พื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชน แต่ชุมชนจะมีส่วนร่วมในการออกแบบได้มากแค่ไหน ?
จากการตั้งคำถาม สู่คำตอบที่ทีมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์พยายามมองหา จนมาริเริ่มเป็นโครงการลานกีฬาวัฒนธรรมชุมชน ที่ร่วมมือกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 4 จังหวัด 8 พื้นที่ โดยมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้จริงและเพียงพอต่อความต้องการของคนในชุมชน
1 ใน 8 พื้นที่นั้น นับรวมถึงโครงการล่าสุดอย่างการพลิกฟื้นคืน ‘พื้นที่สาธารณะชุมชน ขนาด 2 ไร่ใจกลางท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร’ ให้กลับมาตอบโจทย์การใช้งานของชุมชน โดยมีผู้ช่วยออกแบบเป็นคุณลุง คุณป้า คุณน้าและผู้ใช้งานจริงในละแวกใกล้เคียง
จากท่าฉลอมในอดีต สู่โปรเจกต์พลิกฟื้นคืนชีพในปัจจุบัน
ในอดีต ท่าฉลอมเคยเป็นชุมชนชาวประมงที่มีกลุ่มชุมชนชาวจีนอพยพมาตั้งรกราก เดิมเจริญรุ่งเรืองในด้านการค้า แต่พอบ้านเมืองเริ่มเปลี่ยนไป โรงงานเข้ามาแทนที่ ท่าฉลอมก็ทรุดโทรมลง กลุ่มสมุทรสาครพัฒนาเมือง ที่นำโดยดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ร่วมมือกับคนพื้นที่ จึงมีแพลนที่อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรวมถึงพัฒนาพื้นที่ในท่าฉลอมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“เราเข้ามาผ่านกลุ่มสมุทรสาครพัฒนาเมืองนี่แหละ แรกเริ่มเราก็เล่าว่าโครงการของเราทำเรื่อง ‘การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะโดยการมีสวนร่วม’ ซึ่งเราต้องการทำกับหน่วยงานท้องถิ่นที่อยากมีส่วนร่วม ซึ่งทางดร. เขาก็สนใจ และพาเราไปดูว่าพื้นที่ตรงไหนมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำบ้าง ตอนที่เราเข้ามาดูพื้นที่นี้ครั้งแรก มีคนเล่นเครื่องออกกำลังกายอยู่จริง ๆ มีคุณป้ามานั่งคุยกัน เราเลยรู้สึกว่าตรงนี้แหละ…มีต้นทุน ดูเป็นพื้นที่กลางของชุมชน เพราะถ้าพูดถึงท่าฉลอม ปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีพื้นที่สาธารณะแล้ว” ปุ๊ก-นฤมล พลดงนอก สถาปนิกจากอาศรมศิลป์เล่า
ปุ๊กเล่าว่า ถึงจะมีคนเข้ามาใช้งานจริง แต่พื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างทรุดโทรม มีต้นไม้หรอมแหรม ด้านหลังมืดทึม มีเครื่องเล่นเด็ก ๆ 1-2 ชิ้นที่ใกล้ผุพัง และมีเครื่องออกกำลังกายจำนวนไม่มากที่ต้องมาต่อคิวใช้งาน เมื่อได้เห็นดังนั้นกลุ่มสถาปนิกก็ได้ข้อสรุปทันทีว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาโครงการ
“พอบอกว่าเราสนใจ ดร.สุวันชัยก็พาเข้าไปคุยกับปลัดชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร รักษาการแทนนายกเทศมนตรีนครระยอง(ในขณะนั้น) ซึ่งพอเสนอว่าจะทำเรื่องการมีส่วนร่วม เขาก็สนใจทันที พร้อมเล่าว่า ปกติงานของภาครัฐฯ หรือราชการส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวทีให้ประชาชนได้มามีส่วนร่วม ครั้งนี้เลยอยากลอง เผื่อจะสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งตอนแรกทางเทศบาลเขามีโครงการอยู่แล้วด้วยนะ มีแพลนจะปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้เป็นสนามเด็กเล่นที่มีหลังคา แต่พอเห็นเรามาเสนอโครงการนี้ เขาเลยชะลอไว้ก่อน แล้วไปรับฟังความคิดเห็นชุมชนร่วมไปกับเรา”
พื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชน ที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมออกแบบ
เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชน จึงต้องรับฟังความต้องการของชุมชนจริง ๆ ก่อน ขั้นตอนแรกของการออกแบบจึงเป็นการสำรวจความต้องการของชุมชน เริ่มตั้งแต่ทีมสถาปนิกลงไปทำความรู้จักกับชุมชน รู้จักคน เพื่อสร้างความไว้วางใจ ก่อนจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะมีสองเวทีหลัก คือเวทีแสดงความคิดเห็นชุมชนและเวทีนำเสนอแบบ ซึ่งคนที่เคยไปทำความรู้จักตอนลงชุมชน ก็จะถูกเชิญมาเข้าร่วม รวมถึงมีการชวนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน อย่างกลุ่มเยาวชน จิตอาสา ผู้สูงอายุ หรือก่อนวันที่จะมาเปิดเวที ทางสถาปนิกมีการลงพื้นที่ก็ได้ใช้โอกาสนี้ชักชวนคุณลุง คุณป้าที่มาใช้งานพื้นที่จริงกว่า 30 ชีวิตมาเข้าร่วมด้วย เพื่อเปิดใจคุยกันว่า ‘พื้นที่ 2 ไร่ตรงนี้ เขาอยากให้มีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง?’
“มันดีตรงที่เป็นการฟังความคิดเห็นกลุ่ม ไม่ใช่แค่คนคนเดียว ถ้ามีคนอยากได้พื้นที่เล่นตะกร้อ ตะกร้อดียังไง จะมีคนเล่นจริง ๆ ไหม หรือควรอยู่ตรงไหนดี เราคุยกันด้วยเหตุและผล ซึ่งสถาปนิกจะเอาความคิดเห็นที่ได้จากตรงนั้นไปทำการออกแบบ อันไหนพอเป็นไปได้บ้าง ควรอยู่ตำแหน่งไหน ซึ่งหน้าที่เราคือ จัดวางองค์ประกอบพวกนี้ให้เกิดขึ้น และถูก Human scale ตามหลักสถาปัตย์ และงานแลนด์สเคป”
ชุมชนต้องการอะไร? ออกแบบอย่างนั้น
ความยากอยู่ตรงที่ ในขนาดที่ดินจำนวน 2 ไร่ ความต้องการจากคนในชุมชนค่อนข้างอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่โซนเครื่องออกกำลังกาย พื้นที่สำหรับรวมตัว ห้องสมุดและสนามเด็กเล่นสำหรับเด็ก ๆ และยังรวมไปถึงความต้องการซ่อนคาแร็กเตอร์ความเป็นชุมชนท่าฉลอมภายในพื้นที่เหล่านั้นเพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้กลับมารู้จักท่าฉลอมในอดีตที่เคยถูกลืม
โจทย์สุดท้าทายของกลุ่มสถาปนิกจึงเป็นการนำความต้องการที่มีค่อนข้างมากมาจัดวางลงในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยพื้นที่ทั้งหมดถูกแบ่งเป็นส่วนด้านหน้าและด้านหลังด้วยกิจกรรมอย่างชัดเจน โซนด้านหน้าเป็นพื้นที่ Active ที่มีทั้งสนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกาย ส่วนด้านหลังเป็นพื้นที่ Passive อย่างลานชุมชน พื้นที่พบปะนั่งเล่นที่ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากโป๊ะยกของชาวประมง ก่อนจะเชื่อมกิจกรรมทั้งหมดด้วยเส้นทางวิ่ง ซึ่งทีมแลนด์สเคปขยายขนาดของเส้นทางวิ่งให้กว้างขึ้นพร้อมทำเส้นทางให้ครบลูปเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อความปลอดภัย ลดความเปลี่ยวของพื้นที่ด้านหลังและยังเติมไฟส่องสว่างให้พร้อมสำหรับการใช้งาน ปูขอบเส้นทางด้านข้างบางส่วนด้วยบล็อกหญ้าที่สามารถวิ่งสวนกันได้ หรือในเวลาที่มีคนมาใช้งานไม่เยอะ Hardscape จะไม่ดูแข็งทื่อโดยมีสัดส่วนของพื้นคอนกรีตที่มากเกินไป
ด้วยความที่ในพื้นที่โครงการมีแทงค์น้ำเก่าซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเมืองท่าฉลอมภาคภูมิใจ (เพราะที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสุขาภิบาลแห่งแรก) ประกอบกับพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ สถาปนิกจึงเสนอการออกแบบที่นำแทงค์น้ำเดิมมาปรับใช้ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้แนวตั้ง ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งห้องสมุด พื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่ชมวิว
“เราใช้เวลาออกแบบประมาณเดือนนึง เสร็จแล้วก็นำแบบกลับมาให้ชุมชนดูอีกครั้งว่าฟังก์ชันที่เขาเสนอมาถูกไหม อยากเพิ่มอะไร เล็ก-ใหญ่ไป สูงหรือต่ำไปไหม เขาจะเข้ามาช่วยดู อย่างตอนแรกเราออกแบบอาคารห้องสมุดไปเป็นมินิมอลเรียบ ๆ เลย แต่ชาวบ้านบอกว่า…นี่ไม่ใช่ท่าฉลอม ไม่ตรงกับเก๋งเรือที่เขารู้จัก เขาเลยพาเราลงพื้นที่ไปดูเก๋งเรือของจริงกัน เพื่อให้เราเอารูปแบบมาใช้” คุณมอส-ธีรภัทร์ กรุดเงิน สถาปนิกเสริม
ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า
หลังจากได้ไปเห็นเก๋งเรือ สถาปนิกหยิบภาษาและบรรยากาศบางส่วนจากเรือมาปรับใช้ อย่างเช่นช่องเปิด หรือเส้นตารางบนดาดฟ้าเรือ เพียงแต่นำมาปรับให้เข้ากับฟังก์ชัน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาลองเป็นไต้ก๋งน้อย “ความจริงเก๋งเรือมิดชิดกว่านี้เพื่อกันลมและคลื่นทะเล แต่อันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันนั้น แต่เราต้องการให้มันมีการปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ วัสดุที่ใช้เลยเลือกที่จะเปิดโล่งไปเลย เป็นบานกระจกที่สามารถเปิดได้ เพื่อให้สามารถมองเห็นกันระหว่างคนที่อยู่ในเก๋งเรือและคนที่ใช้งานอยู่ด้านนอก รวมทั้งยังได้ยินเสียงของชุมชนโดยรอบ”
ส่วนวัสดุโครงสร้างหลัก สถาปนิกเลือกใช้เหล็กเพื่อให้อาคารมีน้ำหนักเบา และเคลือบสีกันสนิมให้สามารถทนต่อความเค็มของพื้นที่ ซึ่งเมื่อมองภาพรวมก็ได้ทั้งคาแร็กเตอร์ความเป็นเรือชาวประมงที่ผสมกับความโมเดิร์นทันสมัยที่ลงตัวคนละครึ่งทาง
“ห้องสมุดขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร ตรงนี้เรามีทางที่ปรึกษามาช่วยดูเรื่องโครงสร้างในส่วนที่ทำเพิ่มขึ้นมา ส่วนพื้นที่ด้านบนเปิดโล่งให้เด็ก ๆ สามารถนำหนังสือขึ้นไปนั่งอ่านได้ เป็นการกระจายฟังก์ชันให้มีหลากหลาย ใช้งานได้หลาย ๆ รูปแบบ บางส่วนของพื้นเราใช้เป็นตะแกรงเหล็กฉีก เพื่อให้อาคารมีน้ำหนักเบาที่สุดไม่ไปรบกวนโครงสร้างเก่าเท่าไรนัก”
บริเวณใต้ถุนแทงค์น้ำเก่าปรับใหม่ให้กลายเป็นที่นั่งสำหรับพบปะหรือนัดรอ อ้างอิงจากการใช้งานเดิมของคนในชุมชน ปรับเปลี่ยนทิศทางของทางเข้าเล็กน้อยให้พื้นที่เป็นสัดส่วนมากขึ้น
สนามเด็กเล่นไต้ก๋งน้อย
อีกส่วนที่มีการปรับปรุงจนมีรูปลักษณ์ไม่คุ้นหน้าและแตกต่างจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด คือพื้นที่สนามเด็กเล่นซึ่งมีการเพิ่มอัตลักษณ์ความเป็นท่าฉลอม อย่างการนำเสากระโดงเรือมาสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับพื้นที่ เลือกใช้พื้นโทนสีน้ำเงิน เพื่อให้เด็ก ๆ ที่ใช้งานจากห้องสมุดด้านบนสามารถจินตนาการพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นทะเล ซึ่งภายในสนามเด็กเล่นนี้ สถาปนิกจะเลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้เนื้อแข็งที่ทนต่อสภาพอากาศเพื่อให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับวัสดุจริงที่ผ่านการประดิษฐ์น้อย ๆ โดยสเป็คขนาดให้ใกล้เคียงไม้จากเรือจริง ๆ และยังเลือกใช้เชือกใยยักษ์แบบที่ใช้ภายในเรือ แต่ลดทอนบางส่วนให้เหมาะสมกับเด็กและไม่เป็นอันตราย
ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นโซนผู้สูงอายุ ที่ตั้งใจจัดวางใกล้กับเครื่องเล่นเด็กซึ่งเป็นของเดิมในพื้นที่ เพื่อให้สามารถมองเห็นกัน มีที่นั่งสำหรับรอบุตรหลาน ซึ่งเป็นโซนที่ใกล้กับโรงเรียนสอนพิเศษที่อยู่ตรงข้ามสวน ถือเป็นการเชื่อมฟังก์ชันพื้นที่ภายนอกและภายในไหลต่อเนื่องกันไปในตัว
เมื่อนำเสนอแบบต่อคนในชุมชนและทุกอย่างค่อนข้างลงตัวถูกใจทั้งผู้ออกแบบและผู้ใช้งาน ทางสถาปนิกก็นำกลับไปปรับแบบไฟนอลครั้งสุดท้าย พร้อมเขียนแบบก่อสร้างเพื่อนำส่งให้ทางเทศบาลไปจัดตั้งงบและก่อสร้างจริงต่อไป ซึ่งจากเดิมที่เทศบาลเคยชะลอโครงการไว้ เมื่อได้เห็นแบบที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชน จึงตัดสินใจพัฒนาร่วมไปกับทางสถาปนิกและชุมชน โดยมีการจัดตั้งงบประมาณในการก่อสร้างเพิ่ม ซึ่งถือเป็นประโยชน์จากการมองเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานจริง และในปัจจุบันหลังจากพื้นที่ปรับปรุงเสร็จสิ้น ก็จะมีคนในละแวกใกล้เคียงแวะเวียนมาใช้งานจริง ๆ ตามที่ออกแบบ
“ที่เราประทับใจที่สุด คือหลังจากโครงการนี้เสร็จ ชุมชนมาใช้งานในพื้นที่ที่เขาร่วมกันออกแบบจริง ๆ เขารู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขามาช่วยกันออกแบบ เขามาช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งเรารู้สึกว่ากระบวนการที่ให้เขามาร่วมออกแบบนี่แหละ…มันสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ให้กับพวกเขา เรามองว่าการทำงานชุมชน สอนให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น ถ้าเราอยากออกแบบให้ตรงกับความต้องการเขามากที่สุด เราก็ต้องเข้าใจเขามากที่สุดก่อน…”
Project Location: ลานสุขภาวะท่าฉลอม สมุทรสาคร
Gross Built Area : 3,200 sqm.
Architects: สถาบันอาศรมศิลป์
Landscape Architects : บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด
Photo Credits: Tanatip Chawang
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!