อย่าปล่อยให้การได้ยินกลายเป็นเรื่อง Toxic
รวม 6 เทคนิคออกแบบบ้านลดเสียงรบกวน

ถึงแม้การ ‘ได้ยิน’ จะเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่ทำให้เราพบกับความสุนทรีย์ เพียงได้ยินเสียงน้ำหรือธรรมชาติก็ช่วยให้เราสามารถผ่อนคลายได้ง่าย ๆ แต่ถ้ามากเกินไป อย่างเสียงรถ เสียงการสัญจรจากถนนใหญ่ รวมถึงเสียงพูดคุยที่เล็ดลอดเข้ามาในบ้านก็อาจสร้างความวุ่นวายกลายเป็นเรื่อง Toxic สำหรับบ้านที่ตั้งอยู่ในเขตการสัญจรและการอยู่อาศัยที่คับคั่ง แต่ปัญหาเหล่านี้ ยังสามารถแก้ไขและบรรเทาได้ด้วยการออกแบบที่ใส่ใจตั้งแต่ต้น Dsign Something จึงมีไอเดียง่าย ๆ ในการออกแบบบ้านเพื่อลดเสียงรบกวนมาฝากกัน

01 ลดเสียงภายนอก

เชื่อว่าปัญหาเสียงที่หลายบ้านพบเจอ คือเสียงที่มาจากภายนอก อย่างเสียงรถ เสียงจ้อกแจ้กจอแจจากชุมชนที่อยู่รายล้อม หรือแม้แต่เสียงเครื่องจักร หรือไซต์งานก่อสร้างที่อยู่ไม่ไกล ซึ่งเราสามารถออกแบบบ้านเพื่อลดเสียงเหล่านี้ได้หลากหลายวิธี

แนวรั้วกั้น ช่วยกันเสียงรบกวนได้

เริ่มตั้งแต่เกราะปราการชั้นนอกสุดของบ้านอย่าง ‘รั้ว’ ที่หลายคนอาจคิดว่าแค่เลือกให้สวยก็น่าจะเพียงพอ แต่ในความจริงแล้วรั้วบ้านยิ่งสูงก็ยิ่งกันเสียงได้ดี โดยความสูงที่เพิ่มขึ้นทุก 1 เมตรจะช่วยลดเสียงได้ประมาณ 1 เดซิเบล รวมถึงการเลือกใช้วัสดุของรั้วก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกันเสียงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ก่ออิฐฉาบปูนหนา 20 ซม.สามารถกันเสียงได้  50 เดซิเบล, ก่ออิฐไม่ฉาบปูน หนา 7.5 ซม.สามารถกันเสียงได้  40  เดซิเบล, รั้วไม้หนา 2  ซม.สามารถกันเสียงได้  25 เดซิเบล

แนวพื้นที่สีเขียว สร้างบรรยากาศและยังช่วยกันเสียง

อีกหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ และมีส่วนช่วยในการกันเสียง คือการปลูกต้นไม้ให้กลายเป็นรั้วแนวยาว โดยเลือกไม้ใบที่มีพุ่มหนาปลูกรอบบริเวณบ้าน หรือถ้าหากเป็นบ้านที่มีบริเวณกว้างขวาง การวางผังโดยมีแมสของพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เป็นตัวกั้นบ้านและถนนภายนอกจะช่วยกันเสียงได้ดีมากขึ้น และยังเพิ่มบรรยากาศให้บ้านไปด้วยในตัว

หน้าต่าง ต้องปิดสนิท

เพื่อป้องกันเสียงเล็ดลอดมาทางช่องเปิดของบ้าน พยายามเลือกใช้บานหน้าต่างที่ปิดมิดชิด มีรอยต่อน้อย อย่างบานปิดตาย หรือบานกระทุ้ง ซึ่งถือว่ามีการอุดรอยรั่วที่ค่อนข้างแน่นหนาเมื่อเทียบกับหน้าต่างบานเกล็ด หรือบานเลื่อนที่เสียงมักจะลอดมาทางรางเลื่อนของหน้าต่างได้ นอกจากนั้นสำหรับห้องที่อยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง พยายามเลือกบานกระจกที่มีค่า STC (Sound Transmission Class) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงสูง ๆ  หรือจะเลือกใช้กระจกลามิเนต หรือกระจกอินซูเลตกันเสียงที่มีขายในท้องตลาด ถึงแม้จะมีราคาแพงกว่ากระจกทั่วไปเกือบเท่าตัว แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับการอยู่อาศัยที่สงบในระยะยาว

02 ลดเสียงสะท้อนภายในบ้าน

เลือกวัสดุพื้น ผนังและฝ้าเพดานให้เหมาะ

ตัวป้องกันแรกจากเสียงที่เกิดภายในบ้านหรืออาคาร คือการเลือกใช้วัสดุพื้น เพดาน และผนังให้เหมาะสม ซึ่งเราจะเห็นว่ามีตัวเลือกมากมายในท้องตลาดที่ช่วยป้องกันเสียง เช่น  Soundproof Panels หรือแม้แต่วอลเปเปอร์ผนังบางรุ่นก็สามารถช่วยดูดซับลดเสียงรบกวนได้เช่นกัน อย่างวอลเปเปอร์ 3D ที่มีลายนูนสูงต่ำ หรือวอลเปเปอร์แบบหนา PE Foam

หรือบางครั้งถ้าเสียงนั้นเกินเยียวยาจริง ๆ เราอาจจะใช้วิธีก่อผนังเบาเสริมขึ้นมา และแทรกเลเยอร์ของ Soundproof Panels ไว้ตรงกลางเพื่อช่วยป้องกันเสียง แต่วิธีนี้ก็ถือว่ายุ่งยากพอสมควร เหมาะสำหรับบ้านที่สามารถปรับหน้างาน หรือรีโนเวทได้

เฟอร์นิเจอร์ช่วยลดการสะท้อนของเสียง

เคยสังเกตไหมว่า บ้านโล่ง ๆ เสร็จใหม่ ๆ เราจะได้ยินแต่เสียงก้องสะท้อนทั่วห้อง ซึ่งนั่นเป็นเพราะไม่มีสิ่งของมาช่วยดูดซับเสียง วิธีลดปัญหาเหล่านั้นทำได้ง่าย ๆ ด้วยการติดตั้งชั้นวางของต่าง ๆ หรือเฟอร์นิเจอร์ Built-in บางส่วนปิดทับผนังไว้ก็จะช่วยลดทอนเสียงได้ดียิ่งขึ้น

ความสำคัญของผ้า

สำหรับใครที่ไม่สะดวกจะรื้อบ้านใหม่ เพื่อซ่อมแซมแก้ไขปัญหาเรื่องเสียง เราแนะนำวัสดุสามัญประจำบ้านอย่าง ผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าม่านเนื้อดีชนิดหนา ที่ช่วยดูดซับเสียงได้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผ้ามีน้ำหนักเบาและดูดซับเสียงได้มากขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงการเลือกใช้พรมพื้นใหญ่มาช่วยซับเสียงบริเวณพื้น เป็นเทคนิคเล็ก ๆ ที่รับรองว่ามีส่วนช่วยแน่นอน

แต่ต้องบอกก่อนว่า ทั้ง 6 เทคนิคที่เรากล่าวมา ใช่ว่าทำตามแล้วบ้านจะสงบ เงียบกริบไร้เสียงรบกวนใด ๆ เพราะแน่นอนว่าปัจจัยเรื่องแหล่งกำเนิดเสียงของแต่ละคนก็แตกต่างกัน หากต้องการการลดเสียงที่ได้ประสิทธิภาพสูงจริง ๆ อาจต้องใช้เทคโนโลยีการออกแบบก่อสร้าง หรือวัสดุสุดล้ำอีกมากมายมาเกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นใครกำลังปวดหัวกับเรื่องเสียง ลองใช้เทคนิคสำหรับ beginners เหล่านี้ รับรองว่าช่วยได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ที่มา
https://www.onestockhome.com/th/homemap_contents/52623153/how-to-make-house-more-quiet
https://www.archdaily.com/987073/4-common-noise-problems-and-how-to-solve-them-with-acoustic-panels?ad_medium=widget&ad_name=articles-article-show

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้