การฟื้นฟูสถาปัตยกรรมยุคโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาและพัฒนาการใช้งานให้ทันสมัยตามยุคนั้นกำลังเป็นเทรนด์นิยมไปทั่วโลกซึ่งวัตถุประสงค์ของการรื้อฟื้นคืนชีวิตให้กับอาคารยุคเก่านั้นสามารถสะท้อนถึงการให้คุณค่าประวัติศาสตร์แถมยังสามารถแสดงศักยภาพในวิสัยทัศน์การออกแบบได้ดีไม่แพ้การสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่เลยทีเดียว
โปรเจกต์รีโนเวทนี้ก็คือการปัดฝุ่น Ivanovo Station สถานีรถไฟสุดแสนคลาสสิกให้กลับมามีเสน่ห์อีกครั้งเหมือนดั่งในวันวานที่เคยเป็น สิ่งที่ทำให้การรีโนเวทครั้งนี้น่าสนใจขึ้นมา คือการผสานรายละเอียดดีไซน์ในยุคสมัยใหม่ให้กลมกลืนกับรายละเอียดการออกแบบดั้งเดิมอย่างลงตัว แถมยังสร้างความโดดเด่นในด้านดีไซน์ล้ำสมัยแต่ก็ยังคงเสน่ห์วันวานไว้ได้เป็นอย่างดีพร้อมกัน
Ivanovo Station เป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ในเมืองซึ่งเป็นชื่อเดียวกันสถานีแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1933 ในแบบสถาปัตยกรรมเค้าโครงนิยม (Constructivist Architecture) ที่อยู่ภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ในสไตล์ของรัสเซียซึ่งรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงปี 1920 ถึงต้นช่วงปี 1930
สถาปัตยกรรมลักษณะนี้โดดเด่นด้วยโครงสร้างแข็งแกร่งขนาดใหญ่ในรายละเอียดเรียบง่าย ผสานเส้นสายและรูปเรขาคณิตที่ดูร่วมสมัย จุดเด่นอีกอย่างของ Ivanovo Station คืออาคารเพดานสูงโปร่งที่มาพร้อมหน้าต่างกระจกใสแนวตั้งเรียงรายเป็นฟาซาดอาคารอย่างงดงามอลังการ ออกแบบโดย Vladimir Kaverinksi และถือเป็นสถานีรถไฟในสไตล์สถาปัตยกรรมเค้าโครงนิยมที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียอีกด้วย
อันที่จริงแล้วการรีโนเวทสถานีรถไฟแห่งนี้ทำมาแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปี 1950s, ครั้งที่สองในช่วงปี 1980s และครั้งล่าสุดเพิ่งจะรีโนเวทเสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา การรีโนเวททุกครั้งนั้นมีการซ่อมแซมรวมถึงเสริมรายละเอียดสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ในแต่ละยุคผสานเข้าไปกับของเก่าอย่างกลมกลืนโดยยังคงสัมผัสได้ถึงวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์มากกว่าที่จะเปลี่ยนโฉมใหม่ไปจากของดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง
หนึ่งในการปรับโฉมครั้งสำคัญ คือการรีโนเวทในช่วงปี 1950s ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมล่าสุด ซึ่งส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้มีการแบ่งโถงรับรองผู้โดยสารเพดานสูงขนาดมหึมาให้กลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 2 ห้องที่โดดเด่นในสไตล์อาวองการ์ด (Avant-garde) กับธีมการออกแบบที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นสองเฉดสีได้แก่ “ห้องโถงสีฟ้า (Blue Hall)” และ “ห้องโถงสีแดง (Red Hall)” ซึ่งถูกเรียกตามสีที่ใช้ตกแต่งในแต่ละโถงนั่นเอง
ห้องโถงสีฟ้า (Blue Hall) มาในสไตล์โซเวียตสมัยใหม่นิยม (Soviet Modernism) ตอนต้นที่ตกแต่งภายในด้วยโทนสีฟ้ากับสีเบจเป็นหลัก ผนังตกแต่งด้วยประติมากรรมภาพนูนต่ำที่ทำขึ้นอย่างประณีต ส่วนที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นเสาอาคารที่ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์นิยมของโซเวียตด้วยการนำรูปแบบมาลดทอนให้เป็นกราฟิกเรียบง่ายที่ซ้อนทับลายเส้นผสมผสานรูปทรงต่าง ๆ ให้ดูโมเดิร์น ซึ่งลายสัญลักษณ์นิยมนี้เป็นผลงานมาจากโปรเจกต์ศิลปะที่ชื่อว่า “Campaign Textiles” สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงปี 1930s จากเวิร์กชอปสิ่งทอ (Textile Workshop) ที่จัดโดยสมาคม AARS (Artists Association of Revolutionary Russia) อันโด่งดังในยุคนั้น โดยลวดลายบนเสาแต่ละต้นนั้นเกิดจากการพ่นสีผ่านลายฉลุลงบนผนังปูนฉาบเรียบให้เกิดลวดลายเหมือนลายทอผ้าเพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์โดดเด่นของเมืองนี้ไปในตัว ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมสิ่งทออันรุ่งเรืองจนได้รับการขนานนามว่าเป็น Russian Manchester หรือเมืองแมนเชสเตอร์แห่งรัสเซียเลยทีเดียว
ฟังก์ชั่นของห้องโถงสีฟ้า (Blue Hall) ยังคงประโยชน์การใช้งานไว้เช่นเดิม นั่นคือการเป็นโถงนั่งคอยสำหรับผู้โดยสาร ห้องจำหน่ายตั๋ว ไปจนถึงคาเฟ่และร้านค้าต่าง ๆ ภาพรวมของโถงนี้ดูเหมือนว่าจะคงโครงสร้างและการตกแต่งภายในไว้ทั้งหมด แต่ปรับเปลี่ยนเอาแผงเก้าอี้นั่งคอยอันเดิมออกแล้วเสริมเก้าอี้ไม้รอรถไฟสไตล์วิเทจดีไซน์เก๋เข้ามาแทนที่ เพื่อให้เข้ากับความคลาสสิกร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้ความเชยกลายเป็นความใหม่สุดชิค คือการตกแต่งแถบไฟ แทรกลงไปบนตัวเก้าอี้ไม้ยาวรวมถึงโคมไฟโมเดิร์นเรียบเท่ที่ทำให้โซนที่นั่งดูมีเสน่ห์ขึ้นในทันที รวมถึงมีการเสริมฟังก์ชันอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเข้าไปอย่าง ช่อง USB สำหรับชาร์จไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์ส่งสัญญาณ wifi นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนป้ายบอกทิศทางตลอดจนสัญลักษณ์สื่อสารภายในสถานีให้ทันสมัยขึ้น ตลอดจนนำเอาเครื่องจักรเก่าในอุตสาหกรรมทอผ้ายุคก่อนมาตกแต่งจัดแสดงภายในโถงอาคารนี้เพื่อเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองไปพร้อมกัน
ในฝั่งของ ห้องโถงสีแดง (Red Hall) ปรับปรุงโฉมใหม่ในปี 1980 การตกแต่งภายในจึงเป็นสไตล์โซเวียตสมัยใหม่นิยม (Soviet Modernism) ที่พัฒนาไปจากยุคดั้งเดิม จุดเด่นในโถงนี้ยังคงเป็นการตกแต่งในสไตล์อาวองการ์ด (Avant-garde) ที่เลือกใช้โทนสีแดง เทา และเบจเป็นหลัก แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นเพดานลายกราฟิกร่วมสมัยที่มาในโทนสีแดงเข้มอมน้ำตาลทำให้ดูคล้ายกับแท่งช็อกโกแลต นอกจากนี้เอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์อีกอย่าง คือการตกแต่งจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่สะท้อนถึงสังคมและวัฒนธรรมในแบบฉบับโซเวียตยุคนั้น ซึ่งเป็นภาพวาดสไตล์กราฟิกที่ดูเท่และร่วมสมัย เพิ่มความโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยการปรับโซนบริเวณนี้ให้เป็นบาร์แสนคลาสสิก และในส่วนห้องโถงสีแดง (Red Hall) นี้ก็เคลียร์พื้นที่เปิดโล่งสำหรับเป็นสเปซเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ ของเมืองไปในตัว
จุดเด่นอีกอย่าง คือ การตกแต่งภายนอกอาคารใหม่โดยยังคงโครงสร้างดั้งเดิมไว้ทุกประการ แต่การออกแบบที่โดดเด่นเห็นจะเป็นการแทรกตกแต่งไฟนีออนที่เดินเส้นตามแนวอาคารช่วยสร้างบรรยากาศสถาปัตยกรรมสไตล์เรโทรกลิ่นอายดิสโก้ที่เปลี่ยนโฉมปรับอารมณ์ใหม่ในยามค่ำคืนได้อย่างน่าสนใจ โดยการรีโนเวทครั้งนี้เป็นฝีมือของ Faber Group บริษัทสถาปนิกชื่อดังของรัสเซีย
สิ่งที่เราอยากชื่นชมในโปรเจกต์นี้ จึงเป็นความตั้งใจในการอนุรักษ์ของเก่าให้ทรงคุณค่ายาวนานที่สุดผสานกับการอยากนำเสนอดีไซน์สมัยใหม่ลงไปให้กลมกลืนกับเอกลักษณ์ดั้งเดิมเพื่อบ่งบอกถึงยุคที่ทำการฟื้นฟูครั้งนี้ไปในตัว
Photo Credit
Faber Group : http://www.faberfm.ru/
Russia Beyond : https://www.rbth.com/lifestyle/332590-constructivist-railway-station-russia
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!