ถ้าท่านผู้อ่านเคยชมภาพยนตร์เรื่อง มู่หลาน (ค.ศ.2020) ของดิสนีย์ ในช่วงต้นของเรื่องนั้น จะได้เห็นบ้านของมู่หลานตอนเด็ก ซึ่งเป็นอาคารรูปทรงแปลกตา อาคารดินเหล่านี้มีชื่อว่า ฝูเจี้ยนถู่โหลว หรือ ตึกดินแห่งเมืองฝูเจี้ยน ในประเทศจีนตอนใต้มีอาคารถู่โหลวอยู่กว่า 3,700 หลังแทรกตัวอยู่ตามแนวเขา โดยมี 46 หลังที่ได้รับรางวัลมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี 2008 พร้อมทั้งถูกจารึกว่า เป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมชิ้นเอก ที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรม และประโยชน์ใช้สอยเข้าด้วยกัน โดยเป็นทั้งพื้นที่ชุมชนและป้อมปราการ นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยรอบอย่างลึกซึ้ง นับเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของที่อยู่อาศัยของมนุษย์อีกด้วย
ตึกดินในภาพยนตร์ มู่หลาน (ค.ศ. 2020) ได้ถูกวิพากย์วิจารณ์ในเรื่องความเหมาะสมหลายประเด็น หนึ่งในนั้นมาจากการนำฝูเจี้ยนถู่โหลว ซึ่งเป็นอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ทางตอนใต้ของจีน มาเป็นบ้านของมู่หลาน ที่สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องราวที่มีจุดกำเนิดทางตอนเหนือ ในช่วงที่ประเทศจีนมีการแบ่งเป็นจีนเหนือและจีนใต้อย่างชัดเจน ดังนั้นการมีอาคารรูปแบบถู่โหลวในเรื่องนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
ต้นกำเนิดของตึกดินย้อนไปกว่า 700 ปี สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279) โดยมาจากกลุ่มชาวจีนฮากกา หรือที่ถูกเรียกว่าจีนแคะ (แปลว่าแขก หรืออาคันตุกะ) ซึ่งเป็นชาวจีนฮั่นกลุ่มหนึ่ง ที่เคยอาศัยอยู่เขตจงหยวนทางตอนกลางของจีน โดยอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มณฑลฝูเจี้ยนในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่หลายแห่งของจีนตอนใต้นั้นมีเจ้าของอยู่แล้ว จีนแคะเหล่านี้จำต้องตั้งรกรากในบริเวณที่ยังไม่เคยมีคนเข้าไปบุกเบิก หรือต้องแย่งชิงมาจากชาวจีนพื้นถิ่นเดิม ทำให้อาคารดินนอกจากเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ต้องตอบรับปัจจัยเรื่องการป้องกันตัวเองจากโจรและสัตว์ป่าด้วย คำว่า ฝูเจี้ยนถู่โหลว มาจาก ชื่อมณฑลฝูเจี้ยน (福建) ถู่ (土:ดิน ) และ โหลว (楼:อาคารหรือตึก) รวมแล้วจึงเป็น ตึกดินแห่งมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีชื่ออื่นเช่น ถูเป่า (ป้อมดิน: 土堡) หรือ โหลวไจ้ (หมู่บ้านตึก:楼寨)
ลักษณะของฝูเจี้ยนถู่โหลว
ตึกดินฝูเจี้ยนไม่ได้มีแค่แบบผังวงกลม (Yuanlou, Circular Mansion) อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีแบบที่ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตัวตึกสูงเสมอเท่ากันทั้งสี่ด้าน (Fang Lou, Square Mansion) ผังสี่เหลี่ยมแบบที่ตัวอาคารลดหลั่นลงมาคล้ายเก้าอี้ (Wufeng Lou, 5-Phoenix Mansion) วงรี (Weilong Lou, Dragon Den Mansion) และผังหกเหลี่ยม เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านเถียนหลัวเคิง (ข้าวสี่จานซุปหนึ่งถ้วย, : 田螺坑土楼群) ที่เมืองนานจิง มณฑลเจียงซู ซึ่งประกอบไปด้วย ตึกดินผังวงกลมสามหลังและผังวงรีหนึ่งหลังแทนข้าวสี่จาน ล้อมรอบตึกผังสี่เหลี่ยมตรงกลางแทนซุปหนึ่งถ้วย นอกจากนี้ยังมีลักษณะคล้ายดอกเหมยฮัวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของจีน และสะท้อนวัฏจักรธาตุ ทอง ไม้ น้ำ ดิน ไฟ อีกด้วย โดยตึกดินทั้งหมดกว่า 3,700 หลังนั้นมีแบบที่ผังสี่เหลี่ยมกว่า 2,000 หลัง และแบบผังวงกลมกว่า 1,000 หลัง
จุดเด่นร่วมกันของอาคารดินคือมีลักษณะคล้ายกับป้อมปราการ ตึกดินจุได้กว่า 800 คน ซึ่งเป็นคนในตระกูลหรือแซ่เดียวกันอยู่ด้วยกันหลายครอบครัว สามารถเรียกได้ว่าอยู่กันเป็นหมู่บ้านก็ได้ ทำให้ตึกดินถูกเรียกว่า เมืองเล็กๆที่คึกคัก (A bustling small city) หรือ อาณาจักรขนาดย่อมของครอบครัว (A little kingdom for the family) ตึกดินทั่วไปมีความสูงประมาณ 3-6 ชั้น สร้างด้วยวัสดุที่หาได้ทั่วไป ได้แก่ ดิน หิน อิฐ และไม้ ดินเหนียวที่ใช้ได้มาจากไร่นาโดยรอบนั่นเอง ใช้โครงสร้างเสาคาน กำแพงสร้างโดยใช้เทคนิคดินบดอัดด้วยแรงคน ฐานของกำแพงเป็นหินก่อก้อนใหญ่อุดช่องด้วยหินก้อนเล็กๆ ระเบียงและห้องภายในส่วนใหญ่เป็นไม้หรือไม่ไผ่ และชายคายื่นออกมานอกกำแพงมุงด้วยกระเบื้อง
ภายในตึกดินมีการแบ่งฟังก์ชันการใช้งานชัดเจน ชั้นล่างไม่มีหน้าต่างเพื่อความปลอดภัย โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นห้องเก็บของ ยุ้งฉาง หรือห้องครัว ชั้นบนไว้อยู่อาศัยและเป็นห้องนอน ตึกดินขนาดใหญ่มักมีอาคารชั้นเดียวล้อมอยู่ภายในอีกหนึ่งหรือสองวงเพื่อใช้เป็นห้องครัวหรือห้องเรียน มักจะมีบ่อน้ำหรือศาลเจ้าตั้งอยู่ตรงกลางตามหลักฮวงจุ้ย เนื่องจากการใช้วัสดุธรรมชาติอย่างกำแพงดินที่มีความหนา และการออกแบบผังอาคารที่เปิดช่องว่างตรงกลางให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี ทำให้ในฤดูร้อนอากาศจะไม่อบอ้าว และฤดูหนาวจะอบอุ่น ทุกห้องเปิดเข้าสู่คอร์ทยาร์ดภายในอาคาร ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะพบปะสังสรรค์ของคนในอาคาร
ภายในอาคารตึกดินนั้นมีการตกแต่งอย่างประณีตสวยงามต่างจากภายนอก มีลวดลายแกะสลักและภาพวาด หนึ่งยูนิตในตึกดินนั้นจะต่างกับอพาร์ทเมนต์ที่เจ้าของจะได้เพียงหนึ่งห้อง แต่คล้ายกับตึกแถวเรียงต่อกันเป็นวงกลมมากกว่า กล่าวคือเป็นเจ้าของคูหาในแนวตั้งจากชั้นบนสุดลงมาชั้นล่างสุด ในตึกดินขนาดใหญ่ ครอบครัวจะได้ลานหน้าบ้านหรือโถงทางเข้าหน้าบ้านเป็นของตัวเองด้วย สำหรับตึกดินขนาดใหญ่ที่มีวงล้อมภายใน ที่ว่างระหว่างตึกชั้นเดียวกับตึกสูงวงนอกมักนับเป็นลานส่วนตัวของครอบครัวนั้นๆเช่นกัน บันไดและระเบียงทางสัญจรหลักจะใช้ร่วมกัน ซึ่งในมุมมองผู้อยู่อาศัยปัจจุบันอาจจะดูไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้วช่วยประหยัดพื้นที่ไปได้มากทีเดียว
ผู้อยู่อาศัยสามารถดำรงชีวิตอยู่ตึกดินได้เป็นปีๆโดยไม่ต้องพึ่งพาโลกภายนอก เนื่องจากมีทั้งยุ้งฉางและบ่อน้ำ ผนังดินชั้นนอกมีความหนามากกว่าหนึ่งเมตร สามารถป้องกันกระสุนปืนใหญ่และลมพายุได้ และทนทานต่อแผ่นดินไหวด้วย ผนังชั้นบนจะหนาเท่าผนังปกติเพื่อให้สามารถแนบตัวไปกับกำแพงและยิงธนูตอบโต้ผู้บุกรุก ประตูทางเข้ามีแค่หนึ่งถึงสามประตู โดยทำจากไม้ท่อนใหญ่ ประตูทางเข้าตึกดินบางแห่งกรุผิวด้วยโลหะเพื่อกันไฟ สันฐานวงกลมยังช่วยเรื่องทัศนวิสัยไร้มุมอับ และทางระบายน้ำยังสามารถใช้เป็นทางลับหนีออกนอกอาคารได้อีกด้วย
ฝูเจี้ยนถู่โหลวในบริบทสมัยใหม่
Rethinking the Collective โดย Rural Urban Framework, The University of Hong Kong ณ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ค.ศ. 2019
ในปัจจุบัน ตึกดินไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในแง่การอยู่อาศัยได้ ทำให้ตึกดินหลายแห่งถูกแปรสภาพการใช้งานภายในให้กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน ตลาด หรือถูกทิ้งร้างไปเสีย สถาปนิกจาก Rural Urban Framework มอบลมหายใจให้กับอาคารดั้งเดิมแห่งนี้โดย เปลี่ยนจากพื้นที่อยู่อาศัยร่วม (Collective Living) เป็นพื้นที่ประสบร่วม (Collective Experience) ในหลายวิธีไม่ว่าจะเป็น Plug-in ซึ่งพลิกสเปซจากภายในสู่ภายนอก ด้วยการต่อเติมพื้นที่การใช้งานในลักษณะบานออกจากหน้าต่างเล็กๆของอาคาร หรือ Tower ซึ่งนำเสนอฟังก์ชันการใช้งานใหม่ๆอยู่กลางคอร์ทยาร์ด
Tulou Housing Guangzhou โดย Urbanus ณ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ค.ศ. 2008
สถาปนิกประเทศจีน Urbanus นำเสนอตึกดินสมัยใหม่ ผ่านโครงการอาคารบ้านพักอาศัยร่วมสำหรับผู้มีรายได้น้อย สถาปนิกทำการการศึกษาตึกดินอย่างละเอียดในแง่ของขนาด สเปซ และฟังก์ชัน ก่อนที่จะนำมาผสมผสานกับบริบทสมัยใหม่อย่างลงตัว อพาร์ทเมนต์แห่งนี้ประกอบไปด้วย 220 ห้องล้อมรอบพื้นที่สาธารณะตรงกลาง โครงการนี้เปิดการเปิดมุมมองใหม่ๆในการนำแนวคิดของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมาใช้ให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบัน
Tietgen Dormitory โดย Lundgaard & Tranberg Architects ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ค.ศ. 2005
หอพักสำหรับนักศึกษาที่มีงบจำกัดแห่งนี้เกิดขึ้นจากการรระดมทุนโดยมูลนิธิ นอร์เดีย เดนมาร์ก ฟันด์ (Nordea Denmark Fund) จุดประสงค์เพื่อการสร้างหอพักนักศึกษาแห่งอนาคต สันฐานอาคารรูปวงกลมที่เรียบง่ายแสดงถึงความเท่าเทียมและการอยู่ร่วมกัน ตัดกับการจัดวางกลุ่มก้อนอาคาร (Massing) ให้ยื่นเข้าออกไม่เท่ากันแสดงถึงความเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล ผังอาคารแบ่งออกเป็นห้าส่วนโดยบันได (ทางสัญจรหลักแนวตั้ง) ตรงจุดนี้ที่ชั้นหนึ่งยังเป็นทางเข้าจากภายนอกสู่ลานกว้างกลางอาคารด้วย ห้องพักที่เรียงต่อกันเปิดสู่ทิวทัศน์เมืองที่อยู่ล้อมรอบ ในขณะที่พื้นที่สาธารณะและทางเดินมองเข้ามาสู่ลานกว้างกลางอาคาร เป็นการตอบโจทย์การใช้งานอาคารประเภทหอพักซึ่งเน้นการพบปะและอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายได้อย่างลงตัว
ฝูเจี้ยนถู่โหลว (福建土楼) หรือแปลตรงตัวว่าตึกดินเมืองฝูเจี้ยน เป็นแหล่งมรดกโลกท่ามกลางภูเขาในมณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เคยถูกทางสหรัฐสงสัยว่าเป็นฐานยิงขีปนาวุธเมื่อสมัยสงครามเย็น สุดท้ายข้อสงสัยนี้กลับกลายเป็นเรื่องโจ๊ก ซึ่งช่วยให้ตึกดินฝูเจี้ยนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ฝูเจี้ยนถูโหลวเป็นมากกว่าเพียงอาคารเพื่ออยู่อาศัย แต่ยังเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนอีกด้วย
References
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!