Heito 1909
เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นแหล่งสันทนาการพร้อมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

จากโรงงานเก่าที่ถูกทิ้งร้างพลิกโฉมกลายเป็นสวนสาธารณะภูมิทัศน์สุดเท่ โปรเจกต์ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างใจกลางเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาและสร้างประโยชน์ได้ใหม่นี้กำลังกลายเป็นจุดสนใจไปทั่วโลกแถมยังเป็นต้นแบบการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเชิงอนุรักษ์ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย นอกจากสวนสาธารณะจะกลายมาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจใหม่สำหรับคนเมืองแล้วพื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของเมืองนี้ไปพร้อมกัน รวมถึงเป็นสถานที่แสดงวิสัยทัศน์ด้านการออกแบบภูมิทัศน์ที่น่าสนใจทีเดียว 

โปรเจกต์ที่ว่านี้ คือ Heito 1909 สวนสาธารณะแห่งใหม่ในเมือง Pingtung ประเทศไต้หวันที่สร้างสรรค์ขึ้นบนแนวคิดการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมทีพื้นที่นี้ก็คืออดีตโรงงานน้ำตาลเก่าแก่ The Heito Sugar Factory ที่สร้างขึ้นในปี 1909 และกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญที่พัฒนาเมืองนี้ให้เติบโตด้วย ในยุคต่อมาที่อุตสาหกรรมของโลกเริ่มพัฒนา ราวปี 1977  โรงงานแห่งนี้ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงงานกระดาษอันทันสมัยแต่นั่นกลับกลายเป็นต้นเหตุของการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนักซึ่งทำให้ชาวเมืองออกมาประท้วงจนต้องปิดตัวลงในปี 1994 ในที่สุด

หลังจากนั้นพื้นที่ใจกลางเมืองผืนใหญ่นี้ถูกปล่อยทิ้งร้างเรื่อยมาจนถึงปี 2018 ก่อนที่ทางเมืองจะเข้ามาเจรจากับเจ้าของพื้นที่เดิมเพื่อร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่รกร้างนี้ให้มาเป็นประโยชน์ต่อเมือง โดยเฟสแรกเริ่มต้นบริเวณพื้นที่แนวยาวขนาบข้างคลองที่มีการออกแบบสวนสาธารณะเชิงอนุรักษ์ได้อย่างน่าสนใจ

จุดแรกที่อยากพูดถึงคือโซน Underground Factory ซึ่งเป็นซากฐานอาคารโรงงานเก่าที่พังไปนานแล้วพร้อมพื้นที่ใต้ดินบางส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ทางนักออกแบบภูมิทัศน์ไม่ต้องการถมพื้นที่ตรงจุดนี้แต่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ภายใต้ซากปรักหักพังตลอดจนโครงสร้างเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เรายังคงสัมผัสถึงเรื่องราวในอดีตได้อย่างชัดเจน ผนังปูนเก่าไปจนถึงโครงเหล็กขึ้นสนิมโบราณถูกคงสภาพเดิมไว้ผสานกับการก่อสร้างรายละเอียดส่วนต่าง ๆ เพื่อแต่งเติมให้พื้นที่นี้กลับมามีชีวิตชีวาในรูปแบบใหม่

พื้นที่ Underground Factory กลายเป็นสเปซสุดครีเอทีพที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดินโดยเปิดโล่งแบบไม่มีหลังคาครอบ การออกแบบเส้นทางสันทนาการเสมือนการเดินเข้าไปในเขาวงกตที่ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งไฮไลท์ที่ผสานอยู่ในโซนนี้อย่างโดดเด่น คือ ผังเมืองจำลองที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเศษสนิมเหล็กให้เห็นภาพรวมของเมืองนี้ ตลอดจนรำลึกถึงอดีตของสถานที่แห่งนี้ได้ดีเช่นกัน ความพิเศษยังไม่หมดแค่นี้เพราะโซนนี้ยังมีการประดับไฟที่ได้รับการออกแบบให้เข้ากับพื้นที่อย่างดีเยี่ยมจนกลายเป็นงานดีไซน์ยามค่ำที่น่าหลงใหลไปอีกรูปแบบ

จุดเด่นอีกส่วนบนสวนสาธารณะนี้ คือบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งมีการคงโครงสร้างพื้นที่วงกลมและขอบบ่อไว้ พร้อมปรับเปลี่ยนการออกแบบฟังก์ชันในแต่ละบ่อใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่สันทนาการตลอดจนภูมิทัศน์ที่มีสวยงามมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก เริ่มจากบ่อสนามเด็กเล่นผสานที่แสตนด์ผักผ่อนหย่อนใจที่ปูพื้นไม้ลาดเอียงลงไปในแนวศูนย์กลางแล้วนำทรายมาถมบริเวณตรงกลางให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กเล่นได้อย่างสนุกสนาน ด้านหนึ่งเสริมสแตนด์ไม้เอียงที่มีความชันให้เด็กได้ปีนป่ายรวมถึงให้ผู้ใหญ่ได้นั่งชมวิวมุมสูงที่งดงามอีกด้วย

อีกสองบ่อบำบัดติดกันถูกสร้างสรรค์ให้เป็นดั่งภูมิทัศน์ศิลป์ที่สื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง บ่อแรกคือ Reflecting Pool ปรับเปลี่ยนเป็นบ่อน้ำตื้นที่มีการสร้างทางเดินทะลุไปบริเวณกลางบ่อ (ให้ความรู้สึกเหมือนเดินแหวกน้ำ) เพื่อให้สามารถเดินเล่นไปชมวิวธรรมชาติรายรอบตลอดจนไฮไลท์อย่างวิวภูเขา Da Wu อันงดงามที่สะท้อนลงบนผืนน้ำได้อย่างสวยงาม

ส่วนบ่อด้านข้างกันนั้น สร้างเป็นทางเดินวงกลมล้อมรอบสนามหญ้าเล็ก ๆ โดยทางเดินมีการสร้างหลังคาวงแวนเอียงคลุม เสริมเสาเหล็กเพื่อรับน้ำหนักหลังคา ซึ่งเสาเหล็กนี้ต่อกิ่งก้านเลียนแบบต้นไม้ตามธรรมชาติ ใต้หลังคายังเป็นกระจกเงาที่สะท้อนวิวทิวทัศน์โดยรอบในมุมมองประหลาดตาอย่างน่าสนใจ สำหรับแนวคิดในการออกแบบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากต้นไม้ไผ่ที่ในอดีตนั้นพนักงานในโรงงานแห่งนี้ร่วมแรงร่วมใจกันนำไม้ไผ่มาสร้างพลับพลาที่ประทับชั่วคราวเพื่อรับรองพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตะของญี่ปุ่นในโอกาสที่พระองค์เสด็จเยือนโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ในปี 1932 นั่นเอง

โปรเจกต์ Heito 1909 หรือ สวนสาธารณะเชิงศิลป์ผสานการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์นี้ออกแบบโดย ECG International Landscape Consultants บริษัทออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน สำหรับชื่อโปรเจกต์ Heito 1909 นั้นก็มีที่ไปที่มาอย่างน่าสนใจไม่แพ้งานออกแบบ โดย Heito คืออดีตชื่อเมือง Pingtung ในยุคที่ไต้หวันยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ส่วนตัวเลข 1909 คือปีคริสต์ศักราชที่โรงงานน้ำตาลแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นนั่นเอง

Information
ECG International Landscape Consultants : https://www.facebook.com/1988ECG

Photo Credit
ECG International Landscape Consultants : https://www.facebook.com/1988ECG

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน