Baan Jihang Saen
ไม้หลังเก่าจากบ้านคุณตา สู่บ้านชั้นเดียวหลังใหม่ที่ตอบความต้องการของทุกคนในบ้าน

“เราเชื่อว่าหน่วยความทรงจำเล็ก ๆ มันสามารถไปปลุกอะไรบางอย่างในตัวคนได้” สถาปนิกจาก Housescape Design Lab เล่า

จากบ้านไม้หลังเก่าอายุกว่า 60 ปีที่เสื่อมโทรมไปตามเวลาของพ่ออุ้ย (คุณตา) สู่การออกแบบ Baan Jihang Saen บ้านชั้นเดียวหลังใหม่ของครอบครัวที่นำเรื่องราววันเก่ามาผสมผสานในการออกแบบ ซึ่งสถาปนิกจาก Housescape Design Lab หยิบวัสดุและองค์ประกอบจากความทรงจำเก่า มาปะติดปะต่อเป็นบ้านร่วมสมัย กลิ่นอายพื้นถิ่นที่ลงตัวทั้งความต้องการ ความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวทั้ง 4

บ้านหลังใหม่ จากวัสดุเดิมที่คุ้นเคย

ด้วยความที่คุณตาเป็นสล่าไม้เก่า บ้านหลังเดิมจึงเกิดจากการสะสมไม้หน้าตาหลากหลาย ที่คุณตาเก็บมาได้จากการทำงานตามไซต์งานต่าง ๆ จนสามารถก่อสร้างเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีความเฉพาะตัวในแบบที่ไม่มีใครเหมือน ทั้งไม้แดง ไม้สัก ไม้เต็ง ทั้งหมดคละกันไปโดยไม่มีส่วนใดเนี้ยบไร้ที่ติ แต่กลับมีความอบอุ่นแบบบ้าน ๆ ผสมอยู่

สถาปนิกตั้งใจใช้โครงสร้างเก่าของอาคารทั้งหมด แต่หลังจากไปดูหน้างาน ก็พบว่าโครงสร้างทั้งหลายมีอายุเยอะและบุบสลายไปตามเวลา จึงเปลี่ยนแผนเป็นการรื้อตัวบ้านเดิมก่อสร้างใหม่ โดยเก็บวัสดุอย่าง ไม้ เสา หน้าต่าง หรือฝาไหล จากบ้านหลังเดิมไว้

กระบวนการออกแบบเริ่มต้นแบบธรรมดา ไม่ต่างจากบ้านทั่วไป นั่นคือ การเอาความต้องการของเจ้าของเป็นที่ตั้ง โดยลูกสาวต้องการบ้านสไตล์คล้ายมูจิ ส่วนคุณแม่ต้องการบ้านหลังคาจั่วที่มีชายคา เพื่อให้อยู่สบาย ป้องกันแดด ลมและฝน ส่วนคุณตาคุณยายผูกพันกับของเก่า จึงอยากให้นำวัสดุเดิมที่คุ้นเคยจากบ้านหลังเก่ามาผสมผสานลงไปด้วย

“ในฐานะคนออกแบบ ผมแค่ต้องการให้ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยครบถ้วนก็เพียงพอแล้ว” ส่วนโจทย์อื่น ๆ ที่สถาปนิกเสริมเข้าไป จึงเป็นเรื่องกระบวนการก่อสร้าง ที่ต้องเอื้อให้การทำงานของช่างท้องถิ่นเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ประกอบกับบ้านหลังนี้จะทำหน้าที่ให้น้อง ๆ นักเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลองเวิร์คช็อปเลื่อยไม้ ไสไม้ หรือแม้แต่การรื้อถอน เก็บรักษาไม้เก่าตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ซึ่งทางเจ้าของบ้านก็ยินดี

นอกจากไม้เก่าที่เก็บอย่างดีแล้ว ในการออกแบบบ้าน สถาปนิกยังตั้งใจใส่วัสดุอื่น ๆ เข้าไปผสมผสานอย่างงานเหล็ก เพื่อความทนทานของบ้านในระยะยาว

สเปซที่ให้กลิ่นอายวันเก่า

“เราเป็นสตูดิโอที่คำนึงถึงเรื่องการทดลองของวัสดุ การทำให้ความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในสถานที่นั้น ๆ  เพราะฉะนั้นงานบางที มันไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาก เพราะเราต้องการ Sense บางอย่างที่มันจะเกิดขึ้นระหว่างทาง เราไม่ได้ออกแบบแค่ปลายทางว่ามันจะจบที่ Photogenic แบบนี้” สถาปนิกเล่า

เพราะฉะนั้นบ้านหลังนี้จะเป็นตัวแทนของความเรียบง่าย ที่ค่อย ๆ ถอดแบบจากความต้องการ ข้อจำกัด และบริบทที่อยากให้เป็น หลังจากรื้อถอนบ้านหลังเดิมเป็นที่เรียบร้อย เหลือไม้ที่สามารถนำมาใช้ได้ต่อประมาณ 60% ซึ่งสถาปนิกต้องจัดการ 60% นั้นให้ลงตัว เหลือเสากี่ต้น? จะวางจุดไหนไว้ตรงไหนดี? หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้ากระบวนการออกแบบซึ่งอ้างอิงจากความทรงจำ ความรู้สึกที่หยิบยกมาจากบ้านหลังเก่า

ชานบ้านหรือ ฮ้านน้ำ หนึ่งในวัฒนธรรมของคนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ Semi Public Space ที่ทำหน้าที่ต้อนรับแขก เป็นที่ตั้งของโอ่งน้ำ สำหรับบริการแขกไปใครมา บริเวณนี้สถาปนิกจึงได้ไอเดีย ดึงหลังคายาวมาป้องกันบริเวณชานบ้าน เพื่อบดบังแดด ลม ฝนที่ค่อนข้างรุนแรงในบางฤดูตามความกังวลของคุณแม่

“สภาพอากาศเมืองไทยมันรุนแรง การมีหลังคาคลุมผมว่ามันคือการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ที่สุด เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คอนกรีตชนกับสภาพอากาศโหด ๆ แบบนี้โดยตรง เพราะสุดท้ายมันจะแตกร้าว ฝนซึม ซึ่งพอหลังคายาวคลุมทั้งหมด เราเลยดึงฮ้านน้ำยาวมาเลย จากนั้นก็มีเติ๋นหรือสเปซสำหรับเจ้าของบ้านไว้พักผ่อน ต้อนรับแขกเป็นสเปซต่อมาที่ช่วยปรับความรู้สึกของร่างกายก่อนเข้าสู่พื้นที่บ้านหลัก”

บริเวณคอร์ริดอร์ทางเดินหลักของบ้าน สถาปนิกอยากให้มีบรรยากาศของเสียงเอี๊ยดอ๊าดเหมือนครั้งที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเก่า   พื้นไม้จึงเป็นการออกแบบเสริมพื้นซีเมนต์สำเร็จรูปเข้าไปเล็กน้อยประมาณ 20 มิลลิเมตร ทำให้พื้นมีความยืดหยุ่น เดินแล้วโยกมีเสียงเบา ๆ ต่างจากห้องนอนที่เป็นพื้นเทปูนปกติตอบโจทย์การใช้งาน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ถึงอารมณ์ในการสัมผัสที่มีหลากหลาย แม้กระทั่งตอนเดิน

แปลนบ้าน

ส่วนสเปซอื่นไม่ต่างจากบ้านทั่วไป โดยมีฟังก์ชันเรียบง่ายแบ่งเป็น 3 ห้องนอน  4 ห้องน้ำ มีครัวไทย ห้องนั่งเล่น แต่ที่น่าสนใจคือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเหล็กดัดหน้าต่างห้องนอนคุณตาที่ยกเซ็ตมาจากบ้านหลังเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้บ้านที่ถึงแม้จะก่อสร้างและออกแบบขึ้นใหม่ยังคงมีเรื่องราวแสนอบอุ่นในอดีตที่ไหลเวียนอยู่ในทุกสเปซของบ้าน

“สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่ามันขาดหายไปในกระบวนการทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม หนึ่งในนั้น คือระหว่างการก่อสร้าง ชีวิตที่ตกหล่นไป เจ้าของบ้านที่เขาผูกพันกับช่วงเวลาที่จะมาก่อสร้าง มันเป็นชีวิตที่มีเรื่องราว โจทย์เหล่านี้มันเลยอยู่ในวิธีคิดและการออกแบบสตูดิโอของพวกเรา เราพยายามตีโจทย์ไปถึงว่าตลอดหนึ่งปีในการสร้างบ้าน ทำยังไงให้ตลอดเวลานั้น เขาสบายที่สุด ไม่เกิดปัญหา นี่คือโจทย์นอกเหนือจากแดด ลม ฝน หรือความต้องการที่เราต้องทำให้เขาอยู่แล้วในฐานะผู้ออกแบบ” คุณเบลเล่า

Built Area: 180 m²         
Location: Chiangmai, Thailand
Lead Architects : Peerapong Promchart
Design Team : Pair Thiprada, Lac Soyjiin , Sirawish Jo
Clients: Churarat Wongkaew
Internship Supporting Team : Panuwat Donthong, Worapon Funong, Siriwimon Wimonsuk, Nuttakrit Panya, Phunnathon Phrianphanich, Thanakorn Namrueang, Chanapat janwong
Housescape Team Maker : ช่างรุจ, ช่างตุ๋ย, ช่างชา, ช่างฝั้น, ช่างทูล, ช่างลุงบุญ, ช่างมด, ช่างบรรเจิด
Engineering: Jar pilawan
Interior Design & Landscape: Housescape Design Lab
Interior Builder Team : Yellow Pillows Interior & Built-in Co.,Ltd , Chiang mai
Architectural Photographer : Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้