‘ธรรมดากับธรรมชาติ‘
เริ่มจากการที่คุณพ่อกับคุณแม่มีงานอดิเรกคือการมาดูแลปลูกผักสวนครัวบนที่ดินเก่าแก่ของครอบครัวในย่านพระรามเก้า และต้องการมีอาคารหลังเล็กๆสำหรับนั่งพักผ่อนคลาย ประกอบกับเป็นจังหวะที่ลูกชายต้องการสร้างเรือนหอ สำหรับอยู่อาศัยระยะสั้น ระหว่างรอสร้างบ้านหลังใหญ่สำหรับครอบครัวขยาย ซึ่งมีแผนจะสร้างในภายหลัง
บ้านชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัด จึงเป็นความต้องการที่ลงตัวของทุกคนในครอบครัว ทั้งในแง่งบประมาณ พื้นที่ใช้สอยและระยะเวลาในการก่อสร้าง
‘สอดรับกับธรรมชาติ‘
เนื่องจากทำเลที่ตั้ง มีต้นก้ามปูเป็นต้นไม้ดั้งเดิมอยู่กลางที่ดิน ทั้งสี่ต้นมีอายุหลายสิบปี ผู้ออกแบบจึงเลือกวางตัวบ้านบนพื้นที่ส่วนที่โล่ง ขนานไปตามความลึกของที่ดิน เพื่อเก็บรักษาต้นไม้เดิมไว้ ในขณะที่ตัวบ้านยังสอดรับกับต้นก้ามปู ทำให้เกิดความงามตามธรรมชาติจากแสงเงาที่ทอดผ่าน และยังจัดตำแหน่งของช่องเปิด ให้หันมุมมองเข้าหาธรรมชาติในจังหวะต่างๆ ของการใช้งาน
ที่มาของชื่อ Summer House เพราะเจ้าของบ้านชอบฤดูร้อน ชอบที่จะได้สัมผัสกับอากาศธรรมชาติ รวมไปถึงความโปร่งสบาย ที่ยังคงความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่เจ้าของบ้านตัดสินใจที่จะไม่ทำหลังคาโรงจอดรถ โดยยินดีที่จะได้สัมผัสกับแดดและฝนบ้างเป็นบางคราวในการเดินเข้าบ้าน
พื้นที่ใช้สอยในบ้านถูกจัดวางอย่างเรียบง่าย กะทัดรัด จากลานจอดรถเดินขึ้นบันไดเปลี่ยนระดับเพียงเล็กน้อย ก็จะเป็นพื้นที่ชานบ้านใต้ชายคา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นระเบียงทอดยาวตามความยาวของตัวบ้าน โดยระดับพื้นระเบียงถูกคิดให้นั่งได้สบาย สูงจากสวนในระดับเดียวกับเก้าอี้นั่งเล่น บางครั้งระเบียงนี้จึงกลายเป็นพื้นที่รับแขก ที่ไหลต่อเนื่องออกมาจากส่วนรับแขกภายในบ้าน
ระเบียงนั่งเล่นนี้เชื่อมต่อไปยังระเบียงส่วนหน้าบ้าน ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางขึ้น เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ที่เจ้าของบ้านสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับเล่นโยคะหรือกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆในวันที่อากาศดี อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นโถงต้อนรับ รับแขกของสตูดิโอ ที่เป็นพื้นที่ทำงานขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านหน้าของตัวบ้าน เพื่อที่แขกของสตูดิโอจะได้ไม่ต้องเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน
ส่วนนั่งเล่นและทานข้าวซึ่งเป็นพื้นที่หลักของบ้าน จัดวางเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันตามแนวสวน แม้ในฤดูร้อนอากาศภายในส่วนนั่งเล่นก็ไม่ร้อนนัก เนื่องจากอยู่ใต้ต้นไม้และผู้ออกแบบยังจัดวางให้ส่วนเตรียมอาหาร ห้องน้ำและห้องซักรีด เป็นห้องที่ช่วยกันความร้อนของแสงแดดจากทิศตะวันตก ก่อนที่ความร้อนจะเข้าสู่ส่วนนั่งเล่นอีกด้วย
พื้นที่ส่วนนั่งเล่น ออกแบบให้มีการยกฝ้าเพดานเอียงตามสโลปของหลังคา สร้างความรู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันหลังคาที่เอียงลงก็ยังช่วยขับเน้นและกรอบวิวของสวนและต้นก้ามปู ซึ่งเป็นหัวใจของบ้านหลังนี้
นอกจากนี้บานประตูหลักของส่วนนั่งเล่นที่หันเข้าหาสวน ยังถูกออกแบบให้เปิดซ่อนในผนังบ้านได้ทั้งบาน เพื่อทำลายรอยต่อของพื้นที่ระหว่างภายในกับภายนอก ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกผสานกับธรรมชาติได้มากขึ้น สามารถสัมผัสกับลมที่พัดผ่านโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด ได้รับการออกแบบให้ตอบโจทย์ความชอบของเจ้าของบ้าน เช่นการจัดพื้นที่เตรียมอาหารให้มีเคาน์เตอร์ลอยตัว เพื่อตอบความหลงใหลในการชงกาแฟของเจ้าของบ้าน ให้การใช้งานเป็นเสมือนบาร์เล็กๆสำหรับชงกาแฟพร้อมเสิร์ฟ โดยสามารถพูดคุยกับเพื่อนๆที่มาเยี่ยมเยียนไปด้วย
และเนื่องจากตัวบ้านมีพื้นที่จำกัด การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงพื้นที่เก็บของใช้สอยต่างๆในชีวิตประจำวัน นอกจากส่วนที่ต้องการให้เป็นชั้นวางแก้ว ขวดไวน์และของสะสมเล็กๆน้อยๆของเจ้าของบ้านแล้ว เฟอร์นิเจอร์บิ้วท์อินจึงเน้นเป็นตู้บานทึบ ทั้งในส่วนเตรียมอาหารและส่วนซักรีด รวมไปถึงกระจกเงาในห้องน้ำก็ซ่อนชั้นเก็บของไว้ด้านหลัง เพื่อให้การใช้งานพื้นที่เป็นไปอย่างคุ้มค่า
แม้แต่ตู้เก็บรองเท้า ก็ถูกซ่อนอยู่ตรงผนังหน้าทางขึ้นชานบ้าน โดยบานตู้ถูกออกแบบให้เป็นวัสดุเดียวกับผนังลายไม้ที่กรุภายนอกอาคาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย
‘ละเอียดอ่อน แต่เรียบง่าย‘
ภายใต้ความเรียบง่ายที่ดูอบอุ่นของบ้านทรงจั่วหลังนี้ ยังแฝงไว้ด้วยรายละเอียดที่ถูกออกแบบด้วยความเอาใจใส่ ทั้งวิธีจบพื้นกับผนัง ดีเทลการจบขอบพื้นระเบียง การซ่อนบานประตูในผนังบ้าน หรือแม้แต่การซ่อนรางม่านระหว่างแนวจบฝ้าเพดาน พี่เอียงลงมาจบเสมอกับขอบบนของบานประตู
ทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นเป็นบ้านที่ดูสงบ เรียบง่าย เป็นความธรรมดาที่ผสานเข้ากับธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงรายละเอียดด้วยความเอาใจใส่ แม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็ตอบโจทย์ ทั้งยังแฝงด้วยความละเอียดอ่อนและมีคุณค่ากับผู้อยู่อาศัย
Something More:
‘สบายกาย สบายใจ‘ วัฒนธรรมและความเชื่อของเจ้าของบ้านเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบให้ความเคารพ เพราะการอยู่อาศัยนอกจากสบายกายแล้วยังต้องรู้สึกสบายใจด้วย นอกจากทิศ แดด ลมและบริบทต่างๆ การวางผังและการจัดเรียงพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านทั้งหมด จึงถูกออกแบบให้เป็นไปตามหลักฮวงจุ้ยด้วย ทั้งตำแหน่งและขนาดประตูทางเข้า ตำแหน่งโต๊ะอาหาร หัวเตียง เตาและอ่างล้างจาน ไปจนถึงตำแหน่งไฟดาวน์ไลท์ เพื่อตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติ
*คำอธิบายทั้งหมดโดยผู้ออกแบบ (Text description by the architects)
Location : พระราม9 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 120 ตารางเมตร
Completion Year : 2022
Architects & Interior : AKAS Architects
Lead Architects: กมลชนก วิจักขณ์พันธ์ และสูรย์ ไทยถาวร
Photographer credits: Acki
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!