จากการเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปศึกษาต่อที่ Architectural Association (AA) ประเทศอังกฤษ และ Lead Designer จากสตูดิโอใหญ่อย่าง Heatherwick Studio ก็นับเป็นเวลาหลายสิบปีที่ คุณแชมป์ – วิชยุตม์ มีนะพันธ์ โลดเล่นอยู่ในวงการออกแบบด้วยบทบาทที่แตกต่างกันออกไป แต่วันนี้เราชวนเขามาคุยร่วมด้วย คุณนกยูง – ปีรวิน สวัสดิ์ธนวณิชย์ พาร์ทเนอร์อินทีเรียในบทบาทของการก่อตั้ง VMA Design Studio สตูดิโอออกแบบขนาดไม่ใหญ่ที่ทำดีไซน์และภูมิใจกับงานดีไซน์จริง ๆ พร้อมความตั้งใจที่ว่า ‘อยากทำงานที่เจ้าของโครงการมีแพชชัน เรียนรู้ และสร้างงานออกแบบที่น่าสนใจไปด้วยกัน’
01 จุดเริ่มต้น และการตัดสินใจที่ไม่รู้จบ
ตอนเรียน ทั้งคู่เป็นคาแร็กเตอร์แบบไหนกัน?
นกยูง : ตอนเรียน เราเป็นคนชอบอะไรไม่ค่อยเหมือนคนอื่น แต่งตัวแบบเสื้อผ้าประดิษฐ์เอง ออกแบบเอง เลือกอะไรแตกต่างจากเพื่อนๆ จุดเด่นคือชอบใช้สีสัน สนุกๆ ชอบวัสดุ และ สร้างเทคนิคจากของง่าย ๆ ให้ดูแตกต่างจากคนอื่น กล้าใช้อะไรที่ไม่เหมือนเดิม แต่อยู่ด้วยกันแล้วคิดว่าใช่ ซึ่งพอมาจุดที่เราพูดคุยกันวันนี้ มองย้อนกลับไป ตอนนั้นเราต้องเป็นคนมั่นใจมากแน่ๆเลย…มันได้ (หัวเราะ)
แชมป์ : ส่วนของผม ตอนที่ผมเรียนคือเป็นช่วง 4-5 ปีแรกที่คณะสถาปัตย์เริ่มเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนทำงาน 3D ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็ยังค้นหา Online Tutorial Library ได้ไม่เท่าในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นเราจะมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบเล่นเกมส์ด้วยกัน เลยชินกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คอยหาวิธีใหม่ ๆ มาลองเล่นกัน ทำ ไป ๆ มาๆ เพื่อนกลุ่มนั้นก็กลายเป็นแก๊งประกวดแบบสถาปัตย์กันไปเฉยเลย
ซึ่งเพื่อนแก๊งนี้แหละ จะมีคนหนึ่งที่ชอบซื้อนิตยสารนอกมาให้อ่านบ่อย ๆ ตอนนั้นเรามองว่างานพวกนั้นเป็นเรื่องไกลตัวมาก ได้แค่มองว่าเอ่อ…มันสวยดีนะ มองแต่พวกไดอะแกรมกับเรนเดอร์สวย ๆ แต่ปรากฏว่ามีอยู่งานหนึ่งที่เราประกวดแบบมาเรื่อย ๆ แล้วดันชนะได้รางวัลไปจัดแสดงในงานเวนิซ บินาเล่ ที่ประเทศอิตาลี ตอนนั้นเราน่าจะอายุประมาณ 23-24 มั้ง ได้ไปเจอระดับ Great Architects หลายคนที่เราเคยชื่นชมตอนเรียน เห็นตัวจริงเขาพูดแบบนั้น พรีเซนท์แบบนี้ มันเปลี่ยนความคิดเราไปเลย ไอเดียที่เขามองกลายเป็นว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราขนาดนั้น ไม่ได้ดูฟังยากซับซ้อนเหมือนเวลาเราไปตามอ่านบทความของเขา พอกลับมาไทยเลยคิดจะไปเรียนต่อ Design Research ที่ The Architectural Association School of Architecture หรือ AA ที่ประเทศอังกฤษ
ตอนที่เข้าไปเรียน มันสนุกมาก เหมือนเจอกลุ่มคนที่อินในเรื่องเดียวกัน เป็นเด็กสายประกวดแบบจากแต่ละประเทศเลยคอนเน็คกันง่าย พอเรียนจบเราก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่ Heatherwick Studio ซึ่งก็โชคดีที่ได้ทำงานออกแบบกับ Thomas Heatherwick โดยตรงเลย ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน และเห็นความทุ่มเทในการพัฒนางานออกแบบแต่ละชิ้น กว่าจะออกมาเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงที่เราได้เห็นกัน
ทำไมถึงตัดสินใจกลับไทยมาก่อตั้งออฟฟิศของตัวเอง?
แชมป์ : พอทำงานที่ Heatherwick Studio สักพักจนได้เป็น Lead Designer เริ่มชินกับชีวิตที่นู่น มันก็ถึงเวลาที่ต้องคิดว่าจะตั้งรกรากใหม่ที่นู่นเลย หรือจะกลับมาไทยดี ที่ต้องคิดเพราะอีกปีเดียว เราจะได้ Citizen ที่อังกฤษแล้ว แต่ก็คิดว่าอนาคตวันนึงก็คงต้องกลับ เลยปรึกษากับออฟฟิศที่อังกฤษว่าเรามีแพลนจะกลับเมืองไทยและตั้งใจจะเปิดสตูดิโอออกแบบเล็ก ๆ ที่กรุงเทพ ซึ่งทาง Thomas เองก็ยินดีที่เรามีแพชชันจะกลับมาเปิดสตูดิโอเอง ประกอบกับทางออฟฟิศที่นั่นบอกว่าถ้าอยากกลับมาร่วมทีมกันก็มาได้ทุกเมื่อ เลยทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นเราไม่ได้มีคอนเนคชันงานออกแบบที่ไทยเลย แต่พอดีมีเพื่อนของนกยูงเขาติดต่อเข้ามา อยากให้ออกแบบบ้านที่จันทบุรี เลยลองทำดู ตอนนั้นคือทำงานจากอังกฤษแล้วส่งมาที่ไทย ส่วนนกยูงก็จะเป็นคนพรีเซนท์ลูกค้าที่ไทย
นกยูง : ตัดสินใจยากอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะเอาตรง ๆ ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานดีไซน์มากนัก อยู่ที่นู่นก็น่าจะได้ทำงานสนุกๆอะไรอีกเยอะ แต่อีกมุมถ้าอยู่ที่นู่นไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ได้ออกแบบในนามของเราเอง และเราก็คิดว่าอย่างน้อยถ้าเราเริ่มเร็วก็มีโอกาสได้ลองได้ทำเร็วขึ้น ก็ปรึกษากันและทางแชมป์เลยตัดสินใจกลับมาไทย เปิดสตูดิโอของเราเองโดยเริ่มต้นจากโปรเจกต์บ้านจันทบุรีที่เราลองทำนั่นแหละ
แชมป์ : ความแปลกคือ ปกติเราดีไซน์ มี Design Director เป็น Thomas Heatherwick ให้ปรึกษา ช่วยเขียน ช่วยไกด์ ช่วยรีวิว พอออกมาทำเอง ความรู้สึกมันต่างกันเยอะเลย เหมือนเราเป็นคนที่ว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าต้องว่ายท่าอะไรถึงจะไปเส้นชัยได้สวยงามและเร็วที่สุด แต่พอมีโปรเจกต์เข้ามาเรื่อย ๆ ให้เราได้ลอง ได้เจออะไรที่เราอยากค้นหา หรือได้เจอลูกค้าที่เขาอินไปกับเรา เลยรู้สึกว่า..มันก็น่าจะมีทางไปนี่นา
02 Passion รายละเอียด และความสนุกของการได้ลอง
มีคิดไว้ไหมว่า VMA จะทำงานแบบไหน ?
นกยูง : อย่างที่บอกตั้งแต่เริ่มว่าเราเป็นคนชอบไม่เหมือนคนอื่น คาแร็กเตอร์เหล่านั้นมันส่งผลมาถึงปัจจุบันนะ คือ เราจะเป็นคนทำอะไรแล้วไม่อยากทำซ้ำ พยายามปรึกษาทางแชมป์และน้องๆ ในออฟฟิศเสมอว่า เวลาเราทำงานให้คิดเหมือนว่าลูกค้า อาจจะเก็บเงินสร้างบ้าน เพราะคนเราอาจจะไม่ได้มีบ้านหลายๆ หลัง ดังนั้นเราต้องทำมันให้ทั้งเราและลูกค้ารู้สึกภูมิใจกับโปรเจกต์ และต้องสนุก ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้กับพวกเราในแง่ของความคิด เราต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดให้มากในขั้นตอนนี้ แล้วทุกอย่างจะดีเอง
แชมป์ : เราพยายามมองหาไอเดียของแต่ละโปรเจกต์ แต่ละบริบทให้มากที่่สุด เราพยายามใช้แนวทางการทำงานที่ได้จากเมืองนอก ในแง่ของการดีไซน์ในต่างประเทศ เขาจะให้เวลากับช่วงของการพัฒนาแบบเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะการก่อสร้างแบบ Dry Process ทุกอย่างต้องคิดมาสำเร็จจากโรงงานไม่ใช่ระบบเปียกมาปรับที่หน้างานเหมือนเมืองไทย เราเลยต้องคิดให้รอบคอบ ดีไซน์ให้จบละเอียดจนพร้อมสร้างเลย
นกยูง : อันนี้เราเห็นด้วย เพราะเมื่อก่อนเราเป็นคนชอบเข้าหน้างานมาก ชอบเห็นการเปลี่ยนแปลงของงานที่ค่อย ๆ เสร็จสมบูรณ์ จนแชมป์กลับมาแล้วบอกว่า ถ้าเรารับโปรเจกต์เยอะขึ้น และถ้ามีโอกาสรับงานต่างประเทศเราจะมาเข้าหน้างานบ่อยแบบนี้ไม่ได้แล้วนะ สิ่งที่เราทำได้คือ เราต้องทำแบบให้ดี ให้แบบมีคำถามน้อยที่สุด ถ้าเราจะเข้าหน้างาน คือเข้าไปดูว่าช่าง ผู้รับเหมาทำได้ตามแบบไหม แต่อย่างน้อยเขาจะไม่เกิดคำถามในเรื่องดีเทลการก่อสร้าง
ตอนนั้นเรารู้สึกเสียเวลากับขั้นตอนการเขียนแบบเหมือนกัน ซึ่งเราคิดว่าบางงานเราไม่น่ามาเสียเวลากับการทำแบบละเอียดยิบนะ แต่แชมป์บอกไม่ได้ ต้องทำแบบนี้แหละ พอเราเปิดใจแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนระบบมาทำแบบนี้ มันโอเคขึ้นเยอะเลย เราเองมีเวลาในการทำดีไซน์ดี ๆ ในออฟฟิศ หรือพอแบบเราเป๊ะ ราคาก็จะไม่หลุด แล้วกลายเป็นว่ามันไม่ได้ง่ายแค่กับเรา แต่ง่ายกับคนที่ทำงานกับเราด้วย อย่างช่าง หรือผู้รับเหมาเอง เขาเคยบอกว่าพอแบบเราละเอียด ทำตามแบบแล้วงานออกมาเหมือนในรูป Perspective ที่แปะอยู่ที่ผนังไซต์มากเลย
งานดีไซน์แบบไหนคืองานของ VMA ?
นกยูง : สตูดิโอของเราตอนนี้พึ่งเปิดมายังไม่นาน และก็ยังมีงานที่ทยอยสร้างกันอยู่คงต้องให้เวลาอีกซักพักเหมือนกัน แต่เราโชคดีที่ได้ลูกค้าที่เห็นคุณค่าของงานออกแบบและมีแพชชันแรงมาก เราเห็นถึงความอยากทำ อินไปกับงานดีไซน์ อะไรเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกท้าทาย ซึ่งพอเราได้เห็นโปรเจกต์ของลูกค้าประสบความสำเร็จ เติบโตไปกับสิ่งที่เราออกแบบให้เขา เราเลยเรียนรู้กันว่า นี่แหละ…ออฟฟิศเราอยากเติบโตแบบนี้ ไปพร้อมกันกับลูกค้า
แชมป์ : ตอนที่เรียนจบที่ AA ในหัวผมมีแต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของที่นู่น การดีไซน์ทั้งหมดจะเป็น Generative design Based, Scripting Based อาคารบ้านเขาเลยสร้างฟอร์มจัด ๆ Fabricate ออกมาเหมือนในเรนเดอร์ได้เป๊ะ ๆ ซึ่งเราว้าวมาก ตอนนั้นเรามองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มันไม่ได้เหมาะกับบ้านเรา เพราะเทคโนโลยีเราไม่ได้ล้ำขนาดนั้น จนเรามีโอกาสได้ไปสอน Workshop ของ AA ที่บราซิล ซึ่งเทคโนโลยีเขาใกล้เคียงบ้านเรา แต่งานดี สเปซก็ดี หรืองานในเวียดนามเอง เราก็เห็นการทำอะไรที่เบสิกแต่ใช้คอมพิวเตอร์เจเนอเรทมาปรับให้เข้ากับบริบทของบ้านเขา ซึ่งก็น่าจะใกล้กับบ้านเรา หลัก ๆ คือ เรื่องค่าแรงช่างบ้านเราที่ถูกกว่าต่างประเทศโซนยุโรป ค่าแรงช่างเขาแพงมากนะ การเห็นค่างานคราฟท์งานฝีมือมันเลยต่างกัน เราเลยคิดว่า สถาปัตยกรรมที่เอาคุณค่าตรงนี้มาใช้ มันจะเล่นอะไรได้บ้างไหม ? อันนี้เป็นไอเดียหลักที่เราพยายามนำมาใช้กับหลาย ๆ โปรเจกต์
เช่นอะไรบ้าง อยากให้เล่าขยายความ?
แชมป์ : อย่างฝ้าเพดานไม้ของโปรเจกต์ Sunseeker Bar & Rest เราใช้ไอเดียแบบ Computational Based แต่พอมาทำงานกับช่างไม้ท้องถิ่น ก็จะต้องหาวิธีการถ่ายทอด Instruction ที่ต่างกันออกไป หาทางสร้างไกด์ไลน์ในการขึ้นชิ้นงานที่เหมาะสม เพราะความจริงพอช่างเข้าใจภาพใหญ่ของเรา เขาก็ช่วยทำให้โปรเจกต์ออกมาสวยขึ้นได้อีก พอมีความเป็นแฮนเมดขึ้นมา มันจะมี Depth ของโปรเจกต์ขึ้นมาอีกเลเยอร์ มีความ Human Design มากขึ้นต่างจากงาน Prefab เนี้ยบ ๆ ในต่างประเทศ
หรืออย่างบ้านที่ลาดพร้าวเราออกแบบงานฟาซาดเป็นอลูมิเนียมคอมโพสิทที่เราจะเจาะแพทเทิร์น Supplier เคาะราคาฟาซาดมา 500,000 บาท แต่ผู้รับเหมาบอกไม่ต้อง เดี๋ยวเขาเจาะให้เอง 100,000 ก็อยู่แล้ว (หัวเราะ) เลยมองว่านี่คือข้อดีของเรามาก คือการใช้ฝีมือคนมากกว่าเครื่องจักรนี่คือจุดแข็งของที่ไทย และคนทั่วโลกก็ประทับใจ เขาเห็นคุณค่างานคราฟท์แบบนี้มาก
หรืองาน Double B / Bite & Bond เอง เราเอาของที่มีอยู่แล้วอย่างท่อไม้เทียมมาดัดงอด้วยเทคนิคแฮนเมดที่เราทำไกด์เหล็กที่กำหนดค่า R ไว้ให้แล้ว และนำมาเรียงกันตามแปลนที่เรากำหนด ซึ่งอันนี้ก็เป็นงานที่ต้องพึ่งฝีมือช่างเหมือนกัน อาจจะออกมาไม่ได้เพอร์เฟกต์มากเท่าการทำโดยเทคโนโลยีก่อสร้าง Prefab จากโรงงาน แต่ก็ดูเป็นงานคราฟท์ในแบบโซนบ้านเราซึ่งเรามองว่ามันก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่าบ้านเราจะเนี้ยบไม่ได้นะ คืออาคารหลาย ๆ หลังที่เห็นก็เนี้ยบกริบ สวยงามได้เหมือนกัน
มี Culture Shock หรือมีอะไรที่เรามองว่าเหมือนและต่างในการดีไซน์ของไทยและต่างประเทศบ้างไหม?
แชมป์ : เราว่า มันเป็นการพัฒนาเชิงลึกอย่างพวก Critical Thinking อาจจะไม่ใช่ ไม่ถูกทั้งหมด แต่ความเป็นเด็กไทยจะยังติดอยู่ในกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ประมาณหนึ่ง เช่น ออกแบบไป อย่างน้อยก็ต้องมีการถามอาจารย์ว่าได้ไหม ไม่กล้าคิดเองหมด ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้ความกล้าของดีไซน์เนอร์มันไม่เท่ากัน ในต่างประเทศเขาจะมั่นใจที่จะลองทำมากกว่า แต่ใช่ว่าดีไซน์เมืองนอกจะสวยทุกแบบ ทำมา 100 แบบ อาจจะมีสวยแค่ 30 ซึ่ง 30 นั้นดันเป็นแบบที่เห็นแล้วว้าวสุด ๆ อีก 70 เป็นอันที่ไม่รอด ไม่ผ่าน แต่อย่างน้อยเพราะความกล้าทำ มันเลยเกิด 30 นั้นขึ้นมาได้
ในบ้านเรา ผมมองว่าปัญหาหนึ่งคือ แมททีเรียลที่ขายในท้องตลาดมันยังมีไม่หลากหลายมาก สิ่งที่เราอยู่ได้คือการปรับตัวใช้งานให้มันแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเห็นการปรับที่ฉีก แหวกแนว ล้ำ ๆ ไปจากเดิมมาก มันเลยอาจจะทำให้หน้าตาอาคารออกมาคล้าย ๆ กัน ซึ่งถ้าถามผู้รับเหมา เขาก็จะคุ้นเคยกับการทำงานแบบเดิม ๆ มีเสาปูนก่อฉาบ ปูกระเบื้องแบบนี้ ทุกอย่างมันเลยออกมาไม่หลุดจากเดิมมากนัก
ถ้าเลือกเปลี่ยนไรในวงการออกแบบไทยได้ จะเปลี่ยนอะไร?
แชมป์ : เรื่องวัสดุแล้วกัน เราอยากเห็นการพัฒนาแมททีเรียลที่ไปไกลกว่านี้ อย่างหินขัด ทรายล้าง ล่าสุดเราเห็นร้านคาเฟ่ที่เกสร พลาซ่า เขาใช้หินขัดทำผนัง ดูดีมากเลย เหมือนกับงานพื้นหินขัดในประเทศอิตาลี….ซึ่งเราอยากเห็นอะไรแบบนี้ในประเทศไทย ถ้าจะเป็นเซียนระบบเปียกแล้ว บ้านเราน่าจะพัฒนาโปรดักรูปแบบนี้ไปให้สุด จะได้โดดเด่นด้านนี้ขึ้นมา
การเป็นออฟฟิศที่มี Interior กับ Architect ออกแบบไปพร้อมกันเลย ดียังไง?
แชมป์ : สถาปนิกจะมองภาพใหญ่ ไอเดียภาพรวมหลัก ๆ แล้วค่อยส่งต่อให้อินทีเรียสกรีนดีเทลว่าอยู่ได้จริงไหม ช่วยให้มีการปรับจูนกันก่อนออกมาเป็นแบบ ส่วนเรื่องเลย์เอาท์ อินทีเรียก็ทำงานเลย์เอาท์ไปพร้อมสถาปนิกเลย ในแง่ของ Space เลยค่อนข้างลงตัวและนิ่ง ผลพลอยได้อีกข้อคืองบประมาณค่อนข้างจะจบได้ง่ายเพราะดูรายละเอียดไปพร้อมกัน ไม่ต้องตีกันเรื่องตู้เสื้อผ้าบังหน้าต่าง
03 ความสุขของการเป็นนักออกแบบ
ความสุขการทำอาชีพนี้ทุกวันนี้คืออะไร?
แชมป์ : ผมคิดมาตลอดว่าอาชีพเราก็เหมือนกับขายไอเดีย ขายกระดาษ ลูกค้าส่วนใหญ่นึกไม่ออกหรอกว่าแบบที่เห็นเป็นเล่ม ๆ หรือทัศนียภาพที่พรีเซ็นต์ไปพอสร้างออกมาจริงแล้วจะถูกใจไหม พอมาคิดดู…งานเราเป็นเรื่องของความเชื่อใจเหมือนกันนะ ซึ่งเราก็ต้องรักษาความเชื่อใจนี้ตลอดทางตั้งแต่ช่วงพัฒนาแบบไปจนถึงช่วงระหว่างก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะมีการปรับเปลี่ยนจากหน้างานบ้าง ผู้รับเหมาบ้าง ลูกค้าบ้าง แต่จะมีทีมเราคอยไกด์อยู่ตลอด พองานออกมาเสร็จตอนสุดท้าย งานออกมาสวยเหมือนภาพที่เราเคยนำเสนอให้เขา และช่วยให้โปรเจกต์ของเขาสำเร็จ มันทำให้ลูกค้ามีความสุขและยิ้มไปกับงานที่สร้างออกมาจริง ซึ่งความเชื่อใจนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์กับลูกค้าหลายๆ คน จากบ้านหลังแรกที่เราทำให้เขา ทุกวันนี้กลายเป็นเพื่อนกัน รู้สึกว่าจุดนี้แหละ คือความสุขที่เรามองเห็น นี่แหละ คือสิ่งที่พิสูจน์ว่าเขาประทับใจในผลงานและการทำงานของสตูดิโอเรา
นกยูง : เราโชคดีมากที่ได้ทำอาชีพที่เรามีความสุขได้เดินตามฝัน และ ฝันนี้ก็ได้เลี้ยงดูชีวิตเราอย่างดี คือมันดีมากนะ อย่างมีเคสลูกค้าที่เรามีความสุขไปกับเขาตอนออกแบบให้คือ เขาทำรีสอร์ทธุรกิจครอบครัว รุ่นคุณพ่อคุณแม่ และเขามีแพชชันอยากพัฒนาพื้นที่ดินตรงนั้น เลยให้เราไปดูพื้นที่จริง ว่าสามารถปรับหรือเริ่มจุดไหนได้บ้าง พอมองย้อนกลับไป เรารับโปรเจกต์นี้เข้ามา ไม่ใช่เพราะเล็ก-ใหญ่ แต่เป็นเพราะลูกค้าที่เราไปพบเลย คือเขามีฝันและแพชชัน มุมมองที่อยากพัฒนาโปรเจกต์รีสอร์ทเขาในขั้นสุด นั่งเครื่องบินกลับมา ปรึกษากับทางทีมว่า อยากทำงานนี้มากเลยนะ รับนะ เพราะรู้สึกสุขใจ ทางเขามีภาพและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขามี จุดนี้เลยทำให้เราอยากเป็นสะพานต่อยอดความฝันให้เขาจริง ๆ พอมาตอนนี้ โปรเจกต์นี้ประสบความสำเร็จไปแล้ว และกำลังพัฒนาขยายเฟส 2 ที่ใหญ่ขึ้น ในรูปแบบพูลวิลล่า คือเรียกได้ว่า โปรเจกต์นี้คือต้นแบบความสุขการทำงานเลยก็ว่าได้
ที่กล่าวมามันแอบพิสูจน์ ได้ว่า ถ้าเราทำให้ดี ทุกอย่างมันจะดีตามมา สิ่งต่างๆ ที่บอกเล่ามา มันอาจจะเริ่มจากการที่เราได้เลือกลูกค้าจากที่เราคุยกับเขาแล้วรู้สึกว่าอยากทำงานร่วมกันไหม พอเป็นในรูปแบบนี้แต่แรก เลยทำให้เราอยากไปทำงานทุกวัน สิ่งนี้เป็นเป้าหมายของสตูดิโอเรา ‘เราอยากเป็นสตูดิโอเล็กๆ ที่ตั้งใจทำงานดีไซน์และรู้สึกภูมิใจกับงาน’ เรามีแพชชั่นว่าในวันข้างหน้าถ้าสมมุติเราไม่อยู่ แต่งานเราจะยังคงอยู่ และไม่หายไปไหน เราเชื่อว่ามันจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างนั้น
ขอขอบคุณ VMA Design Studio
Design Team : Pattitar Na Chart, Suppasit Sirinukulwattana, Kattawan Pongsomsak, Peemai Sawattanawanit, Vichayuth Meenaphant, Peerawin Sawattanawanit
www.vmadesignstudio.com
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!