ถ้าคุณเป็นนักออกแบบ หรือนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรม เราเชื่อว่าอย่างน้อยคุณต้องเคยผ่านประสบการณ์การทำโมเดลมาก่อน! บางคนอาจมองว่าเป็นงานที่น่าเบื่อ เพราะกว่าจะก่อร่างสร้างแบบจำลองสามมิติชิ้นหนึ่งขึ้นมา ต้องใช้ความอดทนและความละเอียดละออ พ่วงมาด้วยใต้ตาดำกับอาการปวดหลังเป็นของแถม แต่สำหรับลิลลี่ -รสลิน อรุณวัฒนามงคล, นีออน – ภัทริดา สถาปัตยานนท์ และมิวนิค – จุฑาทิพย์ เข็มทอง 3 พาร์ทเนอร์จากรั้วสถาปัตย์ ศิลปากรกลับมองว่านี่คือหนึ่งในขั้นตอนที่สนุกที่สุด
ก่อนจะตัดสินใจผันตัวมาเป็นนักทำโมเดลสถาปัตยกรรมเต็มตัว เจ้าของเพจชื่อ ‘adoorstudio’ ที่ก่อตั้งขึ้นเพียง 4 ปี แต่มีลูกค้าหลากหลายตั้งแต่กลุ่มดีไซน์เนอร์ สถาปนิกชื่อดัง หรือกลุ่มเจ้าของบ้าน เจ้าของอาคารที่อยากสะสมแบบจำลองเก็บไว้ตั้งโชว์
เปิดหนทางสู่อาชีพใหม่
จากนักศึกษาสถาปัตย์ สู่ Model-Maker
ความเหมือนของพาร์ทเนอร์ทั้งสาม คือ ตั้งแต่เด็ก ทุกคนต่างมีความชอบในเรื่องบ้านจำลอง บ้านตุ๊กตา ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เราเคยเห็นในรายการดังจากญี่ปุ่นอย่างทีวีแชมป์เปี้ยน จนมาถึงตอนเรียนทั้งสามคนก็เป็นเพื่อนสนิทที่เรียนและทำโปรเจกต์มาด้วยกัน จนเริ่มมาจับสังเกตได้ว่า ต่างคนต่างเอนจอยขั้นตอนการตัดโมเดลแบบจำลองมาก ๆ
“เวลาออกแบบบ้าน หรือโปรเจกต์อื่น ๆ พอได้เห็นมันออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่จับต้องได้จริง ๆ เราจะรู้สึกตื่นเต้น พวกเราชอบขั้นตอนนั้นและมองว่าทำมันได้ดี พอเรียนจบมีเวลาว่าง ๆ อยู่ เลยมาลองปรึกษากันว่า ความชอบเหล่านี้มันน่าจะทำอะไรได้สักอย่าง”
ตอนเริ่มสร้างเพจ adoorstudio คือปี 2019 ที่มีโควิดมาพอดี ความเสี่ยงแรกที่ต้องเจอ คือเรื่องของการคุมงบประมาณในหลาย ๆ บริษัท ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีงานเข้ามาไหม แต่ด้วยความที่ได้รับโอกาสจากเพื่อน ๆ หรือพี่ ๆ ในคณะ เริ่มบอกปากต่อปาก ก็ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการที่กว้างขึ้น จนทุกวันนี้ขอบเขตงานของ adoorstudio หลากหลาย โดยรับงานที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมทั้งหมด ไปจนถึงสิ่งก่อสร้าง โครงสร้าง แลนด์สเคป Surrounding หรืองานอินทีเรีย
การทำงานในแบบ Model-Maker
“พวกเรามองว่า นักออกแบบหรือนักตัดโมเดล มีความเหมือนกันมากกว่าความต่าง”
“ถ้าเป็นนักออกแบบหรือสถาปนิกอาจจะออกแบบจากความต้องการของลูกค้า ต้องมีเรื่องบริบท กฏหมาย เริ่มจาก 0 จนออกแบบได้มาเป็นผลงาน ซึ่งนักทำโมเดลเองก็ออกแบบเหมือนกัน แต่มันจะเป็นการออกแบบวิธีการพรีเซนท์ คือเราต้องคิดว่าจะตัดโมเดลออกมายังไงให้เขาสามารถสื่อสารงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด วัสดุในการตัดจะใช้อะไรที่ตอบสนองลูกค้า ซึ่งนักทำโมเดลอาจจะมีความกดดันน้อยกว่า เพราะนักออกแบบจะมีเรื่องการคำนึงถึงความเป็นจริง ผลกระทบจากการใช้งานพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง”
ก่อนจะดีไซน์ นักออกแบบต้องคุยเรื่องความต้องการกับทางลูกค้า นักตัดโมเดลเองก็ไม่ต่างกัน ทั้งสามเล่าว่า เริ่มแรกต้องเคลียร์ความต้องการกับทางลูกค้าให้แน่นอนเลยว่า เขาอยากได้โมเดลรูปแบบไหน สเกลเท่าไร หรือวัสดุที่อยากให้ใช้กับโมเดลจะเป็นอย่างไร มีไฟส่องสว่างไหม หรือต้องการให้โมเดลมีฟังก์ชันพิเศษ เช่น เปิดหลังคาเพื่อแสดงสเปซที่อยู่ภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อมู้ดของงานที่จะออกมา เพื่อให้ตอบสนองกับงานที่ลูกค้าอยากนำไปใช้ให้มากที่สุด
ความสนุกอยู่ตรงที่ บางทีลูกค้าที่เข้ามาก็เป็นสายอาชีพอื่น ไม่ใช่แค่สายอาชีพสถาปนิกเท่านั้น อย่างเจ้าของบ้านที่ต้องการเก็บโมเดลบ้านตัวเองไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางตรงกับสายงานออกแบบ ทั้งสามก็ต้องรับหน้าที่เข้าไปแนะนำจากมู้ดแอนด์โทนที่เขาต้องการ หรือดีไซน์โมเดลออกมาให้ตรงตามความต้องการมากที่สุด จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการนำไฟล์งาน ซึ่งส่วนมากจะใช้เป็นแบบก่อสร้าง ควบคู่ไปกับไฟล์เรนเดอร์ หรือไฟล์แบบจำลอง 3 มิติ (ถ้ามี) เพื่อนำมาศึกษาแบบ วางแผนให้ละเอียดว่าต้องเริ่มตัดจากอะไรก่อนหลัง เพื่อให้งานมีความเรียบร้อยเท่าที่จะเป็นไปได้
“เรารับงานตัดมือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเลเซอร์คัทมันเนี้ยบกว่าก็จริง แต่งานมือสำหรับพวกเรามันมีสเน่ห์มากกว่า ด้วยความสมูทไม่มีรอยไหม้จากเครื่องเลเซอร์ เราจะใช้เลเซอร์คัทแค่งานละเอียดเท่านั้น อย่างพวกงานทำเทกเจอร์ หรืองานที่มีความละเอียดมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีไฟล์ 3d หรืองานที่มันมีความซับซ้อนมาก ๆ เราก็ต้องเข้าใจงานให้ได้มากที่สุด พยายามเคลียร์แบบตั้งแต่แรก เพราะงาน 90% เป็นงานตัดมือทำให้แก้ไขค่อนข้างยาก”
“ชิ้นงานระดับกลาง ๆ ที่ไม่ได้มีรายละเอียดมากนัก ปกติเราจะใช้เวลาทำประมาณ 1-2 อาทิตย์ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ลูกค้าเลือก มีทั้งวัสดุเดียวล้วน หรืออย่างโมเดลที่ต้องทำสีต่าง ๆ เหมือนจริง ก็จะใช้เวลานานกว่า เพราะเราจะมีการไปคัดเลือกวัสดุ สีในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มันเข้ากัน”
ลายเซ็นของนักออกแบบสำคัญกว่า
นักออกแบบยังต้องมีการหาแรงบันดาลใจ มองหา Reference มาใช้ในการทำงาน เราเลยสงสัยว่าแล้วนักตัดโมเดลเองมีขั้นตอนเหล่านั้นเหมือนกันไหม? ก่อนจะได้คำตอบว่า
“มีค่ะ ปกติพวกเราจะชอบดูช่องยูทูปหนึ่งจากต่างประเทศ เขาเป็นสถาปนิกแต่ยังเน้นใช้โมเดลในการพรีเซนท์ ซึ่งเราว่าต่างประเทศเขาจะมีตัวเลือกในการทำโมเดลมากกว่าประเทศเรา เขาจะมีความพลิกแพลงเยอะกว่า เราก็จะจับบางอย่างมาดัดแปลงกับของที่มี เช่น เขาเอาตัวอย่างกระเบื้องมาทำเป็นฐานโมเดล หรือเอาพรมขนสั้นสีน้ำตาลมาทำเป็นหญ้า”
“แต่จริง ๆ ปกตินักออกแบบรายใหญ่ ๆ ก็จะมีลายเซ็นในงานของตัวเองประมาณหนึ่ง แต่ด้วยความที่งานของเรามันต้องพยายามพรีเซนท์ลายเซ็นของนักออกแบบคนนั้น ๆ เข้าไปมากกว่า ถึงเราจะพยายามใส่ลายเซ็นในผลงาน ผ่านการเลือกใช้วัสดุที่มาตัดโมเดล แต่ก็ไม่ได้เข้มข้นมาก เพราะเราอยากให้งานของเขามันโดดเด่น และสำคัญที่สุด”
ในโลกเทคโนโลยีที่มีเทคนิคการพรีเซนท์สุดล้ำ
โมเดลตัดมือจะอยู่ได้ไหม?
“ถ้าในอนาคต เทคโนโลยีการพรีเซนท์มันทำได้ล้ำขึ้นเรื่อย ๆ เราว่าคนอาจจะหันมาให้ความสำคัญกับโมเดลน้อยลง แต่ในอีกทางหนึ่ง เราว่ามันอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประหยัดงบประมาณมากกว่า ตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นได้มากกว่า หรือแม้แต่ในด้านของคุณค่าทางจิตใจเอง พวกเรามองว่าบางครั้งโมเดลมันเป็นมากกว่าการพรีเซนเทชัน เป็นกึ่งงานคราฟ์ที่จัดแสดงได้จริง ๆ”
ทั้งสามยังเล่าเสริมด้วยว่า ในอนาคตแพลนที่อยากทำ คือ อยากทำบ้านจำลองเป็นห้องเล็ก ๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชอบสะสมของชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรืองานฝีมือ เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่นักออกแบบ อยากสะสมแบบบ้านจำลองแต่ไม่รู้จะหาแบบจากไหน ถ้าไม่ติดเรื่องเวลา และจำนวนงานที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คาดว่าเราอาจจะได้เห็นโมเดลบ้านเหล่านี้ในอนาคตอย่างแน่นอน
“โมเดลมันเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนได้ง่ายกว่า สามารถสัมผัส จับต้องได้ง่ายกว่า เพราะรูป 3d หรืออะไรที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ บางมีมันก็ดูจับต้องยากเหมือนกันนะ แต่พอมีโมเดลประกอบ ลูกค้าเขาจะได้เห็นสเปซจริง เห็นภาพเข้าใจตรงกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะใช้นำเสนองานแล้ว บางทีก็เป็นของที่ระลึกให้กับลูกค้าไปด้วยเลย หรือไปตั้งโชว์ไว้ที่ออฟฟิศเป็นพอร์ทได้อีก หรือบางครั้งสถาปนิกเขาจะเอาไปไว้ที่ไซต์งาน เพื่อให้ช่างหรือผู้รับเหมาดูแบบได้ หรือแม้แต่การใช้พรีเซนให้ผู้รับเหมาหรือช่างดูได้ เอาไปไว้ที่ไซต์งานเลย สะดวกกว่าเปิดคอมเช็คแบบตลอดเวลา
ความท้าทายของการเป็น Model Maker
“ปัญหาส่วนมากจะเป็นเรื่องแบบ เพราะขั้นตอนการทำพรีเซนเทชันมันมักจะมาเป็นขั้นตอนหลัง ๆ เท่ากับว่าทางดีไซน์เนอร์ต้องออกแบบมาลงตัวมาก ๆ ประมาณหนึ่งแล้ว บางทีแบบที่เราได้รับมาในชุดเดียวกัน อาจจะมีไม่ตรงกันในบางตำแหน่ง เช่นตำแหน่งเสาในผังพื้นหรือผังรูปด้านไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ในแปลนและในแบบ 3d ไม่เหมือนกัน เราต้องคอยรีเช็คตรงนี้ หรือจะมีกรณีที่เจ้าของงานไม่ใช่นักออกแบบ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจและสรุปงานออกมาให้ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
อีกกรณี คืองานเร่งมากจากต้นทาง คือออกแบบยังไม่เสร็จ 100% อันนี้จะยากในจุดที่เราต้องคอยบริหารเวลา หรือวางแผนการทำงานที่ดีมากกว่าปกติ ต้องคอยประสานกับผู้ออกแบบตลอดเวลา ต้องคอยอัพเดทแบบตลอดเวลาตามแพลนที่เรากำหนดไว้ ถ้ามีการแก้แบบขึ้นมา ก็ต้องมาดูว่าแก้ยังไงที่จะเสียหายกับตัวโมเดลน้อยที่สุด”
เพราะกว่าจะออกมาเป็นโมเดลหนึ่งหลัง ไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดี เพราะต้องใช้ทั้งความประณีต ความละเอียด ความอดทน และความเข้าใจในแบบ อาชีพนี้จึงถือเป็นเรื่องเฉพาะทางและเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบโดยที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป
“หลายคนบอกว่า นักทำโมเดลไม่ได้ออกแบบอะไรเลย เหมือนเป็นแรงงานมากกว่า บางคนเสียดาย ถามเราว่าจบสถาปัตย์ทำไมมาทำโมเดล แต่เรารู้สึกว่าการที่เราจบคณะนี้มา มันเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า เราเข้าใจนักออกแบบ เราสามารถคาดเดาได้ว่าเขาต้องการอะไร ทำให้เราสามารถทำงานที่ลูกค้าต้องการออกมาให้ดียิ่งขึ้น
เรามองว่าอาชีพนี้ต้องไปพร้อมกันกับนักออกแบบ เพราะเราเป็นคนช่วยสนับสนุน ทำให้งานของเขามันสมบูรณ์มากขึ้น เราอาจจะเรียกว่านักออกแบบเป็นลูกค้าเรา แต่ปลายทางจริง ๆ คนที่ได้รับงาน คือเจ้าของบ้านหรือเจ้าของอาคาร ซึ่งสุดท้าย มันก็คือการที่เราพยายามส่งงานที่ดีที่สุดให้ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน”
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!