Pruitt-Igoe เมื่อสถาปัตยกรรมตกเป็นแพะรับบาป

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1972 สามอาคารได้ถูกรื้อถอนด้วยระเบิดไดนาไมต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นในจุดจบของโครงการพรูอิท-ไอกูซึ่งเคยมีผู้อาศัยมากกว่าหมื่นคน ในขณะนั้นอาคารแทบทุกหลังมีสภาพไม่ต่างอะไรกับอาคารร้าง หน้าต่างทุกบานเสียหายและแตกหัก ทางเดินที่ปกคลุมไปด้วยวัชพืช และมีเศษขยะเกลื่อนไปทั่ว โครงการบ้านเอื้ออาทรที่โด่งดังมากที่สุดครั้งหนึ่ง ตอนนี้ได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรและขบวนการค้ายาเสพติด ซ้ำร้ายคือเหล่าสถาปนิกด้วยกันเอง กลับพร้อมใจกันชี้นิ้วไปที่ผู้ออกแบบว่าเป็นสาเหตุหลักของความล้มเหลวทั้งหมด

ปี ค.ศ. 1972 รัฐบาลได้สั่งให้เริ่มรรื้อถอนอาคารในโครงการพรูอิท-ไอกู พร้อมกับถ่ายทอดสดออกไปทั่วประเทศ ภาพจาก http://www.moma.org

สงครามโลกครั้งที่สองได้นำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือการหลั่งไหลเข้ามาของคนชนชั้นแรงงานเพื่อเข้ามาหางานทำในตัวเมือง เนื่องจากแรงงานภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในสลัมใกล้ที่ทำงานบริเวณใจกลางเมือง ในขณะที่มีชนชั้นแรงงานจำนวนมากไหลเข้ามา ก็มีกระแสของชนชั้นกลางย้ายออกจากใจกลางเมือง ไปอาศัยบริเวณชานเมืองที่สภาพแวดล้อมดีกว่าและราคาถูก เมื่อศูนย์กลางอุตสาหกรรมซึ่งผูกติดกับชนชั้นกลางย้ายออกไป ทำให้เงินภาษีที่เมืองเซนต์หลุยส์ควรจะได้รับเริ่มกระจัดกระจายออกไปด้วย

ผังเมืองเซนต์หลุยส์ เพื่อประเมินการกวาดล้างสลัมก่อนการพัฒนาที่ดิน ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/3842713373/ โดย Pruitt-Igoe Myth

ท่ามกลางรายได้จากภาษีที่ลดลง ใจกลางเมืองที่กำลังเสื่อมโทรม และการเปลี่ยนแปลงฐานประชากรครั้งใหญ่ของเมืองเซนต์หลุยส์ นักพัฒนาเมืองยังคาดการณ์เชิงบวกว่าในปี 1970 จะมีประชากรเมืองเซนต์หลุยส์มากกว่าล้านคน ทางการจึงนำกฎหมาย กฎหมายการเคหะแห่งชาติ ค.ศ.1949 (Housing Act 1949) มาใช้ ซึ่งมีใจความสำคัญว่ารัฐบาลกลางจะให้เงินสนับสนุนโดยตรงเพื่อพัฒนาเมือง กวาดล้างพื้นที่สลัม และการสร้างบ้านเอื้ออาทร (Public Hosing) จุดประสงค์เพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาเช่าซื้อพื้นที่สำหรับทำธุรกิจ เพื่อยกระดับราคาที่ดินใจกลางเมืองให้สูงขึ้น และคืนชีวิตให้กับเมืองเซนต์หลุยส์ ช่วงปี จึงเกิดโครงการใหม่ๆมากมายเช่น ประตูโค้งเจฟเฟอร์สัน (Jefferson Gateway Memorial Arch) หรือ สนามกีฬาบุช (Busch Stadium) และ บ้านเอื้ออาทรกว่า 7,000 ยูนิต โครงการพรูอิท-ไอกุเป็นหนึ่งในโครงการบุกเบิกเพื่ออนาคตที่สดใสตามการคาดกาณ์เหล่านักการเมืองและนักธุรกิจ

การกวาดล้างสลัมในเมืองเซนต์หลุยส์ ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/5477211026/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth

กว่าจะเป็นโครงการพรูอิท-ไอกู

พรูอิท-ไอกู ชื่อเต็มมาจาก เวนเดลพรูอิท แอนด์ วิลเลียมไอกู โฮมส์ (Wendell Pruitt and William Igoe Homes) เป็นหนึ่งในนโยบายพัฒนาเมืองเซนต์หลุยส์ อาคารสูง 11 ชั้น หน้าตาเหมือนกันทั้งหมด 33 อาคาร นำโดยสถาปนิกดาวรุ่ง มิโนรุ ยามาซากิ (Minoru Yamasaki) เป็นผู้ออกแบบหลัก ร่วมกับ จอร์จ เฮลมุธ (George F. Hellmuth) และ โจเซฟ ลินด์วีเบอร์ (Joseph Leinweber) โดยการเคหะเมืองเซนต์หลุยส์ เป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น สถานที่ ขนาดโครงการ จำนวนยูนิต และความหนาแน่นของผู้ใช้งาน แบบร่างแรกจากยามาซากิประกอบด้วยทั้งอาคารสูงและต่ำ โดยเน้นอาคารอยู่อาศัยที่ไม่ต้องใช้ลิฟต์ (walk-up structure) รวมไปถึงสนามเด็กเล่นและพื้นที่สาธารณะจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเน้นแนวคิดในเรื่องอัตลักษณ์ในแต่ละอาคาร สัดส่วนมนุษย์ สีสันและวัสดุอาคารหลากหลาย ทำให้โครงการดูเป็นมิตรกับผู้ใช้ แต่ทางกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองแห่งสหรัฐอเมริกา (Public Housing Administration, P.H.A) ไม่อนุมัติ และให้เปลี่ยนเป็นอาคารสูง 11 ชั้น หน้าตาเหมือนกันทั้งหมด 33 อาคาร นอกจากนี้ยังเพิ่มความหนาแน่นของผู้ใช้เกือบสองเท่า เปลี่ยนพื้นที่สาธาณะเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่ และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้สงครามเกาหลี (Korea War 1950-1953) ยังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและขาดแคลนวัสดุ ทำให้ต้องลดสเปควัสดุอาคารลง อาคารหลากสีต่างวัสดุในแนวคิดเดิมของสถาปนิกจึงเหลือเพียงอาคารสีเทาเรียงรายจนสุดขอบฟ้า

ประตูโค้งเจฟเฟอร์สัน (ค.ศ.1962-1965) ผลงานสถาปนิกชาวฟินแลนด์ อีโร ซาริเนน

ถึงแม้ว่าแบบอาคารและนโยบายจะถูกปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้งจากรัฐบาล (ผ่านการลอบบี้ของนักธุรกิจรายใหญ่บางคน) แต่สถาปนิกก็สามารถสอดแทรกแนวคิดใหม่ๆเข้าไปในอาคารได้ อาคารพรูอิทไอกูเป็นโครงการแรกๆในสหรัฐอเมริกาที่นำนวัตกรรม Skip Stop Elevator มาใช้ ซึ่งเป็นลิฟต์ที่จะหยุดทุกๆสามชั้นเพื่อประหยัดไฟ นอกจากนี้ในทุกๆชั้นดังกล่าว ทางเดินจะกว้างกว่าสามเมตร เพื่อใช้เป็นพื้นที่เล่นของเด็กๆ ในปี 1951 โครงการพรูอิท-ไอกู ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Architecture Forum ว่าเป็นอาคารสูงประเภทอพาร์ทเมนต์ที่ดีที่สุด ด้วยการใช้ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ พื้นที่สีเขียวกว้างขวางรอบอาคาร และการนำนวัตกรรมลิฟต์ Skip Stop Elevator มาใช้ อีกทั้งยังกล่าวว่าเป็นตัวอย่างที่อยู่อาศัยรวมแห่งอนาคตอีกด้วย

แบบเบื้องต้นของโครงการ จะเห็นได้ว่าสถาปนิกมีการลงรายละเอียดไว้มากมายเช่น พื้นที่สาธารณะ ภูมิทัศน์ รวมถึงอาคารร่วมรวมต่างๆ เช่น ห้องสมุด และ อาคารศูนย์ชุมชน ภาพจาก https://www.archdaily.com/870685/ad-classics-pruitt-igoe-housing-project-minoru-yamasaki-st-louis-usa-modernism
โครงการพรูอิท-ไอกูหลังสร้างเสร็จ ภาพจาก https://www.theguardian.com/cities/2015/apr/22/pruitt-igoe-high-rise-urban-america-history-cities

หลังสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1954 โครงการพรูอิท-ไอกูประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีอัตราผู้เช่า (Occupancy Rate) กว่า 91% ในอีกสามปีต่อมา ถึงแม้ว่าอาคารจะถูกสร้างด้วยวัสดุราคาไม่แพงก็ตาม แต่ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในอาคารนั้น ถือว่าดีกว่าสภาพแวดล้อมเดิมในสลัมมาก ผู้อาศัยบางคนเรียกว่าพรูอิท-ไอกูว่าเป็นเพนท์เฮาส์ของคนจน (The Poor man’s penthouse) บางคนเปรียบเป็นของขวัญวันคริสมาสต์ที่ดีที่สุดในชีวิต ในทุกพื้นที่ของพรูอิท-ไอกูในช่วงแรกนั้นเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สีสัน เสียงเพลง และเสียงหัวเราะของเด็กๆ  

ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมเริ่มปรากฎออกมา

ปีค.ศ. 1958 สถานการณ์ของเมืองเซนต์หลุยส์เริ่มย่ำแย่ลง ประชากรในเมืองลดลงอย่างฮวบฮาบ ต่างจากการคาดการณ์โดยสิ้นเชิง คนชนชั้นกลางจำนวนมากเลือกที่จะย้ายออกไปอาศัยในแถบชานเมืองในบ้านเดี่ยวลักษณะอเมริกันดรีม มากกว่าจะเสี่ยงดวงในตัวเมืองที่ภาษีสูงกว่า เมื่อประชากรชนชั้นกลางส่วนใหญ่ย้ายออกไป ฐานอุตสาหกรรมก็ย้ายตามไปด้วย เกิดเป็นความเจริญ แหล่งชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน และการขยายตัวในลักษณะกระจัดกระจาย (Sprawl)  สำหรับคนที่อาศัยในพรูอิท-ไอกูซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน ก็ต้องประสบปัญหาเนื่องจากที่ทำงานย้ายออกไปไกลจากที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้เช่าที่พอมีเงินต้องกัดฟันย้ายตามไปเช่นกัน อำนาจกำลังถูกย้ายออกไป ทิ้งให้เมืองเซนต์หลุยส์ตายลง

อาคารพรูอิท-ไอกู ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/3984959354 โดย Pruitt-Igoe
บ้านลักษณะอเมริกันดรีมตามชานเมือง ทำให้เกิดการขยายตัวแบบ Sprawl ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/5476608123/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth
ผู้อาศัยออกมาประท้วงค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้น ภาพจาก https://www.businessinsider.com/pruitt-igoe-myth-public-housing-project-2013-5#rents-rose-as-maintenance-costs-skyrocketed-and-residents-began-to-move-out-because-they-could-pay-less-for-private-housing-17

หนึ่งในข้อตกลงหลายอย่างของโครงการพรูอิท-ไอกูคือ ถึงแม้ทางรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างอาคาร แต่ค่าดูแลรักษาอาคารทั้งหมดนั้นผู้เช่าต้องเป็นคนจ่าย ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้เช่าเริ่มลดลง รัฐบาลจึงตัดสินใจขึ้นค่าเช่า ช่วงท้ายคริสศตวรรษ 1960 ค่าเช่าห้องพุ่งสูงขึ้นถึงสามเท่าภายในหนึ่งปี บางครอบครัวต้องจ่ายรายได้ถึงสามในสี่ส่วนเพื่อไปเป็นค่าเช่าในแต่ละเดือน นอกจากนี้ผู้อาศัยยังถูกกดดันจากสภาวะสังคมด้วย เดิมทีโครงการพรูอิท-ไอกูถูกพัฒนาโดยแบ่งแยกผิวสี (พรูอิทสำหรับคนผิวดำ ไอกูสำหรับคนผิวขาว) ถึงแม้ศาลสูงได้สั่งการให้รวมทั้งสองเข้าด้วยกัน แต่คนที่อาศัยทั้งในพรูอิทและไอกูก็เป็นคนผิวดำเสียส่วนใหญ่ จึงตกเป็นเป้าโจมตีของการเหยียดสีผิวและชนชั้นจากภายนอกเป็นประจำ

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวสีที่คุกรุ่นในขณะนั้น ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/3859323986/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth

อีกหนึ่งในนโยบายที่ฟังดูไร้มนุษยธรรม เมื่อพิจารณาจากบริบทในปัจจุบันคือ สำหรับครอบครัวใดที่มีสามี ครอบครัวนั้นจะไม่มีสิทธิ์ย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการพรูอิท-ไอกู เนื่องจากถือว่าสามียังสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นสามีจะตกงานและไม่มีรายได้ก็ตาม หลายครอบครัวจึงตัดสินใจแยกกันอยู่เพื่อให้ภรรยาและลูกๆได้ย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการ ทำให้เหล่าสามีต้องหลบๆซ่อนๆเข้ามาเพื่อมาหาครอบครัว บ้างก็ต้องหลบในตู้เสื้อผ้าเมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจตรา นอกจากเหล่าสามีแล้ว โครงการพรูอิท-ไอกูยังมีผู้ชายเข้าออกอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เป็นคนเพิ่งกลับจากสงครามเวียดนามซึ่งจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และคนภายนอกที่ถูกชักชวนมา คนเหล่านี้ได้เข้ามาใช้พื้นที่ตามทางเดินหรือซอกหลืบอาคารเพื่อหลบเจ้าหน้าที่ กินเหล้า เล่นยา และก่ออาชญากรรม เด็กๆที่ได้รับอิทธิพลจากคนเหล่านี้บางส่วนกลายเป็นกลุ่มวัยรุ่นหัวรุนแรงในภายหลัง

ตำรวจเดินตรวจตราในอาคาร เนื่องจากจำนวนคดีอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น ภาพจาก https://www.facebook.com/thepruittigoemyth/photos/pb.100054863396381.-2207520000../232301883489222/?type=3

สู่ พรูอิท-ไอกู สัญลักษณ์แห่งความเหลื่อมล้ำ

อาคารที่ถูกสร้างด้วยงบประมาณขั้นต่ำในขณะนี้เริ่มทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ฮีทเตอร์ไม่ทำงาน ท่อน้ำแตก ประตูหน้าต่างแตกหัก หลอดไฟตามทางเดินถูกทุบ ลิฟต์กลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักเนื่องจากไม่สามารถรองรับคนกว่า 300 คนต่อตัวได้ เด็กๆที่กะเวลาไม่ทันจำเป็นต้องปล่อยให้เรี่ยราดอยู่ในนั้น ทำให้ลิฟต์เต็มไปด้วยกลิ่นของเสียอยู่ตลอดเวลา การที่จะต้องง้างประตูลิฟต์และไต่ตามสายเคเบิ้ลไปที่ชั้นของตัวเอง หรือการที่ต้องระดมคนไปช่วยผู้ที่ติดอยู่ในลิฟต์ ดูเหมือนกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำวันไปเสียอย่างนั้น และเมื่องบดูแลรักษาอาคารลดลง ในที่สุดก็ไม่เพียงพอที่จะจ้างช่างเข้ามาทำความสะอาด หรือซ่อมแซมอาคารพรูอิท-ไอกูได้อีก

สภาพภายในอาคารพรูอิท-ไอกู ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/3860141156/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth
ขยะล้นออกมาจากเตาเผาที่เสียเป็นประจำ ภาพจาก https://www.businessinsider.com/pruitt-igoe-myth-public-housing-project-2013-5#overflowing-trash-incinerators-would-break-and-never-get-fixed-14

เมื่อถูกถาโถมทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ผู้อาศัยจึงเกิดพฤติกรรมการทำลายทรัพย์สิน (Vandalism) อย่างรุนแรง การสัญจรแบบคอขวดที่ลิฟต์จะหยุดทุกๆสามชั้นทำให้ผู้อาศัยต้องเดินผ่านแกลลอรี่ไปที่ห้องตัวเองนั้นทำให้ง่ายต่อการดักซุ่มโจมตี ทางเดินแกลลอรี่ที่สถาปนิกตั้งใจให้เป็นพื้นที่เด็กเล่นภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง ตอนนี้กลายเป็นทางเดินมืดสลัวที่เกิดคดีอาชญากรรมในทุกๆวัน การแก้ปัญหาของรัฐบาล ด้วยการต่อเติมกรงเหล็ก รวมถึงนำเจ้าหน้าที่เข้ามาเฝ้าบริเวณทางเดิน ทำให้สภาพแวดล้อมภายในอาคารดูเหมือนคุกมากขึ้นไปอีก ในหลายครั้งผู้อยู่อาศัยก็โยนเศษอิฐหรือระเบิดขวดลงมาใส่ตำรวจที่เข้าไปทำหน้าที่ในอาคาร รวมถึงโจมตีรถดับเพลิงและรถพยาบาลด้วย หลังจากนั้นระยะหนึ่ง ก็ไม่มีตำรวจและเจ้าหน้าที่เข้ามาที่โครงการพรูอิท-ไอกูอีก ถึงแม้จะมีคนโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือเป็นประจำก็ตาม

สภาพอาคารพรูอิท-ไอกู จากพฤติกรรมทำลายทรัพย์สินของผู้เช่าอาคาร https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/5477212246/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth

ในช่วงสุดท้ายของโครงการ ชื่อพรูอิท-ไอกูกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดสีผิว ความยากจน ยาเสพติด และอาชญากรรม ผู้อาศัยในโครงการกลายเป็นที่หวาดกลัวของคนภายนอก ส่วนผู้อาศัยก็หวาดระแวงคนที่อยู่ในอาคารด้วยกัน กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นขมขื่น ขบวนการค้ายาเสพติดเข้าไปจับจองอาคารที่ถูกทิ้งร้าง ด้วยขนาดโครงการที่ใหญ่เกินไปและการดูแลที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ตำรวจไม่สามารถเข้าไปตรวจพื้นที่ทั้งหมดได้ เหล่าอาชญากรจึงเข้าออกอาคารได้เป็นว่าเล่น เสียงปืนกลายเป็นเสียงที่ได้ยินในทุกๆวัน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1972 สามอาคารในโครงการได้ถูกรื้อถอนและถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ สี่ปีต่อมาอาคารทุกหลังได้ถูกทุบทำลายจนหมด ผู้ที่เคยอาศัยต่างก็ต้องกระจัดกระจายไปตามส่วนต่างๆของเมือง เป็นการปิดฉากโครงการพรูอิท-ไอกู ที่เคยโด่งดังที่สุดโครงการหนึ่งในเมืองเซนต์หลุยส์

ชื่อโครงการพรูอิท-ไอกูปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ ในฐานะโครงการที่เป็นอันตรายต่อสังคม ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/3984958796/ โดย Pruitt-Igoe Myth

เมื่อสถาปัตยกรรมกลายเป็นแพะรับบาป

ในสายตาของเหล่าสถาปนิกและผู้ออกแบบในขณะนั้น ความล้มเหลวของโครงการพรูอิท-ไอกูสามารถสรุปสาเหตุได้สั้นๆว่า เป็นเพราะแนวคิดในงานออกแบบที่ล้มเหลว ในปี 1965 นิตยสาร Architectural Forum ได้ออกบทความเกี่ยวกับพรูอิท-ไอกูเป็นบทความที่สองชื่อ The Case History of a Failure ซึ่งมีเนื้อหาต่างจากถ้อยคำยกย่องชมเชยในบทความแรกในปี 1951 โดยสิ้นเชิง มีใจความโดยสรุปว่า ‘นวัตกรรมลิฟต์ที่หยุดทุกๆสามชั้นนั้น ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยนอกจากช่วยให้อาชญากรก่อคดีง่ายขึ้น ทางเดินแกลลอรี่ในความจริงห่างไกลจากคำว่าพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวาโดยสิ้นเชิง หลังจากมีเด็กสามคนตกลงมาถึงมีการติดเหล็กดัดที่หน้าต่าง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สายเกินไป’ นอกจากนี้นิตยสารเช่น ไลฟ์, ไทม์, เดอะ วอชิงตันโพสต์, เดอะ เนชั่นแนล ออบเซิฟเวอส์ และนิตยสารชื่อดังอื่นๆก็ได้ลงบทความกล่าวโทษสถาปนิกและตัวสถาปัตยกรรมว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของโครงการ

ซากอาคารพรูอิท-ไอกู ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/5472662142/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth

สื่อส่วนใหญ่กล่าวหาไปในทางเดียวกันคือ สถาปนิกไม่ได้เข้าใจความต้องการของชนชั้นแรงงานที่อาศัยในโครงการ และพยายามนำวิถีชีวิตของคนขาวชนชั้นกลางเป็นหลักในการออกแบบ ซึ่งเป็นการกล่าวเชิงเหยียดเป็นนัย ดังตัวอย่างจากบทความหนึ่งในนิตยสาร The Washington Post ซึ่งเขียนว่า ‘โครงการพรูอิท-ไอกูแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้ากันของอาคารสูงกับครอบครัวผู้ยากไร้ ที่คนรุ่นพ่อพวกเขายังอาศัยอยู่ในไร่นา’ หนังสือ Defensible Space (ค.ศ. 1972, ปีเดียวกับการรื้อถอนอาคาร) ของออสการ์ นิวแมน (Oscar Newman) เป็นอีกหนึ่งหมัดฮุคเข้าไปที่สถาปนิก นิวแมนได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ทางกายภาพและพฤติกรรมมนุษย์ การทำลายทรัพย์สินและความรุนแรงของผู้อาศัยนั้นเนื่องจากมีพื้นที่ไร้การป้องกันตัว (Indefensible Space) จำนวนมากในอาคาร เช่นทางเดินที่ยาวเกินไปและอับสายตา การออกแบบที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานจะทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหินและไม่เป็นเจ้าของ ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้ไม่สนใจที่จะดูแลอาคารและปล่อยให้เกิดคดีต่างๆตามมา

เข็มกลัด MAKE PRUITT-IGOE #1 แสดงถึงความพยายามที่จะให้อนาคตของพวกเขาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/ โดย Pruitt-Igoe Myth

ไม่เพียงแค่นั้น นักวิจารณ์ยังพุ่งเป้าไปที่ ลุดวิก ฮิลเบอร์ไซเมอร์ (Ludwig Hilberseimer), เลอกอร์บูซีเย (le Corbusier) และ สภาศิลปสถาปัตยกรรมทันสมัย (Congrès Internationaux d’Architecture Moderne, CIAM) ที่เป็นแกนนำแนวคิดการออกแบบสไตล์โมเดิร์นในยุคนั้น ในสายตาของนักออกแบบแนวอนุรักษ์นิยม (Conservative) และโพสต์โมเดิร์น (Post-modern) นี่คือต้นเหตุของความล้มเหลวทั้งปวง นิตยสาร Architect’s Journal เขียนคอลัมน์ชื่อ The Modern’s Movement Most Grandiloquent Failure กล่าวหาว่าแนวคิดโมเดิร์นนั้นไม่ได้คำนึงถึงมนุษย์โดยสิ้นเชิง หรือ ในหนังสือ The Language of Post Modern Architecture ของชารลส์ เจงคส์ (Charles Jenck, 1939-2019) กล่าวว่า ‘โครงการพรูอิท-ไอกู ภายใต้อิทธิพลของ เลอกอร์บูซีเยและสภาศิลปสถาปัตยกรรมทันสมัย ได้จบลงแล้ว

เด็กๆที่อาศัยในโครงการ บนลานคอนกรีตหน้าอาคารพรูอิท-ไอกู ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/pruitt-igoe/5327416049/in/dateposted/ โดย Pruitt-Igoe Myth

การกู้คืนชื่อเสียงของ พรูอิท-ไอกู

แต่โครงการพรูอิท-ไอกูไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวตลอดไป เนื่องจากภายหลังได้มีงานเขียนและงานค้นคว้ามากมายที่ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาต่อโครงการพรูอิท-ไอกู โดยเฉพาะงานเขียน The Pruitt Igoe Myth ของ แคทเทอรีน บริสทอล (Katharine G. Bristol) ในนิตยสาร Journal of Architectural Education ที่ได้เล่าถึงสาเหตุที่แท้จริงของความล้มเหลว ที่มากกว่าแค่แนวคิดการออกแบบ แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรฐกิจ ภายใต้นโยบายต่างๆของผู้มีอำนาจ นอกจากนี้ภาพยนตร์ The Pruitt-Igoe Myth (ค.ศ. 2011) กำกับโดย แชด เฟดเดอริคส์ (Chad Freidrichs) ก็ได้ช่วยตีแผ่ความจริงออกไปสู่สายตาของชาวโลกว่าสถาปัตยกรรมนั้นเป็นผู้เสียหาย เป็นการกอบกู้ชื่อเสียงของโครงการพรูอิท-ไอกู ให้สมกับที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิตของใครหลายคน

References
Bristol, K. G. (1991). The Pruitt-Igoe Myth. Berkeley: University of Califonia.
Freidrichs, C. (Director). (2011). The Pruitt-Igoe Myth [Motion Picture].
Frondorf, E. (n.d.). Pruitt-Igoe: Utopic Expectations Meet Tenement-Infused Realities. Retrieved from https://ctl.yale.edu/sites/default/files/files/Frondorf-American%20Studies5.pdf
U.S. Department of Housing and Urban Development’s. (n.d.). Why Did Pruitt-Igoe Fail? Retrieved from https://www.huduser.gov/portal/pdredge/pdr_edge_featd_article_110314.html

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน