‘บ้านพอดี พอดี’
เมล็ดพันธุ์ทางความคิดของที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐานที่แก้ไขปัญหาในยามเกิดมหาอุทกภัย

บ้านที่พอดีสำหรับทุกคนเป็นแบบไหน?

เชื่อว่าหลายคนคงให้นิยามของคำว่าบ้านแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่แห่งความสุข เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นความอบอุ่น หรือเป็นสิ่งใดก็ตาม ความหมายและคำนิยามเหล่านี้ ทำให้บ้านกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและต้องตอบโจทย์ตัวเองและครอบครัวให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับบ้านพอดี พอดี แล้ว จุดมุ่งหมายสำคัญกลับแตกต่างออกไป ด้วยการออกแบบจากความต้องการพื้นฐานในการอยู่อาศัย และยังแก้ไขปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยในยามเกิดมหาอุทกภัยในปี 54 ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโปรเจ็กต์นี้

บ้านพอดี พอดี คือแบบบ้านขนาด 36 ตร.ม. ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ช่าง และประชาชน ซึ่งคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จาก Walllasia ในฐานะสถาปนิกของโครงการพอดี พอดี บอกเล่าถึงที่ไปที่มากับเราว่า

“หากย้อนกลับไปยังเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพเมื่อ 11 ปีก่อน (ปี2554) นับว่าสร้างความเสียหายให้กับหลายครัวเรือน ขณะที่หลายครอบครัวต้องไปพักพิงตามศูนย์อพยพต่าง ๆ และหาหนทางรอดจากวิกฤตการณ์นี้ เราลองมองว่าจะสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรบ้างจากสิ่งที่เรามีอยู่ บ้านพอดี พอดี จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และประสบการณ์ ช่วยกันพัฒนาแบบบ้านที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้จริง มีความเรียบง่าย ก่อสร้างรวดเร็ว ในงบประมาณประหยัด เพื่อช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในช่วงประสบภัยพิบัติ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในช่วงปกติ”

ทำไมต้องพอดี พอดี?

ชื่อของบ้านพอดี พอดี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของเด็กชายคนหนึ่ง ตั้งโดยพระมหาประโยชน์ ญาณโสภโณ พระชั้นผู้ใหญ่ แห่งวัดเขาพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี ซึ่งความหมายของคำว่าพอดีในที่นี้ หลักๆ เป็นเรื่องของขนาดบ้านที่ไม่ใหญ่จนดูแลลำบาก และไม่เล็กจนคับแคบ แต่ในทางเดียวกันก็ต้องสง่างาม และใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า นอกจากนี้คำว่าพอดียังถูกกลั่นกรองความหมายออกได้อีกในแง่ของการก่อสร้าง คือ ง่ายพอดี ราคาพอดี เบียดเบียนโลกแต่พอดี และอุ่นใจพอดีอีกด้วย

บ้านพอดี พอดีหลังแรก ตั้งอยู่ภายในวัดป่าวชิรบรรพต จังหวัดชลบุรี โดยได้รับการอนุญาตจากพระราชวชิรธรรมวิธาน (หลวงพ่อพระมหาตอง ธมฺมวุฑฺโฒ) เจ้าอาวาสวัด ซึ่งหลังจากสร้างเสร็จ ทางโครงการก็ได้มอบบ้านหลังนี้ให้กับทางวัด เพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ต่อไป เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบทางความคิด ที่สร้างขึ้นจริงก่อนที่จะเกิดบ้านพอดี พอดี ในหลังถัดไปที่มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมตามสภาพการใช้งานและพื้นที่นั้น ๆ ให้มากกว่าเดิม

(ออกแบบ) แบบนี้สิ พอดี

จากความต้องการในขั้นพื้นฐานและตอบโจทย์เรื่องของอุทกภัย สู่การมองย้อนกลับไปถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งบ้านจะมีการยกใต้ถุนสูงใช้เลี้ยงสัตว์และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ บ้านพอดี พอดี จึงถูกออกแบบให้มีใต้ถุนสูง 1.9 เมตร เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือกับเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้า ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นบ้านไทยเอาไว้อย่างภาคภูมิ

ส่วนฟังก์ชันภายในบ้าน ประกอบไปด้วยส่วนที่จำเป็นขั้นพื้นฐานของการอยู่อาศัย ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว พื้นที่อเนกประสงค์ และระเบียง จัดพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัว เรียบง่ายไม่ซับซ้อน กะทัดรัดแต่ก็ตอบรับกับความต้องการพื้นฐานของผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแปลนบ้านพอดี พอดี Cr: Walllasia

สัดส่วนวัสดุพอดี ทำให้ดีต่อโลก        

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกคนสร้างบ้านหลังนี้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด การเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สถาปนิกให้ความสำคัญ รวมไปถึงการใช้วัสดุทดแทนอย่างซีเมนต์บอร์ดปิดผิวตัวอาคารแทนงานก่อ-ฉาบ ทำให้ประหยัดกว่าทั้งต้นทุนทางเวลา และค่าใช้จ่าย นอกจากนี้สัดส่วนของตัวบ้านเอง ยังผ่านการคิดตกตะกอนมาแล้วเป็นอย่างดีจากการคำนวนขนาดมาตรฐานของตัววัสดุ ซึ่งออกแบบให้ใช้วัสดุทุกชิ้นอย่างคุ้มค่าและเหลือเศษน้อยที่สุด เพื่อลดขยะจากงานก่อสร้าง แถมยังเป็นการลดภาระการทำลายสิ่งแวดล้อมและช่วยให้โลกใบนี้ให้มีขยะน้อยลงอย่างที่ควรจะเป็นไม่มากก็น้อย

(สร้าง)ง่ายพอดี

หัวใจสำคัญของแบบบ้านพอดี พอดี ที่ทุกคนในโครงการต้องการเผยแพร่ออกไปสู่ประชาชนทั่วไป คือ ความง่ายในการก่อสร้าง ขอแค่มีที่ดินเปล่า มีความรู้พื้นฐานเรื่องงานช่างบ้างเล็กน้อย พออ่านแบบแปลนได้ พร้อมมีลูกมืออีกประมาณสองคน เพียงเท่านี้ก็จะสามารถสร้างบ้านหลังนี้เองได้ง่าย ๆ แล้ว โดยขั้นตอนในการสร้างแบ่งออกเป็น 12 ขั้นตอนหลัก ๆ ใช้เวลาไม่เกินสามสัปดาห์ในการก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบ  ตั้งแต่เตรียมที่ดิน วางเสาบ้าน ไปยังเดินระบบไฟฟ้า ประปา ติดตั้งสุขภัณฑ์ และพร้อมเข้าอยู่อาศัยในท้ายที่สุด ซึ่งทางโครงการได้ทำเอกสารแบบก่อสร้าง สามารถนำไปยื่นกับเขตเพื่อทำการก่อสร้างได้ทันที หรือหากติดปัญหาในขั้นตอนใด ก็สามารถชมโมเดลบ้านในรูปแบบสามมิติ ผ่านเทคโนโลยีสื่อผสานโลกเสมือน AR ไปพร้อม ๆ การสร้างได้แบบไม่ต้องกังวล

ตัวอย่างรูปสามมติในขั้นตอนการสร้างของบ้านพอดี พอดี ที่อธิบายไว้อย่างละเอียด

พอดีต่อยอดได้

แม้บ้านพอดี พอดี จะเป็นรากฐานขั้นแรกของสิ่งที่บ้านพึงมี แต่เนื่องจากความต้องการและวิถีการอยู่อาศัยที่แตกต่างกัน รวมถึงบริบทของบ้านที่ไม่เหมือนกัน การปรับเปลี่ยนตัวบ้านพอดี พอดี ให้พอดีกับผู้อยู่อาศัย ถูกออกแบบให้มีความหลากหลายและสามารถทำได้ง่ายเช่นกัน เช่น ช่องเปิดภายในบ้าน ความทึบและโปร่งของผนังที่ผู้อยู่อาศัยสามารถกำหนดขึ้นมาเองได้ หรือจะเป็นเรื่องของรูปแบบของประตูและหน้าต่างที่เป็นไปตามสไตล์ที่ชอบ หรือเพิ่มพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านสองหลังสำหรับครอบครัวใหญ่ ซึ่งสถาปนิกยินดีและอยากให้แบบบ้านพอดี พอดีนี้กลายเป็นต้นขั้วทางความคิด ที่ผู้อยู่อาศัยนำไปต่อยอดให้ตรงใจ และใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้อย่างมีความสุขที่สุด

ตัวอย่างบ้านพอดี พอดี ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากหลังแรก

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถใช้มาตราวัดหรือใช้ตาชั่งเพื่อหาค่าความพอดีของแต่ละบุคคลได้ แต่เราได้รับรู้ถึงการกำเนิดเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่มีชื่อว่า ‘บ้านพอดี พอดี’ จากความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือสังคม และอยากให้สังคมเป็นไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของหน่วยย่อยพื้นฐานที่เราอาจหลงลืมกันไป พวกเขาในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้หวังว่า บ้านพอดี พอดี จะสามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยให้กับใครหลายๆคน และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นบ้านพอดี พอดี ในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างงดงามและไม่มีที่สิ้นสุด

สามารถดาวน์โหลดแบบบ้านเพิ่มเติมได้ที่ www.walllasia.com/pordee-pordee-house

บ้านพอดี พอดี แบบบ้านเพื่อประชาชน
สถาปนิก :
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ / Walllasia,.ltd
ทีมงานสถาปนิก : ณัฐพล นิ่มละมัย, อนุชาติ นวลแก้ว
ที่ปรึกษาโครงการและการก่อสร้าง : ไสยาสน์ เสมาเงิน
อำนวยการสร้าง : อนุชิต คงสุพานิช
เขียนแบบสามมิติ : วันพิชิต แก้วทอง
ผู้ทำต้นแบบ : บุญสม แสงสมเรือง
ออกแบบกราฟิก : วุฒิภัทร สมจิตต์, ปริวัฒน์ อนันตชินะ
ออกแบบโลโก้ : จักรกฤษณ์ อนันตกุล
ผู้ประสานงานและดูแลโครงการ : วิภาวี คุณาวิชยานนท์ / Design for Disasters
ภาพถ่าย: ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และ อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ / Spaceshift และ Design for Disasters (D4D)

Writer
Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ