เบื้องหลังกำแพงสีเบจทึบที่ดูเหมือนซ่อนสถาปัตยกรรมบางอย่างไว้ภายใน และปกคลุมไปด้วยต้นไม้เล็กใหญ่โดยรอบ ความน่าค้นหาที่ว่าชักชวนเราให้เข้ามาสู่ ‘Leilo Coffee Space’ ที่อ่านเป็นคำไทยน่ารักๆ ว่า เลโล คาเฟ่สีเอิร์ธโทนสุดเรียบง่ายในจังหวัดระยอง ซึ่งเดิมทีมีชื่อว่า Happy Cup ก่อนจะถูกรีโนเวทร้านโดยฝีมือการออกแบบของ SA-ARD architecture & construction พร้อมทั้งรีแบรนด์ใหม่ให้กลายเป็นคาเฟ่ที่จริงจังกับเรื่องกาแฟมากขึ้น และเป็นห้องนั่งเล่นที่เปิดโอกาส ให้เหล่าคอฟฟี่เลิฟเวอร์มาแลกเปลี่ยนมุมมองกันในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง
หลังจากเจ้าของร้านได้เปิดคาเฟ่มานานหลายปี ก็ถึงคราวตัดสินใจรีแบรนดิ้งใหม่ทั้งหมด Leilo Coffee Space จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับความตั้งใจสองอย่าง หนึ่งคือปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำกาแฟให้มีรายละเอียดลงลึกมากกว่าเดิม โดยมี Cozy Factory โรงคั่วที่เชี่ยวชาญด้านกาแฟโดยเฉพาะมาร่วมคอลแลบ เพื่อพัฒนารสชาติให้โดดเด่นในแบบของเลโลเอง
และอีกความตั้งใจคือ การเปลี่ยนสไตล์ตกแต่งคาเฟ่ให้มีความ Minimalism มากขึ้น และสร้างพื้นที่ที่เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นสำหรับคนรักกาแฟได้มานั่งเอนจอยกันในบรรยากาศสบาย ๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้ครีเอทเมนูต่าง ๆ ให้กับเจ้าของร้าน นอกเหนือเวลาเปิดทำการได้ด้วย
เรียบตั้งแต่เริ่ม เพิ่มเติมรายละเอียด
“หลังจากเจ้าของร้านส่งภาพเรฟเฟอเรนซ์ที่ชอบมาให้ ซึ่งเป็นภาพคาเฟ่สไตล์มินิมอล เราคิดว่าน่าจะเติมอะไรที่พิเศษขึ้น ให้ดูไม่น่าเบื่อแต่ก็ไม่ Fast Fashion จนเกินไป และให้อยู่กับเขาได้นาน ๆ คือคิดให้มันเรียบตั้งแต่เริ่ม แล้วเพิ่มความน่าสนใจลงไป” คุณศิธานนท์ ชะเอม สถาปนิกผู้ออกแบบเริ่มเล่าเรื่องราวการออกแบบให้เราฟัง
นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการออกแบบให้เรียบง่ายที่สุด โดยใช้โครงสร้างและรูปทรงสี่เหลี่ยมของอาคารเดิม แต่เพิ่มมิติให้อาคารราวกับว่าลอยขึ้นมาจากพื้น ด้วยการออกแบบฐานยื่นออกไปในระนาบเดียวกับบันไดทางเข้า รวมไปถึงสร้างความพิเศษให้กับพื้นผิวผนังของอาคารในหลายๆ รูปแบบทั้งภายในและภายนอก เพื่อสร้างมิติให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในทางกลับกันก็ส่งเสริมให้อาคารไม่เรียบจนเกินไป
คาราเมลเป็นเหตุ สังเกตลูกฟูกได้
สีของอาคารที่เปลี่ยนไปเป็นสีเบจ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มู้ดแอนด์โทนร้านมีความอบอุ่นชัดเจนขึ้น สถาปนิกเลือกโทนสีที่มีความใกล้เคียงกับสีของคาราเมล ซึ่งเจ้าของเองก็ชื่นชอบ และยังนำลักษณะความไหลเยิ้มของคาราเมล แปลงสู่เส้นสายลายลูกฟูกบนผนังภายนอก รวมไปถึงผนังมุมโค้งที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างตัวร้านกับอาคารข้าง ๆ ซึ่งเป็นห้องเก็บวัตถุดิบและทำเบเกอรี ช่วยเพิ่มความลื่นไหลให้กับการใช้งาน และเป็นแบล็คกราวที่เพิ่มลูกเล่นให้กับลุคใหม่ของคาเฟ่ไปในตัว
เคาน์เตอร์บาร์มุมมองใหม่ เป็นสัดส่วน และสะดวกใช้งาน
เมื่อเข้ามาภายในร้าน สิ่งแรกที่ละสายตาไปไม่ได้เลยคือ บาร์ที่มีความยาวถึง 5 เมตรกว่า ๆ แถมยังวางอยู่ในแนวทแยงอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในคาเฟ่ การเปลี่ยนทิศทางเคาน์เตอร์บาร์จากเดิมในลักษณะนี้ นอกจากจะสร้างมุมมองใหม่และทำให้พื้นที่ดูโอ่โถงขึ้นทันตา เมื่อเทียบกับขนาดของร้านที่มีความกะทัดรัดเพียง 7 x 6 เมตร ก็ยังช่วยให้โฟลว์การทำงานของพนักงานทั้งสามคนเป็นสัดส่วนและสะดวกสบายด้วย
พื้นที่ของบาร์แบ่งออกเป็นสามส่วน หนึ่งคือสโลว์บาร์ ที่เปิดโอกาสให้คนที่อินเรื่องกาแฟมานั่งหน้าเคาน์เตอร์พูดคุยกับบาริสต้าได้อย่างใกล้ชิด ถัดมาเป็นสปีดบาร์ และส่วนสุดท้ายริมซ้ายสุดเป็นส่วนรับออเดอร์และจัดเสิร์ฟเมนูเบเกอรี
เส้นโค้งละมุนตา กับดีเทลละมุนใจ
การจัดพื้นที่นั่งภายในร้าน สถาปนิกมิลเลอร์เส้นสายของเคาน์เตอร์บาร์กลับมาให้กลายเป็นไอซ์แลนด์รูปสามเหลี่ยม วางอยู่กลางร้านในความสูงที่เท่ากันและใช้วัสดุเดียวกัน ส่วนโต๊ะเก้าอี้อื่น ๆ ถูกลดทอนความสูงลงมา เพื่อให้ร้านดูโปร่งขึ้น และเน้นดีไซน์ที่มีความโค้งมน สอดคล้องไปกับดีเทลส่วนอื่น ๆ แทบทั้งร้าน ไม่ว่าจะเป็นกระจกมุมโค้ง ฝ้าเพดานมุมโค้ง หรือแม้แต่ตัวของเคาน์เตอร์บาร์เองที่ถูกลบเหลี่ยมมุมลง เพื่อสร้างความละมุนตาให้กับพื้นที่ภายใน
ความต้องการให้เส้นสายที่โค้งมนมีความสมูทและลื่นไหลมากที่สุด ผนังภายในร้านจึงถูกออกแบบให้เป็นผนังสองชั้น เพื่อปกปิดงานระบบต่าง ๆ ไม่ให้สายไฟมารบกวนความเรียบง่าย อีกทั้งยังมีดีเทลน่ารัก ๆ ที่เห็นแล้วละมุนใจอย่างผนังหลังเคาน์เตอร์บาร์ ที่ออกแบบช่องสี่เหลี่ยมไว้สำหรับติดตั้งลำโพงโดยเฉพาะด้วย
ส่วนเก้าอี้สตูลสีเขียวตุ่น เป็นสีสันเดียวภายในร้านที่ถูกเติมแต่งเข้ามา นอกเหนือจากโทนสีคาราเมลและโทนอบอุ่นของวัสดุไม้จากท็อปเคาน์เตอร์บาร์และไอซ์แลนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับสีเขียวของธรรมชาติที่รายล้อมอยู่ภายนอก
ล้อมรอบความสงบสุขด้วยธรรมชาติ
ด้วยความที่อยากให้บรรยากาศภายนอกสงบขึ้น จึงสร้างกำแพงทึบล้อมรอบพื้นที่ทั้งหมดไว้ เว้นช่องว่างบางส่วนสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อให้ไม่ให้รู้สึกทึบจนเกินไปและคนภายนอกสามารถมองเข้ามาได้บางมุม โดยใช้วัสดุสมาร์ทบอร์ดแผ่นเต็มเว้นระยะหนึ่งเซ็นแล้วปิดคิ้วแทนที่การฉาบ สร้างความรู้สึกเบาลอย ไม่อึดอัด และเป็นเทคนิคที่ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า แถมย่นระยะเวลาก่อสร้างได้ดี
ที่นั่งเล่นภายนอกถูกออกแบบให้สอดแทรกตามส่วนต่างๆ ของสวน ที่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายขนาด สร้างร่มเงาและความร่มรื่นให้กับการนั่งจิบกาแฟชิลล์ๆ ยามเย็น พื้นโรยด้วยกรวด ขอบปูนปลูกต้นไม้มีมุมโค้งเป็นส่วนประกอบไม่ต่างจากภายใน และวางโต๊ะเก้าอี้แบบลอยตัวที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมในสวนที่เตรียมไว้ในอนาคต
“ถ้าดูเผิน ๆ ก็จะคิดว่าเป็นคาเฟ่ที่เรียบง่ายธรรมดา ๆ แต่หากลองสังเกตดูดี ๆ ก็จะเห็นดีเทลการออกแบบบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่ายเหล่านั้น” สถาปนิกเล่าปิดท้ายถึงมุมมองการออกแบบที่ถ่ายทอดความต้องการของเจ้าของออกมาอย่างเรียบง่ายที่สุด โดยซุกซ่อนลูกเล่นอย่างพื้นผิวและการสร้างเส้นสายที่โค้งละมุนเอาไว้ จนเกิดเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาใช้เวลาดื่มด่ำกาแฟ ไปพร้อมกับบรรยากาศที่สงบเงียบ โอบล้อมไปด้วยสีเขียวจากธรรมชาติ
Location: Rayong, Thailand
Owner: Woraphon B.
Architect: Sithanon Cha-aim
Design & Contractor: SA-ARD architecture & construction
Photographer: Usssajaeree Studio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!