ถ้าเราทำงานในเมืองใหญ่ที่ทุกวันต้องเจอกับความเร่งรีบ วุ่นวาย การพักใจ ผ่อนคลายด้วยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใครหลายคนโหยหา ไม่ต่างจากชาวเมืองเหอเฝย ประเทศจีนที่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับจังหวะการทำงานและชีวิตภายใต้การพัฒนาอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ
สวนในวิลล่าส่วนตัวที่ตั้งอยู่ในเมืองเหอเฝย ซึ่งมีเจ้าของรักธรรมชาติและพืชพรรณ จึงตั้งใจเปลี่ยนการใช้พื้นที่จากสวนปิดเป็นส่วนตัว เปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ชมธรรมชาติเนิบช้า และใช้พื้นที่ขนาด 230 ตารางเมตรแห่งนี้เป็นจุดบำบัดจิตใจที่ทำให้กิจวัตรประจำวันได้ชะลอลงอีกหน่อย ซึ่งงานนี้ได้สถาปนิกสองพาร์ทเนอร์สัญชาติไทย-จีน อย่างป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung จาก HAS design and research มารับหน้าที่ปรับอารมณ์ของผู้มาเยือน เบลอขอบเขตของสิ่งที่ไม่จำเป็น เพื่อซึมซับบรรยากาศที่กลมกลืนไปกับบริบทของพื้นที่
01 เบลอขอบเขตให้มองเห็นแต่ธรรมชาติ
สัมผัสบรรยากาศสวนโดยไม่เห็นงานระบบ
คุณป้อเล่าว่า “โจทย์แรกที่ได้รับ คือ การทำให้สวนนี้เป็นสวนที่คนสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ สงบจิตใจ หนีความวุ่นวายของเมือง ส่วนที่เหลือเขาปล่อยให้เราคิดอย่างอิสระ ซึ่งเราเสนอแนวคิดไปว่า อยากให้สวนนี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่เขาไม่ต้องมาคอยดูแลรดน้ำตลอดเวลา เราเลยนึกถึงคำว่า Mist หรือการพ่นสเปรย์เหมือนหมอกควัน ไอน้ำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก บริบทรอบ ๆ เมืองเหอเฝยที่มีทะเลสาบขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วงฤดูหนาว รอบทะเลสาบจะมีหมอก ไอน้ำเกิดขึ้น เราเลยอยากนำคาแร็กเตอร์ของเมืองมาใส่ไว้ในสวนนี้ด้วย”
เพราะการออกแบบสวน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็จำเป็นต้องมีแทงค์น้ำ หรืองานระบบเพื่อใช้ในการรดน้ำ ดูแลพืชพรรณมากมายที่อยู่ในสวน สิ่งแรกที่สำคัญ จึงเป็นโจทย์ที่ทางสถาปนิกมองว่า ‘จะทำอย่างไร ? ให้สวน 230 ตารางเมตรนี้ มีแต่บรรยากาศสวนอย่างเดียวโดยไม่เห็นงานระบบเลย’
ซึ่งสถาปนิกเลือกที่จะออกแบบซ่อนงานระบบทั้งหมดไว้ใต้โครงสร้างของพาวิลเลียนหลักที่อยู่ในสวน และท่อต่อขึ้นมาแทรกระหว่างพื้นของต้นไม้ หรือซอกต้นไม้ เพื่อให้อุปกรณ์งานระบบทุกอย่างเนียนไปกับพืชพรรณและสวน หมอกและไอน้ำที่เกิดขึ้นจึงดูเป็นธรรมชาติ และยังช่วยทำหน้าที่เบลออาคารอื่น ๆ ที่เราไม่ได้อยากจะให้เห็น อย่างเช่น บ้านหลังโตของเพื่อนบ้านให้เลือนหายไป
เป็นธรรมชาติแต่ไม่น่าเบื่อ
ด้วยความที่เป็นงานออกแบบภูมิทัศน์ องค์ประกอบต่อไปที่ดีไซน์เนอร์ให้ความสำคัญเป็นหลัก คือส่วนของพื้น ซึ่งตั้งใจให้มีแพทเทิร์นที่ดูมีความเป็นธรรมชาติแต่ในขณะเดียวกันก็ดูไม่น่าเบื่อ เกิดเป็นดีไซน์แพทเทิร์นพื้นที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ซึ่งคุณป้อเล่าว่า ส่วนนี้เป็นวิธีการทำงานในแบบของ HAS ซึ่งมักจะมีการใช้ยูนิตเข้ามาเล่นกับงานดีไซน์บางอย่าง
ซึ่งถ้าเราลองสังเกต หินที่ถูกนำมาใช้ จริง ๆ คือหินทั่วไปตามท้องตลาดของจีน เพียงแต่ใช้ประบวนการที่ต่างออกไป โดยให้ช่างกระเทาะขอบของแผ่นหินจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้กลายเป็นขอบยึกยักตามแนวขอบหิน ซึ่งเมื่อนำแผ่นหินจำนวนกว่า 100 ชิ้นที่ผ่านการกระเทาะมาแรนดอมวางในพื้นที่ เราจะเห็นถึงความหลากหลายของยูนิต ซึ่งต้นหญ้าที่พื้นจะแทรกตัวขึ้นมาระหว่างขอบหินที่ถูกกระเทาะ ทำให้ขอบคม ๆ เดิมถูกเบลอไป ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีไซน์เนอร์พยายามเบลอขอบเขตของพื้นที่เพื่อให้ธรรมชาติแทรกตัวเข้ามานั่นเอง
02 ดื่มด่ำบรรยากาศ ภายในป่าขนาดย่อม ๆ
ในส่วนของพืชพรรณ ทางเจ้าของเป็นคนเลือกโดยตรง แต่ดีไซน์เนอร์เองมีการวางคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ โดยหลีกเลี่ยงต้นไม้ฟอร์มชัด เพราะอยากให้บรรยากาศภาพรวมคล้ายป่าขนาดย่อม ๆ ที่มีความปะปน ไม่แน่นอน และไม่ชัดเจน เสริมด้วยเรื่อง Lighting Design ที่ออกแบบแสงให้เบลอขอบเขตของแหล่งกำเนิดแสง จากภาพ เราจะสังเกตเห็นไฟที่มีลักษณะเป็นก้านวางสะเปะสะปะแทรกตัว ผสมปนเปไปกับต้นไม้ “นอกจากไฟก้านแล้ว เราจะเห็นไฟโค้ง ๆ ส่องพื้น สอดแทรกด้วยไปทั่วไปบางส่วนอย่างไฟส่องสว่าง Uplight ที่ส่องจากพื้น ซึ่งจะซ่อนแหล่งกำเนิดแสงให้หายไป เหมือนเราเข้าไปในป่าแล้วเห็นแสงเป็นพุ่ม ๆ ช่วง ๆ ไม่ได้สาดไปโดยตรงให้เห็นว่านี่คือต้นไม้ หรือสวนแบบบ้านทั่วไป”
03 เปลี่ยนอารมณ์ จากความวุ่นวายสู่ความผ่อนคลายและสงบนิ่ง
นอกจากบรรยากาศของพืชพรรณ ภูมิทัศน์ที่ถูกขับเน้นให้โดดเด่นแล้ว ภายในสวนแห่งนี้ยังมีพาวิลเลียนหนึ่งหลังเป็นจุดหมายตา คล้ายกับว่าเป็น Destination ของผู้มาเยือน ซึ่งคุณป้อเล่าว่า ตอนที่ออกแบบมีการศึกษารูปฟอร์มหลาย ๆ แบบ จนสุดท้ายมาลงตัวด้วยความต้องการปิดล้อมพื้นที่ โดยทำให้คนที่เดินเข้ามาเห็นพาวิลเลียนนี้เสมือนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ ซึ่งจะต้องเดินอ้อมมาจนเจอกับทางเข้า ซึ่งเมื่อเข้าสู่ภายใน ความรู้สึกอึดอัดจะถูกทำให้ลดลง ด้วยการออกแบบฟอร์มตัดขอบมุมของกล่องหินบางส่วนออก ทำให้ผู้ที่ยืนอยู่ภายในไม่สามารถมองเห็นองค์ประกอบอื่น ๆ ภายนอกเลย นอกจากท้องฟ้า ซึ่งภายในยังมีก๊อกน้ำที่เพิ่มบรรยากาศด้วยเสียงน้ำไหล
“ฟอร์มของพาวิลเลียนนี้มันมาจากการที่เราคิดประสบการณ์ในการเข้าถึง เข้ามาจะเจออะไร จุดนี้เลยเป็นไฮท์ไลท์หนึ่งที่เราอยากให้เขาได้สงบจิตใจ ค่อยๆ เปลี่ยนอารมณ์จากการมองเห็นสวน สู่การไม่เห็นอะไรนอกจากท้องฟ้า และได้ยินแค่เสียงน้ำเป็นแบ็กกราวด์เบา ๆ ภายในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อม”
เราจะเห็นขั้นเล็ก ๆ ของบันได ซึ่งระหว่างขั้นมีการซ่อนท่อระบายน้ำเอาไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นท่อระบายน้ำ ซึ่งน้ำจะไหลลงไปหมุนเวียนกับแทงค์น้ำที่ถูกซ่อนไว้ใต้ดิน
ถึงแม้สถานที่แห่งนี้จะไม่ได้มีฟังก์ชันเฉพาะเจาะจง แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้คนรู้สึกผ่อนคลายร่วมไปกับความเป็นอยู่ของธรรมชาติ ผ่านการเบลอขอบเขตของสิ่งที่ไม่จำเป็นในการมองเห็นทิ้งไปชั่วขณะ ซึ่งทั้งหมดต่างกลมกลืนเสมือนป่าขนาดย่อมจนเราอาจลืมไปเลยว่า นี่คือสวนในหมู่บ้าน รายล้อมไปด้วยเมืองที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
Location: Hefei, China
Site area: 230 sq.m.
Gross built area: 1 sq.m.
Architecture Firm: HAS design and research
Design team: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Tapanee Laddahom, Muze Ouyang, Marina Rina Miller
Landscape consultant: Weili Yang
Lighting design: Jenna Tsailin Liu
Lighting technology: Shanghai Rxin Lighting Technology Co., Ltd.
Metal technology: Prince Iron
Constructor: Hefei Botuo Decoration Engineering Co., Ltd.
Photo credit: Yu Bai
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!