Anubarn Submarine
ท่องโลกใต้ทะลไปกับห้องสมุดเรือดำน้ำที่เปลี่ยนพื้นที่อ่านหนังสือให้เป็นพื้นที่แห่งการเล่นและเรียนรู้

ห้องสมุดในวัยเด็กของแต่ละคน ต่างก็มีภาพที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับภาพห้องสมุดของเด็ก ๆ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร และห้องสมุดในความทรงจำของคุณจีฟ – สุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ สถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบจาก Greenbox Design ต่างเห็นตรงกันว่า ห้องสมุด ไม่ใช่แค่พื้นที่อ่านหนังสือ แต่ยังรวมถึงการเล่นสนุก การแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแม้แต่การปลูกฝังแบบอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ เติบโตไปได้อย่างสมบูรณ์ นำมาสู่โปรเจกต์รีโนเวทอาคารห้องเรียนเดิมให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ชวนเด็กน้อยมาท่องโลกใต้ทะเลไปกับเรือดำน้ำที่จำลองมาอยู่ในพื้นที่ขนาด 230 ตารางเมตร

ห้องสมุดเรือดำน้ำที่พร้อมจะพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้ในโลกของทะเล

แล้วทำไมต้องโลกใต้ทะเล?
จริง ๆ แล้วอาจเดาได้ไม่ยาก เพราะที่ตั้งโครงการอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องระบบเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ผู้ออกแบบจึงมองว่า “การที่เราได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรตรงนี้ เราก็ควรจะปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากที่สุด เราเลยพยายามออกแบบพื้นที่ เล่าเรื่องสเปซผ่านแนวคิดเรื่องทะเลเป็นหลักอย่างเรือดำน้ำ หรือผ่านของเล่นต่าง ๆ ที่อยู่ข้างใน”

ไม่ใช่แค่แนวคิดจากฝั่งของดีไซน์เนอร์เท่านั้น แต่ทางผู้อำนวยการโรงเรียนเอง ก็ได้ลูกชายคนเจนเนอเรชันใหม่เข้ามาช่วยจัดการส่วนต่าง ๆ ทำให้เราได้เห็นพื้นที่หลายส่วนของโรงเรียนเริ่มมีสัญญาณของการพัฒนาพื้นที่ให้ตอบรับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน และที่สำคัญแต่ละโซนยังถูกมอบหมายให้ผู้ออกแบบจากหลายสตูดิโอเข้ามารับหน้าที่ปรุงแต่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราได้รับข้อมูลจากฝั่งผอ. มาค่อนข้างชัดเจนว่าการใช้ห้องสมุดของเด็กๆ เป็นยังไง เราเลยมาตีโจทย์กันถึงไทม์ไลน์ของการใช้ห้อง ซึ่งห้องนี้ต้องรองรับเด็กสามสิบคนผลัดเปลี่ยนมาเรียน มาเล่นกันในแต่ละคาบ มีจุดรับคืนหนังสือ มีจุดสืบค้นข้อมูล มีโซนดูหนัง พรีเซนท์งาน หรือที่ประชุมโปรเจกต์ เห็นได้เลยว่าวิธีการใช้งานมันต่างไปจากยุคเก่า ๆ โดยสิ้นเชิง คือ ห้องสมุดไม่ใช่แค่ห้องอ่านหนังสือเงียบ ๆ แบบเดิม ๆ แล้ว”

(แนวคิดการออกแบบ ลำดับการเข้าถึงของสเปซแต่ละส่วน)

เมื่อต้องมีหลายโซนอยู่รวมกัน การออกแบบพื้นที่ภายใน ผู้ออกแบบจึงไล่ระดับจากพื้นที่ที่มีความ Active มากกว่าไปยังโซน Passive ที่บริเวณด้านหลัง เพื่อใช้ประโยชน์จากรูปแบบการใช้งานอาคาร ซึ่งบริเวณด้านหน้าจะติดกับคอร์ริดอร์อาคารหลักที่เด็ก ๆ ต้องเดินผ่านหลังเลิกเรียน ช่วงหมดคาบ หรือช่วงพักกลางวัน

โซนด้านหน้าออกแบบเป็นกึ่ง ๆ พื้นที่ต้อนรับที่แบ่งออกเป็นจุดยืม-คืนหนังสือ โซนแสตนเล็ก ๆ ที่ดีไซน์ให้เป็นสเต็ปสำหรับนั่งเล่น หรือแม้แต่รองรับการพรีเซนท์งานในบางคาบเรียน ซึ่งโซนนี้ออกแบบในโทนสีขาวที่เรียบง่าย และทำให้พื้นที่ดูสว่างมากขึ้นด้วย ถัดเข้าไปที่แกนกลางของสเปซจะเป็นพื้นที่ตู้หนังสือยาวตั้งแต่พื้นจรดเพดานโดยแบ่งเป็นสามห้องย่อยในแนวคิด ‘ชายฝั่ง ทะเลน้ำตื้น และทะเลน้ำลึก’ ซึ่งแตกต่างกันด้วยการใช้โทนสีสันอย่างสีเหลืองครีม สีฟ้า และสีน้ำเงินเข้ม

(ส่วนพื้นที่ชายฝั่งถูกออกแบบแทนด้วยสีเหลืองครีม)

(ส่วนทะเลน้ำตื้น ถูกออกแบบแทนด้วยสีฟ้า)

(ส่วนทะเลน้ำลึก ถูกออกแบบแทนด้วยสีน้ำเงินเข้ม)

พื้นที่อ่านหนังสือที่ถูกคิดให้เป็นเหมือนสวนสนุกมากกว่าห้องสมุด

คุณจีฟยังเล่าติดตลกว่า ภาพห้องสมุดในวัยเด็กของเขา นอกจากอ่านหนังสือ คือการเข้าไปนั่งเล่นตามซอกหลืบของห้องสมุดตามประสาเด็กที่ซนไปตามวัย ในการออกแบบแต่ละห้องหนังสือจึงมีรายละเอียดของการใช้ประโยชน์จากการรื้อพื้นเดิมบางส่วน ทำเป็นพื้นที่ลดระดับขั้นบันไดในลักษณะหลุมลงไปให้เด็ก ๆ ได้เกิดการเล่นสนุก มีมุมชวนให้การอ่านหนังสือตื่นเต้นได้มากกว่าห้องสมุดทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ทั้งหมดก็ยังต้องดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย การวางผังทั้งหมดจึงอยู่ในลักษณะ Loop ที่ไม่มี Dead End เกิดขึ้นภายในแปลนเลย

โซนด้านข้างเป็นพื้นที่สืบค้นข้อมูลและส่วนนั่งอ่านหนังสือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ออกแบบบริเวณผนังให้เขียนได้คล้ายกับกระดานไวท์บอร์ด รวมถึงยกระดับให้เด็ก ๆ ได้จับกลุ่มพูดคุย หรืออ่านหนังสือในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนโซนท้ายสุด มีเพียงโต๊ะขนาดยาวรองรับการทำงานเป็นกลุ่ม ตามลักษณะการเรียนของน้อง ๆ ในโรงเรียน แต่ก็ยังมีพื้นที่นั่งอ่านหนังสือเป็นส่วนตัวจำนวนไม่มาก สำหรับเด็ก ๆ ที่ต้องการสมาธิในบางเวลา

รายละเอียดปลีกย่อยของงานออกแบบยังเสริมบรรยากาศความสนุกเข้าไปให้กับเด็ก ๆ อีกทั้งยังเสริมภาพธีมเรือดำน้ำให้แข็งแรงมากขึ้นด้วย อย่างเช่น การออกแบบท่อพูดได้ซึ่งดัดแปลงมาจากท่อ PVC บ้าน ๆ ที่เราพบเห็นได้ทั่วไป โดยเด็ก ๆ สามารถพูดใส่ปลายท่อนี้ และเสียงจะไปโผล่ที่ปลายของท่ออีกด้านที่ถูกซ่อนอยู่อีกห้องหนึ่ง เป็นไอเดียที่เราได้มีโอกาสเห็นเด็ก ๆ มาเล่น มาใช้ และได้มาสนุกสนานกันจริง ๆ

พื้นที่ที่สอนให้เด็กตระหนักรู้เรื่องทรัพยากร

นอกจากการออกแบบวางผังตามฟังก์ชันและคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจไว้ อีกแนวคิดที่น่าสนใจ คือ จะทำอย่างไรให้เราสามารถสอดแทรก สอนให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้เรื่องทรัพยากรได้ด้วย ? รายละเอียดบางส่วน สถาปนิกยังพยายามสร้างแรงจูงใจในการแยกขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดการ Recycle หรือ Upcycle  ด้วยการดีไซน์ถังแยกขยะเป็นกิมมิค ที่เด็ก ๆ สามารถมาแลกคะแนนเปลี่ยนเป็นขนมได้ รวมถึงการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่าง ๆ อย่างท็อปเก้าอี้ที่ทำจากขยะพลาสติก และลังพลาสติกเก่าที่รวบรวมมาได้บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงสำหรับจัดระเบียบของเล่นของเด็ก ๆ ให้เรียบร้อย

(ถังเหลือใช้เก่าที่นำมารีดีไซน์ให้กลายเป็นกิมมิค ปลูกฝังให้เด็ก ๆ แยกขยะและนำมาแลกเป็นขนม)
(ลังพลาสติกเก่าที่นำมาใช้จัดระเบียบของเล่นของเด็ก ๆ)

“งานออกแบบโรงเรียนเป็นงานที่เราอยากทำมาตลอด เพราะเป็น Users ที่เราสามารถปลูกฝังเขาได้ เราอยากให้เขาเป็นยังไง สามารถดีไซน์เพื่อส่งเสริมตรงนั้นได้ อีกอย่างหนึ่ง คือที่นี่เป็นโรงเรียนอนุบาลของทางรัฐบาลด้วย เรารู้สึกว่าการทำให้โรงเรียนรัฐให้มีมาตรฐานที่ดี ก็อาจจะต่อยอดให้เกิดการตระหนักรู้ โดยใช้การออกแบบมาช่วยปลูกฝังให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” สถาปนิกเล่า

สถาปนิกผู้ออกแบบ

Location : Anubarn Samutsakorn School
Interior Designer :
Greenbox Design
Contractor : Kaokarnchang
Photographer : Tanatip Chawang

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้