Ladprao 80 House
บ้านธรรมดาที่ตั้งใจเป็นพิเศษ เรียบง่ายและกะทัดรัดบนพื้นที่หนึ่งส่วนสอง

‘บ้านที่ตอบโจทย์การเริ่มต้นชีวิตครอบครัว’ คือใจความสำคัญที่ทำให้คุณเปา-พงศ์วสุ ศุขสุเมฆ เจ้าของบ้าน ไว้ใจให้เพื่อนวัยประถมอย่างคุณสการ จัยวัฒน์ สถาปนิกจาก Skarn Chaiyawat Architects มารับหน้าที่ออกแบบบ้านหลังแรกของเขาและภรรยาให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัย ภายใต้ความกะทัดรัดที่มีรูปแบบเรียบง่าย เป็นสัดส่วน ปกปิดมุมมองจากภายนอกอย่างมิดชิด และเปิดรับแสงธรรมชาติโดยที่ยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้อย่างสมบูรณ์

บนผืนที่ดินเปล่าย่านลาดพร้าวซอย 80 ที่มาพร้อมข้อจำกัดของพื้นที่คือ ด้านหลังติดกับโรงงาน และบริบทรอบๆ ไม่ค่อยน่ามองนัก รวมถึงงบประมาณในการก่อสร้างถูกจำกัด เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300 กว่าตารางเมตรแล้ว นับว่าเป็นความท้าทายสำหรับการออกแบบในครั้งนี้ไม่น้อย

บ้านสองชั้น ฟังก์ชันพอดีบนพื้นที่หนึ่งส่วนสอง

สถาปนิกเริ่มต้นมองถึงความเป็นไปได้และตัดสินใจวางผังบ้านบนที่ดินเพียงหนึ่งส่วนสอง หรือครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด ออกแบบให้เป็นบ้านสองชั้นขนาด 150 ตารางเมตร ที่ภายในบรรจุฟังก์ชันให้พอดีกับความต้องการในปัจจุบัน ส่วนพื้นที่ด้านหลังถูกเว้นว่างไว้สำหรับต่อเติม เมื่อต้องการขยับขยายสเกลครอบครัวในอนาคต

สอดคล้องไลฟ์สไตล์ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน

ฟังก์ชันภายในบ้านถูกประมวลผลมาจากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านว่าใช้ชีวิตอย่างไร โดยพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ นั่นคือฝั่งทิศตะวันออกเป็นห้องนั่งเล่นที่สูงและโปร่ง ส่วนฝั่งทิศตะวันตกเป็นห้องครัว ห้องทำงาน ห้องน้ำ และบันไดเชื่อมต่อไปยังชั้นสองที่มีเพียงหนึ่งห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ ซึ่งฟังก์ชันทั้งหมดถูกจัดเรียงอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นความกะทัดรัด ใช้สอยคุ้มค่า และสอดคล้องกับชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ

แปลนชั้น 1 ของบ้าน Ladprao 80
แปลนชั้น 2 ของบ้าน Ladprao 80

เนื่องจากทั้งคู่เป็นคนง่าย ๆ และมีกิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่คือ การลงมารับประทานอาหารเช้าอย่างเร่งรีบแล้วขับรถออกไปทำงาน เพราะฉะนั้นห้องครัวจึงเป็นฟังก์ชันแรกเมื่อก้าวเข้าสู่ตัวบ้าน ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายในการเข้าถึง เมื่อกลับมาจากช้อปปิ้งข้าวของเครื่องใช้หรืออาหารมา ก็สามารถเข้าถึงครัวเพื่อจัดเก็บได้เลย โดยไม่ต้องเดินผ่านห้องนั่งเล่น เรียกว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งห้องครัวยังมีส่วนเชื่อมต่อไปยังลานซักล้างที่ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ ผ่านประตูบานสไลด์ที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ โดยมีกำแพงทึบสร้างความเป็นส่วนตัวอยู่ ในส่วนนี้จึงไม่จำเป็นต้องติดม่านเพื่อบังสายตาเลย

ธรรมดาที่ตั้งใจเป็นพิเศษ

“ในงบประมาณที่จำกัด เราควรจะออกแบบอะไรที่เรามั่นใจในเรื่องของการก่อสร้างระดับหนึ่ง และเป็นพื้นฐานที่ช่างทุกคนสามารถทำได้ คือเรียบง่าย ธรรมดา แต่ในความธรรมดานั้นผ่านกระบวนการคิดอย่างตั้งใจในทุกๆ จุด เช่นการเปิดช่องแสงตำแหน่งไหนให้เหมาะกับชีวิตของเจ้าของบ้าน อยู่แล้วสบายกาย สบายใจ” สถาปนิกกล่าว

แนวคิดที่ว่านำมาสู่หัวใจสำคัญของการออกแบบบ้าน ที่สังเกตได้ถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่สีขาวขนาดกะทัดรัดที่โปร่งโล่ง เรียบง่าย โดยไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมาย แต่พิเศษด้วยการให้ช่องเปิดภายในบ้านได้ทำหน้าที่นำพาแสงและลมธรรมชาติเข้ามา ในขณะที่มีความเป็นส่วนตัวอยู่ เช่น พื้นที่นั่งเล่นและโซนรับประทานอาหารที่ถูกรวมไว้ในสเปซเดียวกัน เป็นโถงสูงแบบ Double Space ที่มีความโปร่ง มีช่องเปิดออกสู่สวนกรวดด้านหน้าและสนามหญ้าด้านหลัง โดยมีรั้วภายนอกสร้างความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่

นอกจากนี้ สีของกรอบอะลูมิเนียมภายในบ้านยังใช้เฉดสีเทาอ่อนให้กลมกลืนไปกับบ้านที่เป็นสีขาว รวมไปถึงเส้นสายที่มีความตรงไปตรงมาในทุกจุด ซ่อนสายไฟ ซ่อนรางผ้าม่าน ลดทอนเส้นสายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นลง เพื่อให้บ้านดูเรียบง่ายมากที่สุด

ไม้เก่านำมาเล่าใหม่

วัสดุพื้นในห้องนั่งเล่นและห้องทำงานทำจากไม้เก่าที่เจ้าของมีอยู่แล้ว เป็นไม้แท้ที่มีความหลากหลายทั้งสีและขนาด ถูกนำมาเล่าใหม่ด้วยการย้อมสีในโทนที่เข้มขึ้นเพื่อให้ดูกลมกลืนกัน แม้ดีเทลอาจจะไม่เนี๊ยบ แต่ก็เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านยอมรับได้ ในทางเดียวกันก็ทำให้บ้านมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง และประหยัดค่าวัสดุด้วย

ปิดทึบรอบด้าน เปิดมุมมองสู่ท้องฟ้า

เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ไม่ได้สวยงามนัก บวกกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านค่อนข้างรักความเป็นส่วนตัว จึงทำให้สถาปนิกเลือกที่จะปิดรูปด้านทั้งสามด้วยผนังสีขาวทึบ และเปิดมุมมองสู่ท้องฟ้าแทน โดยออกแบบสกายไลท์บริเวณบันไดกลางบ้าน เพื่อให้แสงส่องผ่านเข้ามา และท้องฟ้าเป็นเสมือนวิวดีๆ ที่เห็นได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็สร้างคอร์ดโปร่งที่ไร้หลังคาอยู่ระหว่างห้องนอนและห้องน้ำในชั้นสอง เพื่อเชื่อมต่อแสงและธรรมชาติ ทำให้ระบายอากาศได้ดี ในขณะที่เป็นส่วนตัวได้อย่างเต็มที่

สวนชั่วคราว บนพื้นที่บ้านในอนาคต

ที่ดินครึ่งหลังที่ถูกเว้นว่างไว้สำหรับแพลนการต่อเติมบ้านในอนาคต ปัจจุบันก็ทำเป็นสวนแบบเรียบง่ายชั่วคราว พื้นที่ติดกับห้องนั่งเล่นถูกออกแบบให้เป็นสนามหญ้า เพื่อช่วยสร้างความร่มรื่น และสบายตาในขณะที่มองออกมาจากห้องนั่งเล่น ส่วนพื้นที่อีกฝั่งเชื่อมต่อกับโรงจอดรถเป็นสวนกรวด ที่ดูแลง่ายและสามารถเป็นที่จอดรถชั่วคราวสำหรับแขกที่มาเยือนไปในตัว

“ความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านเดี๋ยวมันก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมาเอง จากเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของต่างๆ ที่เติมแต่งเข้าไป เราไม่ต้องไปพยายามใส่อะไรให้เขามากมาย เราแค่พยายามจัดพื้นที่ให้เขาได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยสร้างสัดส่วน และจัดจังหวะของที่ว่างและโครงสร้างของบ้านอย่างตั้งใจ ให้อยู่แล้วสบายตา มีแสง มีลม มีสวน และเป็นส่วนตัว สุดท้ายก็จะกลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์ เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตครอบครัวในแบบที่เป็นเขาเองในที่สุด” สถาปนิกกล่าวปิดท้ายบทสรุปของบ้านหลังนี้

Location: Bangkok, Thailand
Area: 150sq.m.
Architect: Skarn Chaiyawat Architects
Design Team: Skarn Chaiyawat, Puvanart Svavasu
Photographer: DOF Skyground

Writer
Janjitra Horwongsakul

Janjitra Horwongsakul

สถาปนิก ผู้หลงใหลในการเดินทางและสเปซคลีนๆบนภาพฟิล์ม อดีต'นักคิดคำถาม'ของปริศนาฟ้าแลบ ที่ผันตัวเองมาเป็น'นักเล่าความรู้(สึก)'ผ่านตัวหนังสือ