ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย อารมณ์ที่มาพร้อมกันคือความกังวลใจ หลายครั้ง คลินิกหรือสถานพยาบาลจึงกลายเป็นศูนย์รวมของความทุกข์และความเครียด นี่จึงเป็นเหตุผลให้ Baan Brain Clinic คลินิกอายุรกรรมด้านสมองและระบบประสาทในจังหวัดเชียงรายเปลี่ยนโจทย์การออกแบบคลินิกในแบบเดิม ๆ เติมบรรยากาศสบาย ๆ ให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายได้ไม่ต่างจากอยู่บ้านกับครอบครัว จากโจทย์ตั้งต้นนี้ของนพ.วัชระ รัตนชัยสิทธิ์ สู่การออกแบบภายในโดยได้ 1922architects มารับหน้าที่ออกแบบ
อบอุ่นผ่อนคลาย เพราะได้แสงและลมธรรมชาติ
“คุณหมอให้โจทย์เรามาว่า เขาอยากให้คนไข้ที่มา รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เหมือนคลินิกทั่วไป ซึ่งผมเองก็เคยอยู่ในทีมออกแบบโรงพยาบาลราชพฤกษ์ที่ขอนแก่นซึ่งโจทย์มันมาในแนวทางเดียวกัน เราตีโจทย์เรื่องนี้แล้วรู้สึกว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มันคือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงเรื่อง visual เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการที่เราออกแบบให้ธรรมชาติไหลเข้ามาในพื้นที่ เช่น แสงและลม หรือแม้แต่การใช้ต้นไม้จริงในอาคารบ้าง” สถาปนิกเล่า
ตึกแถวห้องมุมที่มีชั้นหนึ่งและชั้นลอยในพื้นที่ใช้สอยขนาด 70 ตร.ม. ถูกวางแผนผังให้เรียบง่ายตามแบบที่คลินิกควรจะเป็นโดยวางฟังก์ชันชิดริมด้านหนึ่ง เปิดที่ว่างด้านหนึ่งให้เป็นคอร์ริดอร์ยาวไปจนถึงด้านหลังเพื่อเปิดให้อากาศธรรมชาติไหลเวียนได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่บริเวณชั้นหนึ่งไปจนถึงชั้นลอย ส่วนบริเวณด้านหน้ามีบานเปิดกระทุ้งพร้อมมุ้งลวดที่สามารถเปิด-ปิด เพื่อให้อากาศไหลเวียนเข้าสู่ภายใน เช่นเดียวกับฝั่งหัวมุมอาคารที่มีการเจาะช่องเปิดเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติ อีกทั้งยังมีประตูบานเปิดด้านข้างเผื่อสำหรับบางครั้งที่ต้องมีการเซอร์วิส ขนย้ายสิ่งของขนาดใหญ่ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก
สำหรับวันที่ไม่มีลม คลินิกแห่งนี้ยังมีระบบ Hybrid system ที่ควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารด้วยเครื่อง Positive Pressure หรือเครื่องอัดอากาศที่กรองแล้วเข้ามาภายในอาคาร เพื่อให้มีอากาศบริสุทธิ์ไหลเวียนให้ได้มากที่สุด เพราะอากาศที่ดีจะช่วยถ่ายเทเรื่องกลิ่น เชื้อโรค แสงแดดและลมยังช่วยเพิ่มความโปร่ง โล่ง ช่วยแก้ไขปัญหาอาคารห้องแถวที่เรียกได้ว่าค่อนข้างมีขนาดจำกัด เมื่อเทียบกับฟังก์ชันที่ต้องมีทั้งพื้นที่พักคอย เคาน์เตอร์ต้อนรับ ห้องตรวจ ห้องหัตถการ ห้องน้ำ และพื้นที่พักผ่อนของคุณหมอ
ผนังด้านข้างอาคารฝั่งหัวมุมยังใช้บล็อกแก้วเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ และยังมองเห็นเงาต้นไม้จากโครงการเข้ามาราง ๆ ซึ่งสถาปนิกเล่าว่า ในยามที่แสงตกกระทบลงมาที่ผนัง เอฟเฟกต์ที่ได้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เป็นดีเทลเล็ก ๆ ที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย และเพิ่มมิติ ความเคลื่อนไหวภายในอาคาร และยังทำให้ผู้ที่อยู่ภายในสามารถเชื่อมโยงกับภายนอก ทั้งในเรื่องของเวลาแสงเงาและมุมมอง
ถึงแม้บล๊อกแก้วจะอยู่ในทิศที่ส่งความร้อนให้กับอาคาร แต่ยามเย็นก็มีตึกแถวฝั่งตรงข้ามช่วยบดบังแสงแดดโดยตรง ส่วนฝั่งด้านข้างก็มีต้นไม้ของโครงการช่วยกรองความร้อนอีกแรง โดยผู้ออกแบบเสริมว่า “เราชั่งน้ำหนักกันแล้วกับคุณหมอ แต่ได้ผลสรุปว่าการนำแสงธรรมชาติเข้ามาคุ้มค่ากว่าการปิดอาคารให้มันทึบตันทั้งหมด ซึ่งเราใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเสริมม่านไฟฟ้า Sunscreen ที่ช่วยกรองแสงได้ประมาณ 70% เผื่อในวันที่แดดร้อนเกินไปจนเอาไม่อยู่”
ใช้ประโยชน์จากพื้นที่จำกัดให้คุ้มค่า
การวางผังไม่มีอะไรซับซ้อนด้วยความที่คลินิกมีขนาดจำกัด ทั้งหมดเรียงตัวกันอย่างเรียบง่าย ตั้งแต่เคาน์เตอร์ต้อนรับ ที่พักคอย และห้องตรวจ ซึ่งบริเวณห้องตรวจนี้เองผู้ออกแบบดีไซน์ให้ผนังโค้งทำมุม เพื่อให้สเปซทั้งหมดไหลต่อเนื่องเข้าหากันไปสู่ด้านหลัง ช่วยลดความรู้สึกอึดอัดจากพื้นที่ขนาดเล็ก และยังเพิ่มเส้นสายที่อ่อนโยน เพิ่มความผ่อนคลายได้มากขึ้น รวมถึงยังตัดสินใจเก็บโถงสูงหรือ Double volume ของอาคารเดิมไว้สำหรับออกแบบเป็นพื้นที่พักคอยและเคาน์เตอร์ต้อนรับที่โปร่งโล่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี
ถัดไปเป็นตำแหน่งของห้องตรวจและห้องหัตถการที่มีฝ้าเฉียง ล้อไปกับท้องพื้นของบันไดเดิมเพื่อให้ห้องขนาดจำกัด สามารถใช้งานได้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พื้นที่ภายในของทั้งห้องตรวจและห้องหัตถการถึงแม้แยกประตูเข้าอย่างเป็นสัดส่วน แต่ภายในกั้นแยกโดยใช้เพียงผ้าม่านที่สามารถเปิดโล่งเชื่อมกันได้หากต้องการ ลดความทึบตันและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสเปซ เพื่อทำลายข้อจำกัดในเรื่องความแคบของตึกแถว ให้ดูโปร่ง โล่งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
บริเวณเคาน์เตอร์และห้องตรวจคุณหมอยังมีหน้าต่างช่องเปิดที่ทะลุถึงกันได้ยาว และยังอำนวยความสะดวกเพื่อให้คุณหมอสามารถติดต่อกับพนักงานที่อยู่ด้านนอกได้อย่างง่ายดาย
รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่ง และดีเทลเล็ก ๆ ที่เติมความเป็นบ้าน
นอกเหนือจากการวางฟังก์ชัน เนื่องจากเป็นสเกลของการออกแบบภายใน คลินิกแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ก่อร่างบรรยากาศบ้าน ๆ ก่อนจะส่งต่อเพื่อคลายความกังวลใจให้คนไข้ผ่านการออกแบบ
เริ่มตั้งแต่บริเวณด้านหน้าทางเข้าที่ออกแบบด้วยทางลาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ Wheel Chair ก่อนเข้าสู่ภายในโถงต้อนรับ ซึ่งบริเวณนี้ผู้ออกแบบตั้งใจดีไซน์ให้ต่างจากคลินิกทั่วไปโดยลดขนาดเคาน์เตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพจำของคลินิกหรือสถานพยาบาลให้เล็กที่สุด โดยมีขนาดเพียงพอสำหรับการวางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มเฟอร์นิเจอร์ในลักษณะบ้าน ๆ โดยเน้นไปที่เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างโต๊ะกลม และเก้าอี้ไม้ เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่รองรับสำหรับติดต่อนั่งคุย เพื่อให้บรรยากาศเรียบง่าย ไม่ต่างจากนั่งคุยกับญาติ ๆ หรือลูกหลานที่บ้าน เติมบรรยากาศสดชื่นเล็ก ๆ ด้วยกระถางต้นไม้ในร่มเป็นบางส่วน
เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ภายในอาคารที่เป็นชุดโต๊ะ เก้าอี้ลอยตัวซึ่งผู้ออกแบบเลือกใช้ในโทนสีไม้และวัสดุธรรมชาติอย่างหวาย ส่วนวัสดุอื่น ๆ คงความเรียบง่ายด้วยงบประมาณที่มีจำกัด อย่างพื้นกระเบื้องยางลายไม้ที่ให้บรรยากาศบ้าน ๆ และยังดูแลทำความสะอาดง่าย ส่วนงานผนังเติมบรรยากาศอบอุ่น เรียบง่ายด้วยการใช้ไม้อัดขัดเรียบเกรด E0 ที่เคลือบน้ำยาไร้สารพิษ เพิ่มดีเทลเล็ก ๆ ด้วยคิ้วไม้ที่ทำขึ้นจากไม้โครงเฟอร์นิเจอร์เก่านำมาทำสีใหม่ เป็นการนำวัสดุหาง่าย มารีดีไซน์ให้สวยงามมากขึ้น และยังประหยัดงบประมาณไปด้วยในตัว
ถึงแม้จะมีข้อกัดในหลาย ๆ อย่าง ทั้งขนาดและงบประมาณ แต่คลินิกแห่งนี้ก็ยังใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของ รวมไปถึงใส่ใจความรู้สึกของคนไข้ ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจไม่น้อยในฐานะผู้ออกแบบ หากได้รู้ว่า ดีเทลหรือองค์ประกอบที่กรั่นกรองมาเป็นสเปซภายในจะช่วยบรรเทาความกังวล หรือลดความเครียดของเหล่าคนไข้ที่แวะเวียนมาเยือน Baan Brain Clinic แห่งนี้ได้อีกทาง
“เราตั้งคำถามในทุกงานว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อใคร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำ มันควรจะเป็นยังไง? เราไม่ได้มองว่าคลินิกนี้จะเป็นสไตล์ไหน แต่เราเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่า คลินิกที่ดีมันควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? การที่เราจะทำให้คนที่มาใช้งานทั้งคุณหมอที่ได้ตรวจในบรรยากาศที่ดี ผู้ป่วยที่มากับโรคที่เขามีความเครียด จะทำยังให้บรรยากาศข้างในมันผ่อนคลาย มันเป็นเรื่องของการตั้งโจทย์และตอบคำถามสิ่งที่เราตั้งไว้ เท่านั้นเลย” สถาปนิกเล่าเสริม
Client : Baan Brain Clinic
Interior Design : 1922 Architects
Lighting Design : Lundi Light Design
Contractor : Boondham
Photograph : tempography.arch
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!