Varee Valley
สถาปัตยกรรมที่พิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ผืนป่า และ วัฒนธรรมอีสาน

ขอนแก่น หลายสิบปีก่อน เต็มไปด้วยป่าไม้ ความเขียวขจีที่ปกคลุมผืนดินราบสูงให้โอบอุ้มไปด้วยธรรมชาติ แต่หลายคนก็ยังคงชินภาพความแห้งแล้งแบบอีสาน Varee Valley ร้านอาหารในรีสอร์ทริมแม่น้ำพองที่ได้คราวรีโนเวทใหม่ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบเพื่อให้สถาปัตยกรรมเป็นหมุดหมายดึงผู้คนให้กลับมาทำกิจกรรมร่วมกัน และยังพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ความร่ำรวยของวัฒนธรรมอีสาน โดยได้สถาปนิกที่เกิดและโตในขอนแก่นอย่างคุณนัด-ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ จาก NPDA Studio มารับหน้าที่ออกแบบ

บริบทของธรรมชาติและข้อจำกัดเดิม

ถึงแม้จะมีคอนเซ็ปต์หลักที่ตั้งใจ แต่แน่นอนว่าสำหรับสถาปนิกเรา ข้อจำกัดและบริบทเดิมก็ต้องมาพร้อมกัน สำหรับโครงการนี้ วันแรกที่เข้าไปดูพื้นที่ คุณนัดพบว่าร้านเป็นเพิงกระท่อมร้านอาหารเก่ายื่นออกไปสู่แม่น้ำในรูปแบบของอาคารที่ฮิตก่อสร้างกันในต่างจังหวัดเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ด้วยความที่เป็นอาคารเก่า จึงไม่มีกฏหมายระยะล่นจากแม่น้ำเท่าในปัจจุบัน ทำให้ในการขออนุญาตสร้างอาคารใหม่จึงจำเป็นต้องใช้ฐานรากขนาดประมาณ 15 x15 ม. ของเดิมทั้งหมด  

เป็นข้อจำกัดต่อมาว่า โครงสร้างที่จะต้องก่อสร้างขึ้นบนฐานรากเดิมนี้ จะต้องมีน้ำหนักเบา ทำให้คุณนัดตัดสินใจเลือกใช้เหล็ก เพราะตอบโจทย์ทั้งการก่อสร้าง น้ำหนัก และ ณ วันที่ออกแบบก่อสร้าง เหล็กก็ยังราคาไม่แพงเท่าปัจจุบัน

“พอเรารู้ว่าเป็นงานรีโนเวทที่ต้องก่อสร้างบนฐานเดิม เรามีภาพว่าอาคารต้องสูงขึ้นไปประมาณ 9 -10 เมตรเลย เพื่อให้มองเห็นวิวธรรมชาติที่สวย ตอนแรกทางเจ้าของเขาก็ไม่ได้เห็นถึงความจำเป็นขนาดนั้น ด้วยงบประมาณที่ไม่ได้สูงมาก แต่ด้วยประสบการณ์ เราทำงานมาหลายปี เราพอเข้าใจว่าไซต์แบบนี้ อาคารควรจะออกมาแบบไหน สุดท้ายพองานมันออกมาแล้วได้รับ feedback จากลูกค้าที่ค่อนข้างดี รายได้จากการขายเขาเพิ่มขึ้นเยอะมากเลยนะจากร้านเดิม นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องจ้างสถาปนิก โดยเฉพาะงานคอมเมอเชียล”

ภาพก่อนการรีโนเวท

สถาปัตยกรรมเหมือนหมุดหมาย และต้นไม้ที่แตกกิ่งก้าน

เมื่อได้ฟังก์ชันภาพรวมที่ลงตัวตอบโจทย์บริบทและข้อจำกัดเดิม สเต็ปต่อไปก็เดินทางมาสู่คอนเซ็ปต์ในเชิงนามธรรมที่สถาปนิกตั้งใจแฝงลงไปในงานออกแบบ

“ตั้งแต่เด็กจนโต เราไม่เคยรู้สึกว่าจังหวัดนี้แห้งแล้งเลย พอหน้าฝน ฝนตกเยอะมาก หน้าหนาว ก็หนาวจนไม่รู้จะหนาวยังไง ชาวอีสานเราผูกพันกับธรรมชาติ ป่าคือทุกอย่างของเด็ก ๆ สมัยนั้น เรามีทุกอย่างพร้อมทั้งวัฒนธรรม ประเพณีที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ภาพจำของชาวอีสานกลับถูกมองว่า แห้งแล้ง กันดาร อาจเพราะความที่อีสานเป็นพื้นที่ใหญ่ การจัดการน้ำ หรือเขื่อนมันเลยยังไม่ค่อยดี มีเรื่องผลประโยชน์ของคนใหญ่โตเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ชาวอีสานส่วนมากเลยกลายเป็นเหยื่อของคำว่ากันดารแบบเหมารวม”  

คุณนัดเล่าว่า เมื่อก่อนชาวอีสาน เวลาจะทำกิจกรรมอะไรสักอย่างอย่างการจัดประชุม รวมตัวของชุมชน ทุกคนจะรู้กันว่า ‘ต้นไม้’ เป็นหมุดหมายหรือจุดนัดพบที่เชื่อมโยงทุกคนเอาไว้ด้วยกัน ในจุดเริ่มต้นของการออกแบบ แนวคิดง่ายที่สุดจึงเป็นการสร้างสเปซเสมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้าน นำมาสู่การออกแบบโครงสร้างหลักให้อยู่ในลักษณะเสากลาง แตกขยายเป็นเสาเหล็กที่มีหน้าตัดขนาดเล็กหลายต้นเพื่อรับโครงสร้างด้านบน ซึ่งเสากลางนี้ยังทำหน้าที่เดรนน้ำจากอาคารในวันที่ฝนตกอีกด้วย

ภาพสเก็ตช์แนวคิดการออกแบบ
ภาพแปลนอาคาร

หลายคน อาจเกิดคำถามว่า แล้วทำไมไม่เดรนน้ำออกทางขอบอาคาร ?

“ถ้าเราทำหลังคาจั่วแล้วเดรนน้ำออกทางขอบอาคาร เราจะเสียพื้นที่ผิวของผนังทั้ง 4 ด้าน ทำให้อาคารมันเตี้ยกว่า ซึ่งเราต้องการเปิดพื้นที่ผนังอาคารให้มันสูง แบบเต็มที่มากที่สุด ด้วยความที่บริบทไซต์มันโดนล้อมด้วยต้นไม้อยู่แล้ว ไม่ร้อน แล้วต้นไม้จะได้เป็นฉากล้อมรอบที่คนภายในอาคารสามารถมองเห็นได้เต็มที่”

และเพื่อให้อาคารกลมกลืนไปกับต้นไม้ที่รายล้อม รวมถึงให้คนที่อยู่ภายในมองเห็นวิวได้ วัสดุหลักที่เลือกใช้จึงเป็น แผ่นใสลอนคู่โปร่งแสง ทำให้อาคารมีความเชื่อมโยงกับเวลา โดยคุณนัดเล่าว่า “ถ้าเราอยู่ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ในวันที่ฝนไม่ตก จะสัมผัสได้เลยว่าแสงหรือเอกเฟกต์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลามันเปลี่ยนไป ไม่หยุดนิ่ง ตอนที่เราเลือกใช้ลอนนี้ เพราะมันทำได้ระยะสูงมากเลยนะ ตอนแรกเราจะไม่ให้อาคารมีรอยต่อของเส้นวัสดุเลย แต่ดันมีข้อจำกัดเรื่องรถที่เข้ามาส่ง เขาบรรทุกได้สูงแค่ 6 เมตร เราก็เลยต้องยอมมีรอยต่อตามที่ทำได้”

“สเปซตรงนี้เขามาใช้งานกันจริง ๆ นะ มีทำบุญเลี้ยงพระ มีจัดงานแต่งแบบนุ่งชุดพื้นเมืองแต่งงานกันจริง ๆ เลย ไม่มีเตี๊ยมกันมาก่อน เพราะเรามองว่าถ้าเราทำสเปซเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องหากิจกรรมพวกนี้มาดึงดูนักท่องเที่ยว เราอยากให้อาคารมันเป็นแค่สเปซที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเขาเข้าไปจิตนาการกันเอง” ทางสัญจรภายในอาคารจึงมีการออกแบบส่วนในการ Support โครงสร้างบันได เพื่อให้ผู้ใช้งานค่อย ๆ เดินขึ้นไปชมวิวจากส่วนล่างสู่ดาดฟ้าด้านบน ซึ่งในส่วนนี้ยังมีการเปิดช่องแสง Skylight เพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ใจกลางอาคาร

คอนกรีตที่สร้างคาแร็กเตอร์ในแบบอีสาน

“ตอนเด็ก ๆ เราจะมีจักรยาน BMX อยู่คันหนึ่ง ขับรถลุยกับเพื่อนเข้าไปเล่นในป่า มันจะมีสะพานขาว หรือสะพานปูนคอนกรีตเนี่ยแหละ พอเราข้ามไปมันจะกลายเป็นดินแดนในป่าของเด็ก ๆ เราเอาแนวคิดนี้มาใส่ในอาคารด้วย อยากให้มันมีบรรยากาศของการลอดแผ่นคอนกรีตเข้าไปสู่พื้นที่ที่เปรียบเสมือนบ้านต้นไม้ นี่คือจินตนาการที่เราคิดไว้ แต่ในเชิงฟังก์ชัน แผ่นคอนกรีตที่ยาวเป็นสิบเมตรนี้ เราทำเพื่อให้มันสามารถมีบานประตูเปิดปิดได้ในวันที่อากาศร้อนเกินไปแล้วอยากจะเปิดแอร์ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้ร้อนนะ เขาเปิดโฟลวให้อากาศเข้ามากกว่าซะอีก”

ถ้าลองสังเกต เราจะเห็นว่าคอนกรีตที่ว่านี้ มีลวดลายไม่เหมือนที่ไหน และยังให้บรรยากาศท้องถิ่นแบบภาคอีสานอีกด้วย “อย่าง Tadao Ando เขาหล่อคอนกรีตยังมีลายเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของญี่ปุ่น เราเลยคิดว่า อ่าว…แล้วถ้าเราเป็นคนอีสาน เราจะหล่อคอนกรีตยังไงดีให้อาคารมันดูโมเดิร์นในแบบของอีสาน”

สถาปนิกทดลองเรื่องการใช้วัสดุในการออกแบบงานก่อนหน้า ซึ่งมีการนำไม้ไผ่มาสานเป็นแผ่น เพื่อทำไม้แบบในการหล่อคอนกรีต ทำให้พื้นผิวที่ได้ลดความโมเดิร์นเฉียบคม ให้อาคารดูซอฟต์ลง “แต่ต้องบอกว่า เราไม่ได้ทำคนแรกนะ ตอนแรกที่เห็นมาจากสถาปนิกเวียดนาม แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่พอมีโอกาสได้ไปทำบ้านให้ลูกค้าแล้วสำรวจวัสดุไปเรื่อย ๆ ถึงไปเจอ เราทดลองทำดูจนมั่นใจ เลยเอามาใช้กับงานนี้”

เวลาผ่านมาถึงช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ คุณนัดกล่าวว่า ในเชิงนามธรรม อาคารนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนหมุดหลักให้คนมาล้อม มาประชุม มาทำกิจกรรมกัน หรือแม้แต่ในนามธรรมเชิงการเมือง ในฐานะผู้ออกแบบยังอยากสื่อว่า “จากเดิมที่คนชอบมอง อีสานว่าแห้งแล้ง กันดาร เราไม่ได้เป็นแบบนั้น อาคารนี้มันก็ยังพิสูจน์ โดยตั้งตัวโดดเด่น ท่ามกลางธรรมชาติที่รายล้อมได้อย่างสมบูรณ์ งานเราไม่ได้พยายามสร้างตัวตนให้กับมัน แต่อยากให้คนเข้าไปสร้างสรรค์กันเอง”

สถานที่  :  ขอนแก่น, ภาคอีสาน, ประเทศไทย
พื้นที่  :  800 ตารางเมตร
สถาปนิก  : NPDA studio | ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ                    
ตกแต่งภายใน : NPDA studio | ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ, กัญญ์รกรณ์ วินิตวัฒนคุณ, ชญากานต์ ศรีอุบลมาศ                    
วิศวกรโครงสร้าง : ปันยา ชูเมือง
วิศวกรควบคุมงาน : พฤทธิ์ สมประสงค์            
ภาพถ่าย :  DsignSomething, NPDAstudio

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้