Göbekli Tepe วิหาร 12,000 ปี พลิกประวัติศาสตร์โลก

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้นกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ อาจเก่ากว่าที่เราเคยสันนิษฐานไว้ถึงสองเท่า

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า อารยธรรมสุเมเรียน ในภูมิภาคเมโสโปเตเมีย (Sumerian Civilization, 4th millennium BC) เมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว ถือเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ จนกระทั่งในปีคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นักโบราณคดีชาวเยอรมัน เคลาช์ ชมิทซ์ (Klaus Schmidt) ได้อ่านเจอบทความสั้นๆ ที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1963 โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก เกี่ยวกับซากโบราณสถานแห่งหนึ่งบนเนินดินห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านชานลึอูร์ฟาใน ประเทศตุรเคีย (ประเทศตุรกี) เคลาช์จึงตัดสินใจเดินทางไปตรวจสอบจนได้ค้นพบกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่อายุกว่า 12,000 ปี การที่มนุษย์ในยุคนั้นซึ่งยังเป็นชนเผ่าเร่ร่อน สามรถสร้างสถาปัตยกรรมและงานประติมากรรมที่มีความประณีตขนาดนี้ได้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นการล้มล้างความเข้าใจที่เรามีต่อประวัติศาสตร์มนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง วิหารหมื่นปีแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้างวันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง

ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพจาก https://whc.unesco.org/en/list/1572/
โกเบคลี เทเป ในปัจจุบัน มีการสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันจากสภาพอากาศและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศตุรเคีย ภาพจาก https://www.dailysabah.com/arts/gobeklitepe-to-draw-more-tourists-on-european-cultural-route/news

โกเบคลี เทเป ตั้งอยู่ในดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent of the Near East) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดอารยธรรมอันหลากหลาย เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และอียิปต์โบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าที่สุดของมนุษย์ (4th millennium BC) โดย โกเบคลี เทเป มีลักษณะเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วเนินดิน ประกอบไปด้วยวิหารทั้งวงกลมและสี่เหลี่ยม กินพื้นที่กว่า 56 ไร่ (9 เฮกตาร์)  โดยคำว่าโกเบคลี เทเป เป็นภาษาตุรกีแปลว่า เนินพุงพลุ้ย มาจากสภาพพื้นที่เป็นเนินดินสูงกว่า 15 เมตรจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากที่ไกลๆ ซึ่งเนินดินนี้เป็นเนินที่มนุษย์ทำขึ้น (Artificial mound; Tepe; Tell) บนที่ราบหินปูน (Limestone Plateau) ในสมัยโบราณ

ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ หรือ อู่อารยธรรม ภาพจาก https://education.nationalgeographic.org/resource/fertile-crescent

เนินพุงพลุ้ย สู่การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

ความแปลกประหลาดที่สุดของโกเบคลี เทเป คือเรื่องของอายุ จากหลักฐานพบว่าวิหารโบราณแห่งนี้มีอายุกว่า 12,000 ปี ซึ่งยังอยู่ใน ยุคหินใหม่ก่อนเครื่องปั้นดินเผา (Pre-Pottery Neolithic (PPN) 10th -8th millennium BC) หรือ หลังยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลงได้ไม่นาน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ โกเบคลี เทเปนั้นเก่ากว่าพีระมิดถึงสองเท่า! เป็นยุคที่มนุษย์ยังดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า-ล่าสัตว์ (Hunter-Gatherer) สร้างความประหลาดใจให้กับเหล่านักโบราณคดีว่า ทำไมมนุษย์โบราณที่ใช้ชีวิตด้วยการเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ถึงสามารถสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ พร้อมงานศิลปะอันประณีตขนาดนี้ได้ และโกเบคลี เทเป อาจจะเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนทำให้เกิด การปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรและสังคมเกษตรกรรมของมนุษย์ด้วยหรือไม่

การก่อสร้างโกเบคลี เทเป ภาพจาก https://www.hurriyetdailynews.com/turkeys-gobeklitepe-readies-for-unesco-with-new-facade--113431
เนินพุงพลุ้ย สามารถมองเห็นได้จากที่ไกลๆ ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe

วิหารทั้งหมดใน โกเบคลี เทเป ถูกฝังอยู่ใต้เนินดิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อสนใจเนื่องจากการที่จะฝังอาคารทุกหลังจนมิดนั้นต้องใช้วัสดุถมปริมาณมหาศาล และเมื่อทำการขุดค้นวิหาร โกเบคลี เทเป ทีมสำรวจก็ได้พบว่า วัสดุถมส่วนใหญ่ไม่ใช่ดินธรรมดา แต่เป็นเศษหินปูนขนาดเล็กกว่ากำปั้น ซากภาชนะหิน เครื่องมือที่ทำจากหินเหล็กไฟ และเศษกระดูกสัตว์ต่างๆรวมถึงมนุษย์จำนวนมาก เพียงแค่วิหาร D (Enclosure D) อาคารเดียว ยังต้องใช้วัสดุถมกว่า 500 ลบ.ม. หรือรถโม่ปูนขนาดใหญ่ร้อยกว่าคันถึงจะถมจนมิด จนถึงตอนนี้นักโบราณคดียังให้คำตอบไม่ได้ว่า การถมวิหารเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำๆอย่างจงใจหรือไม่ และทำไปเพื่ออะไร

วิหารอันศักดิ์สิทธ์ของบรรพบุรุษ

วิหารที่เก่าที่สุดและอยู่ลึกที่สุด (Layer III) สี่อาคารได้แก่ วิหาร A, B, C, และ D มีผังรูปวงกลม ในลักษณะต่อเติมซ้อนกันไปสองถึงสามวง ใหม่ ก่อนที่วิหารหลังนั้นๆจะถูกถมทั้งหมดแล้วเริ่มต้นสร้างวงใหม่ วิหารวงกลมใน โกเบคลี เทเป มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10-30 เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงหินและเสาหินรูปตัว T ฝังอยู่ในกำแพง โดยมีเสาหินคู่รูปตัว T ขนาดใหญ่สูงกว่า 5.5 เมตรตั้งอยู่ตรงกลาง พื้นบางส่วนทำจากหินขัด Terrazzo องค์ประกอบต่างๆของวิหาร มีการแกะสลักลวดลายตกแต่งอย่างประณีต นอกจากนี้ยังพบม้านั่งหินอยู่ภายในอาคารด้วย กลุ่มวิหารที่เก่ารองลงมา (Layer II, 9th millennium BC) ส่วนใหญ่ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ประกอบไปด้วยหลายอาคาร ยังมีเสารูปตัว T ให้เห็นอยู่บ้าง แต่จำนวนงานศิลปะในวิหารกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ราวกับว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าเดิม หรือไม่ได้มีการส่งต่อความสามารถรุ่นสู่รุ่น

พื้นที่โบราณสถานโกเบคลี เทเป มองจองมุมบน ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe/
ผัง โกเบคลี เทเป ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของวิหารโบราณแห่งนี้คือ เสาหินยักษ์รูปตัวที (T) หนัก 8-10 ตัน ทำจากหินปูนคุณภาพสูงซึ่งหาได้เฉพาะในบริเวณนั้น โดยวิหารวงกลมจะมีเสาหลักเป็นคู่อยู่ตรงกลาง สูงประมาณ 5.5 เมตร และเสารองสูงประมาณ 3.5 เมตร ฝังอยู่ภายในกำแพงหินล้อมรอบเป็นวงกลม ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเอาไว้รับโครงสร้างหลังคา มนุษย์โบราณทำการขุด ตัด และแกะสลักเสายักษ์เหล่านี้ด้วยเครื่องมือหิน (Flintstone tool) เท่านั้น สำหรับฐานเสาพบว่าใช้วิธีตัดพื้นหินแข็ง (bedrock) เป็นช่องและทำแท่นเตี้ยๆขึ้นมาสำหรับตั้งเสา โครงสร้างวิหารหลายหลังในโกเบคลีเทเปเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่เสาคู่ที่ตั้งอยู่ใจกลางวิหาร D ซึ่งสูงเกือบตึกสองชั้น ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิมในสภาพสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 11,000 ปีแล้วก็ตาม

หนึ่งในเสาหินหลักของวิหาร D ถูกฝังอยู่ในวัสดุถม (Backfilling) ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe
ฐานเสาหินแกะสลักรูปเป็ด ภาพจาก https://www.pinterest.com.au/pin/306244843385727078/

งานแกะสลักมานุษยรูปนิยมโบราณ

วิหารโกเบคลี เทเป เต็มไปด้วยงานประติมากรรม ทั้งรูปปั้นหิน และงานแกะสลักนูนสูงต่ำ โดยรูปทรงของเสาตัวที (T) นั้น สามารถตีความได้ว่ามาจากร่างกายมนุษย์ (มานุษยรูปนิยม, Anthropomorphism) เนื่องจากมีการแกะสลักเลียนแบบแขนและมือมนุษย์ชัดเจน  นอกจากนี้ยังใส่เครื่องแต่งกายอย่างเข็มขัดและผ้าเตี่ยวที่มีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เสาคู่กลางวิหารน่าจะหมายถึงฝาแฝด หรือพี่น้องชายหญิง ตามตำนานของคนโบราณ ส่วนการที่เลือกมนุษย์เป็นสาระสำคัญของงานแกะสลักนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะร่องรอยงานศิลปะสมัยโบราณ เช่น ในภาพวาดผนังถ้ำลาสโกซ์ (Lascaux Cave Painting, 17,000 ปีก่อน) จะเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆมากกว่า การที่งานศิลปะในโกเบคลี เทเป มีมนุษย์อยู่เป็นศูนย์กลางวิหาร อาจหมายถึงการที่มนุษย์มีอำนาจเหนือกว่าธรรมชาติแล้วก็ได้

เสาหินกลางวิหาร D ภาพจาก https://whc.unesco.org/include/tool_image_bootstrap.cfm?id=165839&gallery=site&id_site=1572
เสาหินลักษณะคล้ายกัน พบที่ซากที่อยู่อาศัยโบราณ เนวาลิ ซอลี ภาพจาก Schmidt, K. (2010). Göbekli Tepe – the Stone Age Sanctuaries
ลวดลายแกะสลักบนเสาวิหาร D สามารถเห็นแขนและมือชัดเจน ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe

จุดประสงค์ของรูปแกะสลักนั้นยังไม่ชัดเจน อาจจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ แสดงผังดาราศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม หรือมีไว้ปกปักษ์รักษาวิหาร ตัวอย่างเช่น เสาหมายเลข 43 ที่ประกอบไปด้วยสัตว์นักล่าประเภทแมว กระทิง หมูป่า สุนัขจิ้งจอก เป็ด นกกระเรียน ละมั่ง ลาแคระ งู แมงมุม แมลงป่อง และมนุษย์ไร้หัวเพศชาย ที่อาจจะเล่าถึงเรื่องงที่น่าพรั่นพรึงคล้ายกับผลงานนรก (Inferno) ของดันเต (Dante) หรือหินแกะสลักศีรษะมนุษย์จำนวนมาก ที่อาจจะมาจากพิธีกรรมบูชากระโหลก อีกหนี่งข้อสังเกตคืองานศิลปะใน โกเบคลี เทเป ทั้งมนุษย์และสัตว์ ถ้าสามารถระบุเพศได้ ทั้งหมดจะเป็นเพศชาย โดยเฉพาะรูปแกะสลักมนุษย์หลายชิ้นมี ลึงค์ (Ithyphallic) ชัดเจน จนถึงปัจจุบันพบแค่งานแกะสลักรูปหญิงเปลือยบนกำแพงหินเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น และสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปะเชิงกราฟฟิตี้ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มงานแกะสลักดั้งเดิมตั้งแต่มีการสร้างวิหาร ซึ่งต่างกับใน เนวาลิ ซอลี ที่มีการค้นพบตุ๊กตาดินเหนียวทั้งชายและหญิงปะปนกัน

เสาหมายเลข 43 ของวิหาร D ภาพจาก http://www.andrewcollins.com/page/news/P43.htm
งานแกะสลักหินรูปศีรษะมนุษย์ จากรอยแตกที่คอแสดงว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของรูปปั้นขนาดเท่าคนจริง ภาพจาก https://www.asor.org/anetoday/2017/07/gobekli-tepe
งานแกะสลักหินมุษย์เพศหญิง ในท่าทางคล้ายกับกำลังให้กำเนิดบุตร ภาพจาก https://www.researchgate.net/figure/Goebekli-Tepe-engraving-of-a-female-person-from-layer-II-foto-Dieter-Johannes-DAI_fig5_270030960

กำแพงของโกเบคลี เทเป สร้างขึ้นจากหินวางเรียงซ้อนกัน (Ashlar Stone) โดยมีดินเหนียวหนาประมาณ 2 ซม. ระหว่างก้อนทำหน้าที่คล้ายปูนก่อ มีรายละเอียดอาคารรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า หินช่องหน้าต่าง (Porthole Stone) คาดว่าใช้สำหรับคลานเข้าออก หินช่องหน้าต่างชิ้นหนึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไป โดยมีช่องหน้าต่างถึงสองช่อง และตกแต่งด้วยงานแกะสลักนูนสูงรูปกระทิง แกะ สัตว์นักล่า และงานแกะนูนต่ำรูปงู ซึ่งยังไม่ทราบจุดประสงค์ ในปี 1994 ช่วงแรกของการสำรวจพื้นที่ เคลาช์ได้พบหินช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งโผล่ออกมาจากดิน แต่ต่อมาถูกขโมยไปพร้อมกับซากวิหารโบราณอีกหลายชิ้น (ฝีมือของแก๊งขโมยหิน คาดว่านำไปเป็นฐานรากบ้านแถวนั้น)

หินช่องหน้าต่าง (Porthole Stone) ในกำแพง มีภาพแกะสลักนูนต่ำรูปสุนัขจิ้งจอก 2 ตัว และกระโหลกวัว
หินช่องหน้าต่าง ตกแต่งด้วยงานแกะสลักนูนสูงรูปกระทิง แกะ สัตว์นักล่า และงานแกะนูนต่ำรูปงู ภาพจาก https://pbs.twimg.com/media/FRdGRJQXMAkdrUc.jpg

โกเบคลี เทเป วิหารศักดิ์สิทธ์หรือพื้นที่ทางสังคม

จากหลักฐานไม่มีร่องรอยที่แสดงว่าโกเบคลี เทเป ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด เคลาช์ เชื่อว่าโกเบคลี เทเป เป็นสถานที่พบปะชุมนุมระหว่างชนกลุ่มเร่ร่อน โดยใช้วิหารประกอบงานเลี้ยงสังสรรค์ ประเพณีบูชาประเจ้า หรือทำพิธีส่งวิญญาณ เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของชนเผ่าเร่ร่อนในปัจจุบันที่คล้ายกัน คือมีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สลับเปลี่ยนกลุ่ม และหาคู่ ในช่วงเวลาหนึ่งของแต่ละปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูกข้าวสาลีครั้งแรกในอีก 500 ปี ต่อมา ห่างออกไปจากโกเบคลี เทเปเพียงแค่ 20 ไมล์ (32 กม.) โจนาธาน โรส ตั้งข้อสังเกตไว้ใน The Well-Tempered City ว่าการตั้งถิ่นฐานมักเกิดขึ้นใกล้กับสถานที่ประกอบพิธีกรรม อาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อผู้เข้าร่วมในโกเบคลี เทเปมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ระบบต่างๆเช่น การระบายน้ำและการกำจัดของเสียถูกพัฒนาให้มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

ความสามารถที่ได้จากการสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ อาจจะมีส่วนช่วยในการสร้างบ้านเรือน ระบบชลประทาน การป้องกันตัวเอง และอื่นๆ จนพัฒนาเป็นการอยู่ร่วมกันแบบสังคมเมืองในที่สุด โกเบคลี เทเป ในแง่ของพื้นที่ทางสังคม อาจจะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ทำให้ความสามารถของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการดำรงชีวิตอยู่ในสเกลเล็กๆอย่างหาของป่าล่าสัตว์ ได้พัฒนากลายเป็นการพึ่งพากันเป็นเครือข่าย และมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในยุคต่อมานั่นเอง นอกจากนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างระหว่างยุคโกเบคลี เทเป จนถึง
อารยธรรมสุเมเรียนในอีกหกพันปีให้หลังนั้น ยังคงเป็นปริศนา ในอนาคตอาจจะเกิดการค้นพบใหม่ๆที่จะมาเติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์ที่หายไปของมนุษยชาติก็เป็นได้

แหล่งที่มาข้อมูล:
Bonham, A. (2021). Play and the City. London: Robinson.
Dietrich, O. (2016, October). Of animals and a headless man. Göbekli Tepe, Pillar 43. Retrieved from https://www.dainst.blog/the-tepe-telegrams/2016/10/14/of-animals-and-a-headless-man-gobekli-tepe-pillar-43/
Göbekli Tepe. (2022, September). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/G%C3%B6bekli_Tepe
GÖBEKLI TEPE REVEALED: What we know in 2022 | Dr. Lee Clare. (2022). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=16paeSPUIjo&t=1282s
Göbekli Tepe: The Dawn of Civilization. (2021). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=iSG1MsQSo_A&t=397s
Schmidt, K. (2010). Göbekli Tepe – the Stone Age Sanctuaries. Berlin: Deutsches Archäologisches Institut.
What is Goebekli Tepe | Klaus Schmidt | TEDxPrague. (2014, July). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=a2CDa5zRQR0&t=363s
อัศวัตถามา. (2022, October 20). “โกเบคลี เทเป” วิหารแห่งแรกของโลก ก่อนมนุษย์รู้จักเพาะปลูก อายุกว่าหมื่นปี. (ศิลปวัฒนธรรม, Ed.) Retrieved from https://www.silpa-mag.com/history/article_95000

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน