ARTRA Interior
Matchmaker ผู้สร้างความสุขอย่างมีสุนทรียะ

ชื่อของ ARTRA Interior เติบโตขึ้นในวงการอินทีเรียในฐานะสตูดิโอออกแบบภายใน กับงานสไตล์ Timeless Modern Luxury ที่ให้บริการออกแบบมากมายสำหรับลูกค้าบ้านหรู เพนท์เฮาส์ และคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่มากกว่า 200 โปรเจกต์ในเวลา 4 ปี ในแบบ Luxury Interior Service ที่สร้างความพิเศษจากประสบการณ์ความหรูหรารอบด้านทั้งรูป รส กลิ่น เสียง

“ศิลปะไม่ว่ามองจากมิติไหน มันก็คือศิลปะ” คุณปัณ – ปัณณธร เนตรรัตน์​ CEO วัย 25 ปี แห่ง ARTRA Interior เล่าถึงที่มาของชื่อให้เราฟัง “เราเลือกคำว่า ART เพราะเราต้องการทำเกี่ยวกับงานศิลปะ คำนี้เราทำยังไงกับมันได้บ้าง เราเลยมานั่งเรียงตัวอักษร แล้วพบว่าสามารถเรียงต่อ สลับ และกลับกันได้ เลยเป็นที่มาของ ARTRA ที่ตัวอักษรสะท้อนกลับสองด้าน จะมองจากด้านไหนก็ได้”

เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นสตูดิโอออกแบบภายในที่น่าจับตามองในวงการ คุณปัณเริ่มต้นธุรกิจนี้ในปี 2018 ด้วยวัยเพียง 21 ปี พร้อมดีกรีบัณฑิตหมาด ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารั้วมหาวิทยาลัย จุดนี้เองที่ทำให้เขามองเห็นจุดอ่อน (Pain Point) ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบลูป ซึ่งโซลูชันนี้เองนำมาซึ่งกระบวนการจัดการทำงานที่สร้างทั้งประสิทธิภาพและความสุขให้กับทั้งลูกค้าและคนทำงาน

คุณปัณ - ปัณณธร เนตรรัตน์​ CEO วัย 25 ปี แห่ง ARTRA Interior

ดึงหลักการทำงานแบบวิศวะ มาสู่การสร้างสุนทรียะในแบบอินทีเรีย

“ช่วงสี่ห้าปีก่อน วงการอสังหาริมทรัพย์บูมขึ้นจากพวกคอนโดปล่อยเช่าสำหรับลงทุน ผมก็ช่วยพ่อแม่ดูตรงนั้นอยู่” คุณปัณเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการริเริ่มธุรกิจสตูดิโออินทีเรียให้เราฟัง 

“โจทย์อยู่ตรงที่ว่า ผมช่วยจัดแจงให้เสร็จสรรพ ตั้งแต่หาห้อง หาคน และตกแต่งภายใน พอมาอยู่ในช่วงของการตกแต่งภายใน จะพบกับประเด็นปัญหามากมายสำหรับผู้ใช้งานจริงแบบที่ผมเจอ ปลายทางที่เราต้องการคืองานอินทีเรียที่สวย และทำจบได้จริง สิ่งที่คิดในตอนนั้นก็คือ ต้องจ้างดีไซเนอร์ แล้วไปจ้างผู้รับเหมา แต่ช่วงเวลาหลังจากนั้นมีปัญหาที่ต้องตามแก้เต็มไปหมดเลย”

จากมุมมองของผู้ใช้จริง (End User) ในตอนนั้น เหมือนกับการต้องงมเข็มในมหาสมุทรโดยรู้เพียงปลายทางว่าต้องการห้องที่สวยงามอย่างที่อยากได้ แต่ระหว่างทางต้องพบกับปัญหาในจุดเล็กน้อยและต้องตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องงบประมาณที่อาจไม่สัมพันธ์กันระหว่างนักออกแบบกับผู้รับเหมา ดีเทลของแบบหน้างานจริง ซึ่งจากการวิเคราะห์ทั้งหมดคุณปัณพบว่า ปัญหาอยู่ที่กระบวนการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันระหว่างแต่ละส่วนงาน 

“พอเราเริ่มเห็นจุดอ่อน จากการที่ทำคอนโดมิเนียมมาหลายยูนิตเพื่อปล่อยเช่า เราเห็นปัญหาแบบเดิมหมดเลย เราเลยเริ่มได้โจทย์และเริ่มหาไอเดียว่า นี่ดูเป็นโอกาสที่ดี ถ้าเราสามารถแก้จุดอ่อนตรงนี้ได้ เพื่อตอบโจทย์ให้กับใครอีกหลายคนที่ต้องการงานอินทีเรียที่ดี แล้วไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไป หรือไม่ได้รู้ว่ามันต้องเริ่มจากจุดไหนด้วย มันทำให้ผมเริ่มต้นตั้งแต่วันนั้น”

กระบวนการคิดและหลักการทำงานในแบบวิศวกรถูกนำมาใช้เป็นโซลูชันในการแก้ปัญหา ตั้งแต่การจัดการโครงสร้างองค์กรหลังบ้าน ไปจนถึงหลักคิดที่มองปลายทางเพื่อสร้างความสุขให้กับผู้มีส่วนร่วมในงานทุกคน

“เพราะว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ คือเราทำเพื่อแก้ปัญหา โดยการจัดระบบกระบวนการทำงาน (Working Process) ใหม่หมด โจทย์หลักของเราคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เราหาดีไซเนอร์ที่ดี มาทำงานที่ดี แล้วหาคนมาจบงานก่อสร้าง และส่งมอบงานที่มันตรงโจทย์กับลูกค้าได้ ซึ่งโจทย์ของลูกค้าคือ ดีไซน์ งบประมาณ วิธีการทำงาน และการแก้จุดอ่อนบางอย่าง เพื่อให้งานเสร็จสิ้นอย่างที่ใจต้องการ”

“ตรงนี้ทำให้เราต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทำงานใหม่ โดยวิธีหลักการที่ถูกต้องในการทำงานที่ซับซ้อนโดยดูกรณีตัวอย่างจากดีเวลอปเปอร์หรือโรงแรมห้าดาว วิธีการทำงานตามขั้นตอน ไม่ได้เริ่มต้นจากการจ้างดีไซเนอร์หรือผู้รับเหมา แต่คือการจ้างผู้จัดการโครงการ (Project Manager) หรือผู้พัฒนาโครงการ (Project Developer) ก่อน เพื่อทำการประเมินราคา ความเป็นไปได้ งบประมาณ แล้วค่อยไปหานักออกแบบ หลังจากได้ดีไซน์มา ค่อยมีทีมวางแผนงบประมาณการก่อสร้าง (Quantity Surveyor) ในการประเมินทุกอย่าง เพื่อให้ทราบว่า ดีไซน์เหล่านี้ไม่มีปัญหา และน่าจะทำได้จริง แล้วค่อยให้ผู้รับเหมาประมูลเข้ามาทำ” 

“ซึ่งบางทีลูกค้าผู้ใช้งานจริงไม่ได้รู้เลยว่า ขั้นตอนหลังบ้านจะต้องทำอย่างไรบ้าง เจ้าของบ้านอาจจะรู้แค่ว่าต้องจ้างนักออกแบบแล้วทำงาน หรืองานทำบ้านต้องหาผู้รับเหมาที่ทำงานเนี้ยบ ไม่ใช่คนทำงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เกิดจากกระบวนการทำงานที่ไม่ถูกต้อง มันเลยเป็นโจทย์ที่ว่า เราอยากแก้จุดอ่อนด้วยโซลูชันการทำงานที่ถูกต้องแทน”

แต่สำหรับการทำบ้านหนึ่งหลัง ขั้นตอนเหล่านี้ดูจะซับซ้อน หรือเกินความจำเป็น นี่จึงนำมาซึ่งภาพการวางแผนและให้บริการโซลูชันเหล่านี้ เป็นหนึ่งขั้นตอนการทำงานออกแบบของ ARTRA Interior ด้วย

“จากภาพข้างบนที่เราเห็นว่า ถ้ามี PD สามารถทำเรื่องงบประมาณได้แล้ว อธิบายให้ลูกค้าแล้วไปกันต่อได้ ก็ส่งต่องานไปให้ดีไซเนอร์ จัดการเรื่องงานออกแบบและวัสดุทั้งหมด จากนั้นก็ไปสู่การหาผู้รับเหมาภายนอก เพราะเราอยากบอกลูกค้าว่า เราสามารถกำกับโครงการได้ ออกแบบได้ และคุมงานก่อสร้างพร้อมตรวจงานได้ หลังบ้านตรงนี้ก็จะทำงานร่วมกันทั้งหมด นี่คือกระบวนการหลังบ้าน ที่ทำให้เห็นงานหน้าบ้านที่ดีได้”

สมการสี่ตัวแปร ความสุขครบลูปสำหรับทุกคน

คุณปัณเปรียบเทียบการทำงานทั้งหมดเหมือนกับสมการ อย่างที่เขาคุ้นเคยมาตลอดการเรียนวิศวกรรม โดยเริ่มต้นมองที่การเซ็ตอัพบริษัทก่อน “ทำไมถึงสามารถทำงานอินทีเรียที่ดีได้ ต้องเริ่มจากโจทย์ที่ว่าเราเซ็ตอัพบริษัทมาอย่างไร” เช่นเดียวกันกับครั้งนี้ที่เป็นการเซ็ตอัพสตูดิโอออกแบบเพื่อ Luxury Interior Service ในระดับลักชัวรี่ที่ตอบโจทย์และพิเศษที่สุดสำหรับลูกค้าของอาร์ทรา

“สิ่งที่ผมต้องทำในสเต็ปที่หนึ่งคือ ผมต้องสร้างองค์กรที่ดีก่อน เพื่อให้คนดี คนเก่ง เข้ามาทำงานกับเรา ผมเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ในการทำธุรกิจนี้เพื่อให้ได้งานที่ดี เพราะสิ่งที่เราทำ เรากำลังแก้ปัญหาให้กับทุกคน หรือเรากำลังสร้างความสุขให้กับทุกคนอยู่”

ตั้งต้นสมการหนึ่งตัวแปร คือการแก้ปัญหาให้ลูกค้าหนึ่งคน หรือการแก้ปัญหาให้ลูกค้ามีความสุข แต่ความต้องการจริงมีตัวแปรมากกว่านั้น “สมมติเราอยากแก้สมการที่ยากขึ้น สองตัวแปร คือพอเราทำงานเริ่มระดับหนึ่ง เราก็ต้องหาคนมาช่วยทำงาน เราดีไซน์ความสุขอย่างไรให้กับคนมาทำงานกับเรา คือถ้าเราดีไซน์ความสุขให้กับเขาได้ เราก็ได้ลงทุน เขาลงแรง และเราก็ได้ผลงานกับลูกค้า”

สู่ตัวแปรที่สามคือความมั่นคงของบริษัท “ผมต้องเท้าความก่อนว่าที่นี่ พอเราทำได้ประมาณปีหนึ่ง พอโมเดลมันเริ่มสำเร็จ ก็เริ่มมีนักลงทุนที่เป็นลูกค้าเก่าเข้ามาร่วมลงทุนด้วย สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือ จะดีไซน์ความสุขให้กับนักลงทุนได้อย่างไร แล้วพอเราเป็นธุรกิจที่มั่นคงแล้ว ทำยังไงให้มันยั่งยืนได้ด้วย เราต้องมีตัวแปรที่สี่ คือสังคม ทำอย่างไรให้สังคมมีความสุข อันนี้มันก็เป็นโจทย์แต่แรกด้วยเหมือนกัน”

สังคมเป็นอีกหัวเรื่องที่คุณให้ความสนใจมาโดยตลอด “เหตุผลที่ผมมาทำสายงานอินทีเรีย เพราะธุรกิจนี้ช่วยสังคมได้ค่อนข้างเยอะ เพราะธุรกิจกลุ่มอินทีเรียระดับ Luxury เป็นธุรกิจที่นำเงินจากคนรายได้สูงหรือคนตัวใหญ่มากระจายสู่คนทุกระดับชั้น ตั้งแต่คนทำงานระดับบน ระดับกลาง ถึงคนตัวเล็กๆ ได้อย่างดีมาก เป็นธุรกิจที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างแบบง่าย การได้เงินจากคน 1 คน สามารถกระจายให้คนเป็นร้อย ๆ ได้อย่างเป็นระบบพอธุรกิจแบบนี้มันตอบโจทย์ ผมก็มองว่ามันน่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้”

งานที่ทีมงานของ ARTRA Interior ทำจึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลความสุขให้กับทั้งลูกค้า นักลงทุน และคนทำงาน คุณปัณบอกว่า นี่แหละคือหัวใจหลักของที่นี่ และหัวใจหลักของ Luxury Interior Service ที่ตอบการให้บริการออกแบบสไตล์ลักชัวรี่แบบครบวงจร ทั้งความสวยงามที่ตามองเห็น และฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริง

“พอเราเห็นภาพแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือ เราสร้างโซลูชันอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า และเราจะหาคนมาทำงานอย่างไร ซึ่งอันนี้คือโจทย์หลัก เพราะผมมองว่าตัวธุรกิจอย่างเรา เป็นธุรกิจการจัดการและบริการ ค่าเฉลี่ยของบริษัทขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยของพนักงาน เพราะฉะนั้นที่นี่เราให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับต้น ๆ เราจึงต้องมีโครงสร้างของการจัดการคนที่ดี เพื่อดึงให้คนเก่งคนดีอยากมาทำงานกับเรา และได้ทำงานที่นี้อย่างมีความสุข”

“ทำอย่างไรให้ได้ผลงานที่ดี ก็เริ่มมาจากการสร้างระบบนิเวศในองค์กรที่ดี เพื่อดึงดูดคนที่ใช่เข้ามาทำงานกับเรา สิ่งเดียวที่ผมดีไซน์เป็นเรื่ององค์กร ทำยังไงให้ดีไซน์องค์กรออกมาได้ดี แล้วทุกอย่างจะวิ่งมาเอง”

สถานการณ์โควิด องค์กรที่มั่นคง และบทเรียนที่ทำให้เติบโต

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นเหมือนกับจุดพลิกผันสำหรับหลายธุรกิจ และเป็นความยากของ ARTRA Interior เช่นเดียวกัน แต่คุณปัณก็สามารถนำพาองค์กรและพนักงานทุกคนผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ 

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา จริง ๆ ค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่เราทำได้ เราบริหารงานโดยที่ตัวพนักงานไม่ได้รับผลกระทบเลย สวัสดิการก็ไม่ลด เป็นพวกตรวจสุขภาพเพิ่มเติม และยังมีการปรับฐานเงินเดือนและจ่ายโบนัสได้ด้วย ซึ่งเราจัดการได้แบบนี้มันไม่ได้เพราะโชคช่วย เพราะสิ่งที่เรามีนอกจากการจัดการคนที่เป็นระบบ สำคัญมากคือเราต้องมีวินัยทางการเงินของบริษัท”

การวางโครงสร้างการจัดการเรื่องเงิน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นี่ให้ความสำคัญมาตั้งแต่แรกเช่นเดียวกับการวางโครงสร้างองค์กร “การจัดการโครงการมันหมายถึงการบริหารความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น ซึ่งมันพิสูจน์มาแล้วจากโควิด ลูกค้าที่เคยคุยอาจจะหยุดไว้ก่อน หรือลูกค้าใหม่ก็เท่ากับศูนย์เลย เพราะการทำบ้านลักชัวรี่ไม่ใช่บ้านหลังแรก จึงไม่ใช่ความต้องการอันดับแรกเสมอไป อาจจะเป็นบ้านตากอากาศ ลูกค้าอาจจะต้องรอสถานการณ์ก่อนตัดสินใจเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นเราก็เตรียมรับแรงกระแทกไว้”

สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาล้วนเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่สำหรับ CEO วัย 25 คนนี้ แต่เพราะมีเพื่อนร่วมงานในองค์กรที่พร้อมใช้ประสบการณ์และองค์ความรู้เดินทางไปร่วมกัน และสิ่งจำเป็นสำคัญสำหรับเขาคือ ทักษะการสื่อสาร

“สามปีที่แล้ว เรามีพนักงาน 40 คน ผมเป็นพนักงานที่อายุน้อยที่สุดในบริษัท พึ่งมีปีนี้เองที่เรารับเด็กจบใหม่มา ตอนนี้เลยมีน้องเด็กกว่าผมสองคนในองค์กร”​ คุณปัณเล่า “องค์กรนี้มีอายุหลากหลายตั้งแต่ 25 ถึง 55 ปี วิธีคุยงานเราจึงต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดีมาก เพื่อทำให้เราสามารถประนีประนอมกับผู้ใหญ่ที่มีความรู้และประสบการณ์ในสายงานมายาวนาน โจทย์ยากใหญ่คือทำอย่างไรถึงอยากให้ทุกคนสื่อสารกับเรา”

“เราทำงานกับคน ไม่ใช่ว่าทำงานแล้วจบ เราต้องมองตามภาพความเป็นจริงว่าทำอย่างไรให้มันแมทช์กันได้ ยิ่งผ่านโควิดยิ่งทำให้ทบทวนสิ่งเหล่านี้มากขึ้นในอีกหลาย ๆ ครั้ง ว่าคนที่ทำงานกับเราจะเติบโตในสายงานต่ออย่างไร ดีไซเนอร์ต้องการอะไร ไม่ใช่แค่งานที่ตอบสนองชีวิต แต่จะโตไปเป็นอะไรต่อ สวัสดิการชีวิตจะดีไหม เรามองชีวิตของคนทำงานในภาพกว้างแบบนี้ด้วย”

นอกจากการสื่อสารภายในองค์กรแล้ว การทำความเข้าใจกับลูกค้าก็เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานอินทีเรียที่เป็นงานบริการและออกแบบความสุขให้กับการใช้ชีวิต “สำหรับตลาดลักชัวรี่ เวลาเป็นเรื่องเฉพาะมาก เขาอาจจะอยากอยู่บ้านหลังนี้ในช่วงนี้ แต่อีกห้าปีก็อาจะจมีบ้านหลังใหม่แล้ว”

“เราพยายามตอบสนองลูกค้าให้เข้าใจตัวงานให้ได้ง่ายที่สุด ซึ่งสิ่งที่ลูกค้าในระดับไฮเอนด์มองคือ อยากสร้างบ้านที่เป็น Timeless Modern Luxury หรือกึ่งคลาสสิกหน่อย สิ่งที่เราทำจึงเป็นเรื่องการพยายามพัฒนางานออกแบบให้สุนทรียะในความงามและลักชัวรี่ในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าความเข้าใจเดิม ทั้งเรื่องดีเทล รายละเอียดเล็กน้อย และสไตล์ที่กลมกล่อมเข้ากันดีในแบบโมเดิร์นลักชัวรี่”

“หนึ่งบทเรียนที่ผมเรียนรู้เลย ถ้าชีวิตเลือกได้ ก็อยากเลือกเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในเวลาที่เหมาะสมมากกว่า” คุณปัณสรุปจากประสบการณ์ทำงาน 5 ปีที่ผ่านมา ที่คนอาจจะมองว่าเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย 

“การประสบความสำเร็จเร็วหรือชีวิตเติบโตเร็ว บางครั้งมันแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง ชีวิตเหมือนเรือสำเภาวิ่งกลางทะเล บางทีมันไม่ได้ขึ้นกับแค่เรา บางทีมันก็ขึ้นกับทิศทางลม เวลาของแต่ละคนมันมาไม่พร้อมกัน ถ้าเวลาของใครมันมาถูกจังหวะ กางใบเรือพร้อม ลมพัด ทุกอย่างราบรื่น บางคนใบเรือไม่ทันได้ พายุก็เข้ามาแล้ว ต้องกางในวันที่อาจจะไม่ได้พร้อมมาก แต่ถ้าไม่กางก็ไม่รู้ว่าวันไหนจะมีโอกาส ก็เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ต่อไป”

“นิยามของ ARTRA Interior ในภาพที่อยากให้เป็น คือเป็นองค์กรที่สามารถสร้างความสุข บาลานซ์ความสุขให้กับทุกคน อันนี้คือโจทย์หลักครับ” 

Writer
Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม