BLUE COFFEE ร้านกาแฟกึ่ง Co-working Space
ท่ามกลางธรรมชาติ ที่ถอดแบบมาจากฟาร์มเฮ้าส์ แปลงเกษตร และถาดเพาะชำ

เมื่อนึกถึง Co-working Space แล้ว หลายคนมักจะนึกถึงภาพของโต๊ะทำงานมากมายเรียงรายกัน มีการจัดแยกโซนหลากหลาย ทั้งโซนหนังสือ ห้องประชุม โซนมุมส่วนตัว ภายใต้บรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบและจริงจัง 

แต่สำหรับ BLUE COFFEE ร้านกาแฟน้องใหม่แห่งนี้แล้ว คำว่า Co-working Space กลับถูกตีความใหม่ โดยการนำฟังก์ชันการใช้งานของ Co-working Space มาผสานกับความสบายๆ เป็นกับเองของคาเฟ่ จนกลายมาเป็นร้านกาแฟกึ่ง Co-working Space ที่มีดีไซน์เรียบง่ายแฝงกลิ่นอายความอบอุ่นของไม้ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบครั้งนี้ ก็ไม่ใช่ใครไหนไกลคือ pommballstudio สถาปนิกเจ้าถิ่นที่ฝากผลงานเจ๋งๆ ไว้ในเวียงพิงค์แห่งนี้มามากมายนั่นเอง

โปร่ง – โล่ง – สบาย

BLUE COFFEE ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างอาคารของคณะเกษตรศาสตร์ และแปลงทดลองปลูกของนิสิตนักศึกษาในคณะ เพิ่งเปิดบริการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ด้วยความตั้งใจของคุณธนิต สุวณิชย์ เจ้าของร้าน ที่อยากให้เป็นร้านกาแฟสำหรับนิสิต นักศึกษา บุคลากรในมหา’ลัย รวมถึงคนทั่วไปที่แวะเวียนมาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงนำมาสู่โจทย์เริ่มแรกที่เจ้าของร้านมอบให้กับทีมออกแบบ นั่นคือ “ร้านที่เป็นได้ทั้งคาเฟ่และ Co-working Space”

“จากการตีโจทย์ที่ได้มา เราคิดว่าอยากให้เป็นคาเฟ่ Co-working Space ที่มีความโปร่ง -โล่ง – สบาย มีแสงจากธรรมชาติเข้ามาสร้างบรรยากาศภาวะน่าสบายให้กับสเปซ ให้ทุกคนมานั่งเล่น ทำงาน อ่านหนังสืออย่างผ่อนคลาย สบายๆ ไม่ได้คร่ำเคร่ง เงียบเชียบ เหมือนห้องสมุดที่มีการจัดวางสเปซแบบเป็นซอกหลืบ หรือมีความ Private สูงขนาดนั้น” คุณชาติ -ธนชาติ สุขสวาสดิ์ สถาปนิกจากทีมออกแบบเล่า

หลังจากทีมตกลงกันเรียบร้อย ว่าอยากให้ความโปร่ง -โล่ง – สบาย เป็นรูปแบบสเปซในคาเฟ่แห่งนี้ ประกอบกับกลิ่นอายของบรรยากาศบริบทรอบข้าง จึงนำไปสู่การคิดคอนเซ็ปต์ของรูปร่าง Mass อาคารต่อไป

Sense of Place form into The New Space

“Place” คือ หัวใจสำคัญของคอนเซ็ปต์การออกแบบครั้งนี้ ด้วยบริบทล้อมรอบที่มีกลิ่นอายของความเป็นคณะเกษตรศาสตร์ชัดเจน ทีมสถาปนิกจึงหยิบ ‘Sense of Place’ มาเป็นแรงบันดาลใจในทุกส่วนการออกแบบดีไซน์ เริ่มจากแมสอาคารที่มาจากฟาร์มเฮ้าส์ โดยทั่วไปแล้วเรามักจะคุ้นตาฟาร์มเฮ้าส์ในรูปแบบบ้านที่มาพร้อมหลังคาจั่ว แต่ทว่าสำหรับ BLUE COFFEE สถาปนิกเลือกที่จะฉีกจากภาพจำเดิมๆ โดยการกลับหัวจั่วของหลังคาลง ให้คล้ายกับหลังคาปีกผีเสื้อ แล้วเล่นแพทเทิร์นลอนหลังคาให้ต่อเนื่องกัน โดยสถาปนิกเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘แนวปลูกของแปลงเกษตร’ ที่มีลักษณะเป็นแนวยาวเรียงกันหลายแปลง

“เมื่อมองขึ้นไปยังหลังคาคล้ายแปลงปลูกที่อยู่เหนือศีรษะ น้องๆ นิสิตนักศึกษาที่นั่งอยู่ด้านล่างก็เป็นเหมือนกับเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่กำลังบ่มเพาะอยู่ใต้ดินรอการเจริญเติบโตสู่โลกภายนอกในอนาคต” – คุณชาติเล่า

นอกจากแพทเทิร์นหลังคาแล้ว ในส่วนผนังและฝ้า ทีมสถาปนิกได้นำไม้ฝาตีเรียงกันในแนวยาวมาเป็นแพทเทิร์นในดีไซน์ เพื่อล้อกับแนวปลูกของแปลงเกษตร และยังได้ถอดรหัสจาก Module ของแปลงปลูกพืชสวนพืชไร่ นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบดีเทลผนังไม้บางส่วนที่ถูกตีคิ้วให้เป็นช่องกริดเท่าๆ กัน

เมื่อถาดเพาะชำกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในงานดีไซน์

เมื่อเราเดินมาสั่งเมนูหน้าเคาน์เตอร์จะพบกับดีเทลกริดตารางน้อยใหญ่ไล่เรียงกันบนพื้นหลังโลโก้และส่วนอื่นๆ ของร้าน หากสังเกตดีๆ จะพบว่านั่นคือ ถาดเพาะชำนั่นเอง

เมื่อนึกถึงการทำเกษตร สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลย คือ ‘ถาดเพาะชำ’ ที่ใช้ในการอนุบาลต้นกล้าให้แข็งแรงเพียงพอก่อนที่จะนำไปปลูกลงในแปลง สถาปนิกได้นำถาดเพาะชำที่น้องๆ และเหล่าอาจารย์คณะเกษตรฯ ต่างก็คุ้นเคยกันดีนี้ นำมาจัดวางเรียงกันเป็น Module โดยใช้ตั้งแต่ไซส์เล็ก กลาง ไปจนถึงใหญ่ เรียงกันในแต่ละชั้นแล้วยึดด้วยกรอบไม้ที่ตีทับไปอีกที นอกจากจะสื่อถึงกลิ่นอายของความเป็นคณะเกษตรฯ แล้ว สถาปนิกยังตั้งใจสื่อถึงการเติบโตไปทีละขั้นของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เลือกมุมที่ชอบ พร้อมกาแฟแก้วโปรด

หลังจากรับเครื่องดื่มมาเรียบร้อยแล้วก็เลือกมุมที่ชอบได้เลย เพื่อตอบโจทย์ของการเป็น Co-working Space แล้ว สถาปนิกได้ยืดสแปนเสาโครงสร้างให้กว้าง เพื่อที่จะเว้นสเปซโปร่ง-โล่งตรงกลางในการดีไซน์โต๊ะที่นั่งให้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะมาทำงานอ่านหนังสือคนเดียว มาเป็นคู่ หรือมาคุยงานกับกลุ่มเพื่อน ก็มีฟังก์ชันการใช้งานรองรับทุกกลุ่มผู้ใช้งาน ใครเบื่อการอ่านหนังสืออยู่ห้องคนเดียว รับรองมาที่นี่ไม่เหงาแน่นอน หรือสำหรับใครที่ต้องการความเป็นส่วนตัวหน่อย สถาปนิกก็ได้ออกแบบที่นั่งให้มีการกั้นสเปซเล็กน้อยในบางมุม

สถาปัตยกรรมที่เผยความงามของพืชพรรณตามกาลเวลา

ด้วยความที่ร้านอยู่พื้นที่ตรงกลางระหว่างคณะเกษตรฯ และแปลงปลูกทดลอง ดังนั้นทีมสถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบให้อาคารดูกลมกลืนกับบริบทรอบข้างให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นจุดเชื่อมระหว่าง 2 พื้นที่นี้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยการใช้ช่องเปิดกว้างทั้งแนว แล้วกั้นด้วยกระจกเต็มบานที่สูงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน หากคนที่อยู่ข้างนอกมองเข้ามาที่คาเฟ่ ก็จะเห็นไปถึงยังแปลงปลูกและคณะฯ ด้วย ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ข้างในก็ได้รับวิวธรรมชาติข้างนอกด้วย

ที่น่าสนใจกว่านั้น วิวของแปลงเกษตรที่ถูกแต่งแต้มด้วยด้วยสีสันของพืชพรรณ ดอกไม้และสัตว์น้อยใหญ่หลายชนิด ก็มีการหมุนเวียนเปลี่ยนสลับกันไปในแต่ละฤดูกาล ให้เราได้เฝ้ามองความงามของธรรมชาติตามกาลเวลาอย่างแท้จริง

“ไม้” ตัวแทนของความอบอุ่นและนุ่มนวล

เมื่อถามถึงสาเหตุที่เลือกใช้ไม้ ซึ่งแทบจะเป็นเพียงวัสดุเดียวที่ใช้ในงานนี้ คุณชาติก็ได้เล่าว่า หากเทียบกับวัสดุอื่นๆ แล้ว ไม้มีความอบอุ่น เข้าถึงง่ายและดูกลมกลืนกับธรรมชาติของความเป็นคณะเกษตรฯ มากกว่า นอกจากนี้ยังสื่อถึงความเป็นฟาร์มเฮ้าส์ได้ชัดเจน ซึ่งเมื่อเราลองไปค้นหาในอินเตอร์เน็ตดู ก็พบว่าฟาร์มเฮ้าส์ต้นฉบับก็เป็นไม้ทั้งหลังจริงๆ

งานระบบที่ถูกซ่อนไว้ในดีไซน์

หากพูดถึง “เสา” หลายคนคงนึกถึงการรับน้ำหนักเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วเราสามารถดีไซน์เสาได้มากกว่าที่คิด และสำหรับที่นี่ เสาโครงสร้างหลักที่ใช้รับน้ำหนักของตัวอาคารถูกซ่อนไว้ในผนังด้านทึบ ส่วนเสาลอยตัวที่เราเห็นนั้น ทำหน้าที่ซ่อนระบบท่อน้ำแอร์และท่อรับน้ำฝนที่ต่อจากรางน้ำบนหลังคา นอกจากนี้สถาปนิกยังดีไซน์แบ่งจังหวะเสาให้เท่าๆ กัน ซึ่งหากมองไกลๆ จะเห็นว่าเป็นแพทเทิร์นคล้ายแนวปลูกของแปลงเกษตร

“เราพยายามที่จะใช้ Architecture เป็นตัวเก็บระบบทุกอย่างไว้อย่างแนบเนียน” – คุณชาติกล่าว

เริ่มจาก Place จบที่ Place

สถาปนิกได้เล่าว่า ถึงแม้ pommballstudio จะผ่านงานออกแบบคาเฟ่มาหลายแห่ง แต่ด้วยบริบทของของสถานที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะ BLUE COFFEE ที่ตั้งอยู่ในคณะเกษตรฯ นี้เอง ที่มีกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นคนในมหา’ลัย ดังนั้นคาเฟ่ที่ออกมาจึงเป็นแนว Co-working Space เน้นฟังก์ชันพื้นที่นั่งทำงานหรือนั่งเล่น มากกว่าคาเฟ่แนว Hopping ที่เคยทำ ตอนออกแบบจึงไม่ได้นึกถึงมุมถ่ายรูปเลย

และด้วยคอนเซ็ปต์ที่ยึดกับ “Place” ดังนั้นทุกกระบวนการทำงานของทีมสถาปนิกตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบ จึงเป็นการค้นหาและหยิบองค์ประกอบต่างๆ ที่สื่อถึงความเป็นคณะเกษตรฯ มาเล่นกับดีไซน์ เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงงานออกแบบได้ง่าย ทั้งการจัดวางอาคาร แมสอาคาร การออกแบบสเปซและการตกแต่งภายในต่างๆ

แม้บริบทของสถานที่และผู้ใช้งานเป็นสิ่งพื้นฐานที่สถาปนิกทุกคนต้องคำนึงเสมอ แต่การนำสถานที่มาเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดงานดีไซน์ไปจนถึงดีเทลก็เป็นความท้าทายที่น่าสนุกไม่น้อย

Location: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
Built Area: 270 ตารางเมตร
Architects Firm: Pommballstudio
Architects & Interior: ธนชาติ สุขสวาสดิ์, กานต์ คำแหง, วรงกรณ์ วณิกกุล, สิรวิชญ์ จิตติวัฒนพงศ์, พัชรินทร์ อินทะ
Structural Engineer: ชัยวัฒน์ แก้วคำ 666 STRUCTURE DESIGN
Construction consultant: จิตราภรณ์ วุฒิการณ์ FEEL LIKE HOME CONSTRUCTION CO., LTD.
Photo credit: ธนกฤต วัฒนศิริ

Writer
Nara Aunjai

Nara Aunjai

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ที่ดำรงอาชีพนักเขียนเป็นงานหลัก นักแปลเป็นงานรอง และรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมเป็นงานพาร์ทไทม์