Tiny House
บ้านไซส์กระทัดรัด สุขแบบง่าย ๆ แต่อยู่สบายเกินคาด

หลายครั้ง หัวใจสำคัญของบ้านก็ไม่ใช่แค่เรื่องของขนาด แต่รวมไปถึงสมาชิกผู้อยู่อาศัย งบประมาณ และสถานที่แวดล้อมรอบกาย บ้านในฝันของใครหลายคนจึงอาจเป็นเพียงภาพบ้านชนบท ขนาดไม่ใหญ่ที่อยู่สบาย เรียบง่ายไม่ซับซ้อนและแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ

เราชวนมาชม 7 แบบบ้านไซส์กระทัดรัด แต่อยู่สบายเกินคาดที่สามารถเก็บไปเป็นไอเดียออกแบบบ้านในฝันได้ในอนาคต

01 FARMSUP HOUSE
บ้านขนาดพอดีที่ปลีกตัวจากบทบาทคนเมืองออกมาฟังเสียงธรรมชาติในสวนเกษตร

ในวันที่วิถีคนเมืองเริ่มอิ่มตัว ความสงบเงียบท่ามกลางธรรมชาติคือสิ่งที่หลายคนตามหา สองคู่รักเจ้าของบ้านก็คิดไม่ต่างกัน ก่อนจะหลบความวุ่นวายออกมาสร้างวันแสนเรียบง่ายในบ้าน FARMSUP แถบชานเมืองจังหวัดปทุมธานี โดยได้สถาปนิกคนสนิทอย่าง I like design studio มาออกแบบร่างเป็นบ้านพักตากอากาศที่อยู่ท่ามกลางสวนเกษตร

สัดส่วนของสองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างถูกแบ่งให้ฝั่งหนึ่งของตัวบ้านเป็นวิลล่าตากอากาศขนาด 100 ตารางเมตรที่ประกอบด้วย ห้องนอนบนชั้นลอย แพนทรี่ ห้องน้ำ พื้นที่นั่งเล่น พร้อมเฉลียงข้างบ้านที่ถูกออกแบบยื่นออกไปทั้งสองฝั่ง ส่วนฝั่งซ้ายกลายเป็นโรงนากรุด้วยเมทัลชีทสำหรับเก็บอุปกรณ์การเกษตร โดยทั้งสองส่วนถูกเชื่อมกันด้วยคอริดอร์ที่ให้ความรู้สึกไม่ห่างเหิน และทำให้บ้านหลังคาจั่วชั้นเดียวหลังนี้มีช่องเปิดที่เอื้อให้ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปได้อย่างคล่องตัวตามธรรมชาติ

Gross Built Area : 100 ตารางเมตร
Architect : I like design studio
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3eMmFAo

02 Budget house in Angthong
บ้านจากวัสดุหาง่าย ที่สร้างได้ไว ในงบประมาณจำกัด

Budget house in Angthong  สร้างขึ้นในพื้นที่โรงงานแปรรูปน้ำมันรำข้าว จังหวัดอ่างทอง โดยเจ้าของบ้านต้องการสร้างที่พักตากอากาศภายในพื้นที่ทำงานของตัวเองเพื่อลดเวลาเดินทางไปกลับบ้านและโรงงานที่อยู่กันคนละจังหวัด โจทย์จึงต้องเป็นบ้านที่เหมาะกับการเข้าพัก 3-4 วันต่อสัปดาห์ ดูแลรักษาง่าย ผ่อนคลายได้อย่างเป็นส่วนตัว ราคาก่อสร้างตามงบจำกัด และสามารถทำเสร็จได้ไว โดยโจทย์ทั้งหมดถูกส่งไปถึงมือของ PHTAA living design ทีมออกแบบที่ตั้งใจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์เอาชนะความท้าทายในครั้งนี้

Gross Built Area : 128 ตารางเมตร
Architect : PHTAA living design
ภาพ: Beer Singnoi
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3EZXogG

03 Wood and Mountain Cabin
กระท่อมไม้สัญชาติไทยท่ามกลางภูเขาภายใต้แนวคิด Shou-Sugi Ban

จากไอเดียบ้านกระท่อม เจ้าของโครงการได้ส่งมอบต่อไปยังทีมสถาปนิก SHER MAKER จึงทำให้เกิดขึ้นเป็นกระท่อมที่พักขนาดเล็กที่ตั้งอยู่อย่างเงียบสงบในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จากแบรนด์ Wood and Mountain และ If I were a carpenter แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยผู้รักงานไม้และภูมิปัญญาดั้งเดิม

ภาษาการออกแบบเรียบง่าย โดยสถาปนิกเลือกใช้โครงสร้างไม้และระบบผนังที่สามารถพบได้ทั่วไปในภาคเหนือ ภายนอกอาคารกรุผิวด้วยไม้เก่าจากแหล่งต่างๆ ในเชียงใหม่ รวบรวม คัดแยก ขัดเปิดผิวและนำมาแปรรูปใช้ซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีการเผาผิวไล่สี  ทำให้  Life Circle ของวัสดุเกิดการใช้งานใหม่และถือเป็นการดึงเอาความพิเศษของวัสดุและกระบวนการนั้น ๆ ออกมาขับทำให้โดดเด่น

Gross Built Area : 100 ตารางเมตร
Architect : SHER MAKER
ภาพ: Rungkit charoenwat
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3gmraSL

04 ‘บ้านพอดี พอดี’
เมล็ดพันธุ์ทางความคิดของที่อยู่อาศัยขั้นพื้นฐานที่แก้ไขปัญหาในยามเกิดมหาอุทกภัย

บ้านที่พอดีสำหรับทุกคนเป็นแบบไหน ? เชื่อว่าหลายคนคงให้นิยามของคำว่าบ้านแตกต่างกันไป แต่สำหรับบ้านพอดี พอดี แล้ว จุดมุ่งหมายสำคัญกลับแตกต่างออกไป ด้วยการออกแบบจากความต้องการพื้นฐานในการอยู่อาศัย และยังแก้ไขปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัยในยามเกิดมหาอุทกภัยในปี 54 ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของโปรเจ็กต์นี้ บ้านพอดี พอดี จึงเป็นแบบบ้านขนาด 36 ตร.ม. ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ช่าง และประชาชน ซึ่งได้ Walllasia มาเป็นสถาปนิกของโครงการ

จากความต้องการขั้นพื้นฐาน ตอบโจทย์เรื่องของอุทกภัย สู่การมองย้อนกลับไปถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ บ้านพอดี พอดี จึงถูกออกแบบให้มีใต้ถุนสูง 1.9 เมตร เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือกับเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้า ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นบ้านไทยเอาไว้อย่างภาคภูมิ

Gross Built Area : 36 ตารางเมตร
Architect : Walllasia
ภาพ: ภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน และ อรัญรัตน์ ประถมรัตน์ / Spaceshift และ Design for Disasters (D4D)
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3TTajFF

05 บ้านหิ่งห้อย หลังน้อยใต้ร่มยางพารา ที่ชวนให้เราคิดว่าจริงๆแล้ว เรา(ต้อง)อยู่ที่ไหนก็ได้

บ้านหิ่งห้อยเป็นโปรเจ็กต์เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างปุบปับ ก่อสร้างเป็นบ้านพักชั่วคราวสำหรับสมาชิกหลัก 3 คนของบ้าน โดยออกแบบตามสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบ สู่เงื่อนไขและความพยามที่ผู้ออกแบบแทรกอาคารหลังน้อยให้อยู่อย่างสงบ ๆ กับธรรมชาติ อย่างเช่น ช่วงเวลาก่อสร้างที่ได้สังเกตพฤติกรรมของธรรมชาติ ซึ่งบังเอิญอยู่ในช่วงพายุฤดูร้อนพอดี จึงได้เห็นขอบเขตพื้นที่การโยกของลำต้นยางพารา ซึ่งมีผลกับการเจาะช่องหลังคาต่าง ๆ ตามตำแหน่งของลำต้น

Gross Built Area : 59 ตารางเมตร
Architect : เถลิงรัฐ ทีคำแก้ว
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3Sav4v6

06 Mini Container House บ้านขนาดย่อมจากตู้คอนเทนเนอร์เหลือใช้

นี่ไม่ใช่บ้านหลังแรกที่ ครอบครัวเจ้าของบ้านเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาทำเป็นอาคาร เพราะบริเวณติดกันนั้น คือผลงานการออกแบบบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์หลังแรกซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้วนับปี ก็ยังมั่นใจว่าเจ้าตู้เหล่านี้ สามารถอยู่อาศัยได้ ไม่ร้อน ไม่รั่ว รวมถึงสร้างความสุขในการอยู่อาศัยได้จริง

ผู้ออกแบบบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์ขนาดกำลังดีนี้คือ Wish Architect Design Studio ซึ่งมีการหยิบนำวัสดุที่เกิดจากการตัดผนังเหล็กของตู้เพื่อทำเป็นช่องเปิดหน้าต่างและประตูของบ้านหลังเดิม มาใช้เป็นผนังของบ้านหังนี้เกือบทั้งหมด เพื่อการประหยัดงบประมาณ ช่วยลดปริมาณของเหลือใช้ที่เหมือนไม่มีประโยชน์ให้เกิดคุณค่าอีกครั้ง แถมยังได้ภาพลักษณ์ที่เป็นไปในทางเดียวกัน กับบ้านหลังแรกด้วย

Gross Built Area : 120 ตารางเมตร
Architect : Wish Architect Design Studio
ภาพ: คุณเชาวฤทธิ์ พูนผล
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3yVxW8k

07 บ้านพัทลุง บ้านในดงสวนยาง ที่ความสุขเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความเรียบง่าย

ท่ามกลางความสวยงามของสวนยางพาราที่เรียงรายกันเป็นทิวแถว มีสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างเป็นมิตร ด้วยการออกแบบเฉพาะสิ่งที่จำเป็น และเลือกวัสดุที่กลมกลืนกับบริบท เรากำลังพูดถึง บ้านพัทลุง บ้านชั้นเดียวขนาด 43 ตารางเมตรที่ คุณนัท รักษ์ชัย นรธีร์ดิลก สถาปนิกได้ออกแบบให้คุณแม่กลับมาใกล้ชิดดูแลคุณตาคุณยายที่บ้านเกิดในพัทลุงอีกครั้ง

ความต้องการแรกเริ่มของคุณแม่นั้นมีเพียงแค่ห้องนอนและห้องน้ำ แต่คุณนัทกลัวว่าจะไม่มีการสร้างความสัมพันธ์กับบริบทรอบข้างเท่าไหร่ จึงเพิ่มระเบียงยื่นเชื่อมไปยังสวนยาง เหมือนพื้นที่พักผ่อน นั่งคุยกันรอรับประทานอาหารฝีมือคุณยาย สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านเก่า บ้านใหม่ และธรรมชาติไว้ด้วยกันท่ามกลางความเรียบง่ายที่พอดี

Gross Built Area : 43 ตารางเมตร
Architect : นัท รักษ์ชัย นรธีร์ดิลก
ภาพ: นัท รักษ์ชัย นรธีร์ดิลก
อ่านต่อได้ที่ : https://bit.ly/3ggWuC9

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้