรที่ไม่เข้าพวกกันอยู่ แต่เราไม่ซีเรียส บ้านคนอยู่ก็เป็นแบบนี้แหละ” นัท กล่าว
Architect : Chantanee Chiranthanut, Nutt La-iad-on
Location : Khonkaen , Thailand
Construction : Dot Architect
Photo : Jinnawat Borihankijanan
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!