ในปัจจุบัน การพัฒนาเมืองในส่วนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีอาคารสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความเสื่อมโทรม และฟังก์ชันการใช้งานค่อนข้างจะล้าสมัย มักจะเกี่ยวข้องกับความต้องการปรับปรุง (renovation) การเปลี่ยนหน้าตาอาคาร รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน ให้รองรับกับวิทยาการและเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ ในปัจจุบัน โดยบางครั้งจะเป็นการสร้างอาคารใหม่ หรือการสร้างส่วนต่อขยายที่มีความคอนทราสลงบนบริบทของอาคารเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีความแปลกตาน่าสนใจ
ซึ่งวันนี้จะมาขอพูดคุยเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงอาคารที่มีความขัดแย้งของบริบททางสถาปัตยกรรมระหว่างอาคารเก่าและองค์ประกอบสมัยใหม่ที่ล้ำสมัย จนเกิดความแปลกตา โดดเด่นและมีความน่าสนใจมาพูดคุยกัน
การปรับปรุงอาคารสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยการเพิ่มเติมประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีความขัดแย้ง เป็นอีกวิธีที่สถาปนิกบิ๊กเนมจำนวนมากได้ใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์หรืออาคารเก่า อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยสถาปนิก I.M.PEI หรือ The Dancing House เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก โดย Frank Gehry จะใช้การออกแบบโปรไฟล์ทางสถาปัตยกรรมที่มีความล้ำสมัย รวมถึงการเลือกใช้วัสดุประกอบอาคารที่มีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงแทรกแซงลงบนบริบทของอาคารเก่า โดยเทคนิคดังกล่าวต้องอาศัยทฤษฎี และองค์ความรู้ที่จะวิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่รวมถึงการจัดโปรแกรมมิ่งของประสบการณ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน โดยจะมีสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ความเข้าใจในการรวมวัตถุใหม่เข้ากับสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์, เทคนิคและวิธีการติดตั้ง, และการทำให้เอฟเฟกต์ความคอนทราสทางสถาปัตยกรรมแลดูมีความเด่นชัด น่าสนใจ
เงื่อนไขที่สำคัญในการปรับปรุงอาคารในลักษณะนี้ คือการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีการผสานองค์ประกอบสมัยใหม่ที่มีความขัดแย้งเข้าไป แต่ยังต้องคำนึงถึงการรักษาบริบทดั้งเดิมเอาไว้ ทุกขั้นตอนในการปรับปรุงจะต้องมีการวิเคราะห์โดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น การรักษาการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่, สัดส่วนของอาคารเดิมและองค์ประกอบใหม่, แสงและเงา, วัสดุในการตกแต่ง, รวมถึงความคล้ายคลึงในการขัดแย้งของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่จะก่อให้เกิดสุนทรียะ
Museum of Military History โดย Daniel Libeskind
การปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหาร สไตล์นีโอคลาสสิค ที่ถูกสร้างขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เมือง Dresden ประเทศเยอรมนี โดย Daniel Libeskind สถาปนิกหัวก้าวหน้าชาวโปแลนด์-อเมริกัน ที่ใช้ฟอร์มอันโดดเด่นในรูปแบบของแท่งปริซึมสามเหลี่ยมที่มีความลาดเอียง พุ่งออกมาจากอาคารเดิมที่แลดูมีความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับบริบทงานสถาปัตยกรรมโดยรอบ โดยโครงการปรับปรุงอาคารดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบ Deconstructivism ที่โดดเด่นที่สุดโครงการหนึ่งในปัจจุบัน
ในปี 2001 Studio Libeskind ชนะการประกวดแบบระดับนานาชาติโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงอาคารแห่งนี้ใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้อาคารดังกล่าวเคยถูกใช้งานมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่เคยเป็นคลังอาวุธทางการทหารของกองทัพนาซี หรือพิพิธภัณฑ์ของฝ่ายโซเวียต และได้ถูกทำลายเสียหายในช่วงสงคราม โดย Libeskind เป็นชาวยิวที่เกิดในโปแลนด์ มีประสบการณ์จากความรุนแรงในช่วงสงครามโลก เขาจึงต้องการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความสูญเสีย ความเจ็บปวด และการก่อกำเนิดขึ้นใหม่จากเถ้าถ่านของสงคราม ในรูปแบบของผลงานสถาปัตยกรรม โดยเขาได้ทำการปรับปรุงส่วนของอาคารที่ได้รับความเสียหายในรูปแบบของการต่อเติมโคงสร้างที่มีความขัดแย้งพุ่งออกมาจากพื้นที่คลังอาวุธเดิมที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1870 ซึ่งโครงการดังกล่าวหลังจากแล้วเสร็จในปี 2011 ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอยโดยรวมเป็น 13,000 ตารางเมตร และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมัน
โครงสร้างที่ทำการต่อเติม เป็นอาคารปริซึมสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ในลักษณะลิ่มคอนกรีตและเหล็ก รวมถึงโลหะเปลือย หุ้มด้วยกระจก 5 ชั้นที่ทำมุมแหลมจากด้านหลังไปด้านหน้าอาคารในแนวทแยงซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขัดแย้งเสียบทะลุแนวความสูงหลังคาเดิมของอาคาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แทนค่าถึงการเกิดใหม่ ตัดวัสดุจำพวกหินและปูนปลาสเตอร์ของอาคารดั้งเดิม ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางอันสมมาตร และมากด้วยรายละเอียดของสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคโดยรอบ
Libeskind เชื่อว่า การปรับปรุงของเขาเป็นการรักษาแผลให้กับอาคารดั้งเดิมที่ถูกทำลาย แม้กระทั่งในขอบเขตของพื้นที่ที่มาเจอกันระหว่างประวัตศาสตร์ดั้งเดิมของอาคารและนวัตกรรมสมัยใหม่ ในรูปแบบของฟอร์มเรขาคณิตแบบ Deconstructivism และต้องการสะท้อนผลของความรุนแรงจากสงคราม ซึ่งเขาสามารถทำได้อย่างประณีตและสื่อสารแนวคิดออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
Royal Ontario Museum โดย Daniel Libeskind
อีกหนึ่งโครงการของ Daniel Libeskind ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และเป็นความคอนทราสระหว่าง Deconstructivismกับอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็คือ Royal Ontario Museum เมือง Toronto ประเทศแคนนาดา โดยเป็นการปรับปรุงอาคารมรดกทางสถาปัตยกรรมแบบโกธิค และนีโอโรมาเนสก์ที่สวยงามและมีความเก่าแก่ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1912 โดยได้รับเงินทุนทางรัฐบาลและมหาวิทยาลัยโตรอนโต และได้ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2007 เมื่อ Libeskind ชนะการประกวดแบบเพื่อปรับปรุงอาคารดังกล่าวให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งใหม่ในแคนนาดา โดยแนวคิดเบื้องต้น สถาปนิกต้องการที่จะต่อเติมส่วนขยายด้วยบริบทสมัยใหม่ เพื่อที่จะทลายภาพจำของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่และทึบตันคล้ายกับป้อมปราการหรือปราสาท
ส่วนต่อขยายที่แทรกแซงลงในอาคารเดิมมีชื่อว่า Michael Lee-Chin Crystal เป็นการตั้งชื่อตามเศรษฐีชาวแคนาดาที่เป็นผู้บริจาคทุนทรัพย์ให้แก่โครงการศิลปะ โดยเป็นฟังก์ชันของพิพิธภัณฑ์ประมาณ 100,000 ตารางฟุต ที่มีพื้นที่ภายในสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ภายในมีฟังก์ชันการใช่งานของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่อย่างครบครัน ทั้งแกลอรี่จัดแสดงงาน โถงเอเทรียมขนาดใหญ่สูงสามชั่น คาเฟ่ ร้านอาหาร โดยฟอร์มของส่วนต่อขยายได้แนวคิดมาจากฟอร์มของผลึกควอซ์ในธรรมชาติที่มีมุมแหลม แตกกระจายออกมาจากอาคารเดิม โครงสร้างอาคารประกอบด้วยโครงข่ายเมมเบรนปริซึมในรูปแบบของคานเหล็กที่เชื่อมต่อกัน 5 ชุด ที่ยึดอยู่ร่วมกันอย่างซับซ้อน เฟรมเหล็กถูกปรับให้เข้ากับรูปร่างของอาคารเพื่อรองรับฟาซาดแผ่นอลูมิเรียมขัดเงาคุณภาพสูงและกระจกนิรภัย
ผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้โครงการดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมในการผสมผสานบริบททางสถาปัตยกรรมระหว่างความเก่าแบบสมัยโกธิค และความร่วมสมัยแบบเส้นสายเรขาคณิตที่ซับซ้อน มาอยู่ด้วยกันได้อย่างโดดเด่นน่าประทับใจ และมีความกล้าหาญในการนำองค์ประกอบของสองสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมาสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าชื่นชม
Antwerp Port House โดย Zaha Hadid
การปรับปรุงอาคารสถานีดับเพลิงเก่าที่เลิกใช้แล้วในท่าเรือของเมือง Antwerp ประเทศเบลเยียม โดย Zaha Hadid สถาปนิกรางวัล Pritzker prize ชาวอังกฤษ-อีรักผู้ล่วงลับ ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2009 ซึ่งได้เพิ่มส่วนต่อขยายอาคารด้วยโครงสร้างเหล็กและกระจกล้ำสมัย ตั้งอยู่บนอาคารสถานีดับเพลิงเดิมภายใต้ชื่อว่า Port House โดยจุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือการสร้างศูนย์ท่าเรือแห่งใหม่แทนที่ศูนย์ท่าเรือเดิมของเมืองที่มีขนาดเล็ก ซึ่งถูกใช้เป็นสำนักงานใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการบริหารที่มีพนักงานมากกว่า 500 คน ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจท่าเรือในอนาคต
อาคารสถานีดับเพลิงเก่าถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1922 ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกการใช้งานและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา การปรับปรุงจะต้องทำอย่างระมัดระวังและต้องพิจารณาการใช้อาคารนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการในอนาคตด้วย โดยแนวคิดของ Zaha Hadid มีความน่าทึ่งและมีความทะเยอทะยานอย่างมากในการเก็บรักษาโปรไฟล์สถาปัตยกรรมของอาคารเดิมไว้ และเพิ่มส่วนต่อขยายไว้เหนือหลังคาเป็นปริมาตรใหม่ที่ “ลอย” อยู่เหนืออาคารเก่า เพื่อไม่ให้ฟาซาดอาคารเดิมถูกบดบัง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นโครงการที่มีบริบททางสถาปัตยกรรมขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
โครงการนี้ มีพื้นที่โดยรวม 12,800 ตารางเมตร แบ่งเป็นอาคารส่วนล่างที่สถานีดับเพลิงปรับปรุงใหม่ 6,600 ตารางเมตร ที่ปรับปรุงส่วนลานกลางให้มีฟังก์ชั่นเป็นพื้นที่ต้อนรับหลักของโครงการ และห้องสมุดสาธารณะอันเก่าแก่ของเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยพื้นที่ทั้งหมดจะถูกหุ้มด้วยหลังคากระจก สามารถเข้าสู่ส่วนต่อขยายใหม่ด้านบนด้วยลิฟต์ที่อยู่ภายนอกอาคาร
อาคารต่อขยายใหม่ส่วนบน มีเนื้อที่ประมาณ 6,200 ตารางเมตร ถูกปกคลุมด้วยฟาซาดกระจกสามเหลี่ยมเรียงต่อกันให้เหมือนระลอกคลื่นน้ำ ปริมาตรดังกล่าวตั้งอยู่บนโครงสร้างคอนกรีตค้ำยันขนาดใหญ่ที่มีปลายขาด้านหนึ่งยื่นออกมาเหนือหลังคาของอาคารดับเพลิงเดิมด้านล่างที่ภายในถูกใช้เป็นลิฟต์และบันไดหนีไฟของโครงการ โดยฟังก์ชันการใช้งานของส่วนต่อขยาย จะเป็นพื้นที่สำนักงานแบบเปิดโล่ง หอประชุม ร้านอาหาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ การออกแบบทั้งหมดจะคำนึงถึงแนวคิดแบบยั่งยืน อย่างเช่น การเปิดรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวอาคารและลดการใช้พลังงานจากแสงประดิษฐ์ อุปกรณ์ห้องน้ำแบบไม่ใช้น้ำ รวมถึงระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อลดการใช้พลังงาน
หลักสำคัญในการปรับปรุงการออกแบบโครงการนี้ คือการศึกษาบริบทระหว่างอาคารเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กับส่วนต่อขยายที่มีความร่วมสมัย ที่มีความขัดแย้งกันให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีวิธีการที่ซับซ้อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก อย่างเช่น การกำหนดสัดส่วนของปริมาตรของของขนาดอาคารเบื้องล่างและส่วนต่อขยายด้านบน, การจัดวางองค์ประกอบของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มาจากคนละยุคสมัย, รูปด้านและวัสดุฟาซาดของอาคารที่มีโปรไฟล์ต่างกัน ทั้งหมดต้องได้รับการวางแผนออกแบบมาอย่างดี และ Zaha Hadid ทำออกมาได้อย่างน่าชื่นชม
New German Parliament, Reichstag โดย Foster + Partners
อาคารรัฐสภาของจักรวรรดิเยอรมัน Reichstag กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เดิมทีก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1894 แต่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี 1933 และถูกทำลายอีกครั้งในปี 1945 โดยกองทัพคอมมิวนิสต์ จากนั้นได้รับการฟื้นฟูอาคาร ซึ่งดำเนินไปอย่างช้าๆมาหลายทศวรรษตลอดช่วงยุคสงครามโลก และเมื่อพ้นวิกฤติการณ์เบอร์ลิน และเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปรกติ กลุ่มสถาปนิก Foster + Partners ชนะเลิศการประกวดแบบได้ถูกว่าจ้างให้เข้ามาปรับปรุงเมื่อปี 1995 เพื่อฟื้นฟูอาคารดังกล่าวให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
อาคารดังกล่าว มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance ที่โครงสร้างส่วนโดมกึ่งกลางอาคารได้รับความเสียหายยับเยินจากไฟสงครามในช่วงสงครามโลก ทาง Foster + Partners จึงได้ปรับปรุงให้มีหลังคาเหล็กและกระจกโดมครอบโครงสร้างเดิม ที่เปรียบเสมือนการแทรกแซงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ลงในอาคารเก่าที่มีประวัติศาสตร์ โดยยึดองค์ประกอบและปริมาตรจากสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เคยดำรงอยู่ในอดีต แต่ได้ใช้โปรไฟล์ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเหล็กที่หุ้มด้วยกระจกใส ที่เป็นความตั้งใจในการการเปิดโล่งรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวอาคารให้ได้มากที่สุด การออกแบบทางลาดที่เป็นเกลียวตามขอบด้านนอกของพื้นที่ ที่จะนำไปสู่จุดชมวิวสำหรับชมทัศนียภาพของเมืองเบอร์ลินโดยรอบ โดยที่ Foster ยังตั้งใจที่จะรักษาเศษซากของประวัติศาสตร์หลายชั้นในอาคารไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักหินที่ทหารโซเวียตที่เขียนด้วยอักษรซีริลลิกบนกำแพงหินเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายในพื้นที่โดมส่วนต่อเติมได้ถูกปรับปรุงฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับรัฐสภาในปัจจุบันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ห้องประชุมสำหรับพรรคการเมือง หรือสำนักงานในฝ่ายต่างๆ โดยที่สกายไลท์ที่ฐานของโดมก็เปิดออกสู่ห้องอภิปรายด้านล่าง ให้ภาพที่เชื่อมโยงถึงรัฐบาลในที่ทำงาน แผงกระจกทรงกรวยคว่ำที่อยู่ตรงกลาง เป็นการออกแบบ passive design ที่คำนึงถึงระบบ ventilation ในอาคาร ซึ่งจะมีช่องเปิดที่ทำให้อากาศร้อนไหลเวียนออกทางด้านบนของโดม รวมถึงเทคโนโลยีอาคารที่ล้ำสมัยต่างๆที่คำนึงถึงความยั่งยืนและการลดการใช้พลังงานของอาคาร อย่างเช่น Solar collector และ Solar shader ที่ช่วยปรับปริมาณแสงธรรมชาติให้เข้าสู่อาคารด้วยปริมาณที่เหมาะสมแบบ เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือระบบปรับแสงประดิษฐ์ในอาคารแบบอัตโนมัติ
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโครงการนี้ก็คือ ความคอนทราสระหว่างสถาปัตยกรรมแบบยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการสมัยศตวรรษที่ 19 ที่เป็นสัญลักษณ์จากการปกครองจักรวรรดินิยมและร่องรอยจากไฟสงคราม กับบริบทสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่คำนึงถึงความยั่งยืน และยังเปรียบเสมือนกับกับสัญลักษณ์แห่งความร่วมสมัยเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทั้งสองบริบทที่ดูจะขัดแย้งกัน แต่ Foster สามารถออกแบบและจัดวางให้ดำรงอยู่คู่กันได้อย่างลงตัว
Elbphilharmonie โดย Herzog & de Meuron
กลุ่มสถาปนิก Herzog & de Meuron จากสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำการปรับปรุงคลังสินค้าหลวงของเมือง Hambrug ประเทศเยอรมัน ที่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1875 และได้ถูกทำลายเสียหายอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นหอดุริยางค์ Elbphilharmonie (เอ็ลบ์ฟิลฮาร์โมนี) ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านเหนือริมแม่น้ำ Elbe ที่เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2007 ลงบนโครงสร้างเดิมของอาคารคลังสินค้าหลวงซึ่งเป็นโกดังเก่าซึ่งยังคงใช้งานอยู่จนถึงสิ้นศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งโครงสร้างของอาคารอาคารอิฐเบื้องล่างมีความแข็งแรงและใช้เป็นรากฐานได้ การปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2016 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงจัดแสดงคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดและล้ำหน้าที่สุดในโลกในปัจจุบัน
การออกแบบมุ่งเน้นบริเวณปริมาตรส่วนบนที่ผสมผสานระหว่างเส้นตั้งและเส้นสายโค้งมนบริเวณระนาบหลังคา ฟาซาดของอาคารเป็นกระจกบานโค้ง จำนวน 1,100 แผ่นที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงฝ้าเพดานโค้งทรงวงรีขนาดใหญ่ที่มีความฮาร์โมนิค ที่ทำให้เกิดเอฟเฟกต์แสงตกกระทบกับอาคารที่ระยิบระยับสวยงาม ที่แทรกตัวอยู่เหนือโครงสร้างกำแพงอิฐดั้งเดิมที่แลดูทึบตันและสงบนิ่งผ่านกาลเวลาของคลังสินค้าหลวงเบื้องล่าง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความรับรู้ถึงความคอนทราสในงานสถาปัตยกรรมระหว่างความเก่าและความใหม่ วัสดุ พื้นผิว เส้นสาย และฟอร์มของฟาซาดอาคาร ที่แม้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อมาอยู่ด้วยกันกลับขับให้ตัวอาคารมีความโดดเด่นต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ
พื้นที่ภายในเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ล้ำสมัย ทั้งหอประชุมหลักขนาด 2,150 ที่นั่ง ที่มีระบบอคูสติกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงห้องโถงแสดงคอนเสิร์ตย่อยอีกสามห้อง โรงแรมห้าดาว และพลาซ่า ในปัจจุบันโครงการดังกล่าวเปรียบเสมือนกับแลนมาร์คที่สำคัญของเมือง Hambrug นับตั้งแต่เปิดให้บริการ
San Petronio โดย Antonio di Vincenzo
โครงการสุดท้ายที่เกี่ยวกับการคอนทราสกันในงานสถาปัตยกรรมที่จะนำมาพูดคุยสั้นๆในวันนี้ อาจจะไม่ใช่โครงการปรับปรุง (renovation) ในยุคปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องเล่าของมหาวิหาร San Petronio เมือง โบโลญญ่า ประเทศอิตาลี การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี 1390 โดย Antonio di Vincenzo ที่กินเวลาก่อสร้างอย่างยาวนาน เปลี่ยนสถาปนิกมาหลายศตวรรษ จนมาเสร็จสิ้นในปี 1954 โดยมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมภายนอกที่น่าสนใจและความคอนทราสเหมือนกับการใช้เทคนิคการรีทัชรูปครึ่งล่างและครึ่งบนให้มีความต่างกันโดยโปรแกรมแต่งภาพ
ฟาซาดด้านหน้าครึ่งล่างสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนโกธิคที่มีลายละเอียดอ่อนช้อยสวยงาม ใช้วัสดุการก่อสร้างจำพวกหินอ่อนสีชมพู-ครีม ซึ่งมีความคอนทราสกับครึ่งบนที่เป็นอิฐก่อสีเข้มทึบตัน ลดทอนรายละเอียดส่วนระนาบหนังและช่องเปิดจนเหลือแค่เส้นโครงสร้างของอาคารเท่านั้น เมื่อมองครั้งแรกอาจคิดว่าเป็นแนวคิดที่ต้องการผสมผสานความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมให้มหาวิหารแห่งนี้เกิดความโดดเด่น แต่แท้จริงแล้ว ในอดีตกาลตอนที่เริ่มสร้างส่วนหินอ่อนของมหาวิหารซึ่งมีความสวยงามอย่างมาก
โครงการของมหาวิหารมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเกินกว่ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม ทางศาสนจักรคาดว่าถ้าเสร็จสิ้นจะเทียบรัศมีศูนย์กลางของคริสตจักร พระสันตะปาปาจากโรมเลยสั่งหยุดการก่อสร้างด้วยวัสดุหินอ่อนในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนโกธิคไว้แค่ครึ่งทางและแทนที่ด้วยอิฐก่อทึบตันแทน ซึ่งเสร็จสิ้นออกมาเป็นรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งมีความคอนทราสทางสถาปัตยกรรมอย่างน่าสนใจ และดึงดูดสายตาต่อผู้มาเยี่ยมชมในอีกรูปแบบหนึ่ง
Picture & Reference
– https://www.dezeen.com/2022/06/06/museum-military-history-dresden-daniel-libeskind-deconstructivism/
– https://www.architecturalrecord.com/articles/7879-military-history-museum
– https://www.archdaily.com/88705/ad-classics-le-grande-louvre-i-m-pei
– https://www.dezeen.com/2016/09/22/zaha-hadid-architects-faceted-port-house-antwerp-belgium/
– https://www.architectural-review.com/buildings/war-of-the-worlds-port-house-headquarters-antwerp-belgium-by-zha
– https://www.archdaily.com/795832/antwerp-port-house-zaha-hadid-architects?ad_medium=gallery
– https://www.behance.net/gallery/73162453/Antwerp-Port-House-by-Zaha-Hadid-Architects
– https://www.fosterandpartners.com/projects/reichstag-new-german-parliament/
– https://www.getyourguide.com/berlin-l17/reichstag-tour-with-plenary-chamber-and-dome-in-german-t392378/
– https://libeskind.com/work/royal-ontario-museum/
– https://architizer.com/projects/royal-ontario-museum/
– https://www.designboom.com/architecture/elbphilharmonie-concert-hall-hafencity-hamburg-herzog-de-meuron-07-22-2016/
– https://arquitecturaviva.com/works/elbphilharmonie-hamburg-6
– T, V, Pronina. (2021) The Method of Contrast of Modern Architecture in the Historical Environment of the City, International Science and Technology Conference (FarEast 2020)
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!