สิ่งที่ทำให้บ้านหนึ่งหลังกลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์แบบสำหรับการอยู่อาศัย อาจไม่ใช่แค่เรื่องของขนาด หรือการพยายามสร้างภาษาการตกแต่ง ขับเน้นความสวยงามและโดดเด่น แต่หากมองลึกลงไปยังหัวใจของการออกแบบที่แท้จริง กลับเป็นบ้านที่เกิดขึ้นจากหน้าที่ใช้สอย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับอยู่อาศัยอย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกันกับ House AT บ้านสีขาวของครอบครัวตันมณีวัฒนา ที่ได้ ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์และคุณธนาคาร โมกขะสมิต จาก Research Studio Panin มาออกแบบบ้านที่สื่อถึงแก่นของหน้าที่ใช้สอย มีความโปร่งโล่ง เหมาะกับทุกสภาพอากาศ และสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยการจัดเรียงพื้นที่บ้านแบบไทยไว้ในแนวตั้งได้อย่างลงตัว
ด้วยโจทย์ความต้องการบ้านสำหรับสมาชิกในครอบครัวทั้ง 5 ที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก ก็สามารถอยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อมโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ บวกกับความชอบพื้นที่ใต้ถุนสูงและชานบ้านแบบไทย ๆ ทำให้สถาปนิกเริ่มออกแบบพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นเสมือนใต้ถุน ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ เป็นพื้นที่รับแขก พื้นที่นั่งเล่น หรือจะนั่งรับประทานอาหารก็ได้ มีส่วนเปิดโล่งที่เชื่อมต่อไปยังสวนภายนอก อยู่ติดกับครัวไทย และส่วนเซอร์วิสอื่น ๆ ของบ้านด้วย
จากนั้นค่อย ๆ เรียงฟังก์ชันอย่างเรียบง่าย ตามลำดับความเป็นส่วนตัว โดยในชั้นสองประกอบไปด้วยพื้นที่ที่ทุกคนมักมาใช้เวลาร่วมกัน อย่างโซนนั่งเล่นและโซนทานอาหารที่วางผังแบบ Open Plan เปิดโอกาสให้ทุกคนในบ้านสามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างอิสระ มีห้องนอนส่วนตัวของคุณยาย และห้องสตูดิโออเนกประสงค์สำหรับคุณแม่มานั่งทำงานพร้อมกับลูก ๆ ที่ทำการบ้าน ส่วนชั้นสามเป็นชั้นที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดคือ มีห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ และลูก ๆ อีกสองคน
การจัดเรียงพื้นที่บ้านไทยในแนวตั้ง
เนื่องจากพื้นที่เดิมมีขนาดไม่ใหญ่มาก การออกแบบพื้นที่ชานบ้านแบบไทย ๆ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างฟังก์ชันตามที่เจ้าของบ้านต้องการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สถาปนิกจึงเลือกใช้วิธีจัดเรียงพื้นที่ทั้งหมดในแนวตั้ง แล้วสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ผ่านโถงอเนกประสงค์ที่เปรียบเสมือนชานบ้านในแต่ละชั้น ก่อนที่จะเชื่อมต่อไปยังฟังก์ชันต่าง ๆ ภายในบ้าน
โถงอเนกประสงค์กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างภายในและภายนอก ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เพียงเปิดกระจกบานเลื่อนที่กั้นระหว่างโถงและพื้นที่ส่วนกลางในชั้นสอง โถงก็จะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพื้นที่ด้านใน แต่หากปิดกระจกบานเลื่อน แยกพื้นที่ทั้งสองออกจากกัน โถงก็จะถูกผลักออกมาให้กลายเป็นพื้นที่ภายนอกแทน
ความสัมพันธ์บนความยืดหยุ่นของพื้นที่
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดภายในบ้านเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ความยืดหยุ่นด้านการใช้งานก็เป็นสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากพื้นที่โถงมีขนาดค่อนข้างกว้าง เจ้าของบ้านจึงสามารถใช้สอยพื้นที่นี้อย่างอิสระ วางเฟอร์นิเจอร์ได้ตามความต้องการเพื่อใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย รวมถึงปรับเปลี่ยนเองตามความเหมาะสมในทุก ๆ ช่วงเวลาและสภาพอากาศ
จากเปลือกอาคารที่ปกคลุม สู่เอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตน
“ทุกอย่างที่ออกแบบมันตอบโจทย์ไปตามฟังก์ชัน เปลือกอาคารมาจากการระบายอากาศ ซึ่งต้องกันแดดกันฝนด้วย มันก็เลยเกิดเป็นผลลัพธ์ผนังสองชั้น ด้านในคือส่วนที่ล้อมรอบห้องส่วนด้านนอกคือเปลือกอาคารสีขาว ทำหน้าที่สร้างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยไปในตัว” สถาปนิกกล่าว
ฟาซาดภายนอกที่กล่าวถึงทำจากตะแกรงเจาะรูวงกลมสีขาว (Perforated Aluminum) ถูกใช้กับหลาย ๆ ส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าบ้านในทิศตะวันออก และด้านข้างบ้านในทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่แสงธรรมชาติผ่านเข้าถึงแต่ไม่ร้อน สามารถเลือกเปิดหรือปิดได้ตามต้องการ เช่น เปิดในวันที่อากาศดี เพื่อรับลมธรรมชาติเข้ามาได้อย่างเต็มที่ หรือปิดในวันที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังอยากรับลมกับแสงอยู่บ้างเล็กน้อย ฟาซาดเลยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการออกแบบที่มีความตรงไปตรงมา และปรับเปลี่ยนได้ตลอด ซึ่งทำให้เกิดเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของบ้านขึ้นมาโดยปริยาย
เชื่อมต่อทุกระดับชั้นอย่างลื่นไหลและปรุโปร่ง
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในบ้านคือ บันได นอกจากจะถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่กึ่งภายในและภายนอกแล้ว ยังถูกออกแบบให้
ไม่มีลูกตั้ง และราวกันตกทำจากตะแกรงเหล็กสีขาวเจาะรูกลม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้บันไดของบ้านนี้ให้ความรู้สึกปรุโปร่ง เชื่อมต่อกันในทุก ๆ ระดับชั้นได้อย่างลื่นไหล
ผนังภายนอกของบันไดถูกห่อหุ้มไปด้วยผนังอิฐบล็อกช่องลมสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดเล็ก เรียงต่อกันตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบน จนเกิดรูปแบบที่สวยงาม ในขณะเดียวกันลมและแสงธรรมชาติก็สามารถสอดแทรกผ่านช่องว่างนี้เข้ามาได้ และทำให้อากาศถ่ายเทไปมาเป็นอย่างดี
สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
“จริงๆ บ้านหลังนี้ไม่ได้มีการตกแต่ง เราไม่อยากใช้คำว่าตกแต่ง เพราะเราไม่ได้ตกแต่งอะไรเลย คือก่อสร้างเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นมาจากหน้าที่ใช้สอย มันไม่ได้พยายามที่จะสร้างภาษาอะไรมากมาย เพราะทุกอย่างมีหน้าที่ของมัน” สถาปนิกเล่าถึง เหตุผลที่บ้านหลังนี้มีเส้นสายที่ถูกออกแบบให้ตรงไปตรงมาที่สุดตามหน้าที่ใช้สอยที่เกิดขึ้นจากความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใช้สอย ช่องเปิดต่างๆ ภายในบ้าน หรือแม้แต่วัสดุที่เลือกใช้ก็ตาม
เราจะสังเกตเห็นได้ว่าฝ้าและพื้นของส่วนโถงอเนกประสงค์เผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ รวมถึงผนังทุกส่วนภายในบ้านที่เน้นการใช้สีขาวไม่ต่างจากภายนอก นั่นเป็นเพราะความต้องการให้บ้านมีความตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สร้างบรรยากาศให้บ้านดูโปร่ง และสบายตาด้วยเฟอร์นิเจอร์ในโทนเรียบง่าย เป็นไปตามธรรมชาติของบ้านในแบบที่เจ้าของบ้านอยากให้เป็น สื่อสารผ่านหน้าที่ใช้สอยและความปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่โดยไร้การตกแต่ง
เมื่อถอดแก่นความต้องการของผู้อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของบ้านหลังนี้ออกมา หัวใจสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านการออกแบบ แน่นอนว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ความตรงไปตรงมาและหน้าที่ใช้สอย แม้สุดท้ายบ้านจะไม่ได้มีเส้นสายที่หวือหวา หรือพยายามเติมแต่งเพื่อขับเน้นให้เกิดความสวยงามเป็นหลัก แต่ House AT ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่สำคัญลึกลงไปกว่านั้นคือการสื่อสารของบ้านให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานได้อย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งโล่งที่เหมาะกับทุกสภาพอากาศ การนำพื้นที่ของบ้านไทยมาใส่ไว้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบท หรือการที่ไม่ได้พยายามสร้างภาษาอะไรมากมาย ก็ทำให้บ้านสวยงามและเรียบง่ายในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์
Owner : คุณอนงค์นุช และคุณปกรณ์ ตันมณีวัฒนา
Architects : รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต | Research Studio Panin
Photographer : จิรายุ รัตนวงษ์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!