Revived House
ชุบชีวิตบ้านเก่าให้เกิดความรู้สึกใหม่และร่วมสมัยในแบบ Post-Modern

ในงานรีโนเวท หลายคนมักจะมาพร้อมความต้องการอยากเก็บบ้านหลังเก่าเอาไว้ให้มากที่สุด หรือคงเค้าเดิมของบ้านเพื่อรักษาความทรงจำไว้ แต่สำหรับ Revived House บ้านหลังใหม่ที่ถูกชุบชีวิตโดยทีมสถาปนิกจาก Gooseberry Design กลับเลือกที่จะเก็บรักษาเรื่องราวเก่า ๆ ในวิธีที่แตกต่างออกไปในโจทย์ที่ว่า ‘ทำอย่างไร ให้เกิดความรู้สึกสดใหม่ในการอยู่อาศัยให้มากที่สุด?’ ในขณะที่ต้องใช้โครงสร้างเดิมของบ้านให้คุ้มค่าที่สุดด้วยเช่นกัน

บ้านหลังใหม่ที่บ่งบอกตัวตน

“ลูกค้าเขาค่อนข้างเปิดกว้าง เราเลยตีความจากตัวตนของเขา หนึ่ง คือ เขามีธุรกิจโรงแรม และชอบเดินทางท่องเที่ยว เราเลยรู้สึกว่าบ้านหลังนี้น่าจะทำอะไรที่มีความซิกเนเจอร์ของตัวบ้าน ให้ความสำคัญกับเรื่อง Scene มีมุมมองที่มองออกไปหรือมองเข้ามาในบ้านเองก็ตาม เพื่อสะท้อนตัวตนเจ้าของมากที่สุด และมีสเปซบางอย่างที่เราสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกใหม่จริง ๆ เหมือนลืมไปเลยว่าบ้านหลังเก่าที่อยู่เป็นยังไง ? มันคือการชุบชีวิตบ้านหลังเก่าขึ้นมาให้เป็นหลังใหม่เท่าที่มันจะเป็นไปได้มากที่สุด” คุณเอก-ณัฐพงศ์ เพียรเชลงเอก สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Gooseberry Design เล่า

ส่วนที่ต้องการให้แตกต่างจากบ้านหลังเก่านั้น เป็นเพราะว่า บ้านเดิมถูกออกแบบมาในคาแร็กเตอร์ยุค 10 กว่าปีก่อน มีความเป็นสไตล์รีสอร์ทยุคเก่า ผสมผสานความเป็นโคโลเนียลและทรอปิคอลกลิ่นอายบาหลีหน่อย ๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นรูปแบบสากลที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น แต่คุณเอกและเจ้าของต่างก็เห็นตรงกันว่า การใช้งานของบ้านไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศไทย หรือบริบทที่ตั้งมากเท่าที่ควร เกิดเป็นความตั้งใจรีโนเวทใหม่ให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากขึ้น

เริ่มแรก คุณเอกเริ่มจากการไล่เรียงเลย์เอาท์ก่อนว่าความต้องการใช้งานพื้นที่ของเจ้าของนั้นคืออะไรกันแน่  นำมาสู่สองประเด็น หนึ่ง คือ เจ้าของอยู่อาศัยกันเพียงแค่สองคน ส่วนที่เป็นคอมมอนเอเรียจึงต้องสำคัญทั้งบริเวณชั้น 1 และชั้น 2 เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันภายในบ้านซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้อยู่อาศัย ส่วนเรื่องที่สอง คือ ทางเจ้าของที่เป็นคนติดบ้าน ไม่ได้มีการรับแขกมากมาย เว้นว่างจากช่วงท่องเที่ยว ทางเจ้าของจะอยู่อาศัยและทำทุกกิจกรรมในบ้านเป็นหลัก ทำให้คุณเอกมองว่า บ้านจะต้องมีมุมสงบ และมีมุมมองหรือบรรยากาศที่อยู่ได้ ไม่เบื่อ

RE-Layout วางผังใหม่ให้ตรงกับความต้องการ

“บ้านเดิม ซอกมุมค่อนข้างเยอะ การเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างชั้น 1 และ 2 มันแทบมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะถูกปิดกั้นเป็นห้อง ๆ ไปหมด เราจะไม่รู้เลยว่าชั้น 1 หรือ 2 มีกิจกรรมของคนอยู่หรือไม่ เพราะไม่สามารถเชื่อมสเปซกันได้”

นอกจากโจทย์หลักที่อ้างอิงมาจากลักษณะนิสัยของเจ้าของล้วน ๆ ที่เหลือจึงเป็นการปรับเปลี่ยนสเปซให้ตอบโจทย์ ห้องไหนที่เกินความจำเป็น จะถูกนำมายุบรวมให้กลายเป็นสเปซเดียวกัน ก่อนจะวางเลย์เอาท์ใหม่ทั้งหมด เพิ่มฟังก์ชันใหม่ อย่างบางห้องที่ขาดไป ซึ่งก็ต้องมีการออกแบบโครงสร้างใหม่เพิ่มเข้าไปจากบ้านหลังเดิมด้วยเช่นกัน

แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2

เริ่มตั้งแต่ Foyer หรือโถงหลัก ที่ทีมสถาปนิกมองว่า บ้านควรมีสเปซบางอย่างเพื่อสร้างความรู้สึกโปร่ง ให้บ้านไม่ถูกกดทับมากจนดูอึดอัด ซึ่งส่วนนี้ดีไซน์ด้วยการทุบพื้นออกบางส่วน เพื่อทำให้เป็น Double Ceiling เชื่อมพื้นที่ 2 ชั้นถึงกัน เพิ่มด้วยสกายไลท์ที่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้าน ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็น Welcome Scene ที่สร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่ภายในบ้าน ในขณะที่มองเห็นระเบียงที่อยู่ชั้นสองไปด้วยในตัว

หรือแม้แต่โซนห้องนอนที่ถูกรีเลย์เอาท์ใหม่ เปลี่ยนทิศทางบางส่วนให้เกิดการไหลเวียนของลมธรรมชาติและแสงแดดได้ดีขึ้น

Scene มุมมองและบรรยากาศที่เติมเต็มการอยู่อาศัย

อีกสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ บ่อ Reflecting pool เดิม ซึ่งไม่ได้ใช้งาน ปล่อยให้รกร้าง รวมถึงชานไม้ที่ผุพังไปตามกาลเวลา ทำให้ตรงนี้กลายเป็นมุมมองที่ไม่ดีของบ้าน ซึ่งทางสถาปนิกออกแบบโดยเปลี่ยนให้เป็นสระว่ายน้ำที่สามารถว่ายได้จริง เป็นการสร้างบรรยากาศและ Scene ให้เกิดขึ้นในบ้านด้วย ตั้งแต่มุมมอง เสียงน้ำไหล หรือแม้แต่สวนที่มีทางเดินโดยรอบ สามารถเชื่อมพื้นที่ภายนอกได้

บริเวณสระว่ายน้ำ สถาปนิกนำโครงสร้างเดิมออกทั้งหมด ก่อนจะทำเสาเข็ม ทำโครงสร้างขึ้นมาใหม่แยกโครงสร้างกับตัวบ้าน โดยมีฟอร์มคล้ายเดิมแต่ได้ขนาดที่ใหญ่กว่า หรือเรียกว่า ทำใหม่เลยก็ว่าได้ เพียงแต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม เพราะเป็นทิศเหนือ ที่เหมาะสมทั้งเรื่องแสงแดด และมุมมองซึ่งบ้านใหม่ที่ถูกรีโนเวทขึ้น จะพยายามเปิดมุมมองไปที่วิวด้านสระว่ายน้ำและด้านสวนเป็นหลัก เพื่อให้สัมพันธ์กัน

ภาพก่อนการรีโนเวท

“บริเวณชั้นล่าง มีห้องฟิตเนสติดกับสระว่ายน้ำ เราออกแบบโครงสร้างเชื่อมไปกับสระว่ายน้ำเลย ตอนที่ทำโครงสร้างใหม่ตรงนี้ ส่วนหลังคาเรารื้อออกหมด เพราะบ้านเดิมค่อนข้างเตี้ยด้วยระบบเสาคานที่ไม่ได้ทำฝ้าเพดานไว้สูงมาก ชั้นสองก็ดูเตี้ยเหมือนกัน และยังเป็นหลังคาทรงปั้นหยาซึ่งดูทึบและหนัก เราเลยเสนอว่าไหน ๆ เปลี่ยนฟอร์มบ้านแล้วก็เปลี่ยนฟอร์มหลังคาไปด้วยเลย เราทำหลังคาเรียบ ๆ แต่ยื่นปีกหลังคาออกไป เพื่อแก้ปัญหาน้ำรั่วซึม”

“เรื่อง Scene ต่าง ๆ เราอยากให้เกิดความรู้สึกว่าไปยืนแต่ละจุดของบ้าน แล้วมันเกิดมุมมองที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ” อีกส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลย คือโซน Balcony ยาวรูป L ที่สถาปนิกพยายามใส่ต้นไม้เข้าไป เพื่อสร้างจุดนำสายตา และเพื่อให้มีบางส่วนที่ยังอ้างอิงถึงบ้านหลังเดิมในแบบที่โมเดิร์นขึ้น ดีไซน์เนอร์จึงออกแบบชานที่นั่งเอาท์ดอร์ที่ไม่มีหลังคา พร้อมเจาะช่องเปิดวงกลมให้ดูน่าสนใจ หรือนำเส้นสายโค้งมนเข้ามาเติมเกิดความน่าสนใจมากขึ้น

Post – Modern กลิ่นอายในยุคใหม่ที่ได้จากตัวตนเจ้าของบ้าน

“ยุคหลัง ๆ มานี้ งานออฟฟิศเรา พยายามนิยามนึกถึงความเป็น post-modern มากกว่า คือพยายามให้ความเป็นตัวตนของเจ้าของ หรือบริบทตรงนั้นมันสำคัญ เราจะไม่ได้ทำงานที่มีความเป็นโมเดิร์นจ๋า แล้วให้คนเข้าไปใช้พื้นที่เท่านั้น แต่พยายามใช้สกินของอาคารอะไรบางอย่างที่สร้างคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเอง”

คาแร็กเตอร์ที่ว่านั้นส่งต่อผ่านฟาซาดที่สถาปนิกพยายามนำเรื่องราวของบ้านทรอปิคอลหลังเดิมมาตีความใหม่ให้ดูโมเดิร์นทันสมัยในแบบที่เจ้าของต้องการมากขึ้น โดยทดลองสร้างแพทเทิร์นของฟาซาดในรูปทรงลูกบาศก์ที่เกิดจากการนำไม้สนมาตัดเป็นลูกเต๋ายึดเข้ากับเหล็กเพลททำสีเพื่อสร้างภาพจำให้บ้าน ส่วนถัดไปเป็นบล็อกแก้ว ที่มีการเจาะบางส่วนให้ลมธรรมชาติไหลผ่านได้เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นห้องนอน  

ส่วนอีกฝั่งด้านสระว่ายน้ำเป็น Double Skin Façade ในลักษณะระแนงแนวตั้งที่สามารถเลือกเปิด-ปิดได้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่เจ้าของเดินทางท่องเที่ยวก็สามารถปิดเพื่อความปลอดภัยได้อย่างแน่นหนา

“ผมว่ายากที่สุดของงานนี้  น่าจะเป็นเรื่องการผสมผสานโครงสร้างเก่า-ใหม่ ให้อยู่ร่วมกันได้ การทำฟาซาดอาคารด้วยโครงสร้างเก่าทั้งหมดเติมแค่พื้นผิวของใหม่เข้าใหม่ อันนี้ยาก เพราะบางอย่างเราก็ต้องไปปรับแก้หน้างาน แต่สิ่งที่ประทับใจคือ บ้านตอบโจทย์ความเป็นเจ้าของได้ตามที่เขาต้องการ”

Architecture & Interior : Gooseberry design
Lighting design : 475 Lighting Design and Supply

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้