13 คำถามกับบทบาทของนายกสภาสถาปนิกคนใหม่
และอนาคตวงการสถาปนิกไทย ในมุมมองของเล็ก-ประภากร วทานยกุล

ในแวดวงสถาปนิก บางคนอาจรู้จัก เล็ก-ประภากร วทานยกุล ในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัทสถาปนิก Architects 49 หรือศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)และก็รู้จักเขาในฐานะเจ้าของ ‘บ้านสวนสงบ’ สวนป่า 9 ไร่ในย่านบางกะปิ และยังมีอีกหลายคนที่คุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ว่าจะเป็น ‘พี่เล็ก’ หรือคุณลุงใจดีในชุดโทนสีเข้มที่มีเอี๊ยมเป็นคาแรกเตอร์ประจำตัว และล่าสุดกับอีกบทบาทในฐานะนายกสภาสถาปนิกคนใหม่ (วาระ พ.ศ. 2565-2568) วันนี้เราจึงถือโอกาสชวนเขามาคุยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการเป็นสถาปนิกกว่า 30 ปี และทิศทางในอนาคตของสถาปนิกไทย

เล็ก-ประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก (วาระ พ.ศ. 2565-2568)

Dsign Something : พี่เล็กทำงานเป็นสถาปนิกมา 39 ปีแล้ว หากลองมองย้อนกลับไป แนวคิดต่อสายอาชีพนี้ต่างกันมากน้อยแค่ไหน ?
พี่เล็ก ต่างครับ อย่างแรก สมัยก่อนเราทำงาน ไม่ค่อยยึดถือผลประโยชน์เป็นตัวตั้งเท่าไร เป้าหมาย คือประสบการณ์ เราเลยอึดมาก ทำงานจนค้างออฟฟิศ ทุ่มเททำโปรเจกต์ที่พี่ๆ เขาสั่งมาให้ทำ แต่ในยุคนี้ เป้าหมายในการทำงานอาจจะต่างจากคนรุ่นเก่า แน่นอนความรู้ ประสบการณ์ก็อยากได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีผลประโยชน์มาด้วย ในแต่ละปี ถ้าผลประกอบการของบริษัทไม่ดีด้วยเหตุอะไรก็ตาม กระเทือนเรื่องเงินโอทีบ้าง กระเทือนเรื่องโบนัส พอผลประโยชน์ถูกลดลงก็จะมีโอกาสให้น้อง ๆ หลายคน หันไปทำนู่นนี่ ของตัวเอง ไม่ได้พึ่งบริษัทมากนัก ด้วยองค์ความรู้ที่มี ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ที่มันต่างไปจากรุ่นก่อน สมัยนี้ทุกคนสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง คิดด้วยตัวเอง เครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบในวิชาชีพสถาปนิกก็มีเยอะแยะไปหมดเลย เพียงแต่ว่ายังขาดประสบการณ์ซี่งก็ต้องค่อย ๆ สร้างไปเท่านั้นเอง นี่คือข้อแตกต่างกัน ทำให้ Entrepreneurship (ความเป็นผู้ประกอบการ) มันถึงได้เกิดขึ้นเยอะในปัจจุบัน

Dsign Something : แล้วในมุมของการออกแบบหรือดีไซน์ ความสุขในการคิด ระหว่างยุคก่อนกับยุคนี้ต่างกันไหม?
พี่เล็ก : ความสุขมันคงไม่ต่างกัน เพราะถ้าความสุขต่างกันก็คงจะเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว (หัวเราะ) เพียงแต่ว่าน้อง ๆ สมัยนี้อาจจะมีเรื่องเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย สมัยก่อนสถาปนิกรุ่นผมต้องเขียนงานด้วยมือกันทั้งหมดเลย ฉะนั้นบางทีการคิดแบบด้วยการสเก็ตช์มือ มันทำให้สมองถ่ายทอดมาในความรู้สึก คิดออกมาในเรื่องของเส้นสาย ใจมันจะช้าลง อาจจะเพิ่มสมาธิในการทำยิ่งขึ้น แต่สมัยนี้เครื่องมือมันทันสมัยมาก เวลาเขาคิดอะไรก็ตาม คิดบนจอ ก็ทำให้แนวทางก็จะต่างกันไป เป็นเรื่องเครื่องมือในการถ่ายทอดออกมามากกว่า แต่ทั้งสองวิธีก็สุขเหมือนกัน อีกไม่นานคนรุ่นผมก็จะค่อย ๆ หายไป เด็ก ๆ ที่ถนัดเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะเข้ามาแทน แต่ความคิดสร้างสรรค์ยังมีบทบาทที่สำคัญสำหรับอาชีพสถาปนิก

Dsign Something : ถ้าให้ฝากอะไรถึงน้อง ๆ เพิ่งจบใหม่ พี่เล็กมีอะไรอยากบอกพวกเขา?
พี่เล็ก :  ผมคิดว่างานในสายอาชีพเรา ถามว่าจบมามีคนประกอบอาชีพเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในสายตรงที่เรียนมาไหม ตอบเลยว่า ไม่ว่ายุคไหนก็ไม่ถึง แต่ไม่ได้เป็นความผิด เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ที่จบมาต้องตั้งประเด็นในชีวิต มองเห็นเป้าหมายข้างหน้าอย่างไร ฉันอยากเป็นสถาปนิกที่สนุกที่ได้ทำแบบ ที่ได้ทำโครงการ ที่ได้ยืนนำเสนองาน ได้เอาความคิดมาถ่ายทอด เป้าหมายตรงนี้ต้องชัดเจนก่อน แต่ถ้าทำไปแล้ว สามปีก็แล้ว สี่ปีก็แล้ว ห้าปีก็แล้ว มันยังทุกข์อยู่ มีรุ่นน้องคนนึงพูดให้เราฟังว่า การทำงานจำเจคือ การลดทอนความคิดสร้างสรรค์ ฉะนั้นถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในสายตรง ไม่ได้ออกแบบ มันก็มีอาชีพที่เราต้องสร้างสรรค์อยู่ดี ที่เรียนมาห้าปีไม่ได้ไปไหนหรอก เพียงแต่เราก็ต้องกล้าเปลี่ยนสาย สุดท้ายความคิดที่ถูกหล่อหลอมและความรู้ที่เรียนมามันจะนำไปใช้ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอะไร จะขายของ ศิลปะในการคิด การขายคืออะไร เป้าหมายมันอยู่ตรงนี้มากกว่า

Dsign Something : อยากเป็นสถาปนิก ควรจะเข้าออฟฟิศก่อน หรือถ้าอยากเป็นฟรีเลนซ์ล่ะ ดีไหม? 
พี่เล็ก :   ออฟฟิศ เป็นเหมือนสูตรสำเร็จที่เข้ามาแล้วขั้นตอนในการทำงานมันถูกระบุไว้แล้ว คุณเข้ามาเป็นจูเนียร์ ก็ต้องทำงานอย่างนี้นะ แบบตรงนี้ส่งวันนี้ เวลาเท่านี้ ค่าตอบแทนเท่านี้ คุณได้เรียนรู้ว่าจะต้องส่งงานขั้นตอนแนวคิด ส่งแบบร่างขั้นต้น ส่งแบบร่างขั้นพัฒนา ส่งงานเขียนแบบก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ ก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง การทำงานในบริษัทมันถูกควบคุมก็จริง แต่ก็จะเรียนรู้ได้เร็วกว่า คำแนะนำพี่ก็คือ ลองไปทำงานในบริษัทที่มีระบบสัก 2 ปี คุณจะรู้แนวทาง คุณมีโอกาสไปนำเสนองานกับพี่ ๆ ผู้ใหญ่ ไปพบลูกค้า แต่ถ้าออกมาตั้งต้นด้วยตัวเอง ต้องลองผิดลองถูกเยอะ และต้องลองประสบด้วยตนเอง เรายังต้องคลำทางว่าทำแค่ไหนดี คิดเงินแค่ไหนคุ้ม มีวิธีไหนส่งแบบแล้วไม่ถูกโกงค่าแบบ ซึ่งตรงนี้น้อง ๆ ผมเจอเยอะนะ สุดท้ายบางครั้ง  ความอยากได้งานก็ไปลดค่าบริการวิชาชีพ ซึ่งมันไม่ได้เป็นความผิดของเขาหรอก ยกตัวอย่าง งานแรกในชีวิตเลย เรียนมา 5 ปี จบออกมาค่าแบบ 1,200,000 มือไม้สั่น เจ้าของถามว่า 700,000 ได้ไหม? ซึ่งบริษัทใหญ่ทำไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราทำเอง เอาว่ะ…งานแรกต้องเกิดก่อน ทำเหนื่อยมาก ทำนู้นทำนี้เกินกว่าสโคปของการบริการที่เราควรจะให้ด้วยซ้ำ เพราะความที่เราอยากให้งานมันเกิด ก็ต้องแลกกันด้วยค่าบริการที่ลดลงมา แต่มันก็จะเกิดการเรียนรู้ พอได้งานหนึ่ง งานสอง งานสาม เริ่มสร้างชื่อด้วยตัวเองได้แล้ว มันก็จะแข็งแรง ซึ่งจริง ๆ น้อง ๆ หลายคนก็ออกไปทำงาน ทั้งจัดตั้งบริษัทของตัวเองสร้างประสบการณ์ที่ดี แล้วก็มั่นคงกันทั้งนั้น

Dsign Something : นั่นทำให้คนทั่วไป มองค่าแบบ 7.5% ของสถาปนิกว่าแพงไป ด้วยหรือเปล่า?
พี่เล็ก :   สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเลย คือ การรับรู้ในวิชาชีพของคนทั่วไปก่อน เพราะเขาจะคิดเสมอว่าถ้าฉันให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง สร้างบ้านให้ฉัน ฉันไม่เห็นต้องมีการออกแบบเลย ผู้รับเหมามากับแบบเรียบร้อย อยู่ในค่าก่อสร้างด้วย  มันไม่มีค่าบริการวิชาชีพตรงนี้เกิดขึ้นในชีวิตของคนไทยที่ผ่านมา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว คำว่าสถาปนิกไม่คุ้นเคยกันหรอก มีวิศวกร มีนายช่าง มีผู้รับเหมา แค่นี้ ยังไม่ต้องไปพูดถึงงานตกแต่งภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรมหรือ การออกแบบในระบบอื่นเลย  
แต่ผมว่าทุกวันนี้มันเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ทำไมถึงได้รู้ว่าดีขึ้น เพราะออฟฟิศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเริ่มมีคนในพื้นที่ติดต่อเข้ามา ต้องการให้ออกแบบบ้าน ออกแบบร้านกาแฟ ในสเกลเล็กไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าสเกลเล็กก็ยังต้องพึ่งผู้ออกแบบนะ การรับรู้เหล่านี้ จะส่งผลให้วิชาชีพเราได้รับการยอมรับ ได้ค่าบริการตอบแทนที่ดีขึ้น แต่เรื่องอยากให้งานจริงสร้างเลยลดค่าแบบนี่มันก็พูดยาก อาจจะเริ่มจากการสอนเรื่องเจรจา ไม่ขอลดค่าแบบได้ไหม แต่เดี๋ยวจะทำงาน ดูแลตรงนี้เพิ่มเติมให้ เป็นการแลกเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ลดค่าแบบ 50 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม อันนี้จะติดเป็นนิสัย และก็จะเป็นการยากที่จะกลับเข้าสู่การคิดค่าบริการมาตรฐานได้

Dsign Something : แสดงว่าบุคคลทั่วไปมีส่วนสำคัญ ที่จะเห็นความสำคัญของวิชาชีพนี้ ?
พี่เล็ก :   ต้องบอกว่าทุกวิชาชีพ ทุกสายในการออกแบบผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญเขา ไม่ใช่คิดว่าฉันเป็นประธานของบริษัทเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฉันรู้หมดเลยว่า สวนต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะสวย ภาพเขียนติดฝาผนังต้องเป็นอย่างนี้ ฉันเก่งมากเลย อาจจะมีผู้บริการในลักษณะนี้เยอะเหมือนกันในสังคมเรา แล้วบางครั้งลักษณะแบบนี้มักเกิดอยู่ในวงการที่มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่อย่างในประเทศสิงค์โปร์ ผู้บริหารมักจะรู้ว่างานแบบนี้ ฉันจะต้องหาใคร ฉันเก่งอะไร อาชีพอื่นมีคนเก่งอย่างไร บ้านเราต้องเลิกสังคมแบบยกย่องเยินยอว่าคุณเป็นนายผม คุณเก่งทุกอย่าง แล้วมาตรฐานของทุกอาชีพมันจะดีขึ้นเอง

Dsign Something : แล้วถ้าในวิชาชีพสถาปนิกกับวิชาชีพนักออกแบบอื่น ๆ อย่าง มัณฑนากร หรือ ภูมิสถาปนิก คิดว่าควรจะเดินไปอย่างไร?
พี่เล็ก : แม้กระทั่งสถาปนิกก็ต้องมีความเคารพ ต้องเข้าใจในสาขาอื่น ๆ ผมว่าสำคัญมากนะ เวลาเราทำงานร่วมกัน การมีความผสมผสานร่วมมือ ของทุก ๆ ฝ่ายคือสิ่งที่ดีที่สุด เริ่มต้นโครงการออกแบบด้วยกัน คิดแบบด้วยกัน ออกแบบภายนอก ภายใน ภูมิทัศน์ หรือการจัดวางผังพื้นที่ในโครงการ ถ้าคิดด้วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น มันจะเป็นงานที่สมบูรณ์มากกว่าต่างคนต่างทำ

Dsign Something : นอกจากการรับรู้ของคนในวิชาชีพเอง พี่เล็กมองว่าวงการสถาปนิกไทยยังขาดอะไรอีกไหม?
พี่เล็ก :มีคุณหมอท่านหนึ่งที่เรารักและเคารพ ซึ่งตอนนี้เขาอาศัยอยู่ที่อเมริกา เวลาทำอะไรเขามักจะพูดตลอดว่า ที่ฉันดีได้ทุกวันนี้ก็เพราะคุณดีนะ บ้านเราจะขาดตรงนี้ และมักจะเป็นถ้าคุณดี ฉันไม่ได้งาน เราเคยประกวดออกแบบงานหนึ่ง เห็นผลงานของผู้เข้าร่วมแข่งขันแล้วก็คิดว่า โอโห…ถ้าคุณตัดสินให้ผมชนะนี่ผมโกรธเลยนะ คือ ถ้าคุณมองเป้าหมายว่าเมืองเราควรมีสถาปัตยกรรมที่ดี การยอมรับกันตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยอมรับงานที่ดีของคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับงานของเรา

ที่ออฟฟิศผม เราจะไม่ได้คิดว่าผู้ใหญ่เก่งที่สุด คือทุกคนเก่งได้ แต่ต้องทำให้เป็นจริง ไม่ให้มีปัญหาระหว่างทาง ต้องคุมราคาได้ สวยด้วย ใช้งานได้ดีด้วย น้อง ๆ ยุคนี้เขาอาจจะเก่งมากในวิธีการคิด แต่เขาขาดในเวลาของประสบการณ์ ถ้าเอาตรงนี้มาประกอบกันมันน่าจะลงตัวได้งานที่ดี และทำให้เป็นจริงได้อย่างดี

Dsign Something : เข้าในพาร์ทของนายกสภาสถาปนิก อยากให้พี่เล็กช่วยอธิบายคร่าวๆ ว่านายกสภาสถาปนิก กับนายกสมาคมสถาปนิกฯ ต่างกันยังไง?
พี่เล็ก : สมาคมสถาปนิกฯ เป็นสมาคมวิชาชีพ มีข้อบังคับ ข้อแนะนำและมีระเบียบการปฏิบัติของสมาคม แต่ไม่ได้มีกฎหมายรองรับในการประกอบวิชาชีพ แต่สภาสถาปนิกเป็นสภาวิชาชีพ ที่มีกฎหมายเป็นตัวกำหนด เป็นส่วนนึงในส่วนงานราชการซึ่งจะเป็นตัวช่วยกันในการออกกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพ สมาคมสถาปนิกฯ จะออกข้อแนะนำให้กับสมาชิกที่จะประกอบอาชีพ ทำอย่างนี้ดีนะ แต่ไม่ทำก็ไม่เป็นไร  ซึ่งสำหรับสภาสถาปนิก คุณต้องประกอบวิชาชีพด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยที่ใบอนุญาตแต่ละใบมีสิทธิในการทำงานตามระดับชั้น มีสิทธิที่จะออกแบบตามใบอนุญาตนั้น ๆ มีกฎหมายรองรับอยู่ ทำผิดจากนี้ด้วยวิชาชีพได้ไหม? ก็จะมีเรื่องจรรยาบรรณอยู่ โดนพักใบอนุญาต ถอนใบประกอบอนุญาตและอาจจะถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย นี่คือความแตกต่าง

Dsign Something : แล้วในตำแหน่งนายกสภาสถาปนิกไทยมีหน้าที่อะไรต้องทำ หรือต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง?
พี่เล็ก :
สภามีหน้าที่ดูแลวิชาชีพในด้านที่จะเกี่ยวพันทางกฎหมาย มาควบคุมการดูแลการทำงานของพวกเราทั้ง 4 สาขา ไม่ให้นอกลู่นอกทาง เป็นตัวป้องกันพวกเราด้วย ในเรื่องค่าบริการวิชาชีพ หรืออะไรก็ตามทั้งหมดเลยที่จะทำให้วิชาชีพเรามีระบบที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำอะไรก็ตามให้เราป้องกันการประกอบวิชาชีพให้ถูกต้อง แล้วให้ความถูกต้องในการประกอบวิชาชีพป้องกันตัวเรา โดยไม่เอาเปรียบคนอื่นด้วย

การออกแบบโครงการใหญ่ ๆ มีผลกระทบกับสาธารณะชน ถึงต้องมีใบควบคุมในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งหน้าที่สภาอีกอย่างหนึ่งคือ ผลักดันให้คนที่จบสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตทั้งหมดในทุกสาขามีใบประกอบวิชาชีพ ให้ได้มากที่สุด แต่รู้ไหม…คนกลัวการสอบ วันที่เราประกาศว่าจะมีการสอบใบระดับต่าง ๆ มีคนมาทักท้วงไม่เห็นด้วย ถ้าเกิดเป็นปัญหาอย่างนี้ แต่ที่เมืองนอกไม่ค่อยมีนะ อย่างมาเลเซีย คุณก็ต้องสอบ Renew License เพื่ออัพเดทความรู้ตลอดว่าไปถึงไหน แนวความคิดไปถึงไหนแล้ว แต่บ้านเราทำไม่ค่อยได้ นี่สื่อว่าได้ใบอนุญาตแล้ว ต้องมีสิทธิตลอดชีพ ทั้งที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลง ต้องเพิ่มพูนความรู้ให้สม่ำเสมอ คือหน้าที่ของสภา การผลักดันให้มีปริมาณสถาปนิกให้เหมาะสมตามสัดส่วนของประชากร เพราะถ้ามีน้อย ก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่เราคุยกันตอนต้น คือไปให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีสิทธิเข้ามาทำ หรือเอาใบอนุญาตของคนอื่นมาทำสำเนาปลอมลายเซ็นไปขออนุญาต เป็นต้น

Dsign Something : เด็กจบใหม่ควรสอบใบประกอบวิชาชีพเลยไหม ควรสอบเมื่อไร ตอนไหนดี?
พี่เล็ก : เป็นคำถามที่กำลังฮิตที่สุดตอนนี้ ผมคิดว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตคุณเรียนจบมาแล้ว 5 ปี คุณน่าจะเอาความรู้มาวัดกันก่อน ฉันมีใบประกอบวิชาชีพนะ ฉันทำได้ วันนั้นผมก็บอกน้อง ๆ ว่าสอบไปเถอะ มันไม่ได้เป็นข้อสอบที่ทำให้คนไม่ผ่าน มันเป็นข้อสอบที่ทุกคนเรียนมาแล้วต้องสอบผ่าน เพียงแต่ว่าหลาย ๆ คนปฏิเสธการสอบ เพราะยังไม่เห็นถึงความสำคัญในการสอบ กลัวการสอบ คิดว่าออกแบบโครงการเล็ก ๆ คงไม่เป็นไรมั้ง  แต่ถ้าคุณมีเรื่องกับเจ้าของโครงการขึ้นมาเมื่อไร เกิดข้อผิดพลาดตกลงกันไม่ได้ เขาแจ้งความ มันเป็นคดีอาญาเลยนะ คำแนะนำอย่างเดียวที่จะฝากไปถึงน้อง ๆ เลยคือ อย่ากลัวการสอบ จะประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคตหรือไม่ประกอบก็ไม่เป็นไร เอาใบประกอบวิชาชีพเอาสิทธิขั้นพื้นฐานไว้ก่อนก็ได้ อย่างน้อยเอามาดูต่างหน้าให้ภูมิใจ ฉันเป็นคน ๆ นึงที่อยู่ในเงื่อนไขที่เขาอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพแล้ว

Dsign Something : สถาปนิกที่มีปัญหาในวิชาชีพ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เขาสามารถมาหาสภาฯ ได้เลยไหม ?
พี่เล็ก : ได้เลย สภามีหน้าที่ช่วยเหลือหมู่มวลสมาชิกเราทั้งหมดเลยในการประกอบวิชาชีพ สมาชิกผู้ถือใบอนุญาตหลายรายที่เจ้าของโครงการร้องเรียน ฟ้องจรรยาบรรณ เราก็มีคณะกรรมการจรรยาบรรณอยู่ มีกรรมการกลั่นกรอง คุณทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า พอกลั่นกรองเสร็จก็สอบสวน สอบสวนเสร็จ ถ้าเป็นจริง มีมูลความผิด ก็เข้ามาในส่วนของกรรมการจรรยาบรรณที่จะเข้ามาดูแล มีการไกลเกลี่ย พยายามให้ทุกอย่างมันลงตัวที่สุด จะเรียกความเสียหายเท่าไร แก้ได้ไหม ให้น้องเราแก้ตรงนี้ อย่าเป็นคดีความกันเลย สภาก็จะช่วยตรงนี้ แต่ถ้าในกรณีที่แย่จริง ๆ ไปโกงเขา ไปเอาแบบคนอื่นมาแล้วมาแอบอ้างเซ็นต์ สภาก็มีหน้าที่ระงับปัญหา ทางจรรยาบรรณก็อาจจะเพิกถอนใบประกอบอาชีพได้

Dsign Something : คิดว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้สถาปนิกคนหนึ่งสามารถที่จะเติบโตในวิชาชีพไปพร้อมกับความสุขได้?
พี่เล็ก :
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น ผมว่าทักษะที่มันเกิดจากการทำงาน จริง ๆ มันเกิดจากการที่เราอยากเรียนรู้อะไรแล้วเราไปให้สุด เดี๋ยวนี้ชีวิตมันง่ายมากสำหรับการที่จะหาข้อมูลในการหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ จนถึงตอนนี้ บางครั้งผมยังมีความรู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยมาก…ยิ่งเข้าไปค้นในข้อมูลใด ๆ หรือเข้าไปอ่านในอะไรหลาย ๆ อย่างแล้ว องค์ความรู้ผมมีอยู่นิดเดียว ถ้าคุณจะรู้อะไร พยายามรู้ให้ลึกจริง ๆ คุณเรียนได้ทุกวัน คุณอ่านได้ทุกแห่ง สิ่งนั้นคือการเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญที่ผมอยากฝากไว้

ในฐานะสถาปนิกรุ่นใหญ่ นี่จึงเปรียบเป็นสาระสำคัญที่เล็ก-ประภากร วทานยกุล ฝากไว้ให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ หรือน้อง ๆ ที่กำลังจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการออกแบบไทยในอนาคต

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้