Here for Bangkok “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”
สร้างสรรค์ประสบการณ์บทใหม่ผ่านงานสถาปัตยกรรม

งานออกแบบเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่ทรงพลัง ความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผ่านออกมาในรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของอาคารสถานที่ แต่ยังเป็นการออกแบบสังคมแห่งอนาคตได้ด้วย งานออกแบบจึงมีผลต่อทุกมิติ ทั้งชีวิตผู้คน สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ

 

อีกสี่ปีนับจากนี้เราจะได้มีประสบการณ์ร่วมกับสถาปัตยกรรมแห่งใหม่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 เป็นกลุ่มอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโดดเด่นที่จะมาสร้างสรรค์ประสบการณ์การอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของทั้งคนไทยและจากทั่วโลก

เบื้องหลังการถ่ายทอดความหมายของงานออกแบบให้กับ “ดุสิต เซ็นทรัล  พาร์ค” คือสองผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่มากความสามารถจากกลุ่มดุสิตธานี คุณณัฐภาณุ์ ศรียุกต์สิริ (คุณจอย) และเซ็นทรัลพัฒนา คุณจุฑาธรรม จิราธิวัฒน์ (คุณโบ) ทั้งคู่มีกระบวนคิดในเชิงการออกแบบและมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพลวัตและบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ต่างคนต่างทุ่มเทให้กับโครงการที่จะเป็นไอคอนิค ชิ้นนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยนำประสบการณ์การทำงานกับองค์กรระดับโลก การเดินทางที่เปิดโลกกว้างและการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้งมากลั่นกรองสู่โครงการนี้

ผู้บริหารสตรีทั้งสองมีความเชี่ยวชาญในสายงานด้านการออกแบบโดยตรง คุณณัฐภาณุ์สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Architectural Association School of Architecture, London ประเทศอังกฤษ หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่ Amanda Levete Architects และ Caruso St John Architects ซึ่งเป็นประสบการณ์อันดีที่ได้ทำงานร่วมกับสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เป็นเวลากว่า 5 ปี ก่อนจะกลับมาที่ประเทศไทย โดยรับตำแหน่งอาจารย์พิเศษ ภาควิชา International Program in Design & Architecture คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเข้าทำงานในบริษัทดุสิตธานี ดูแลงานด้านกลยุทธ์การออกแบบ และยังเป็นสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบ “อาศัย” (ASAI) แบรนด์ที่พักในกลุ่มโรงแรมไลฟ์สไตล์เครือโรงแรมดุสิตธานี ที่มุ่งเจาะกลุ่มนักเดินทางยุคใหม่ (Millennial generation) ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของผู้บริหาร สำหรับชีวิตส่วนตัว คุณณัฐภาณุ์ สมรสกับคุณศิรเดช โทณวณิก ทายาทธุรกิจกลุ่มดุสิตธานี

คุณจุฑาธรรม สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Cornell University และปริญญาโทสาขาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา ทำงานในตำแหน่ง Project  Design Manager ที่ Sasaki Associates บริษัทชั้นนำในด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่งภายใน และการวางผังเมือง ที่ตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโกเป็นเวลา 3 ปี และ    สั่งสมประสบการณ์ในตำแหน่ง Design Director ดูแลทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงงานออกแบบห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะกลับมาประเทศไทยดูแลธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2550 เธอเป็นสถาปนิกผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์และการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสและศูนย์การค้าในรูปแบบ      ไลฟ์สไตล์มอลล์เครือเซ็นทรัลหลายแห่ง อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลภูเก็ต เซ็นทรัลอยุธยา และเซ็นทรัล จันทบุรี ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับนายวสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง VaSLab เจ้าของผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมหลากหลายประเภท

เมื่อสถาปนิกผู้คร่ำหวอดในวงการทั้งสองคนได้มาร่วมงานกันในโครงการมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” พลังสร้างสรรค์กับประสบการณ์ในสายงานที่ทั้งคู่มีความเชี่ยวชาญจึงถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่นี้ให้มีความยั่งยืนทั้งในมุมของรูปแบบดีไซน์งานสถาปัตยกรรม และในมุมของการพัฒนาโครงการให้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมแห่งอนาคตส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ความโดดเด่นที่สุดของโครงการ  “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”  คือ ทำเลที่ตั้งที่ดีที่สุดในย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร โครงการนี้ได้รับการพัฒนาบนพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 ซึ่งนอกจากจะเป็นย่านที่มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธุรกิจที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย อาทิ ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำ ธุรกิจโรงแรม การบริการและการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการผลิตอาหารและการเกษตร รวมไปถึงธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทำเลตรงนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ของรถไฟฟ้าบีทีเอส (สถานีศาลาแดง) และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที (สถานีสีลม) อีกทั้งพื้นที่ฝั่งตรงข้ามที่ตั้งโครงการคือสวนลุมพินี สวนสาธารณะขนาดใหญ่พื้นที่กว่า 360 ไร่ได้รับสมญาว่าเป็นปอดคุณภาพดีที่สุดของกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้จึงรวมเป็นองค์ประกอบเด่นซึ่งไม่มีทำเลในย่านธุรกิจใดที่มีลักษณะเฉพาะตัวในแบบเดียวกันนี้ได้    

โจทย์สำคัญในการออกแบบภาพรวมของการพัฒนาโครงการนี้ จึงเป็นงานที่ต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งคุณจุฑาธรรม ให้มุมมองในการทำงานออกแบบให้กับโครงการนี้ว่า

งานออกแบบมีผลต่อทุกมิติ ทั้งรูปแบบชีวิตผู้คน สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงการ การทำงานของทีมบริหารโดยหลัก ๆ จึงเป็นการช่วยกันกำหนดแนวคิดกลยุทธ์เพื่อจะเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของกลุ่มอาคารซึ่งถือเป็นพื้นที่แยกส่วนตามประโยชน์การใช้งาน ให้สามารถมีจุดร่วมเดียวกัน และทำให้เกิดประโยชน์จากการใช้พื้นที่ทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีและเซ็นทรัลพัฒนาเท่านั้น หากยังต้องเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพ ฯ และต่อชุมชนที่อยู่อาศัยแวดล้อมโครงการด้วย ” 

ในแง่มุมของการทำงานร่วมกัน  ผู้บริหารทั้งสองทำงานลงลึกในทุกรายละเอียด เนื่องจากโครงการนี้มีความท้าทายมาก เพราะเป็นมิกซ์ยูสแห่งเดียวของไทยที่พัฒนาครบวงจรการใช้ประโยชน์กลุ่มอาคารสูงถึง 4 ประเภทซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ประกอบด้วยโรงแรมดุสิตธานี อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และยังมีพื้นที่สีเขียวที่ออกแบบในลักษณะของสวนขนาดใหญ่เล่นระดับบนพื้นที่ดาดฟ้า เป็นพื้นที่เชื่อมต่อทุกองค์ประกอบภายในโครงการและยังเป็นจุดเชื่อมโยงทัศนีภาพสีเขียวจากโครงการต่อเนื่องออกไปถึงสวนลุมพินี ซึ่งช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความร่มรื่นของธรรมชาติให้กับชุมชนและการอยู่อาศัยใจกลางเมืองได้มากยิ่งขึ้น การออกแบบสวนดาดฟ้าขนาดใหญ่จึงเป็นการออกแบบที่แสดงให้เห็นความโดดเด่นของทำเลที่ตั้งและเป็นปัจจัยเสริมความเป็นมิกซ์ยูสครบวงจรหนึ่งเดียวในเมืองไทยที่ไม่มีโครงการใดเคยทำมาก่อน

ศิลปะของการออกแบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาคารโรงแรมดุสิตธานีหลังเดิมที่ก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลา 50 ปีก่อนหน้านี้ คือการเปิดประตูความทันสมัยและเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอันทรงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมซึ่งยืนยงคงความโดดเด่นของการผสานศิลปะไทยและคติพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิว่าด้วยความงดงามของสวรรค์ชั้นดุสิต เข้ากับรูปทรงอาคารที่มีความทันสมัยได้อย่างกลมกลืน  เป็นมรดกทางศิลปะที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยถ่ายทอดผ่านงานสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในอาคารให้ภาพลักษณ์ความงดงามอย่างคลาสสิกที่อยู่เหนือกาลเวลา ซึ่งเป็นการผสมผสานคุณค่าดั้งเดิมให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างเหมาะสม

คุณณัฐภาณุ์ เล่าว่า “การออกแบบกลุ่มอาคารใหม่ยังคงเป็นดีไซน์ทันสมัยและจะยั่งยืนต่อไปอีกหลายสิบปีนับจากนี้เหมือนกับที่ดุสิตธานีเคยเป็นมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รายละเอียดขององค์ประกอบหลายส่วนจากอาคารหลังเดิมจะถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบทั้งด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งกลุ่มอาคารมิกซ์ยูสทั้ง 4 หลัง ผู้บริหารหญิงรุ่นใหม่ทั้งสองคนทำงานร่วมกันกับทีมออกแบบอย่างทุ่มเทมาตั้งแต่เริ่มต้นจากแนวคิดและขยับขยายพัฒนามาเป็นมาสเตอร์แพลนเพื่อการลงมือทำงานในรายละเอียดทุกส่วน เธอทั้งสองใส่ใจทุ่มเทมากขึ้นอีกในช่วงเวลาที่มีการรื้อถอนอาคารโรงแรมดุสิตธานีหลังเดิมเมื่อปี 2562 โดยให้ทีมออกแบบดำเนินการเก็บงานลายเส้นที่มีลักษณะต่าง ๆ  ซึ่งเป็นรายละเอียดของงานตกแต่งภายในอาคาร  จัดทำเป็นข้อมูลทั้งในแบบภาพสองมิติและสามมิติเพื่อใช้ศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้งาน”

สำหรับการออกแบบโครงการใหม่ รวมทั้งมีการเก็บเป็นภาพถ่ายจำนวนมากในมุมต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นรูปแบบการตกแต่งภายในตัวอาคาร คุณณัฐภาณุ์ บอกว่า การคงไว้ซึ่งความดั้งเดิมที่เปรียบเสมือนมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้หมายถึงการยกเอาสิ่งที่เคยมีและจับต้องได้จากโรงแรมดุสิตธานีเดิมมาเพิ่มเติมไว้ในดุสิตธานีใหม่ แต่เป็นการใช้คุณค่าของสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการคิดงานออกแบบให้มีส่วนผสมที่ลงตัว แสดงออกถึงคุณค่าดั้งเดิมกับความทันสมัยที่ไปด้วยกันได้ ทำให้งานออกแบบนั้นไร้กาลเวลาทั้งยังให้อารมณ์อบอุ่น  สง่างามและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรมอาคารและการตกแต่งภายในตัวอาคาร  รวมถึงการออกแบบยูนิตที่พักอาศัย 

คุณจุฑาธรรม กล่าวเสริมว่า  “การที่ใช้แนวทางผสมผสานคุณค่าดั้งเดิมเข้ากับความทันสมัย ถือเป็นการลับคมความคิดที่สนุก และได้เพิ่มความหลากหลายในประสบการณ์ทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะการดีไซน์และตกแต่งในส่วนของศูนย์การค้าจะต่างจากโรงแรมและส่วนที่พักอาศัยที่อาจจะผสานเอกลักษณ์ดั้งเดิมของดุสิตธานีเข้ากันได้มากกว่า สิ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนถึงการผสมผสานคุณค่าดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์สมัยใหม่สำหรับศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน จะเป็นส่วนของการออกแบบหน้าตึกหรือ façade ซึ่งเป็นดีไซน์ที่ดึงดูดสายตาและเป็นหน้าตาให้กับตัวอาคาร รวมถึงการดีไซน์รูปแบบชายคาในส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่สามารถผสานเอกลักษณ์ศิลปะไทยรูปแบบดั้งเดิมของดุสิตธานีเข้าไปได้ แต่ในรายละเอียดของการตกแต่งภายในตัวอาคารจะเน้นความทันสมัยมากกว่าเพราะอาคารศูนย์การค้าต้องการความรู้สึกของพลังและความเคลื่อนไหวให้อารมณ์สนุกสดใส ซึ่งในแต่ละชั้นก็จะดีไซน์แตกต่างกันออกไป”    

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งของบางอย่างที่ทรงคุณค่าซึ่งควรจะนำมาจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์สำหรับการพัฒนาโครงการใหม่นี้ด้วย  คุณณัฐภาณุ์  ยกตัวอย่างต้นไทร ไม้ใหญ่ที่ปลูกมาตั้งแต่เริ่มสร้างดุสิตธานีสมัยก่อน เมื่อมีการรื้อถอนอาคารเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการพัฒนาใหม่  ทางโรงแรมได้ทำการย้ายต้นไทรใหญ่ทั้งหมดไปดูแลไว้อย่างดี และวางแผนจะนำกลับมาปลูกไว้ที่โครงการ ยังมีองค์ประกอบที่เป็นเสาหลักของโรงแรมซึ่งวาดและลงสีโดยศิลปินแห่งชาติ  สิ่งของทรงคุณค่าเหล่านี้สามารถนำมาเป็นสิ่งตกแต่ง หรือเป็นประติมากรรมที่มีเรื่องเล่าขาน เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่รังสรรค์ผลงานศิลปะ และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจสำหรับผู้พบเห็นในฐานะที่เป็นชิ้นงานศิลปะดั้งเดิม

การอยู่อาศัยสไตล์คนเมืองยุคใหม่กับ “ดุสิต เรสซิเดนเซส” 

แม้ผู้บริหารทั้งสองคนจะรับผิดชอบงานแตกต่างกันตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ กลุ่มดุสิตธานีโดยคุณณัฐภาณุ์ ดูแลงานออกแบบอาคารโรงแรมและอาคารที่พักอาศัย เซ็นทรัลพัฒนาโดยคุณจุฑาธรรม ดูแลงานออกแบบอาคารศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน แต่เพราะโจทย์สำคัญในการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค คือ การออกแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่กลุ่มอาคารที่มีความหลากหลาย ให้แต่ละส่วนสามารถเชื่อมโยงกันแต่ต้องไม่รบกวนกันระหว่างพื้นที่ในส่วนที่เป็นปัจเจกและพื้นที่ในส่วนที่เป็นสาธารณะ โดยเฉพาะการออกแบบอาคารที่พักอาศัย  ผู้บริหารหญิงทั้งสองจึงทุ่มเทเวลาและความตั้งใจให้กับการพัฒนาส่วนนี้ค่อนข้างมากและลงลึกในรายละเอียดอย่างเข้มข้น มีการหารือถกเถียงอยู่เสมอกับทีมสถาปนิก และนักออกแบบตกแต่งภายในถึงแนวคิดการออกแบบอาคารสูงที่พักอาศัย การทำงานเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ได้ดีไซน์ที่มีความเหมาะสมลงตัวมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การออกแบบทางเดินเข้าสู่อาคารที่พักอาศัยที่ให้ความรู้สึกถึงคำว่า “บ้าน” ที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดอย่างแท้จริง งานออกแบบสถาปัตยกรรมในส่วนที่พักอาศัยจึงได้ภาพลักษณ์ของเป็นอาคารทันสมัยสูง  69  ชั้น และออกแบบแบรนด์สำหรับโครงการเป็น 2 รูปแบบเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

แบรนด์แรกคือ  “ดุสิต เรสซิเดนเซส”  ขนาดพื้นที่กว้างขวาง งานดีไซน์เป็นแนวลักชัวรีคลาสสิกที่มีกลิ่นอายความเป็นดุสิตธานีค่อนข้างมาก เป็นงานออกแบบที่ตอบโจทย์โดนใจกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นลูกค้าดั้งเดิมที่ชื่นชอบความเป็นดุสิตธานี และยังเหมาะกับคนที่ชอบการอยู่อาศัยในพื้นที่กว้าง ตกแต่งหรูในสไตล์คลาสสิก รวมไปถึงครอบครัวใหญ่ที่ต้องการพื้นที่และความเป็นส่วนตัวสำหรับสมาชิกทุกคน แบรนด์ที่สอง คือ “ดุสิต พาร์คไซด์”   เหมาะกับสไตล์คนเมืองที่ชื่นชอบการอยู่อาศัยในพื้นที่ขนาดพอดีแต่ความเป็นส่วนตัวสูง  ชอบความหรูทันสมัยแต่แฝงไว้ด้วยความเรียบง่าย  แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันหลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้านให้มีความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน  การพักผ่อน  การทำงานอดิเรก  ทำกิจกรรมกับครอบครัว และมีเวลาเป็นส่วนตัว     

การรวมสองแบรนด์ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารสูงหลังเดียวกันเป็นอีกหนึ่งความพิเศษของการออกแบบ คุณจุฑาธรรม บอกเหตุผลว่า เนื่องจากโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีสำหรับการอยู่อาศัยในย่านใจกลางเมือง สิ่งสำคัญจึงเป็นการออกแบบให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างสะดวกสบาย มีความเป็นส่วนตัว และสามารถใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกจากทุกอาคารภายในโครงการได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน อาคารสูงที่พักอาศัยจึงถูกออกแบบให้มีจำนวนยูนิตเพียง 406 ยูนิต และแยกสัดส่วนชัดเจนในแง่ของความเป็นส่วนตัวตั้งแต่โถงทางเข้า – ออกอาคาร ส่วนล็อบบี้ ลิฟต์โดยสาร ระหว่าง “ดุสิต พาร์คไซด์” (ชั้น 9 – 29)  และ  “ดุสิต เรสซิเดนเซส”  (ชั้น 30 – 69)

ด้านคุณณัฐภาณุ์กล่าวเสริมว่า “ในความเป็นส่วนตัวของการอยู่อาศัยนั้น ยังสามารถออกแบบพื้นที่พิเศษให้ทั้งสองแบรนด์ได้เชื่อมต่อกันได้  พื้นที่พิเศษที่ว่าก็คือ ชั้น 8 ของอาคารที่พักอาศัย ซึ่งถูกออกแบบการใช้งานให้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อสู่ภายนอกอาคารตรงมาถึงสวนรูฟพาร์ค โดยอาคารสูงทุกหลังจะถูกออกแบบให้สามารถเชื่อมมาสู่พื้นที่ตรงนี้ซึ่งเป็นจุดร่วมเดียวกันได้  นี่คือข้อได้เปรียบของการผสานการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการพัฒนาโครงการรูปแบบมิกซ์ยูสที่สมบูรณ์  ซึ่งยังไม่มีโครงการมิกซ์ยูสในเขตตัวเมืองโครงการไหนจะสามารถออกแบบพื้นที่ในลักษณะนี้ได้ ”

สวนดาดฟ้า นิเวศธรรมชาติใหญ่ที่สุดบนพื้นที่ 7 ไร่

สวนดาดฟ้า หรือรูฟพาร์ค  นับเป็นองค์ประกอบที่ห้าที่ได้รับการออกแบบมาอย่างตั้งใจที่จะใช้เป็นพื้นที่พิเศษช่วยเสริมประโยชน์การใช้พื้นที่ในลักษณะของพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้อยู่อาศัยและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายภายในโครงการ  ขณะเดียวกันพื้นที่สาธารณะส่วนนี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ปอดใจกลางเมืองหลวงเอื้อประโยชน์สำหรับผู้คนภายนอกที่อยู่แวดล้อมโครงการให้สามารถเข้ามาใช้งานได้เต็มที่

คุณณัฐภาณุ์ เล่าถึงที่มาของการออกแบบองค์ประกอบสำคัญส่วนนี้ของการพัฒนาโครงการว่า “เนื่องจากอีกหนึ่งจุดเด่นของโครงการ คืออยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินีซึ่งเป็นพื้นที่สาธาณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพ ฯ และเป็นจุดเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบในโครงการต่อเนื่องไปถึงพื้นที่แวดล้อมรอบโครงการจึงอยากให้รูฟพาร์คแห่งนี้เป็นเสมือนส่วนต่อขยายของสวนลุมพินีด้วย”

เบื้องหลังงานออกแบบรูฟพาร์คจึงไม่ใช่การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่ทำไว้ให้ผู้คนชื่นชมเพียงความงามตามธรรมชาติเท่านั้น  แต่ยังทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์พลังขับเคลื่อนชีวิตให้กับผู้คนและสังคมด้วย  ในที่สุดแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในลักษณะสวนดาดฟ้าจึงปรากฎเป็นภาพของการใช้พื้นที่ดาดฟ้ากลุ่มอาคารทั้งสี่หลังตั้งแต่ดาดฟ้าชั้น 7 ลดหลั่นลงมาถึงดาดฟ้าชั้น 3 รวมพื้นที่ทั้งหมดของสวนมากถึง 7 ไร่ เป็นบริเวณศูนย์กลางที่มีกลุ่มอาคารทั้งสี่ล้อมรอบไว้คือสวนดาดฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสที่ยังไม่เคยมีใครพัฒนาพื้นที่สีเขียวในลักษณะนี้มาก่อน 

คุณณัฐภาณุ์ ทำงานลงลึกในทุกรายละเอียดเพื่อให้รูฟพาร์คมีส่วนเอื้อให้เกิดนิเวศธรรมชาติให้กับกรุงเทพ ฯ  ซึ่งจะส่งผลดีในหลาย ๆ ด้านให้กับนิเวศเมืองโฉมใหม่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในเมือง สร้างความสุขให้การใช้ชีวิตของผู้คนได้ต่อไปอย่างยั่งยืน “โครงการต้องปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดและทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ของสวนได้ทั้งหมด” แนวทางนี้เป็นการกำหนดขอบข่ายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวภายในโครงการให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เห็นภาพได้ชัดเจน 

สองผู้บริหารหญิงทุ่มเวลาส่วนมากในการศึกษาอย่างเจาะลึกในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในสวน และการคัดสรรพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่จะทำให้มีความยั่งยืนของสภาพธรรมชาติที่จะค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับสังคมเมืองในอนาคต  โดยทำงานร่วมกับมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม – บริษัท Landscape Collaboration จำกัด  การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนรูฟพาร์ค มุ่งเน้นไปที่การใช้งานได้อย่างเต็มประโยชน์และตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตเมืองยุคใหม่ที่ต้องการความใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีการออกแบบทางเดินธรรมชาติ (Natural Trail) ในรูฟพาร์ค จัดให้ทั้งเพื่อความเพลิดเพลินในวิวทิวทัศน์และเพื่อการออกกำลังกาย  มีจุดชมวิวหลายแห่งเพิ่มมุมมองที่เชื่อมโยงทัศนียภาพสีเขียวจากโครงการออกไปยังสวนลุมพินีราวกับเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเดียวกัน มีลู่วิ่งและเส้นทางขี่จักรยาน มีการจัดพื้นที่สำหรับการรับประทานอาหาร การปิกนิกของครอบครัว มีสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัยให้พ่อแม่ยังมองเห็นลูกอยู่ในสายตา และยังมีพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายหลากหลาย  เช่น  ลานอเนกประสงค์สามารถจัดคอนเสิร์ต หรือเป็นโรงภาพยนตร์กลางแจ้ง    พื้นที่แสดงงานศิลปะ  แสดงดนตรี  ทำเวิร์คช้อป  และการจัดมินิอีเว้นท์ในวาระต่าง ๆ

 

จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ทุกคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัว หนุ่มสาว คนรักสัตว์เลี้ยง วัยรุ่น เด็กและผู้สูงวัย สามารถใช้รูฟพาร์คทำกิจกรรมหลากหลายได้ตามไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบ และมีความสุขอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดสรรไว้แล้วอย่างเหมาะสม ยังมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับพันธุ์พืชหลากประเภทที่จะถูกนำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของรูฟพาร์ เช่น พันธุ์ไม้ที่ช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศ พันธุ์ไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจน  พันธุ์ไม้ใหญ่ให้ร่มเงา  พันธุ์ไม้ช่วยไล่ยุง รวมไปถึงพันธุ์ไม้มงคลชนิดต่าง ๆ  ความพิเศษอีกประการคือ การศึกษาข้อมูลพันธุ์ไม้ประจำถิ่นของกรุงเทพฯ และคัดสรรพันธุ์ต้นกล้านำมาปลูกในสวนดาดฟ้าแห่งนี้ด้วย  นับเป็นความพิถีพิถันอย่างที่สุดในการเลือกสรรพันธุ์ไม้ใหญ่น้อยที่เหมาะสมเข้ากันทั้งโครงการโดยผสมผสานความลงตัวทั้งไม้ใหญ่ และไม้พุ่มเตี้ย เช่น เตย แว่นแก้ว เสน่ห์จันทร์แดง เดหลี  ไม้ใบเขียวหนา เช่น บอนดำ พัดโบก ไม้ลำต้นสูง เช่น ต้นลำพู  ไม้แผง เช่น หญ้าถอดปล้อง รวมทั้งไม้น้ำอย่างอะเมซอล ลานไพลิน และกก

   

การออกแบบการใช้งานพื้นที่ในสวนดาดฟ้าได้อย่างเหมาะสมเช่นนี้ทำให้มองเห็นภาพความหลากหลายของไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น พลังของการออกแบบส่งเสริมให้โครงการมิกซ์ยูสสามารถพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้สูงสุดสำหรับธุรกิจและยังสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย นี่คือการพัฒนาเมืองภายใต้การทำงานอย่างทุ่มเทโดยกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ของสองอาณาจักรธุรกิจ “ดุสิตธานีและเซ็นทรัลพัฒนา” ที่สะท้อนภาพชัดเจนให้เห็นพลังของการออกแบบที่ช่วยส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตในสังคมเมืองได้อย่างยั่งยืน  

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้