‘เรียบง่ายไว้ ดีที่สุด’ เป็นนิยามฉบับรวบรัดของ Baan Samata บ้านพักตากอากาศริมแม่น้ำปิงในชานเมืองเชียงใหม่ ที่แค่เห็นภาพก็สัมผัสได้ชัดเจนถึงการอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และความร่มรื่นจากต้นไม้ที่โอบล้อมอยู่รอบทิศทาง ซึ่งคุณกอล์ฟ-ปกรณ์ อยู่ดี สถาปนิกแห่ง INLY STUDIO ในฐานะผู้ออกแบบก็ได้ถ่ายทอดเส้นสายและจังหวะอันเรียบง่าย ผสมผสานเข้ากับความไม่สมบูรณ์แบบของวัสดุ ทำให้บ้านหลังนี้เผยความงามในแบบฉบับของตัวเอง และตอบโจทย์การพักผ่อนของครอบครัวเจ้าของบ้านได้อย่างสมบูรณ์
เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจ ร้อยเรียงใหม่ให้ตอบโจทย์
จุดเริ่มต้นจากเจ้าของบ้าน ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ มีความต้องการบ้านที่เชียงใหม่สักหนึ่งหลัง เพื่อพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุด โดยอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ในบรรยากาศผ่อนคลาย และมีกลิ่นอายที่คลับคล้ายคลับคลากับบ้านของสถาปนิกที่เขาชื่นชอบ
แน่นอนว่าบ้านหลังนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านของคุณกอล์ฟเอง มีมู้ดแอนด์โทนในทิศทางเดียวกัน แต่ทว่าถูกนำ Know How วิธีคิดมาพัฒนาต่อ เรียงร้อยใหม่ให้เป็นบ้านที่ตอบโจทย์เจ้าของบ้านมากที่สุด โดยปรับเส้นสายให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น และหลอมรวมบ้านให้เป็นหนึ่งเดียวกับบริบท ด้วยการเปิดมุมมองสู่ธรรมชาติอย่างเต็มที่
โอบล้อมธรรมชาติ เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน
ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำปิง แนวคิดการออกแบบจึงเริ่มต้นจากการวางผังบ้านแบบ L-shape จัดเรียงฟังก์ชันอย่างเรียบง่ายเพื่อโอบล้อมความเป็นธรรมชาติเอาไว้ พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ ด้วยการเปิดมุมมองภายในบ้านสู่สนามหญ้าและแม่น้ำ ทำให้ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ส่วนเตรียมอาหาร โถงทางเดิน และห้องนอนหลัก สามารถสัมผัสถึงความร่มรื่น ผ่อนคลายอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ด้านหน้าบ้านถูกออกแบบให้มีช่องเปิดน้อยกว่า เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว
เนื่องจากไม่มีห้องที่เจ้าของบ้านต้องการเป็นพิเศษ สถาปนิกค่อย ๆ เรียงลำดับฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยชั่วคราว โดยเน้นความสะดวกสบายในการใช้งาน เข้าถึงได้ง่าย และไม่ซับซ้อน เชื่อมต่อพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัว เข้าด้วยกันแบบ Open plan และสร้างโถงทางเดินยาวผ่านหน้าห้องนอนของลูก ๆ ห้องน้ำ และช่องลม ไปจนสุดปลายทางเดินที่เป็นที่ตั้งของห้องนอนหลัก
Simple is the best เรียบง่ายไว้ดีที่สุด
สังเกตได้ว่าเส้นสายของบ้านมีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมาทั้งภายในและภายนอก มีเส้นตั้งและเส้นนอนที่ถูกกำหนดอัตราส่วนไว้อย่างชัดเจน ถ่ายทอดจังหวะในเชิงมิติของเส้นไว้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นระยะของช่องหน้าต่าง ระยะเสา เส้นแบ่งขนาดวัสดุ รวมไปถึงการเลือกใช้หลังคาเหล็กแผ่นเรียบ ทำให้บ้านสื่อถึงความนิ่ง เงียบ เรียบง่าย ในสไตล์โมเดิร์นที่มีกลิ่นอายเอเชียนลุคผสมผสานกันอยู่
เรื่องของการตกแต่งภายในก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายเช่นเดียวกัน เน้นความสบายตา ด้วยการใช้สีขาวจับคู่กับไม้จริงในโทนสีกลาง ๆ ที่ไม่อ่อนและไม่เข้มจนเกินไป ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย และอยู่สบาย ในอีกทางหนึ่งก็สามารถดูแลรักษาได้ง่าย เพราะเจ้าของไม่ได้อยู่ประจำ
ช่องเปิดเชื่อมต่อธรรมชาติ
สถาปนิกตั้งใจออกแบบช่องเปิดภายในบ้าน โดยเลือกใช้หน้าต่างบานเปิดและบานเฟี้ยมที่มีขนาดใหญ่ เพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นประตูได้อย่างอิสระ สามารถออกไปสู่ระเบียงด้านนอกที่มีหลังคาปกคลุมตลอดแนว ไม่เพียงช่วยให้ทุกคนเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้ง่ายขึ้น สามารถมานั่งเล่นในวันที่อากาศเป็นใจได้เท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องของการถ่ายเทอากาศจากการเปิดรับลมธรรมชาติให้พัดผ่านเข้ามาภายในบ้านได้อีกด้วย
สัจจะวัสดุ กับความงามผ่านความไม่สมบูรณ์แบบ
“ไม่ใช่บ้านไทย ไม่ใช่บ้านญี่ปุ่น แต่เป็นบ้านที่อบอวลไปด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น และน่าอยู่ จากการใช้วัสดุพื้นถิ่นที่หาได้ง่าย มีความเป็นงานคราฟท์ และมีรอยต่อวัสดุที่เผยให้เห็นความเนื้อแท้ อาจไม่ได้สมบูรณ์ แต่ก็งดงามในแบบฉบับของตัวเอง” สถาปนิกกล่าว
‘ไม้ หิน อิฐ เหล็ก’ ถือเป็นสัจจะวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สถาปนิกจึงนำวัสดุเหล่านี้ที่มีความเป็นงานฝีมือ ไม่ผ่านการปรุงแต่งใด ๆ เช่น อิฐเผาโบราณที่ไม่ผ่านการทาสี เสาไม้ที่มีรอยตำหนิ มาประกอบกันรวมไว้ส่วนต่าง ๆ ของบ้าน และการเผยให้เห็นรอยต่อระหว่างวัสดุแต่ละประเภทที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ
โอบรับในความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบตามแนวคิดของวาบิซาบิ แม้ผลลัพธ์อาจจะดูไม่ได้เนี้ยบและเรียบร้อยเป็นระเบียบเป๊ะ ๆ แต่ก็ทำให้บ้านดูผ่อนคลาย เรียบง่าย และสวยงามในแบบที่ควรจะเป็น
กลิ่นอายสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ตัวบ้านมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเข้ามาผสมผสาน อย่างการออกแบบโครงสร้างจั่วไม้ ที่ให้เอกลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นของภาคเหนือได้ดี มีการปรับสัดส่วนให้ร่วมสมัยขึ้น หรือจะเป็นส่วนชายคาที่ยื่นยาวกว่าปกติ มีการเพิ่มตัวจันทันและเสาไม้ ที่ช่วยลดความแข็งกระด้างลงให้ตัววัสดุระหว่างไม้ เหล็ก ปูน อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว รวมไปถึงการสร้างคาแรกเตอร์บ้าน ให้ดูกลมกลืนกับบริบทอย่างสมบูรณ์ที่สุด
นอกจากนี้ยังออกแบบระบบรางน้ำฝนโดยใช้โซ่ระบายน้ำและใช้ถังหมักเมี่ยงโบราณของคนในภาคเหนือ มาเป็นภาชนะรองรับน้ำฝน และเป็นของตกแต่งบดบังความไม่สวยงามของท่อระบายน้ำไปในตัวด้วย
เติมเต็มธรรมชาติให้สมบูรณ์
การจัดภูมิทัศน์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญเช่นกัน สนามหญ้าและต้นไม้นานาพันธุ์ที่เกิดขึ้น เป็นอีกหนึ่งบริบทที่ถูกสร้างมาเพื่อเติมเต็มธรรมชาติให้สมบูรณ์กว่าที่เคย มีการวางหินที่มีขนาดและสีแตกต่างกันอยู่ภายในสนามหญ้า ทำหน้าที่เหมือนเป็นเก้าอี้นั่งเล่นในสวน ส่วนต้นไม้เดิมก็ยังคงเก็บรักษาไว้ พร้อมจัดแสงเพื่อขับเน้นความสวยงามของธรรมชาติให้มากขึ้น
จากความร่มรื่นที่ธรรมชาติสรรสร้าง ผสมผสานกับความไม่สมบูรณ์แบบที่สถาปนิกสร้างสรรค์ สู่ผลลัพธ์ Baan Samata บ้านตากอากาศริมแม่น้ำปิงหลังนี้ นับว่าเป็นการออกแบบบ้านที่การโอบรับกับธรรมชาติไว้อย่างลงตัว ภายใต้การออกแบบที่ใช้ความเรียบง่ายเป็นสารตั้งต้น และถึงแม้ว่าบางส่วนของบ้านอาจมีส่วนที่เนี้ยบบ้าง ไม่เนี้ยบบ้าง แต่ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เจ้าของบ้านยอมรับได้ และอยู่ร่วมกับความไม่สมบูรณ์อย่างมีความสุข
Location: Chiangmai, Thailand
Area: 220 sq.m.
Architect: Pakorn Yoodee – Kiattisak srikumwong neawbenthud – Chonrada navanarasest
Structure Engineer: Pilawan Piriyapokhai
Site Inspector: Housescape Design Lab
Photographer: Rungkit charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!