Boccia Training Center บทพิสูจน์ของความเท่าเทียมที่ออกแบบได้

หากงานออกแบบเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหา ความเท่าเทียมที่ปรากฏผ่านการใช้งานย่อมถูกทำให้เสมอภาคกันได้ด้วยงานดีไซน์​ และยิ่งยกระดับด้านความงามเพื่อเติมความภาคภูมิใจผ่านงานสถาปัตยกรรม

 ศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติ คือบทพิสูจน์ของ Universal Design การออกแบบที่ดีเพื่อคนทั้งมวลได้อย่างเป็นรูปธรรม จากผลงานของนักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทยที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ และความสุขจากการใช้งานพื้นที่เพื่อการฝึกซ้อมและสาธารณูปโภคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งออกแบบสถาปัตยกรรมโดยบริษัท PBM

โดยเฉพาะกับรางวัลล่าสุด Asia Pacific Property Awards 2022-2023” สาขา Best Leisure Architective Thailand ที่สุดของงานสถาปัตยกรรมเพื่อสันทนาการสื่อสารความเท่าเทียม ระดับเอเชียแปซิฟิค โดย The International Property Awards มอบให้กับ Boccia Training Center ศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติ โดย สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย ยิ่งเป็นการบอกเล่าผลลัพธ์ของงานสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง

เราชวนคุณออกเดินตามเส้นทางลาดทอดยาวอันเป็นซิกเนเจอร์ของอาคารแห่งนี้ เพื่อไปพบกับงานออกแบบที่สร้างความเสมอภาคของผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเฉกเช่นกับทุกคน

ความงามของความไม่สมบูรณ์​

จากธรรมชาติของนักกีฬาบอคเซียที่ใช้งานวีลแชร์ ความเคลื่อนไหวระหว่างการใช้งานจึงถูกดึงมาเป็นแนวความคิดในงานออกแบบ ทั้งในเชิงความงาม และฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็นจะต้องตอบโจทย์ของอารยสถาปัตย์ให้ได้มากที่สุด

เริ่มต้นจากในแง่ของความงาม แนวความคิดหลักในเชิงคอนเซ็ปต์ของอาคารฝึกซ้อมกีฬาบอคเซียแห่งนี้ คือ “ความงามของความไม่สมบูรณ์” เริ่มต้นจากซาฟาดรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่าที่ปกคลุมรูปด้านของอาคารเป็นการกรองแสงธรรมชาติที่แตกต่างกันไปตามเหลี่ยมมุมของฟาซาด พร้อมกันกับการสร้างความเคลื่อนไหวจากแสงธรรมชาติตลอดทั้งวันที่สร้างมิติผ่านการตกกระทบบนผิวแผ่นอะลูมิเนียมเจาะรูแพทเทิร์นรูปวงล้อ เช่นเดียวกับความพลิ้วไหวของนักกีฬาขณะใช้งานวีลแชร์

อารยสถาปัตย์ การออกแบบพื้นที่เพื่อความเท่าเทียม

โจทย์สำคัญของงานออกแบบพื้นที่ภายในของศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียคือ รูปแบบการเคลื่อนที่และใช้งานพื้นที่ของเหล่านักกีฬา ทางลาดจึงกลายมาเป็นเส้นทางหลักสำหรับเชื่อมต่อพื้นที่ระนาบที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็เป็นซิกเนเจอร์ให้กับอาคาร พร้อมกับเป็นความภาคภูมิใจให้กับนักกีฬา

ในแง่การจัดสรรพื้นที่อาคารแบ่งออกเป็น สนามซ้อมจำนวน 4 สนาม และชั้นบนเป็นพื้นที่พักนักกีฬา โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือ สนามซ้อมจะต้องไม่มีเสากลางกีดขวางพื้นที่ภายใน งานดีไซน์อาคารจึงนำมาสู่การใช้โครงสร้างเหล็กพาดช่วงยาวสำหรับรับน้ำหนัก พร้อมกันกับสร้างเส้นสายที่ใช้งานได้จริง ทั้งเส้นตั้ง เส้นนอน และเส้นเฉียงของทางลาด

“Boccia Training Center ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม แต่มีฟังก์ชันการใช้งานที่เป็นมิตรกับทุกคน หรือ User Friendly ที่นี่ไม่มีทางต่างระดับแม้แต่จุดเดียว ใช้การปรับความลาดเอียงให้พื้นที่มีความเชื่อมต่อกัน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน นักกีฬาสามารถเดินทางลงจากอาคารได้อย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์ฝึกฯ ที่บ่มเพาะนักกีฬาคนพิการให้ออกไปสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิ โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสาร”

ความภาคภูมิใจของแชมป์บอคเซีย

พงศกร เล็กทองแดง นักกีฬาบอคเซียคลาส BC4 เล่าว่า “ช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากที่สุดของนักกีฬาคือช่วงเวลาของการฝึกซ้อม นักกีฬาผู้พิการทางสมองใช้เวลาฝึกซ้อมกันนานหลายปีกว่าจะก้าวขึ้นสู่การแข่งขันได้ แต่ละวันใช้เวลาฝึกซ้อมกันตั้งแต่เช้าถึงค่ำ เพื่อการแข่งขันเพียงไม่กี่นาที การที่เรามีสนามฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพมันส่งผลโดยตรงต่อการแข่งขัน นักกีฬาทุกคนจึงสามารถทำผลงานได้ดี”

ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี นายกสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย บอกเล่าเรื่องราวของอาคารแห่งนี้ “ศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียทุกตารางเมตรถูกออกแบบเพื่อการใช้งานร่วมกันระหว่างคนปกติ และนักกีฬาผู้พิการทางสมอง โดยศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้ สามารถรองรับทั้งการฝึกซ้อม การเก็บตัว และการเข้าพักอาศัยได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การฝึกซ้อมพัฒนาได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้นักกีฬาสร้างผลงานในระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการครองมือ 1 ของโลก รวมถึง การคว้าเหรียญทองในการแข่งขันพาราลิมปิก 3 สมัยติดต่อกัน”

“ผลจากความสำเร็จเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจ ให้กับตัวนักกีฬาและพี่น้องประชาชนคนไทยเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใด ยังทำให้ผู้พิการได้รู้สึกถึงการมีคุณค่าของตนเอง มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมคนปกติ”

ความสำเร็จกับรางวัล The International Property Awards ประเทศอังกฤษ

เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากความตั้งใจและความร่วมมือระหว่างสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทยกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดย ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีสถานที่ฝึกซ้อมกีฬาบอคเซีย สำหรับนักกีฬาผู้พิการทางสมองของไทยซึ่งมีผลงานสร้างความสำเร็จและความสุขให้กับคนไทยเสมอมาจากการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์หลายสมัย ทาง กกท. จึงมอบพื้นที่ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก สำหรับการจัดสร้างศูนย์ฝึกฯ ซึ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 2564

สำหรับรางวัล Asia Pacific Property Awards 2022-2023 จัดโดย The International Property Awards ประเทศอังกฤษ เป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมและอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยมีการส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 1,200 รายการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติได้รับรางวัลในประเภท Best Leisure Architective Thailand ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดในหมวดงานออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อสันทนาการ (Leisure Architecture)

ปัจจุบันศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้นอกจากจะใช้เป็นที่เก็บตัวของนักกีฬาบอคเซียแล้ว ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานของสมาคมสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทยอีกด้วย

Writer
Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม