โรงแรมในญี่ปุ่นไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็มักสร้างออกมาได้น่าสนใจและชวนให้อยากพักอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นก็น่าจะรวมถึงโรงแรมขนาดเล็กที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้อย่าง KOTOBUKI Hotel ที่ตั้งอยู่ในคาโนยะ เมืองเล็ก ๆ ใน จ.คาโกชิม่าที่อยู่ปลายเกาะคิวชูและถือว่าเป็นเมืองทางใต้สุดของเกาะหลักญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้โรงแรมแห่งนี้ได้รับความสนใจขึ้นมา คือการพลิกฟื้นอาคารเก่าให้กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตใหม่ให้กับเมืองไปพร้อมกับนำพาอดีตที่ทรงคุณค่าเดินหน้าไปพร้อมกัน
เอกลักษณ์ที่รักษาไว้
โปรเจกต์เนรมิตที่พักสไตล์โมเดิร์นครั้งนี้เป็นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ให้กับเมืองนี้ที่กำลังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดประกอบกับตัวเมืองที่ยังไม่ใช่ย่านธุรกิจใหญ่การลงทุนสร้างโรงแรมใหม่จึงเป็นเรื่องเสี่ยง โจทย์สำคัญในครั้งนี้จึงตกไปอยู่ที่การหยิบเอาอาคารเก่าของเมืองมารีโนเวทใหม่ แต่การพลิกโฉมอาคารเก่าให้กลับมามีชีวิตใหม่นั้นก็ใช่ว่าจะทำออกมาแล้วดีเสมอไป
แรกเริ่มเดิมทีอาคารหลังเก่านี้เป็นอาคารพานิชย์สูง 4 ชั้น 6 คูหาเรียงรายต่อกัน โชคดีที่ว่าสถาปัตยกรรมดั้งเดิมนั้นมีฟาซาดอาคารที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ทางสถาปนิกจึงตัดสินใจคงเสน่ห์ของผนังอาคารที่ปูด้วยอิฐสีส้มไว้แล้วปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในอาคารใหม่ทั้งหมด อีกมิติหนึ่งของการคงเอกลักษณ์นี้ไว้ก็เพื่อที่จะอนุรักษ์อดีตอันทรงคุณค่าไปพร้อมกันด้วย และยังคงสร้างความเป็นมิตรกับอาคารโดยรอบในชุมชนนี้เช่นเดิม ซึ่งเป็นการผสานธุรกิจใหม่ให้เข้ามาสู่ส่วนหนึ่งของชุมชนได้เป็นอย่างดีทีเดียว
เชื่อมสองความต่างให้เป็นหนึ่งเดียว
ด้านหลังอาคารเก่าสีส้มนั้นก็คืออาคารจอดรถที่สร้างขึ้นให้เป็นโครงสร้างคอนกรีตธรรมดาไม่มีรายละเอียดอะไรมาก แต่นั่นกลับเป็นโจทย์ที่ท้าทายและน่าสนใจอีกอย่างของโปรเจกต์นี้ซึ่งทางสถาปนิกต้องเชื่อมต่อสถาปัตยกรรมที่มีความแตกต่างทั้งสไตล์และฟังก์ชั่นนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
การจะปรับเปลี่ยนอาคารจอดรถให้สอดคล้องกลมกลืนกับอาคารด้านหน้านั้นอาจทำได้ยากและใช้งบประมาณมากกว่า ทางสถาปนิกจึงตัดสินใจรีโนเวทอาคารจอดรถด้านหลังให้เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ใหม่ที่ไม่เข้ากันไปเลย แต่ใช้การตกแต่งภายในของแต่ละห้องเป็นจุดเชื่อมของความเป็นหนึ่งครั้งนี้แทน
อาคารจอดรถด้านหลังถูกปรับเป็นห้องพักสุดชิค ฟาซาดอาคารทุกด้านตลอดจนระเบียงและผนังหน้าห้องพักถูกปูทับด้วยแผ่นหลังคาลอนโค้งโปรงแสงสีขาวขุ่นที่สร้างดีไซน์มิติใหม่ทำให้อาคารนี้น่าสนใจขึ้นมาในทันที ซึ่งมาจากความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการสร้างให้อาคารหลังนี้เป็นเสมือนตัวแทนสถาปัตยกรรมใหม่ที่ผุดขึ้นในเมืองนี้ และต้องการสื่อสารถึงความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วแต่ก็สามารถผสานรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้
และเพื่อสื่อสารการผสานความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันให้ดูทรงพลังและมีคุณค่ามากขึ้น ทางสถาปนิกเลือกนำเอกลักษณ์ทั้งสองมาผสมผสานร่วมกันให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ของอาคารที่น่าสนใจ โดยนำเอารายละเอียดการตกแต่งของผนังอาคารด้านหลังเชื่อมต่อสู่ด้านข้างของอาคารด้านหน้า ทำให้เกิดภาพตัดกันของเฉดสีส้มและสีขาวขุ่น แต่กลับเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของโรงแรมที่มีเสน่ห์ทีเดียว
แก้จุดบอดให้เป็นจุดเด่น
หากมองเข้าไปใกล้ ๆ ตัวอาคารจะพบว่าระหว่างอาคารทั้งสองนั้นมีช่องว่างระหว่างกันอยู่ แถมช่องว่างนี้จะว่าไปแล้วก็ไม่แคบแล้วก็ไม่กว้างเท่าไรนัก การจะเชื่อมต่อสองอาคารให้ติดกันเป็นหนึ่งเดียวจึงต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากพอสมควร และการที่จะปล่อยให้แต่ละอาคารแยกจากกันเหมือนเดิมก็ดูจะเป็นความลำบากของลูกค้าและเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจโรงแรมพอสมควร
การแก้ปัญหาครั้งนี้ทางสถาปนิกจึงตัดสินใจสร้างบันไดเชื่อมต่อบางจุดในทุกชั้น เพื่อความสะดวกในการเดินไปมาระหว่างอาคาร และให้บรรยากาศเหมือนอพาร์ทเมนต์ได้เช่นกัน ซึ่งพื้นที่ว่างระหว่างอาคารด้านล่างถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนหินผสมต้นไม้ดึกดำบรรพ์ขนาดย่อมที่กลายมาเป็นโซนสร้างบรรยากาศให้กับอาคารนี้ได้ดีอีกด้วย ทำให้ช่องว่างขนาดเล็กนี้มีประโยชน์ขึ้นมาทีเดียว และยังช่วยให้แสงส่องเข้ามาในอาคารได้เพิ่มเติม ความสว่างนี้ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ในโซนด้านในดูโปร่งขึ้นและช่วยลดความอึดอัดได้ดีอีกด้วย
มินิมอลแบบญี่ปุ่นแต่ดิบเท่แบบอินดัสเตรียล
การรีโนเวทหรือตกแต่งห้องพักไซส์จิ๋วในโรงแรมที่พักขนาดเล็กของญี่ปุ่นนั้นมักมีดีไซน์ที่น่าสนใจเสมอ เช่นเดียวกับห้องพักของ KOTOBUKI Hotel ที่ตกแต่งในกลิ่นอายมินิมอลแบบญี่ปุ่นผสมผสานความดิบแบบอินดัสเตรียลได้อย่างน่าสนใจทีเดียว นอกจากนี้ยังเบรกด้วยงานไม้ที่เป็นกรอบประตูและหน้าต่าง พร้อมเลือกใช้กระจกบานใหญ่เพื่อทำให้ห้องพื้นที่เล็กนี้ดูโปร่งและกว้างขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีโซนพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ห้องอาหาร ห้องน้ำ ไปจนถึงล็อบบี้โรงแรมที่ตกแต่งออกมาในดีไซน์เรียบง่ายแต่น่าสนใจ ซึ่งโปรเจกต์การรีโนเวทครั้งนี้ตอบโจทย์ในเรื่องงบประมาณจำกัดได้อย่างดีเยี่ยม และการพลิกฟื้นอาคารเก่าสองอาคารที่มีจิตวิญญาณแตกต่างให้รวมเป็นความเด่นหนึ่งเดียวไม่เหมือนใครนี้ก็ยังสามารถสะท้อนถึงการเป็นตัวแทนของธุรกิจใหม่ในชุมชนที่พร้อมจะเดินหน้าร่วมกันเพื่อสร้างความเจริญให้กับเมืองนี้ต่อไปในอนาคต
สำหรับสถาปนิกที่รับผิดชอบการรีโนเวทครั้งนี้ก็คือ micelle ltd. แห่งเมืองเฮียวโกะซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกเล็ก ๆ แต่สร้างสรรค์ผลงานน่าสนใจมากมาย และมีแนวคิดในการรีโนเวทอาคารตลอดจนคงคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
Photo Credit
KOTOBUKI Hotel : https://kotobukihotel.com/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!