แค่ได้ยินชื่อว่าโรงเรียน เด็กหลายคนก็ส่ายหน้าเพราะไม่อยากมานั่งเรียนในคาบแสนน่าเบื่อทั้งวัน แต่สำหรับเด็ก ๆ ของ SISB School Thonburi โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ธนบุรีคงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้และเล่นในหลักสูตรที่แตกต่างไปจากโรงเรียนไทย ภายในอาคารมัธยมเฟส 2 ยังได้สถาปนิกจาก Plan Architect มาออกแบบให้มีรูปลักษณ์เฉพาะสุดแปลกตา พร้อมสเปซส่วนกลางที่มีมากและยังกว้างขวางพิเศษ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ กว่า 700 ชีวิตได้เล่นภายในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีจำกัด
“เราพยายามสร้างพื้นที่ที่พิเศษหน่อยให้กับเด็ก ๆ เพราะเราอยากให้เขาเข้ามาแล้วรู้สึกกับสเปซ ช่วยกระตุ้นให้เขาเกิดกิจกรรมหรือเป็นการดึงดูดให้เขาอยากมาอยู่ตรงนี้” สถาปนิกเล่า
เรียนรู้และเล่นใน Common Area ส่วนกลาง
ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ช่วงที่ยังไม่มีโควิดระบาด อาคารเฟส 2 ที่สถาปนิกต้องมารับหน้าที่ออกแบบ มีโจทย์หลักเป็นความกังวลในเรื่อง pm2.5 จากทางเจ้าของและ Pain Point ที่เคยเจออย่างสภาพอากาศฝนตกหลายช่วงเวลาในประเทศไทย ทำให้เด็ก ๆ ใช้พื้นที่เอาท์ดอร์ได้ไม่เต็มที่ การออกแบบโรงเรียนใหม่ครั้งนี้จึงต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางที่ยังสามารถใช้งานได้แม้ในวันฝนตก หรือวันที่มีฝุ่น pm2.5
จากโจทย์ ทางสถาปนิกเสนอวิธีการจัดการกับฝุ่น pm2.5 ในแบบ Active และ Passive โดยมีทั้งวิธีการออกแบบสเปซการใช้งานให้เหมาะสม ผสมผสานไปกับการใช้อุปกรณ์เฉพาะทางด้าน Mechanic เริ่มด้วยการออกแบบสเปซคอมมอนเอเรียหลักเป็นพื้นที่ Semi Indoor – outdoor ขนาบยาวตลอดด้านหน้าของอาคารทั้งสองฝั่ง ซึ่งสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้
ซึ่งในพื้นที่โซนโถงด้านหน้าจะถูกดีไซน์ให้เป็นโถงปรับอากาศที่มีช่องเปิดจากหน้าต่าง ทำให้เกิดลมธรรมชาติไหลเวียนได้ และยังมีกริลระบายอากาศรวมถึงพัดลมขนาดใหญ่เป็นตัวช่วยทำให้อากาศหมุนเวียนได้จริง ในวันที่อากาศปลอดโปร่ง เราสามารถเปิดหน้าต่างทั้งหมดเพื่อให้อากาศธรรมชาติถ่ายเทได้ทั่วบริเวณ แต่ในวันที่มีฝุ่น pm2.5 เราสามารถปิดหน้าต่างและเปิดพัดลมเพื่อดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาโดยผ่านฟิลเตอร์ ซึ่งพัดลมจะนำอากาศบริสุทธิ์ลงมาสู่พื้นที่การใช้งาน ก่อนจะระบายอากาศบางส่วนออกสู่ภายนอกผ่านกริลระบายอากาศที่ติดตั้งอยู่บริเวณขอบล่างสุดของอาคาร
สังเกตจากแปลน เราจะเห็นว่าอาคารถูกแบ่งออกเป็นช่วง ๆ เพื่อสร้างช่องลมที่อากาศธรรมชาติสามารถถ่ายเทได้ อีกทั้งระนาบด้านหลังของอาคาร ยังออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่บางช่วงเพื่อให้ลมธรรมชาติไหลผ่านบริเวณโถงคอมมอนเอเรีย สร้างภาวะน่าสบายให้กับเด็ก ๆ และยังเป็นการประหยัดพลังงานสำหรับอาคารขนาดใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน
อาคารขั้นบันได เชื่อมต่อและเพิ่มพื้นที่กิจกรรม
ถ้าดูจากตำแหน่งบนที่ดิน อาคารเฟส 2 หลังนี้จะอยู่ด้านในสุดโดยมีอาคารหลังเดิมตั้งอยู่ส่วนด้านหน้า ซึ่งอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการออกแบบ คือการเชื่อมต่อและเข้าถึงที่ง่ายสำหรับการเรียนของเด็ก ๆ แต่ในการออกแบบวางผังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดันมีข้อจำกัดเรื่องกฏหมายผังเมืองที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตร อาคารหลังนี้จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ 3 ชั้น จัดวางฟังก์ชันในลักษณะที่เรียบง่าย โดยมีปลายด้านหนึ่งของอาคารฝั่งขวาเป็นโรงยิม ส่วนฝั่งซ้ายเป็นห้องสมุด ห้องอาหาร และ auditorium ส่วนตรงกลางเป็นพื้นที่ห้องเรียนยาวตลอดอาคาร ซึ่งสามารถเชื่อมไปสู่พื้นที่กิจกรรมอื่น ๆ ได้ง่าย และสะดวกต่อการเรียนการสอน
ถึงแม้จะมีฟังก์ชันที่เรียบง่าย แต่รูปฟอร์มกลับมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นด้วยการออกแบบแมสอาคารลดหลั่นเป็นขั้นบันได โดยมีปลายของอาคารฝั่งซ้ายเบนเข้าหาทางเดินเชื่อมกับอาคารเดิมที่อยู่ด้านข้าง เพื่อเปิดทางให้เกิดการไหลเชื่อมสเปซต่าง ๆ ของโรงเรียนให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน นอกจากนั้นขั้นบันไดที่เกิดขึ้นภายนอกยังเชื่อมโยงก้อนพื้นที่สีเขียวให้ไหลขึ้นไปสู่พื้นที่หลังคาด้านบน เพื่อให้กิจกรรมต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นได้รอบของอาคาร
ฟอร์มอาคารที่เกิดจากการบิดปลาย ยังทำให้โถงคอมมอนเอเรียที่ยาวต่อเนื่องมีความแตกต่างในคาแร็กเตอร์การใช้งาน ซึ่งพื้นที่ภายในใต้ขั้นบันไดของอาคารฝั่งซ้ายจะถูกออกแบบให้กลายเป็นช่องแสงที่รับ Indirect light จากภายนอกเข้ามาสู่พื้นที่คอมมอนเอเรียที่อยู่ด้านใน ผ่านช่องเปิดต่าง ๆ ค่อย ๆ บิดเปลี่ยนฟอร์มอาคารจนมาถึงอาคารฝั่งด้านขวาซึ่งจะเปลี่ยนเป็นรูปฟอร์มแนวตรง ที่ถึงแม้จะเป็นโถงสูงแต่ก็มีการออกแบบลดทอนให้มีทั้งช่องเปิด หรือส่วนที่ปิดทึบ เพื่อป้องกันความร้อนเข้ามาในห้องเรียนที่อาจมากเกินไปในบางช่วงเวลา
สำหรับพื้นที่ภายใน คาแร็กเตอร์ขั้นบันไดของอาคารภายนอกยังถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดหลัก ซึ่งจะเป็นส่วนหลักที่กระจายไปยังฟังก์ชันส่วนกลางอื่น ๆ อย่างห้องสมุด auditorium หรือแม้แต่การออกแบบภูมิทัศน์ภายนอก ที่สถาปนิกยังคงใช้เส้นสายโค้ง หรือรูปทรงที่คล้ายกัน เพื่อสร้างกราฟฟิกที่ไหลต่อเนื่องตั้งแต่พื้นที่ภายนอก พื้นที่คอมมอนเอเรียกึ่งภายนอกภายใน และพื้นที่ภายในอาคาร
ปลอดภัย ดูแลง่ายและทนทาน
เพราะเป็นโรงเรียนที่ต้องมีการระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ๆ วัสดุที่เลือกใช้หรือดีเทลในการออกแบบบางจุดจึงต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อย่างเช่น ราวกันตกบันไดที่ออกแบบให้ซี่ระแนงเหล็กขนาดสูงเพื่อป้องกันอันตรายจากการปีนป่ายของเด็ก ๆ
หรืออย่างพื้นที่โถงด้านหน้าที่ติดกับโซนภายนอกซึ่งอาจมีการใช้งานหนัก จึงเลือกใช้วัสดุที่ดูแลง่าย ทำความสะอาดง่าย อย่างกระเบื้องเซรามิก แต่อย่างบริเวณขั้นบันไดภายในที่ต้องการได้บรรยากาศที่อบอุ่นขึ้นมาหน่อย ทางสถาปนิกเลือกใช้กระเบื้องยางลายไม้ที่ประหยัดงบประมาณและดูแลรักษาง่าย เช่นเดียวกับการเลือกใช้หญ้าเทียมบริเวณขั้นบันไดภายนอกอาคารที่ลดเวลาและความยุ่งยากในการดูแลรักษาไปได้มากทีเดียว
“เรามองว่าเด็ก เป็น users ที่เขาสามารถใช้พื้นที่ได้ครบมิติกว่า คืออย่างผู้ใหญ่จะมีเรื่องมารยาททางสังคม เรื่องข้อจำกัดเข้ามาเยอะกว่า แต่เด็ก ๆ ถ้าเขาอยากจะเล่น จะทำอะไร เขาเต็มที่กว่าเราเยอะ มันทำให้เขาเอนจอยกับพื้นที่ที่เราออกแบบได้พิเศษกว่า ซึ่งล่าสุดทางโรงเรียนบอกว่าเด็กขึ้นไปเล่นว่าวบนดาดฟ้า เพราะลมมันดี เราก็เซอร์ไพรส์ดีนะ เหมือนเขาสามารถครีเอทการใช้พื้นที่ที่เราคาดไม่ถึงในหลากหลายรูปแบบ
รูปแบบการศึกษามันมีแนวโน้มเปลี่ยนไป สมัยก่อนเวลาพูดถึงโรงเรียน เราจะนึกถึงแค่เรื่องวิชาการ แต่หลัง ๆ โรงเรียนเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่อื่น ๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ไม่ใช่แค่การวิชาการอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพัฒนาด้านร่างกายหรือด้านจินตนาการ ซึ่งสถาปัตยกรรมควรจะมีบทบาทในการรองรับกิจกรรมเหล่านี้ที่มันจะเกิดขึ้น”
นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการออกแบบโรงเรียนที่สถาปัตยกรรมเข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก เพราะสเปซแต่ละส่วนที่ออกแบบ รวมถึงฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเด็กต่างก็มีส่วนช่วยในเรื่องพัฒนาการ ระบบความคิด หรือแม้แต่จินตนาการ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่เราได้เห็นการให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมประเภทนี้ภายในประเทศเรามากขึ้นเรื่อย ๆ โดย SISB School Thonburi อาจจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลตัวอย่าง และคงจะดีไม่น้อยถ้าในอนาคตการออกแบบจะสามารถแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมประสบการณ์หรือคุณภาพชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนทุกกลุ่มโดยไม่จำกัด Users เฉพาะทาง
“เราอยากจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาในบ้านเรา แต่ในฐานะสถาปนิก เราทำได้มากสุดก็คือ การออกแบบพื้นที่ให้มันเหมาะกับการสร้างสรรค์ หรือการเติบโตที่ดี ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้หลายโรงเรียนได้เห็นว่า ความจริงแล้วโรงเรียนมสามารถออกแบบอะไรได้อีกเยอะเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารสี่เหลี่ยม ๆ กั้นสเปซเป็นห้อง ๆ แบบที่เราคุ้นเคยกัน” สถาปนิกกล่าวปิดท้าย
Project Location: Ratchamontri Road, Khlong Khwang, Phasicharoen, Bangkok
Gross Built Area : 13200 sqm.
Designer : PLAN ARCHITECT CO.,LTD
Lead Architects: Wara Jithpratuck
Photo Credits: Sky|Ground Department, Depth of Field Co.,Ltd.
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!