การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายไปกับครอบครัวและธรรมชาติ ต่างก็เป็นชีวิตวัยเกษียณที่ใครก็ฝันถึง รวมถึงครอบครัวแสงดำรงที่มีผู้อยู่อาศัยหลักเป็นคู่สามีภรรยาวัยเกษียณพร้อมลูกชายวัยกลางคนทั้งสาม
เมื่อบ้านเริ่มมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย การแปลงโฉมรีโนเวท Baan Sangdamrong ครั้งใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยความต้องการให้สมาชิกทุกคนในบ้านสามารถมีมุมส่วนตัวของตัวเอง ไปพร้อมกับการมีพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว และเป็นบ้านที่เรียบง่าย ใกล้ชิดและหายใจร่วมกับธรรมชาติตามแบบฉบับของสถาปนิก Eco Architect
เปลี่ยนบ้านให้ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
เพราะมีลูกชาย 3 คน บ้านหลังนี้จึงต้องรองรับครอบครัวขยายในอนาคต โจทย์ที่เพิ่มเข้ามาจึงเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว รวมถึงการปรับสเปซจากบ้านหลังเดิมให้เหมาะสมต่อการใช้งานในอนาคตมากขึ้น อย่างการย้ายห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่มาไว้ที่ชั้นล่างเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวที่สะดวกขึ้น และขยายจำนวนจากหนึ่งห้องนอนเป็นสองเนื่องจาก เมื่ออายุมากขึ้นการแยกห้องนอนจะทำให้หลับสนิทได้มากกว่า รวมไปถึงการแบ่งโซนห้องนอนของลูก ๆ ให้แยกกันอย่างชัดเจนเพื่อความเป็นส่วนตัวซึ่งกันและกัน
ซึ่งเดิมพื้นที่บ้านเก่ามีขนาดประมาณ 300 ตารางเมตร วางผังในลักษณะตัว L ที่หันด้านข้างไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นทิศที่ลมสามารถไหลผ่านแต่ดันมีตัวบ้านขวางกั้น อีกทั้งยังมีที่จอดรถอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านซึ่งมีระยะค่อนข้างไกลถ้าเทียบจากหน้าบ้าน ทำให้พื้นที่ใช้สอยหลักเสียไปกับถนน และยังทำให้มองเห็นแต่ถนนที่อยู่รายล้อมตัวบ้าน จุดหลักอย่างแรกที่สถาปนิกเข้ามาแก้ปัญหาจึงเป็นการพลิกผังบ้านเดิม โดยเปลี่ยนที่จอดรถมาไว้บริเวณด้านหน้าติดริมถนน รวมถึงมีจัดผังส่วนเซอร์วิสและห้องพักแม่บ้านให้อยู่ในโซนถัดจากที่จอดรถ
ภาพก่อนการรีโนเวท
ภาพหลังการรีโนเวท
หลังจากนั้นจึงตัดส่วนหนึ่งของตัว L ทางขวาของบ้านเดิมให้กลายเป็นคอร์ดพื้นที่สีเขียวที่เปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท ในขณะที่ต่อเติมพื้นที่ใช้สอยมาทางด้านซ้ายแทนที่ หลังจากรีโนเวทใหม่จึงกลายเป็นบ้านที่หันหลังให้กับถนน ตอบโจทย์เรื่องความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัยภายใน ซึ่งเป็นเรื่องสมาชิกทุกคนในบ้านต่างก็เป็นกังวล
“ในการออกแบบสเปซ เราจัดวางตามลำดับการเข้าถึง ซึ่งมันจะแยกเป็นส่วนที่เป็น Public คือที่จอดรถ โถงทางเข้าและส่วนรับแขก ถัดมาเป็นกึ่ง Public Zone ซึ่งเป็นส่วนที่แขกสามารถเข้าถึงได้ หลังจากนั้นจะเริ่มเป็น Private Zone เช่นพื้นที่นั่งดูหนัง นั่งทำงาน ซึ่งโซนนี้จะเป็นพื้นที่ส่วนกลางของสมาชิกในบ้าน สุดท้าย ก็จะแยกไปเป็นห้องนอนของแต่ละคนที่เราออกแบบให้มี วิวสวนส่วนตัวสำหรับทุกห้อง และแยกปีกออกไปเพื่อให้ไม่มีใครรบกวนใคร”
ใกล้ชิดและหายใจร่วมกับธรรมชาติ
เนื่องจากบ้านตั้งอยู่บนสามแยกที่มีทิศใต้เป็นถนนซอย และมีทิศตะวันตกเป็นถนนใหญ่ ส่วนหนึ่งบริเวณหน้าบ้านในทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับที่จอดรถซึ่งเป็นทิศรับลม จึงถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นแมสของพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เพื่อทำหน้าที่ช่วยกรองทั้งเสียง ทั้งฝุ่นจากถนนก่อนจะพัดเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งพื้นที่สีเขียวนี้จะล้อมตัวบ้านจากริมรั้วด้านหน้ายาวไปจรดกับ Organic Farm ทางด้านหลัง นอกจากป้องกันฝุ่นแล้ว ยังเป็นวิวสวนให้ทุกฟังก์ชันในบ้านได้บรรยากาศอีกด้วย
ด้านหลังเป็นออร์แกนิกฟาร์ม ที่เจ้าของมีการปลูกผัก เลี้ยงไส้เดือน เลี้ยงไก่ ซึ่งโชคดีที่เป็นทิศเหนือหรือทิศใต้ลม ทำให้กลิ่นหรือฝุ่นต่าง ๆ ไม่ไหลเข้าสู่ตัวบ้าน
อีกโจทย์สำคัญ คือการที่เจ้าของอยากให้บ้านสามารถอยู่ได้สบายโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ การออกแบบวางผังจึงอยู่ในรูปแบบ Single Function ที่พยายามทำให้ทุกห้องสามารถรับกระแสลมได้โดยไม่ให้มีฟังก์ชันที่ซ้อนทับกัน
ในส่วนของสระว่ายน้ำ ซึ่งเดิมอยู่ทางทิศใต้ด้านหลังของตัวบ้าน ปัญหาเดิมที่พบ จึงเป็นการสะท้อนแสงและระเหยความชื้น ทำให้บ้านเป็นที่สะสมความชื้น สระว่ายน้ำใหม่จึงออกแบบให้ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ลมอย่างทิศเหนือตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่สวนภายนอกที่อยู่ด้านหลัง
Something More : บ้านหลังนี้ยังมีการใช้แผง solar รวมถึงการกักเก็บน้ำฝน เนื่องจากมีสัดส่วนของพื้นที่สวนที่ค่อนข้างใหญ่ การกักเก็บน้ำไว้ใช้จึงช่วยประหยัดในเรื่องการดูแลได้มากทีเดียว สังเกตรางน้ำที่เชื่อมสู่โอ่งกักเก็บน้ำ ซึ่งสถาปนิกดีไซน์ให้เป็นกิมมิคเล็ก ๆ ก่อนจะเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่กักเก็บน้ำที่ซ่อนอยู่บริเวณใต้ดิน
เรียบง่ายและสงบนิ่งใน บ้านไทยกลิ่นอายเอเชียน
มาถึงเรื่องของรูปลักษณ์หน้าตาของบ้าน ซึ่งมีที่มาจากความชื่นชอบในบ้านเอเชียนสไตล์ของทางเจ้าของ โดยสถาปนิกหยิบบรรยากาศความเรียบ นิ่งแบบเอเชียนมาผสมกับภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เติมเต็มความอบอุ่นเข้าไปผสมผสาน ซึ่งเราจะสังเกตได้ผ่านการออกแบบช่องเปิดในสเกลบ้าน ๆ มีบานหน้าต่างเป็นช่องขนาดกำลังพอดี คล้ายบ้านเอเชียนที่เราคุ้นเคย หรือการเลือกใช้วัสดุของบ้านให้มีกลิ่นอาย Vernacular นิด ๆ ด้วยการออกแบบบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ แต่มาตีความให้กลายเป็นเอเชียนที่สงบนิ่ง และเรียบง่าย
สวนหินที่อยู่ถัดจากสระว่ายน้ำออกแบบตามมาด้วยคอนเซ็ปต์เอเชียนสไตล์เช่นกัน เพื่อเสริมให้บรรยากาศภายนอกบ้านดูนิ่ง สงบ มีการตกแต่งหลักจากหิน ซึ่งสวนนี้เองยังเชื่อมมุมมองเข้าสู่พื้นที่ห้องพระที่ออกแบบให้มีช่องเปิดวงกลมสามารถมองเห็นสวนสงบนิ่ง เพื่อทำสมาธิได้บางเวลา
การออกแบบบ้านหลังนี้เป็นเรื่องของการเลือกที่จะปรับและเปลี่ยนแปลงบางส่วนให้ตอบโจทย์ความต้องการ และปัจจัยรอบด้านที่เปลี่ยนไป ทั้งอายุของผู้อยู่อาศัย ความชื่นชอบ หรือไลฟ์สไตล์ ซึ่งคุณแก้ว -คำรน สุทธิ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งออฟฟิศ Eco Architect เล่าว่า จุดสำคัญของการรีโนเวทบ้าน คือเราต้องจับจุดให้ถูก ยอมทุบเพียงบางส่วนอาจจะได้ข้อดีที่ตอบสนองการอยู่อาศัยได้มากขึ้น ซึ่งจุดที่พอดีนั้นจะทำให้เจ้าของบ้านสามารถมีชีวิต มีความสุขกับสเปซที่ผู้ออกแบบเป็นคนดีไซน์ขึ้นมาได้อย่างลงตัว เช่นเดียวกับ Baan Sangdamrong บ้านเก่าที่ถูกชุบชีวิตใหม่หลังนี้
Project : Baan Sangdamrong
Design by : Eco Architect
Location : Phuket Thailand
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!