Do we really know more about space than the deep ocean?
คำถามดังกล่าวได้ทำการพิสูจน์แล้วว่ามนุษยชาติมีองค์ความรู้เกี่ยวกับห้วงอวกาศมากกว่าพื้นที่ใต้มหาสมุทรอย่างเห็นได้ชัด มีอาณาเขตมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ภูมิศาสตร์ใต้มหาสมุทรทั่วโลกยังไม่ได้ทำการสำรวจ ซึ่งน้อยกว่าความรู้ทางภูมิศาสตร์ที่เรามีเกี่ยวกับผิวดาวอังคารถึงประมาณ 100 เท่า โดยจำนวนมนุษย์ที่ไปสำรวจผิวดวงจันทร์จากนั้นมีมากกว่าจำนวนมนุษย์ที่ไปสำรวจ ณ จุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร อย่างร่องลึก Mariana ถึง 4 เท่าตัว
พื้นที่ใต้ผืนมหาสมุทรนั้นเต็มไปด้วยความลับที่ยังรอให้เราไปค้นหาอีกมาก การสำรวจจึงเต็มไปด้วยความท้าทายและความเสี่ยง ประกอบกับงบประมาณที่มากมายมหาศาล เนื่องจากสภาพแวดล้อมใต้น้ำมีลักษณะที่สุดขั้ว ทั้งแรงดันน้ำที่สูงมากกว่า 500 เท่าเมื่อเทียบเทียบกับระดับน้ำทะเล สภาวะอุณหภูมิน้ำที่เย็นจัด กระแสน้ำใต้มหาสมุทรที่มีความรุนแรง การผุกร่อนของโครงสร้างจากน้ำทะเล รวมถึงยังเป็นดินแดนที่แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถส่องถึง ยานพาหนะหรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต้องมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีโครงสร้างที่แข็งแรง ปลอดภัย และได้ทำการออกแบบมาอย่างดี อย่างเช่น สถานีวิจัยใต้ทะเล Aquarius Reef Base ที่ตั้งอยู่ใต้ท้องทะเลใน Florida Keys National Marine ที่ปัจจุบันผุพังและไม่ได้ใช้ปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์และอวกาศจาก NASA แล้ว แต่หากสำรวจถึงโครงสร้างและ function พื้นฐานต่างๆ ภายใน เป็นที่พบเห็นได้ในนิยายหรือภาพยนต์วิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตอยู่ใต้ทะเล อย่างเช่น แคปซูลช่วยชีวิต หรือ ห้อง Air Lock ปรับความดัน เป็นต้น
ใต้ทะเลเป็นสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการอยู่อาศัย แต่มนุษย์ยังได้มีแนวคิดในการสำรวจพื้นที่ใต้ท้องทะเลมาทุกยุคทุกสมัย อาจจะเป็นเพราะความหลงใหลในความสวยงามของสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเล ความชื่นชอบในบรรยากาศอันเวิ้งว้างแปลกตา เป็นสถานที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะเป็นความตั้งใจการพัฒนาแหล่งทรัพยากรใต้ท้องทะเลให้คงอยู่สืบไปก็เป็นได้
แล้วถ้างานสถาปัตยกรรมต้องอยู่ใต้ท้องทะเลจะเป็นอย่างไร? ในปัจจุบันมีสถาปนิกและนักออกแบบจำนวนมากที่มีแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานที่ตั้งอยู่ใต้ผืนน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร โรงแรม สถานีวิจัย ไปจนถึงพื้นที่ศิลปะใต้น้ำ ซึ่งผลงานในลักษณะดังกล่าวจะมีข้อจำกัดในด้านการออกแบบที่ซับซ้อนและต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือประสบการณ์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลที่แปลกตาและหาไม่ได้บนพื้นดิน หรือการได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆที่ช่วยพัฒาความเป็นไปได้ในการตั้งอาณานิคมใต้มหาสมุครในอนาคตได้ ซึ่งในวันนี้จะหยิบยกโครงการออกแบบในลักษณะดังกล่าวที่น่าสนใจในประเด็นของงานสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ มาพูดคุยให้ฟังกัน
Under
Under เป็นร้านอาหารใต้น้ำแห่งแรกของยุโรป ตั้งอยู่ที่แนวชายฝั่งของเมือง Baly ในประเทศนอร์เวย์ มีพื้นที่ประมาณ 495 ตร.ม. ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Snøhetta มีลักษณะอาคารคล้ายกับกล้องปริทรรศน์ที่กึ่งจมน้ำ โดยมีหน้าต่างบานใหญ่ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งสามารถรองรับแขกได้ถึง 40 คน และมีพื้นที่บางส่วนของโครงการจะใช้เป็นศูนย์วิจัยทางทะเล โดยโครงสร้างสถาปัตยกรรมได้รับการออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด มีลักษณะเป็นท่อคอนกรีตเสาหินยาว 34 เมตร ที่มีลักษณะโค้งเล็กน้อย แต่มีความหนาถึงครึ่งเมตรเพื่อต้านทานแรงจากคลื่นและแรงดันน้ำได้อย่างเหมาะสม โดย Rune Grasdal หัวหน้าสถาปนิกโครงการได้กล่าวว่าแนวคิดหลักคือการสร้างพื้นที่ (ท่อทรงกระบอก) ที่จะสามารถพาผู้คนจากระดับน้ำทะเลค่อยๆไปลงซึมซับประสบการณ์ของสภาพแวดล้อมใต้ทะเลได้
พื้นที่ร้านอาหารมีทั้งหมดสามชั้น ได้แก่ ห้องโถงและห้องรับฝากของ บาร์ และร้านอาหารหลักที่ชั้นล่าง โดยสามารถเข้าถึงได้จากบันไดหลัก โดยการตกแต่งภายในจะเริ่มจากความรู้สึกที่อบอุ่นจากบริเวณทางเข้าชั้นบนที่ใช้วุสดุปิดผิวจำพวกไม้โอ๊ค ไล่ลงสู่ชั้นล่างด้วยคอนกรีตหล่อเปลือยและพื้นหินขัด terrazzo สีเทา โดยมีแนวคิดคือการไล่ระดับสีโดยเริ่มจากสีอ่อนไปจนถึงสีที่ลึกกว่าที่ก้นทะเล โดยโครงสร้างภายในทั้งหมด จะถูกบุด้วย acoustic material เพื่อดูดซับเสียงจากสภาพแวดล้อมใต้ทะเลโดยรอบไม่ให้มารบกวนแขกที่มารับประทานอาหาร โดยไฮไลต์ของร้านอาหารคือหน้าต่างกระจกอะคริลิคนิรภัยแบบพาโนรามาขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ทะเล เปิดรับทิวทัศน์สภาพแวดล้อม แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่สวยงามเบื้องหน้าได้ นอกจากนี้ปรากฎการณ์ของแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านผิวน้ำจะทำให้เกิด reflect ของแสงสีฟ้าเข้มและสีเขียวทั่วทั้งสเปซภายใน ที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่แปลกตาและมีความสวยงามอย่างน่าทึ่ง
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ นอกจากจะเป็นร้านอาหารใต้ทะเลเพื่อต้องการให้แขกได้รับประสบการณ์ใหม่ๆแล้ว ช่วงนอกนอกเวลาทำการ พื้นที่ดังกล่าวจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนักชีววิทยาทางทะเลเพื่อศึกษาพฤติกรรมของชีวภาพใต้ทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังที่มีปฏิกิริยาไวต่อแสงอีกด้วย
The Muraka
รีสอร์ท Conrad Maldives Rangali Island ตั้งอยู่ที่ South Ari Atoll ในมัลดีฟส์ เป็นรีสอรท์ 6 ดาว ที่มีแนวคิดให้แขกผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณของโลกใต้ทะเลที่สวยงามของมหาสมุทรอินเดีย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ วิลล่าพักผ่อน Muraka ที่มีพื้นที่ห้องสวีทอยู่ใต้ทะเลแห่งแรกของโลก ที่จมอยู่ใต้ทะเลถึง 5 เมตร โดยสถานที่แห่งนี้ เป็นจุดหมายของนักเดินทางทั่วโลกที่ต้องการมาเยือนสักครั้งในชีวิต
วิลล่าพักตากอากาศ The Muraka มีพื้นที่ส่วนห้องนอนใต้ท้องทะเลเหมือนอยู่ท่ามกลาง Aquarium ที่เต็มไปด้วยฝูงปลาและแนวปะการัง ซึ่งแขกผู้เข้าพักสามารถสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวได้ในขณะที่พักผ่อนระหว่างวัน ออกแบบโดยสถาปนิกท้องถิ่น Ahmed Saleem ร่วมมือกับ กลุ่มสถาปนิก Yuji Yamazaki จากนิวยอร์ก วิลล่าแห่งนี้มีทั้งหมด 2 ชั้น โดยด้วยชั้นบนจะอยู่เหนือน้ำ มีพื้นที่ห้องครัว ห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหาร ส่วนห้องนอนสวีท ขนาด 100 ตารางเมตรจะจมอยู่ใต้ทะเลและหุ้มด้วยโครงสร้างอะครีลิคนิรภัยหนาเจ็ดนิ้วเพื่อป้องกันเขาผู้เข้าพักจากสภาพแวดล้อมใต้ทะเลภายนอก โดยมีพื้นที่นั่งเล่น ห้องน้ำ และตู้เสื้อผ้าแบบวอล์กอิน อย่างครบครัน หลังคาอะครีลิคโค้งโปร่งใสบริเวณห้องนอนทำให้ผู้เข้าพักสามารถสัมผัสทัศนียภาพใต้น้ำแบบพาโนรามา 270 องศาแบบไร้สิ่งกีดขวาง โดยพื้นที่ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยบันไดเวียนหรือลิฟต์ส่วนตัวจากชั้นบน
ReefLine
บริษัทสถาปนิก OMA มีแนวคิดในการสร้าง ReefLine สวนประติมากรรมใต้น้ำยาว 7 ไมล์ นอกชายฝั่งของหาดไมอามี่ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยการดำน้ำตื้นเท่านั้น โดยมี Shohei Shigematsu หัวหน้าสำนักงานในนิวยอร์กเป็นผู้นำโครงการแผนแม่บท โดยทำงานร่วมกับทีมที่ประกอบด้วยนักชีววิทยาทางทะเล นักวิจัย สถาปนิก และวิศวกรชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองและสร้างความตระหนักรู้ถึงปรากฎการณ์ climate change ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นและสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังในเมืองชายฝั่งทะเล โดยพื้นที่ดังกล่าวยังได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะใต้น้ำที่มีภัณฑารักษ์ดูแลและคัดเลือกผลงานศิลปะอีกด้วย
แผนแม่บทของ ReefLine จะประกอบด้วยโมดูลคอนกรีตทรงเรขาคณิตรูปบันไดเวียน ซ้อนกันอยู่ใต้น้ำประมาณ 6 เมตร โครงสร้างดังกล่าวได้รับการศึกษาวิจัยให้มีส่วนประกอบของหินปูนที่มีความคล้ายคลึงทางเคมีกับพื้นผิวของแนวปะการังตามธรรมชาติเพื่อให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยจะมีชิ้นงานศิลปะที่ติดตั้งระหว่างโครงสร้างโมดูลในส่วนต่อขยาย ศิลปินที่ต้องการนำเสนอผลงานจะสามารถเข้าถึงเข้าถึง 3D จำลองโมดูลแนวปะการังเทียม เพื่อได้ทราบถึงพื้นที่และสภาพแวดล้อมใต้น้ำ ในการออกแบบผลงานศิลปะของพวกเขา
นอกจากนี้ แบบจำลองทางกายภาพของของ ReefLine ยังได้ถูกคู่สถาปนิกอย่าง Charlotte Taylor และ Nicholas Préaud มาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างงานศิลปะ NFT ในรูปแบบของวีดีโออาร์ตที่จะแสดงให้เห็น ถึงโครงสร้างประติมากรรมที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บนบกในพื้นที่เสมือน ก่อนที่จะจำลองด้วยภาพให้ถูกดำดิ่งลงไปใต้ท้องทะเล และเห็นถึงการเจริญเติบโตของปะการังและฟองน้ำที่ปกคลุมทั่วทั้งโครงสร้างอย่างสวยงามเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี โดยสิ่งที่ปกคุลมได้ก่อตัวขึ้นอย่างหนาแน่นจนถึงจุดที่โครงสร้างแทบจะไม่มีเค้าโครงเดิม โดยผลงานถูกสร้างขึ้นเพื่อดึงความสนใจไปที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงบวกของโครงการ และแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งธรรมชาติที่มีอิทธิพลเหนือสิ่งที่ทนุษย์สร้างขึ้นโดยผู้สนใจ
Proteus
สถานีวิจัยใต้น้ำ Proteus เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยโดย Yves Behar ดีไซน์เนอร์ชาวสวิส ภายใต้ความต้องการของ Fabien Cousteau นักอนุรักษ์มหาสมุทรฝรั่งเศส โดยสถานีดังกล่าวอยู่ลึก 18 เมตรใต้ทะเล ใกล้กับเกาะคูราเซาในทะเลแคริบเบียน เพื่อที่จะใช้เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับชีววิทยาใต้น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการสำรวจพื้นที่ใต้น้ำด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ climate change ว่าส่งผลต่อมหาสมุทรอย่างไร
แนวคิดในการออกแบบโครงการดังกล่าว จะต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดในการอาศัยอยู่ในโครงสร้างใต้น้ำ ที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย รวมถึงพฤติกรรมผู้ใช้งานที่ต้องอยู่ในสภาวะที่รับแรงกดดันอากาศ ไม่อนุญาตให้ใช้เปลวไฟ อยู่กับความชื้นตลอดเวลา ขาดแสงอาทิตย์ และขาดพื้นที่ในการออกกำลังกาย โดย Proteus ยังได้ทำการออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมที่พึ่งพาตัวเองได้ โดยมีทั้งเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับพลังงานสีเขียว และเรือนเพาะกระจกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถปลูกอาหารของตนเองได้ พื้นที่ส่วนกลางจะถูกแยกออกจากพื้นที่ที่มีความชื้นของห้องปฏิบัติการ โดยจะอาศัยพลังงานจากการแปลงพลังงานความร้อนจากมหาสมุทร (OTEC) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างน้ำอุ่นบนผิวน้ำและน้ำเย็นจากมหาสมุทรลึก
การออกแบบ Proteus จะเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมใต้น้ำแบบการสร้างตัวถังและคอมโพสิต ที่สามารถเชื่อมต่อกันด้วยทางลาดโค้งที่มีฝักตั้งอยู่รอบขอบที่มีความแข็งแรงและปลอดภัยสูง พื้นที่หลักที่มีรูปทรงเป็นวงกลมได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์สำหรับนักวิทยาศาสตร์ โมดูลที่อยู่โดยรอบได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานของห้องปฏิบัติการ พื้นที่อยู่อาศัยและนันทนาการ โดยมีช่องเปิดเพื่อรับแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านผิวทะเลให้มากที่สุด แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นเพียงแค่การสร้างสภาพแวดล้อมทางวิทยาศาสตร์ใต้น้ำที่ล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงปัจจัยในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะดังกล่าวที่มีพื้นที่ทางสังคม มีความสะดวกสบาย และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดย Fabien Cousteau นักอนุรักษ์มหาสมุทรฝรั่งเศสได้กล่าวว่า Proteus จะมีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์เทียบเท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติเลยทีเดียว
โครงการต่างๆที่นำมาพูดคุยกันในวันนี้ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ได้ตระหนักและมีความสนใจถึงสภาพแวดล้อมใต้ทะเลมากขึ้น มีกลุ่มสถาปนิกบิ๊กเนม หรือองค์กรความร่วมมือระดับประเทศจำนวนมากที่พยายามจะนำเสนอ concept การสร้างเมืองในมหาสมุทร ซึ่งนี่อาจจะเป็นก้าวที่สำคัญที่ส่งผลต่อแนวคิดการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ลงไปตั้งอาณานิคมใต้ท้องมหาสมุทร เพื่อเป็นการหลีกหนีจากโรคระบาดหรือนิเวศวิทยาบนบกที่เลวร้ายลงในอนาคตก็เป็นได้
Picture & Reference
– https://issuu.com/riddhimadeka/docs/final_draft
– https://www.dezeen.com/2022/06/17/underwater-architecture-submerged-hotel-museum-restaurant/
– https://www.dezeen.com/2021/12/01/charlotte-taylor-nft-oma-underwater-sculpture-park-miami/
– https://www.dezeen.com/2020/11/19/oma-designs-underwater-sculpture-park-the-reefline-for-miami-beach/
– https://medium.com/swlh/7-reasons-we-should-colonize-oceans-instead-of-mars-7d137e0c55b2
– https://www.dezeen.com/2020/07/22/proteus-underwater-architecture-yves-behar/
– https://www.bbc.com/future/article/20130930-can-we-build-underwater-cities
– https://medium.com/swlh/a-sneak-peek-at-ocean-colonies-9e8d4b897f5
– https://www.thereefline.org/masterplan
– https://www.nextbigfuture.com/2016/09/china-is-planning-massive-sea-lab.html
– https://www.wikiwand.com/en/Aquarius_Reef_Base
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!