เมื่อเจ้าของในวัย 31 ปี อยากจะมีบ้านหลังแรกเป็นเรือนหอสำหรับเริ่มต้นครอบครัวใหม่ จึงมอบหมายให้เพื่อนวัยมัธยมอย่างดุษ–ดุษฎี สุ่มมาตย์ และซอฟ–เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู สถาปนิกจาก Rabbit Hole Studio มารับหน้าที่ออกแบบให้บ้านตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์ในรูปลักษณ์หน้าตาที่เรียบง่ายตามแบบฉบับที่เจ้าของชื่นชอบ ที่สำคัญต้องพร้อมเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วงเวลา สอดคล้องกับแพลนชีวิตที่ยืดหยุ่นได้ของผู้อยู่อาศัย
บ้านทรงกล่องสีขาวที่เราเห็นเบื้องหน้าจึงเป็นที่อยู่อาศัยขนาดและงบประมาณเริ่มต้นที่กำลังพอดีในทุกมิติ เป็น Case Study ที่ดีสำหรับใครซึ่งกำลังมองหาบ้านเรียบง่าย แต่ตอบรับการอยู่อาศัยไปอีกยาว
เรียบง่ายในฟังก์ชันที่ต้องเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
‘อยู่คนเดียวก็ปลอดภัย อยู่หลายคนก็ยืดหยุ่นรองรับได้’
“เพราะส่วนมาก ทุกคนที่เขามาจ้างสถาปนิก แสดงว่าเขาต้องการบ้านที่ Customized มากขึ้น ต่างจากบ้านจัดสรรทั่วไป คืออยากให้มันพอดีกับตัวเอง อย่างบ้านหลังนี้มันก็ต้องมีความพอดีทั้งในปัจจุบัน ในช่วง 5 ปีแรก 10 ปีหลัง หรือในอนาคตต่อ ๆ ไปเองก็ตาม”
ด้วยความที่เจ้าของเป็นคู่รักนักกฏหมายและตำรวจที่มีแพลนกำลังจะแต่งงานกัน แต่นอกจากนั้นแพลนชีวิตที่เหลือยังถูกเว้นว่างไว้ จะมีลูกกี่คน ?จะวางแพลนมีลูกตอนไหนดี ? หรือพ่อแม่จะเกษียนแล้วย้ายมาอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ไหม ทุกอย่างยังคงไม่แน่นอน บ้านหลังนี้จึงต้องรองรับแพลนที่ว่าซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในสเกลระดับครอบครัว แรกเริ่มจึงต้องตอบรับการอยู่อาศัยคนเดียว ต่อมาตอบรับคู่สามีภรรยา และรองรับการมีลูก ๆ ในอนาคต รวมถึงการขยายเป็นครอบครัวใหญ่เมื่อมีคุณพ่อคุณแม่ย้ายเข้ามาอยู่ด้วย
การวางผังบ้านบนที่ดิน จึงถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน เพื่อให้ใช้งานพื้นที่ใช้สอยภายในคุ้มค่ามากที่สุด โดยผังบ้านปัจจุบันออกแบบให้มีขนาดใช้สอยประมาณ 180 ตารางเมตร ในขณะที่ส่วนด้านหน้าของบ้านยังถูกเว้นว่างไว้ ซึ่งสามารถต่อเติมหรือออกแบบเป็นฟังก์ชันใหม่ในอนาคตที่ขยายขอบเขตได้รวมมากถึง 260 ตารางเมตร
“ภายในบ้าน จะมีพื้นที่ Double Space ซ่อนอยู่ค่อนข้างเยอะ โดยเราจะออกแบบโครงสร้างเสา คาน เผื่อไว้ หากในอนาคตเขาอยากทำเป็นห้องลูก หรือฟังก์ชันเสริมก็สามารถต่อเติมวางแผ่นพื้นเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้เลย เราพยายามทำให้ทุกเวลาที่เขาจะปรับเปลี่ยน มันเกิดคุณภาพของสเปซในทุก ๆ ช่วงไปพร้อม ๆ กัน”
พื้นที่ภายในจัดสรรให้มีฟังก์ชัน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ โดยบริเวณชั้นหนึ่ง เป็นพื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหารที่เชื่อมถึงกันเป็นสเปซใหญ่ อีกทั้งยังมีโถง Double Space เป็นหัวใจสำคัญของบ้านที่หันช่องเปิดออกสู่สวนด้านหน้าพร้อมรับลม และแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งในส่วนนี้สถาปนิกเล่าว่าแนวคิดหลัก ยังคงให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นเช่นเดียวกัน โดยในช่วงปีแรกที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียว การวางผังในลักษณะนี้จะทำให้ผู้อยู่ มองเห็นทุกส่วนของบ้านได้ในสายตา อย่างการเปิดโล่งบริเวณโถงบันได Double Space หรือบริเวณหน้าบ้าน ทำแขกไปใครมาก็สามารถมองเห็นได้ ลดจุดอับ จุดทึบ และซอกมุมให้บ้านเรียบง่ายที่สุด
แต่กลับกัน หลังจากแต่งงาน Double Space นี้ก็ยังช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ไปในตัว โดยต่างฝ่ายต่างก็ยังคงเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเชื่อมพื้นที่ชั้นหนึ่งและสอง รวมถึงยังสามารถพูดคุย ได้ยินกันได้ทั่วถึงทั้งบ้าน
เรียบง่ายในรูปแบบของสถาปัตยกรรม
“อีกหนึ่งโจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการ คือเขาอยากได้บ้านที่ตรงไปตรงมา ง่ายต่อการดูแลรักษา เพราะเขาโตมาในบ้านเจนเนอเรชันเก่าของคุณพ่อคุณแม่ มีมุก มีปั้นหยาเยอะ ๆ พอเป็นบ้านใหม่หลังแรกของตัวเอง เขาเลยอยากให้บ้านเรียบง่ายมากที่สุด แค่อ่านหนังสือ ดูหนังบ้าง ไม่ได้ทำอาหาร และเขาก็เป็นคนชอบต้นไม้ แต่ไม่ได้อยากดูแลเยอะมาก”
ด้วยความที่บ้านต้องเรียบง่ายตามโจทย์ของเจ้าของ แต่ด้านหน้าดันหันเข้าทิศที่ร้อนอย่างทิศใต้ สถาปนิกจึงเลือกที่จะไม่ออกแบบ Façade ที่หวือหวาเพื่อคงคาแร็กเตอร์โมเดิร์น ในขณะที่แก้ปัญหาเรื่องความร้อนด้วยการย่นระยะของช่องเปิดเข้าไปเพื่อให้บ้านเกิด Shading ที่นำลมธรรมชาติ นำแสงแดด แต่ไม่นำความร้อนเข้าสู่ภายใน และยังใช้ประโยชน์จากข้อดีของบริบทไซต์มาปรับเป็นคาแร็กเตอร์ของบ้าน โดย 2 ใน 4 ทิศของอาคารจะติดกับพื้นที่สีเขียวที่ค่อนข้างหนาแน่น การดึงบรรยากาศความเป็นธรรมชาติจากภายนอกเข้าสู่ภายใน จึงสร้างความรู้สึกประหลาดใจ จากลุคที่ดูขัดกับความทึบตันและหนักแน่น ป้องกันตนเองของอาคารจากภายนอก
บริเวณโถงบันไดยังมีการแทรกวัสดุบล๊อกแก้วที่นำแสงธรรมชาติเข้าบ้าน ทำให้เจ้าของสามารถจัดการงานบ้าน ซักผ้าหรือตากผ้าอยู่ในขอบเขตด้านในได้อย่างปลอดภัย เสริมด้วยต้นไม้ Internal Courtyard ที่เติมบรรยากาศให้กับบ้านและยังดูแลไม่ยาก ด้านนอกบล็อกแก้วนี้ยังมีต้นไม้อีกหนึ่งต้นซ่อนอยู่ เมื่อมีแสงเงา จึงมีเอฟเฟกต์ของความเป็นธรรมชาติที่พลิ้วไหว เติมความผ่อนคลายให้กับภายในได้เช่นกัน
ในเรื่องงบประมาณบ้านหลังนี้ก็ทำได้ดี โดยใช้ Budget ทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านบาท (ก่อสร้างในปี 2564) โดยจุดสำคัญ สองสถาปนิกแชร์ให้เราฟังว่า “การคุยกับลูกค้าให้จบ ให้เขาเข้าใจในงบประมาณ เข้าใจแบบอย่างละเอียดตรงกัน ก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อไม่ให้เขามาแก้แบบทีหลัง ลดลำดับขั้นตอน หรือแม้แต่การดีลกับช่าง ผู้รับเหมาการเข้าใจตรงกัน จะช่วยลดงบประมาณที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหน้างานได้เป็นอย่างดี เราพยายามใช้เครื่องมือหลายอย่างที่มีในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจง่ายมากที่สุด อย่าง VDO Walk through หรือการขึ้นโปรแกรม 3d ให้เห็นเลย เช่นถ้าเราบอกเขาว่าตรงนี้ปลอดภัย ข้างบ้านมองไม่เห็น ก็ต้องทำให้เขาเห็นจริง ๆ ว่ามุมมองตรงนั้น มันไม่เห็นจริง ๆ นะ”
และนี่คือเรื่องราวของ PIANG.P House บ้านขนาดไม่ใหญ่ ในงบประมาณจำกัดของครอบครัวขนาดเริ่มต้นที่เรามองว่าลงตัวทั้งความต้องการ การออกแบบ เป็นไอเดียดี ๆ ที่เราอยากส่งต่อสำหรับใครที่กำลังคิดจะมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเอง
Area : 180 sq.m (future expansion total 260 sq.m)
Budget : 2.5 MB (ก่อสร้างในปี 2564)
Location : Khon Kaen, Thailand
Architects : Rabbit Hole Studio
Contractor : ATPAC
Photographer : Sofography
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!