แน่นอนว่าปัญหาคลาสสิกตลอดกาลของตึกแถวในย่านเมืองเก่า คือ ข้อจำกัดเรื่องแสงและลมธรรมชาติที่เข้าถึงยาก ทำให้อาคารประเภทนี้ดูทึบตัน อุดอู้ ไม่มีแสงเข้าอย่างเพียงพอเมื่อเทียบกับสเกลอาคาร
Bite & Bond Café คาเฟ่และโฮสเทลรีโนเวทใหม่ภายในอาคารตึกแถวย่านเสาชิงช้าจึงพยายามเปลี่ยนข้อกำจัดเหล่านั้นให้กลายเป็นอาคารสมัยใหม่ที่ชวนผู้คนมาแฮงค์เอาท์บนพื้นที่ Open Air ภายในตึกแถว 4 ชั้นครึ่งที่นอกจากจะไม่ร้อนแล้ว ยังมีบรรยากาศของแสงธรรมชาติที่ส่องเข้าถึงได้ในทุกสเปซ งานนี้ก็ได้สตูดิโอดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่อย่าง VMA Design Studio มารับหน้าที่เปลี่ยนข้อจำกัดสุดท้าทายให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานจริง
“เราไม่อยากสร้างเอเรียที่เข้าไปแล้วไม่รู้เรื่องธรรมชาติภายนอกเลย อย่างน้อยเข้ามาในอาคารตรงนี้ เขาก็ได้รู้ว่าตอนนี้ข้างนอกฝนตกอยู่นะ ตอนนี้แดดออก ตอนนี้กำลังจะค่ำแล้ว เรามองว่าการรับรู้เหล่านี้แหละที่จะทำให้ผู้ใช้งานอาคารเขารู้สึกรีแลกซ์” คุณแชมป์ – วิชยุตม์ มีนะพันธ์ สถาปนิกเล่า
แสงธรรมชาติ วัตถุดิบฟรีที่ควรนำมาใช้
เจ้าของร้านอย่าง คุณเบนซ์ – ปริญ จิวารุ่งเรือง เล่าเท้าความไปว่า เดิมที่ตรงนี้เป็นอาคารเก่าอายุเกือบร้อยปีที่ครอบครัวส่งต่อกันมาหลายเจนเนอเรชัน โดยตึกเก่าเป็นปูน เหล็ก ไม้ ที่มีฟังก์ชันไว้เก็บพระพุทธรูปทองเหลือง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในย่านเสาชิงช้าที่อยู่โดยรอบ แต่เมื่อต้องเก็บและรับน้ำหนักทองเหลืองจำนวนหลายตัน ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งอาคารก็เริ่มผุพังจนรับไม่ไหว เป็นที่มาของโปรเจกต์รีโนเวทอาคารเก่าให้กลายเป็นคาเฟ่และโฮสเทล
“คุณพ่อย้ำเรามาก ๆ ว่าไม่อยากทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อน ซอยรอบข้างก็เป็นถนนไม่ใหญ่ งานนี้เลยเน้นเป็นรีโนเวทที่พยายามใช้โครงสร้างเดิมให้มากที่สุด โดยเราให้โจทย์สถาปนิกไปว่า เราไม่อยากได้แปลนทื่อ ๆ อยากให้แต่ละชั้นมันไม่เหมือนกันเลย ที่สำคัญเราอยากได้แสงธรรมชาติ ไม่อยากให้ตึกทึบ เพราะรู้สึกว่าแสงมันเป็นวัตถุดิบที่ได้ฟรี ควรจะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด”
“ถามว่า สร้างโรงแรมตรงนี้ คนจะมาพักไหม? แน่นอนว่ามาอยู่แล้วเพราะโลเคชันดี แต่จะทำยังไงให้อาคารมีคาแร็กเตอร์เด่นที่ทำให้คนอยากมาพักซ้ำ ๆ นั่นเป็นโจทย์ที่เราคิด” สถาปนิกเสริม
ด้วยข้อจำกัดเดิมของโครงสร้างอาคาร และกฏหมายในเขตเมืองเก่า ทำให้ด้านหน้าอาคารที่เป็นตึก 5 ชั้นเดิมไม่สามารถรื้อหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้มากนัก ทำให้แค่แปลงโฉมรูปลักษณ์หน้าตาให้เปลี่ยนไป ซึ่งด้วยลักษณะของพื้นที่ ซึ่งมีทางเข้าเป็นอาคารล็อกเดียวเล็ก ๆ ก่อนจะเปิดสู่อาคาร 5 ล็อคที่อยู่ภายใน อันดับแรก การออกแบบฟาซาดจึงต้องน่าสนใจและดึงดูดมากพอ
ไดอะแกรมแสดงแนวคิดการออกแบบ
ฟาซาดถูกออกแบบให้เป็นซี่ระแนงที่สามารถเล่นกับแสง เปิดให้แสงส่องเข้าสู่ภายในได้ ในขณะที่ยังบดบังสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องพักที่อยู่ภายใน ซึ่งผู้ออกแบบดีไซน์ให้ฟาซาดนี้มีทั้งด้านหน้า และด้านหลัง กล่าวคือ แทนที่จะมีฟาซาดอาคารด้านหน้าเพียงด้านเดียว เมื่อเข้าสู่ภายในเราจะยังคงเห็นเส้นสายของฟาซาดที่ลิงค์จากด้านหน้าเข้ามาหาด้านในเสมือนเป็นโมดูลชิ้นเดียวกัน กลายเป็นรูปฟอร์มของสเปซที่ถูกห่อหุ้มไว้ ช่วยสร้างคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจให้อาคารได้มากขึ้น
Stack Module เลเยอร์ของอาคาร สร้างมุมมองแตกต่างในแต่ละสเปซ
“เราไม่อยากให้อาคารดูแข็ง ๆ เหลี่ยม ๆ เข้าไปอยู่แล้วไม่มีชีวิต ไม่บ่งบอกนิสัยของ owner หรือไม่บ่งบอกนิสัยพื้นที่ ดังนั้น มันเลยต้องมีคาแร็กเตอร์บางอย่าง เราเลยออกแบบโมดูลนี้ขึ้นมา และลองดูว่าโมดูลนี้จะมาตอบรับกับฟังก์ชันแต่ละส่วนยังไง”
หลังจากได้ภาพคอนเซ็ปต์ที่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น โมดูลจึงถูกพัฒนาให้ลงตัว โดยในแต่ละก้อนโมดูลจะต้องเปิดให้แสงธรรมชาติเข้าถึง มีสีเขียวของธรรมชาติ และมีเส้นตั้งของระแนงที่ท้องโครงสร้างจะเป็นเส้นโค้งกลายเป็นคาแร็กเตอร์และภาพจำให้กับอาคาร ก่อนที่ผู้ออกแบบจะนำแต่ละโมดูลนี้มา Interlock หรือต่อเข้าหากันโดยตอบรับกับฟังก์ชันแต่ละส่วน ลดหลั่นเป็นเลเยอร์ที่ทำให้แต่ละมุมมองในพื้นที่ไม่บดบังซึ่งกันและกัน บางโมดูลถูกล่นถอยบ้าง ทำให้จากชั้นบนสุดมองลงมาชั้นล่างก็ยังสามารถเห็นสีเขียวไล่ระดับเป็นเลเยอร์จนถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนชั้นหนึ่ง หรือแม้แต่จากชั้นล่างที่มองขึ้นไป ก็ยังเห็นอาคารที่ไล่ระดับการได้อย่างมีมิติ
บริเวณด้านบนสุดของอาคารเปิดให้เป็นช่องแสงสกายไลท์ ที่นำแสงธรรมชาติส่องลงใจกลางพื้นที่บริเวณคาเฟ่ ทำให้จากบริเวณทางเข้าขนาดเล็ก ถูกเปิดให้โปร่งโล่งได้ ทะลายข้อจำกัดของตึกแถวทึบตันในแบบที่ทุกคนคุ้นชิน ถ้าลองสังเกต บริเวณฟาซาดด้านบน เราจะเห็นระนาบของกระจกขนาดใหญ่ ทำหน้าที่กระจายแสงทำให้บางช่วงเวลามีแสงตกกระทบถึงบริเวณด้านล่างได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนการวางเลย์เอาท์ของอาคาร ไม่มีอะไรซับซ้อน โดยชั้นล่างสุดเปิดบริการให้คนทั่วไปได้เข้ามาลิ้มลองรสชาติกาแฟและเบเกอรี่ ส่วนพื้นที่ชั้นลอย จะเปิดเฉพาะลูกค้าในกลุ่มโฮสเทลโดยเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ลูกค้าสามารถมานั่งเล่น เป็น Sharing Space ที่สามารถมาทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนชั้นที่เหลือถัดขึ้นไปจะเป็นส่วนห้องพัก ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดให้บริการสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2565 นี้
ที่น่าสนใจคือการออกแบบผังห้องแต่ละส่วน ให้มีองค์ประกอบของคอร์ด เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดของตึกแถวที่มีกฏหมายห้ามมีช่องเปิดในระยะที่กำหนด ดีไซน์จึงยอมเสียพื้นที่ห้องบางส่วน สร้างคอร์ดที่นำแสงและพื้นที่สีเขียวจากธรรมชาติเข้ามาเป็นกิมมิค โดยผังเลย์เอาท์แต่ละห้องยังไม่ซ้ำแบบกัน เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาพักในรูปแบบที่ต่างกันออกไป
“งานนี้เป็นโปรเจกต์แรก ๆ เลยที่เราออกแบบ หลังจากกลับมาไทย มันเลยเป็นการศึกษา ทดลองไปเรื่อย ๆ ลองดีลกับผู้รับเหมา ทดลองใช้วัสดุในไทยด้วยว่ามันจะทำอะไรได้บ้าง อย่างระแนงส่วนมากที่เราเห็นก็เป็นไม้เหลี่ยม แล้วถ้าเราทำไม้กลมล่ะ ได้ไหม จะใช้วัสดุอะไร? ซึ่งเราใช้ไม้กลมมาผ่านกระบวนการความร้อน ดัดจนมันสามารถโค้งได้ เราโชคดีมากที่ได้ผู้รับเหมาที่เขาอยากทดลอง อยากสนุกไปด้วยกัน ก็เลยทำงานออกมาเหมือนที่เราคิดไว้เลย”
พื้นที่ Open Air ในตึกแถว
(ใครว่าทำไม่ได้จริง?)
สิ่งที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เราพอสมควร คือ การเข้าไปนั่งจิบกาแฟ ทำงานเกือบทั้งวันได้โดยไม่รู้สึกร้อน เพราะมีลมเย็น ๆ พัดเข้าถึงตลอดเวลา เว้นแต่ว่าช่วงร้อนจัดของวันในบางเวลาที่แสงธรรมชาติส่องถึงในปริมาณมาก โซนที่นั่งบริเวณใจกลางคาเฟ่อาจจะร้อนไปสักหน่อย แต่ทางอินทีเรียดีไซน์เนอร์ก็มีการออกแบบห้องปิดเล็ก ๆ เป็นมุมรองรับสำหรับคนที่ไม่ชอบพื้นที่ Open Air หรือในช่วงเวลาร้อนจัด พื้นที่นี้ก็ยังพร้อมให้บริการลูกค้า
ที่เราบอกว่าไม่ร้อน ก็เพราะในการออกแบบสถาปนิกมีการคำถึงถึงเรื่องความโฟลวของอากาศภายในอาคาร ไม่ต่างจากเรื่องแสงธรรมชาติ โดยมีทั้งระบบ Passive และ Active Cooling ซึ่งซ่อนพัดลมดูดอากาศไว้ด้านบนของฟาซาดระแนงไม้ที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ด้านใน เพื่อดูดอากาศบริสุทธิ์จากถนนด้านหน้าอาคาร ไปปล่อยบริเวณอาคารชั้นต่าง ๆ ด้านบน ทำให้อากาศร้อนถูกดันขึ้นสู่ด้านบน และถ่ายเทออกสู่ด้านนอกโดยเร็ว พื้นที่ภายในจึงมีการไหลเวียนของอากาศตลอดเวลา
สำหรับพื้นที่ภายใน เพื่อตัดกับบรรยากาศไม้ที่เป็นสัดส่วนของวัสดุหลัก บางองค์ประกอบเราเห็นงานแผ่นแสตนเลสผิวด้านและผิวเงา เข้ามาเติมเต็ม ซึ่งเป็นไอเดียที่คุณนกยูง – ปีรวิน สวัสดิ์ธนวณิชย์ (อินทีเรียดีไซน์เนอร์) เล่าว่า มีที่มาจากการอยากเล่นวัสดุที่คอนทราสกับทองเหลือง ทอง ที่คุณเบนซ์คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้กลิ่นอายของเทคนิควิธีอย่างการตีเหล็ก เช่นเดียวกัน
งานออกแบบภายในล้อเส้นสายมาจากโมดูลของงานสถาปัตยกรรม โดยเราจะเห็นได้ว่าเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ หรือเสต็ปที่นั่งต่างเป็น Mini Stack ที่นำเส้นสายโค้งของไม้มาดีไซน์ให้ทั้งหมดกลมกลืนเป็นเรื่องราวเดียว
ได้ฟังเรื่องราวแนวคิดการออกแบบทั้งหมด เราก็ไม่แปลกใจที่คาเฟ่เปิดใหม่เพียงไม่นานแห่งนี้จะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ในย่านเสาชิงช้า ที่มีลูกค้ามากหน้าหลายตา ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่มากับครอบครัว กลุ่มคนทำงาน หรือผู้สูงอายุที่แวะมาแฮงค์เอาท์กันในบรรยากาศสุดอบอุ่น สมชื่อ Bite & Bond ใครอยากลองแวะมาจิบกาแฟ ชิมเบเกอรี่ Bite & Bond เปิดบริการวัน อ-อา เวลา 09.00-17.00
Project : Double B Hostel + Bite & Bond Café
Client: Prin Jivarungruang
Architect & Interior : VMA Design Studio
Lead Designer : Vichayuth Meenaphant, Peerawin Sawattanawanit
Design Team : Panupong Sittiwong, Pattitar Na Chart, Suppasit Sirinukulwattana
Structural and M&E Engineer : Basic Design Co.,Ltd.
Main Contractor : Paitoon Klarharn Construction
Interior Contractor : Paranit Pongtanamas
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!