NaNa Coffee Roasters Bangna คาเฟ่ที่ให้ต้นไม้เป็นสำคัญเพื่อส่งเสริมรสชาติกาแฟระดับโลก

สำหรับคอกาแฟ และสถาปัตยกรรมคงได้เคยเข้าไปสัมผัสกับ NaNa Coffee Roasters กันมาบ้างแล้ว ด้วยบรรยากาศการดีไซน์ที่มีรูปแบบเฉพาะของแต่ละสาขา รวมไปถึงการคั่วเมล็ดกาแฟที่มีสูตรลับเฉพาะตัว ซึ่งทุกเมล็ดได้ผ่าน Q Grader หรือหนึ่งในนักชิมกาแฟระดับประเทศไทย

และสาขาล่าสุดก็คือ NaNa Coffee Roasters Bangna ที่ทำหน้าที่เป็น Flagship Store ความน่าสนใจของสาขานี้ก็คือการใช้สถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม เข้ามาช่วยขับเน้นให้บรรยากาศของกาแฟแต่ละแก้วมีรสชาติที่ดีมากยิ่งขึ้น งานนี้ออกแบบโดย IDIN Architects ร่วมกับ TROP : terrains + open space

Flagship Store ของ NaNa Coffee Roasters

จากความต้องการของเจ้าของร้านที่ตั้งใจอยากให้ร้านเป็น Flagship Store ที่สะท้อนความเป็น NaNa Coffee Roasters ให้ได้มากที่สุด ด้วยพื้นฐานเจ้าของร้านเป็นหนึ่งใน Q Grader หรือ นักชิมกาแฟ คัดเลือกเมล็ด แห่งประเทศไทยซึ่งมีเพียงไม่กี่คน โจทย์ของร้านนี้จึงเน้นการสร้างประสบการณ์ในการดื่มกาแฟที่มีความจริงจังมากขึ้น การออกแบบสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมจึงต้องเป็นส่วนส่งเสริมในการดื่มกาแฟ

สถาปัตยกรรมที่ทำให้มีสมาธิอยู่กับรสชาติกาแฟ

สำหรับแนวคิดในการออกแบบ NaNa Coffee Roasters Bangna คือ การสร้างบรรยากาศและพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับการดื่มกาแฟมากกว่ารูปแบบภายนอกของอาคาร ให้ผู้ที่เข้ามาดื่มกาแฟได้รับประสบการณ์ในรสชาติ และบรรยากาศอย่างเข้มข้น ด้วยการจดจ่ออยู่กับกาแฟแก้วนั้นๆ การออกแบบสถาปัตยกรรมจึงต้องถูกลดทอน แต่ได้เน้นไปที่การผสมผสานกับงานภูมิสถาปัตยกรรมจนออกมาเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้บรรยากาศเป็นตัวส่งเสริมรสชาติกาแฟ และลืมความวุ่นวายของย่านถนนบางนา-ตราด ออกไป

“โดยปกติแล้วคาเฟ่ส่วนใหญ่จะคิดถึงเรื่องพื้นที่ถ่ายรูปซึ่งเป็นองค์ประกอบในการดึงผู้คนเข้ามาใช้บริการ แต่คาเฟ่แห่งนี้ไม่ได้คิดเรื่องการถ่ายรูปเป็นสำคัญ แต่คิดถึงว่าผู้คนจะสามารถเข้าถึงรสชาติกาแฟอย่างแท้จริงด้วยสถาปัตยกรรมบรรยากาศธรรมชาติได้อย่างไร”

สารตั้งต้นมาจากบ้านหลังเก่าในพื้นที่

เมื่อสถาปนิกได้เข้าไปในพื้นที่ได้พบกับบ้านเก่าหนึ่งหลัง และใช้บ้านหลังนี้เป็นสารตั้งต้นในการออกแบบ จึงได้ทำการปรับปรุงอาคารหลังเก่าให้เป็นส่วนของ Slow Bar ที่ทำหน้าที่เป็นบาร์กาแฟดริป ที่ให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าส่วนอื่นๆ

ในส่วนด้านหน้าสถาปนิกเชื่อมโยงอาคารเก่าด้วยออกแบบอาคารใหม่ให้ออกเป็น 3 ส่วน และแทรกต้นไม้เข้าไประหว่างอาคาร พร้อมล้อจั่วหลังคาด้านหนึ่งของบ้านหลังเก่าจนออกมาเป็นหลังคาเพิงหมาแหงนสลับกันไปมา ซึ่งฟังก์ชันภายในทำหน้าที่เป็น Speed Bar และพื้นที่นั่งดื่มกาแฟ โดยพื้นที่นี้จะเหมาะกับผู้ที่ซื้อกลับบ้าน หรือการดื่มกาแฟแบบทั่วไป ทุกๆ ที่นั่งจะให้บรรยากาศสวน ที่ทำให้ความรู้สึกกึ่งในกึ่งนอกได้ทุกพื้นที่

“เราเชื่อว่าต้นไม้เป็นพระเอกสำคัญในงานออกชิ้นนี้ ถ้าเปรียบเป็นการเล่นเกมต้นไม้เสมือนเป็นไอเทมที่ดึงออกมาแล้วชนะปีศาจได้ทุกตัว การออกแบบสถาปัตยกรรมในงานนี้จึงค่อย ๆ ทำให้มันกลืนไปกับต้นไม้ ด้วยการยื่นหลังคา และเจาะช่องขนาดใหญ่ หรือในบางทีเราให้กรวด ต้นไม้และเฟอร์นิเจอร์ ค่อยๆ ไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับภายใน ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าส่วนไหน คือภายใน หรือภายนอกกันแน่  สวนจึงเป็นตัวสร้างเสริมประสบการณ์ในการลิ้มรสชาติกาแฟได้เป็นอย่างดี”

สร้างภายในให้การดื่มกาแฟเป็นเรื่องจริงจัง

ไม่ว่าจะเป็นภายนอก หรือภายในสถาปนิกใช้สีขาวเป็นสีหลัก เพื่อให้เกิดแสง-เงาของใบไม้ และต้นไม้ ที่ทอดลงบนอาคาร แต่ภายในจะเสริมผนังให้มีความเป็นลอนมากขึ้นด้วยการใช้แผ่นเหล็กเสียบ ที่สามารถดัดและทำเป็นชั้นวางของสำหรับSpeed Bar ได้  โต๊ะบาร์สำหรับนั่งดื่มเกือบทุกชิ้นจัดวางให้หันหน้าไปภายนอกอาคารเพื่อชมสวน โต๊ะบาร์ยังมีลักษณะเป็นเนิน – สูงต่ำ เพื่อให้นักดื่มมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกาแฟ และเป็นการเว้นระยะห่างไปในตัวอีกด้วย หากไม่มีคนตัวบาร์ยังเป็นงานประติมากรรมให้กับคาเฟ่ กระจกทุกส่วนทำลวดลายหมอกสีขาวไล่ระดับจากด้านล่างเพื่อสร้างบรรยากาศ และให้นักดื่มไม่รู้สึกถึงความโป๊เปลือย นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมฝ้าให้เป็นสแตนเลสเรียงเป็นแพทเทิร์นเพื่อสะท้อนแสงเงาและต้นไม้ลงมาสู่เคาน์เตอร์บาร์ได้

ในส่วนของ Slow Bar ต้องใช้เวลาในดริป และสมาธิเป็นอย่างมาก บรรยากาศภายในร้านจึงต้องมีความเป็นส่วนตัวมากสถาปนิกออกแบบให้ผนังเป็นไม้สนเผาจนเกิดเป็นสีดำ ให้บาร์เป็นสีขาวสำหรับบาริสต้าที่มีดีกรีถึงแชมป์ระดับโลก และวางเก้าอี้สีดำให้สำหรับนักดื่มหันหน้าเข้าสู่โต๊ะบาร์ ซึ่งสามารถมองเห็นกระบวนการทำกาแฟ และสร้างบทสนทนาระหว่างกันได้อย่างสะดวก

“ภายในร้านทั้งหมดมีแนวคิดแบบ Concentrate เพื่อให้ทุกคนใส่ใจ และเห็นคุณค่ากาแฟทุกๆ แก้ว ร้านคาเฟ่แห่งนี้เสมือนกับผู้หญิงที่สวยเนี้ยบไม่ได้หวือหวา แต่มีเสน่ห์ด้วยองค์ประกอบชิ้นเล็กๆ เข้ามาประกอบกัน”

ให้ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นพระเอก

งานภูมิสถาปัตยกรรมที่เป็นพระเอกทั้งหมดนี้ออกแบบโดย TROP : terrains + open space ทีมภูมิสถาปนิกได้เก็บต้นไม้จากพื้นที่เดิมไว้เกือบทั้งหมด เช่น หูกระจง  และ ต้นไทรยักษ์ที่ทำหน้าที่เป็นจุดเด่นให้กับส่วนของ Slow Bar และเพิ่มเติมในส่วนของกำแพงบาร์ภายนอกให้เป็นที่พักคอยของไรเดอร์ในการรับ- ส่งเครื่องดื่ม ในขณะเดียวกันยังเป็นตัวเน้นทางเข้าไปยังอาคารได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์ภายในสวนที่ออกแบบให้เป็นสแตนเลส ซึ่งให้เอฟเฟกต์ความกลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งไปกับสวน

กว่าจะเป็น NaNa Coffee Roasters Bangna

“การทำคาเฟ่ในสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะคาเฟ่ที่ดีในยุคนี้มีให้เห็นเต็มไปหมด แต่ด้วยงานนี้ไม่ได้เน้นการสร้างคาแร็กเตอร์พิเศษให้กับอาคารมันเลยกลายเป็นเรื่องอิสระในการออกแบบ  อย่างร้านนี้โจทย์มันเน้นไปที่การดื่มกาแฟมากกว่า จึงทำให้สถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมเป็นตัวส่งเสริมให้คนจดจ่อไปที่กาแฟให้ได้มากที่สุด เมื่อทั้งทั้งรสชาติกาแฟดี และบรรยากาศที่ดีคนก็อยากกลับมาใช้บริการอีก อย่างไรก็ตามทางเจ้าของเป็นคนที่ให้อิสระ และให้เกียรติวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมากงานนี้จึงออกมาครบสมบูรณ์ตั้งแต่รสชาติกาแฟไปถึงสถาปัตยกรรม”

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn