ในวันที่การสร้างบ้านหนึ่งหลังเสร็จสมบูรณ์ และการเติมเต็มความสุขผู้อยู่อาศัยกำลังเริ่มต้นขึ้น แม้ว่าบ้านอาจเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตและกาลเวลา แต่สิ่งที่สะท้อนตัวตนผู้อยู่อาศัยมักคงอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับ FN House บ้านที่สะท้อนบุคลิกของเจ้าของบ้านผ่านการเลือกใช้วัสดุดิบเท่ และเชื่อมต่อบริบทธรรมชาติเอาไว้อย่างกลมกลืน โดยมีคุณบอย-พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ สถาปนิกจาก Anonym Studio มาสร้างสรรค์สเปซของบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์แบบอย่างที่สมาชิกในครอบครัวต้องการ
เฉือนพื้นที่บ้านเดิม เพิ่มเติมพื้นที่บ้านใหม่
ด้วยความคุ้นชินกับย่านประชาอุทิศเพราะมีญาติๆ อาศัยอยู่ ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจซื้อที่ดินในซอยเดียวกัน เพื่อสร้างบ้านสำหรับการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับภรรยาและลูกๆ อีกสองคน ซึ่งบนที่ดินมีบ้านเดิมอยู่แล้ว และมีที่ว่างด้านข้างกว้างมากพอที่จะสร้างบ้านเพิ่มได้อีกหลัง
เรื่องราวทั้งหมดนำมาสู่โจทย์ความต้องการที่จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือสร้างบ้านหลังใหม่บนพื้นที่ว่างสำหรับอยู่อาศัยเอง ส่วนบ้านหลังเดิมที่มีอยู่แล้วถูกแพลนไว้สำหรับปล่อยเช่า โดยมีการเฉือนพื้นที่บางส่วนของบ้านเดิมออกไปเล็กน้อย เพื่อเติมเต็มพื้นที่บ้านหลังใหม่ให้มีขนาดพอดิบพอดีที่ 150 ตารางวา
เชื่อมต่อมุมมองบริบทจากเพื่อนบ้าน
เมื่อสถาปนิกเริ่มต้นสำรวจบริบทรอบด้าน พบว่าหลังบ้าน ซึ่งเป็นทิศตะวันตก มีส่วนเชื่อมต่อกับสวนของเพื่อนบ้านที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ มีความธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ และลมพัดผ่านดีมาก แถมยังมีความเป็นส่วนตัวสูงอีกด้วย พอเริ่มวางฟังก์ชัน สถาปนิกก็ตัดสินใจหยิบยืมวิวธรรมชาตินี้ และวางโซนนั่งเล่นและโซนกินข้าว ที่เจ้าของบ้านและครอบครัวมักใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมกันไว้ส่วนหลังบ้านในชั้น 1 พร้อมกับยกระดับพื้นส่วนนี้ขึ้นมากว่า 1.20 เมตร เพื่อเพิ่มระดับสายตาและมุมมองไปยังวิวธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
ในขณะเดียวกันก็ทำให้โซนนี้สูงโปร่ง ออกแบบพื้นที่ให้เป็น Double Space ที่มีความสูงประมาณ 6 เมตร และออกแบบบานหน้าต่างกระจกแบบเต็มบาน นอกจากเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่รายล้อมอยู่ภายนอกแล้ว ยังเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในอย่างเต็มที่ จนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความร่มรื่น อันหัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่อาศัย
ภายในชั้นสองมีห้องนอนของลูกๆ อยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นชั้นลอยที่มีคอมมอนแอเรีย ห้องดนตรี และห้องทำงาน ส่วนชั้นสามเป็นห้องนอนของเจ้าของบ้านและภรรยาวางอยู่ไว้ส่วนหลังบ้านเพื่อเทควิวธรรมชาติ ส่วนฝั่งหน้าบ้านมีฟิตเนส และมีระเบียงขนาดเล็กที่ออกไปนั่งเล่นสูดอากาศในวันที่ฟ้าฝนเป็นใจได้
วัสดุจากคาแรกเตอร์เจ้าของบ้าน
“โจทย์แรกไม่ได้ถูกระบุว่าบ้านจะต้องมีกี่ชั้น แต่พอเราดูโปรแกรมแล้ว มันก็รู้สึกได้เลยว่าเป็นสามชั้นที่จัดวางฟังก์ชันไว้แบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นความอยู่สบายและใส่คาแรกเตอร์ของเจ้าของบ้านลงไป“ สถาปนิกกล่าว
เนื่องจากคาแรกเตอร์เจ้าของบ้านมีความเป็นศิลปิน ชอบตีกลองเป็นงานอดิเรก ซึ่งมีความคอนทราสต์กับบุคลิกส่วนตัวที่ชอบความปราณีตและความเป็นระเบียบเรียบร้อย สถาปนิกจึงนำคาแรกเตอร์ทั้งหมดนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกใช้วัสดุทั้งภายในและภายนอกของบ้าน โดยเลือกใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึกดิบเท่ (Raw Material) ของไม้ คอนกรีต เหล็กสนิม มาถ่ายทอดผ่านการทดลองเชิงพื้นที่อย่างสีและพื้นผิวสัมผัสของผนังให้มีความพิเศษและน่าสนใจ
ผนังภายนอกเป็นผนังฉาบคอนกรีตสีเทา และสีน้ำตาลที่ให้อารมณ์ความรู้สึกคล้ายกับเหล็กสนิม มีเส้นสายที่เรียบ เฉียบคม จากรูปทรงสี่เหลี่ยมที่วางซ้อนทับกันอย่างมีชั้นเชิง ช่วยเพิ่มมิติของแสงเงาที่ตกกระทบ และทำให้บ้านกลมกลืนกับบริบทธรรมชาติรอบด้านด้วย
ส่วนภายในใช้โทนสีไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เฟรมหน้าต่างอะลูมิเนียมที่ใช้โทนสีคล้ายกับสีสนิม และผนังบางส่วนยังถูกฉาบด้วยคอนกรีตสีเทา ส่วนที่เหลือเป็นผนังสีขาว จับคู่กับไม้โทนสีกลางๆ เพื่อเพิ่มบรรยากาศให้ดูอบอุ่น และทำให้มู้ดแอนด์โทนภายในบ้านดูนุ่มนวลมากขึ้น นอกจากนี้การจัดวางเฟอร์นิเจอร์และบิ้วอินต่างๆ อย่างลงตัว มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี
เส้นสายและจังหวะที่นุ่มนวล
เส้นสายของระเบียงในชั้นลอย เป็นองค์ประกอบเดียวภายในบ้านที่มีความโค้งเว้า ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนเส้นสายเล็กน้อย เพื่อสร้างมูฟเมนท์ที่นุ่มนวลให้กับบ้าน ทำให้พื้นที่ของชั้นหนึ่งและชั้นสองดูเชื่อมต่อกัน และให้ความรู้สึกเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเส้นสายของโครงสร้างเสากลมที่ถูกออกแบบให้มีความบางเบา มีจังหวะของระยะห่างเท่า ๆ กัน และเรียงตัวเป็นระเบียบอย่างสวยงาม
บันได เป็นอีกองค์ประกอบที่สถาปนิกใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบ เป็นบันไดไม้ทางตรง ปิดขอบด้านข้างด้วยเหล็ก มาพร้อมกับกระจกราวกันตกที่ออกแบบต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงชั้นลอย ที่สำคัญตำแหน่งของบันไดยังสามารถเปิดมุมมองสู่คอร์ทยาดภายในบ้าน ทำให้ได้รับแสงธรรมชาติเข้ามาอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านน่าอยู่
สร้างมิติใหม่ให้น่าสนใจใน Hard Scape
เนื่องจากที่ดินมีความลึกกว่า 20 เมตร ส่วนกลางของบ้านจึงถูกลดทอนพื้นที่ลง เพื่อสอดแทรกคอร์ทยาดเข้าไป เพราะทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงบ้านในทุกๆ ส่วน โดยต้นไม้เดิมบางต้นถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่เจ้าของบ้านไม่ได้มีเวลาดูแลสวนตลอดเวลา การทำเป็น Hard Scape แทนการปลูกต้นไม้เพิ่มก็ถือว่าเป็นอะไรที่ตอบโจทย์
ตัวพื้นของคอร์ททำจากแท่งคอนกรีตที่ถูกออกแบบขึ้นพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อนำสร้างแพทเทิร์นให้ Hard Scape ดูมีมิติที่น่าสนใจมากขึ้น ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ และค่อย ๆ ยกระดับขึ้นไปทีละนิดตามระดับของบ้านที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการโรยหินกรวดเล็ก ๆ ไว้ระหว่างช่องว่าง ซึ่งนอกจากจะจำกัดความของพื้นที่ในแบบฉบับของตัวเองแล้ว ยังช่วยให้ลำดับในการเดินผ่านคอร์ทนี้สนุกสนานมากขึ้นด้วย
FN House หลังนี้ ได้แสดงตัวตนในแง่ของการจัดการพื้นที่ และการดึงจุดเด่นของบริบทโดยรอบเข้ามาสู่ภายในบ้านอย่างสมบูรณ์ บวกกับใส่คาแรกเตอร์ของเจ้าของบ้านที่อนุมานไปถึงการเลือกใช้วัสดุที่ดิบ แต่ยังคงความเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้ครบถ้วน แม้วันหนึ่งบ้านอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในบ้าน วัสดุ และเรื่องราวการออกแบบ ยังคงอยู่ พร้อมเติบโตไปกับประสบการณ์ชีวิตของเจ้าของบ้านเสมอ
Location: Bangkok, Thailand
Area: 750 sq.m.
Architect: Anonym studio
Design Team: Phongphat Ueasangkhomset, Parnduangjai Roojnawate, Kamolchanok Somsang, Natnicha Nimnaparoj, Sachaporn Kaewthep, Warung Klongsat
Photographer: DOF Skyground
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!