TYNW Garden House
รีโนเวทอาคารพาณิชย์ให้เป็นบ้าน ที่มีสวนเป็นใจความสำคัญ

ท่ามกลางความร่มรื่นของพรรณไม้น้อยใหญ่ ทั้งไม้ยืนต้นสลับกับไม้พุ่มที่มองแล้วแทบจะปกคลุมตัวบ้าน ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าด้านหลังเป็นจุดซ่อนตัวของสถาปัตยกรรมหน่วยย่อยอย่าง TYNW Garden House ที่ได้ทีมนักออกแบบจาก Design Identity Unit และภูมิสถาปนิกจาก ON GROUND มาร่วมมือรีโนเวทชุบชีวิตให้กลายเป็นบ้านร่วมสมัยกลิ่นอายไทยในพื้นที่สีเขียวธรรมชาติที่ทำให้เราเกือบลืมไปว่า บ้านหลังนี้เคยเป็นอาคารพาณิชย์โมเดิร์นจัดจำนวน 4 ชั้นที่ตั้งตัวอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ อย่างเขตห้วยขวางนี่เอง

‘สวน’ คือใจความสำคัญของบ้าน

เล่าถึง Exiting เดิม บ้านหลังนี้เคยเป็นอาคารพาณิชย์ไม่กี่ยูนิตในรูปร่างหน้าตาสี่เหลี่ยมโมเดิร์นจัดที่หันหน้าเข้าหาเพื่อใช้สระว่ายน้ำและชานพักร่วมกันทางเวิ้งด้านหลังของตัวบ้าน ก่อนที่ทางเจ้าของจะตัดสินใจซื้อที่ดินเปล่าเพิ่มบริเวณด้านหน้าของบ้านในปัจจุบันเพื่อขยับขยาย แต่ก็ทำไว้เพียงที่จอดรถและสวนเล็ก ๆ หลังบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปการอยู่อาศัยเริ่มลงตัว สอดรับกับความต้องการที่มากขึ้น จึงถึงเวลารีโนเวทบ้านครั้งใหญ่โดยมีความต้องการหลักให้บ้านรองรับการอยู่อาศัยของครอบครัวสมาชิกทั้ง 4 ประกอบไปด้วยคุณพ่อนักธุรกิจที่รักธรรมชาติ คุณแม่ ลูกชาย และลูกเล็กอีก 1 คน โดยบ้านจะต้องมีบริเวณกว้างขวางเปิดรับสวน เด็ก ๆ วิ่งเล่นได้บ้าง และเพิ่มการใช้งานบางสเปซที่สัมผัสธรรมชาติได้มากขึ้น

“ทีมสถาปนิกและแลนด์สเคป เราเริ่มออกแบบร่วมกันตั้งแต่แรกเลย วางเลย์เอาท์คร่าว ๆ กันก่อน ว่าสวนนั้นจะต้องเป็นประมาณไหนดี หรือสามารถเชื่อมต่อกับตัวบ้านยังไงได้บ้าง ซึ่งเราอยากให้ความพิเศษของบ้านหลังนี้ มันอยู่ที่สวนเลย ทุกสเปซจึงพยายามออกแบบหันหน้าเข้าหาสวน” คุณแอน – พัชรินทร์ ชฎาวัฒน์ สถาปนิกเล่า

ภาพก่อนการรีโนเวท
แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2
แปลนชั้น 3

เพื่อตอบรับความต้องการและให้ธรรมชาติรับบทหลัก แนวคิดแรกที่ทางสถาปนิกนำเสนอจึงเป็น ‘บ้านในสวน’ ที่จะนำ ‘สวน’ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการอ้างอิงการวางผังและออกแบบสเปซ เริ่มตั้งแต่การคิดว่า จะทำอย่างไรให้สเปซด้านหน้าอาคารเชื่อมหาสวนให้ได้มากที่สุด? ซึ่งนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และห้องครัว ที่ทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อกันก่อนจะเปิดมุมมองผ่านประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดได้ตลอดแนว ทำให้พื้นที่ทั้งภายนอกและภายในกลายเป็นสเปซเพียงก้อนเดียวที่ไหลต่อเนื่องเข้าหากัน

(เดิมบริเวณด้านหน้าทางสถาปนิกและแลนด์สเคปดีไซน์ให้เป็นสวน แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนฟังก์ชันให้เป็นสนามกอล์ฟขนาดย่อมเพื่อเอื้อต่อกิจกรรมของคุณพ่อและลูกชาย)

การเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งฟังก์ชันภายในกันเอง หรือการเชื่อมต่อพื้นที่สวน ยังส่งเสริมต่อกิจกรรมและลักษณะนิสัยของเจ้าของ ซึ่งมักจะมีเพื่อน ๆ แวะเวียนมาสังสรรค์ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ปกครองของลูก ๆ ที่มักจะมาทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ ห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และห้องครัวจึงกลายเป็นศูนย์รวมพื้นที่รับแขกสำหรับคนหลายวัย มีทั้งมุมนั่งเล่นของเด็ก ๆ มุมโต๊ะอาหารที่สังสรรค์ได้ หรือแพนทรี่ให้ผู้ใหญ่ได้มาทำอาหาร สังสรรค์กันบ้างในบางช่วงเวลา ในขณะที่ทั้งหมดสามารถเชื่อมโยงมองเห็นซึ่งกันและกัน และยังมองเห็นสวนหน้าบ้านแทนที่จะเห็นถนนที่มีรถราขวักไขว่

(ห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร แพนทรี่และห้องครัวเชื่อมถึงกันเป็นสเปซเดียว และยังเชื่อมมุมมองออกสู่สวนด้านบ้าน)

โจทย์ต่อไป คือการปรับพื้นที่จอดรถเดิมที่เคยใช้งานได้ไม่คุ้มค่า ย้ายไปบริเวณด้านหน้าของบ้านติดริมถนนเพื่อแบ่งโซนใช้งานให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ที่จอดรถเดิมจึงกลายมาเป็นห้องอเนกประสงค์วิวสวนที่ใช้ทำงานก็ได้ เอกเขนกก็ดี พร้อมใช้ประโยชน์ด้วยการหันหน้าออกสู่บ่อปลาที่มีอยู่เดิม ไหลต่อเนื่องสู่พื้นที่สีเขียวบริเวณหน้าบ้าน โดยความพิเศษของห้องนี้ คือบรรยากาศที่แตกต่างในกลิ่นอายญี่ปุ่นอย่างพื้นเสื่อทาทามิ ห้องน้ำแบบออนเซ็นซึ่งเป็นรีเควสพิเศษที่ทางเจ้าของบ้านชื่นชอบส่วนตัว  

(ปรับโซนที่จอดรถไปอยู่บริเวณด้านหน้าติดถนน ปลูกแนวต้นไผ่แบ่งโซนใช้งานให้เป็นสัดส่วนและบังมุมมอง)
Photo Credit : Rungkit Charoenwat

ปรับการใช้งานของบ้านให้ลงตัวสำหรับสมาชิกครอบครัวทั้ง 4

เพราะบ้านเดิมเป็นอาคารพาณิชย์ที่ขยายฟังก์ชันขึ้นไปตามแนวตั้ง ทำให้การใช้งานบางพื้นที่แตกต่างจากบ้านทั่วไปและไม่ตอบโจทย์การใช้งานปัจจุบันและในอนาคต อย่างเช่นห้องนอนมาสเตอร์ที่เดิมอยู่สูงสุดของบ้านบริเวณชั้น 4 จะเดินขึ้น-ลงไปใช้งานทีก็ลำบาก หรือการเลี้ยงลูกเล็กเองก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวก ผังบ้านที่ตั้งใจปรับใหม่จึงมีการเปลี่ยนห้องนอนมาสเตอร์มาอยู่ที่บริเวณชั้นสอง ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับห้องนั่งเล่นส่วนตัวของครอบครัว ที่มีการทุบพื้นชั้นสามเพื่อทำให้ส่วนนี้เปิดโล่งกลายเป็นโถง Double Space ที่ลดความทึบตันของอาคารเดิม และยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์ด้วยการมองเห็นกันระหว่างฟังก์ชัน อย่างพื้นที่ทำงานของคุณพ่อบริเวณชั้นสาม พื้นที่ออกกำลังกายของลูกชาย หรือพื้นที่ห้องนั่งเล่นซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่เลี้ยงลูกเล็กในบางเวลา

สวน ยังคงเข้ามาแทรกซึม สร้างบรรยากาศให้กับบ้าน จากเดิมที่ห้องเปิดมุมมองสู่พื้นที่สระว่ายน้ำส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันทางด้านหลังก็ถูกปิดด้วยการกั้นขอบเขตเพื่อความเป็นส่วนตัว ปลูกต้นไม้ริมรั้วเพื่อเติมบรรยากาศ ก่อนจะพยายามเปิดมุมมองที่สวนด้านหน้าแทนที่ โดยจังหวะการออกแบบของช่องเปิดทุกจุดของบ้าน จะส่งเสริมและทำให้การอยู่อาศัยสามารถเสพย์บรรยากาศของพื้นที่สีเขียวที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสเปซ

“เริ่มตั้งแต่ทางเข้าบ้าน มาสู่โถงต้อนรับ Foyer เราออกแบบเป็นกระจกที่เปิดมุมมองไปสู่สวนและบ่อปลา หรือบันไดที่อีกฝั่งของบ้าน จะมีช่องหน้าต่างที่เราตั้งใจให้เห็นหางนกยูงต้นใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นฤดูออกดอกตรงนี้จะเป็นสีส้มไปทั้งต้น..สวยมาก หรือจากบริเวณชั้นสองมองลงมาจะเห็นมุมต้นมธุรดาซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่เราอยากให้มันปกคลุมไปทั้งหลังคา เลื้อยลงมาบริเวณทางเข้าบ้าน ก็จะได้บรรยากาศร่มรื่นที่ซ่อนตัวบ้านให้สวนดูเด่นมากขึ้น หรือบริเวณระเบียงจะเห็นสวนอีกมุมหนึ่ง” คุณเปี้ยว – ใจพิมพ์ อิวาโมโตะ ภูมิสถาปนิกเสริม

ผังต้นไม้
ผังไม้พุ่ม

บ้านไทยร่วมสมัยที่มีกลิ่นอายความเรียบง่ายในแบบญี่ปุ่น

ส่วนเรื่องหน้าตาของบ้านหลังใหม่ เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อให้บ้านหลังใหม่ดูร่มรื่น น่าอยู่อาศัย และมีรูปลักษณ์ที่ต่างไปจากอาคารทึบตันหลังเดิม สถาปนิกเลือกที่จะลดทอนสเกลของบ้านให้ดูเป็นมิตรมากขึ้นผ่านการเติมกลิ่นอายความเป็นทรอปิคอลแบบไทย ด้วยการนำดีเทลงานเสา หลังคา ชายคา หรือการเข้าไม้ในแบบไทยดั้งเดิมมาใช้ หรืออย่างบริเวณชั้นบนออกแบบให้มีระเบียงเสริมด้วยหลังคาขนาดเตี้ยที่กลายเป็น Transition สเปซระหว่างภายในและภายนอก

Photo Credit : Rungkit Charoenwat

ส่วนแมสพื้นที่สีเขียวด้านหน้าที่รับบทเป็นพระเอกของบ้าน คุณเปี้ยวเล่าถึงแนวคิดการออกแบบซึ่งตั้งใจจะสะท้อนความชอบบรรยากาศญี่ปุ่นของเจ้าของผ่านสวนโดยผสมผสานบรรยากาศแบบทรอปิคอลกลมกลืนไปกับรูปลักษณ์ของบ้าน เลือกสรรประเภทของพรรณไม้ที่มีลักษณะ เท็กเจอร์ของใบเล็กใหญ่ผสมปนเปกันไป ใบใหญ่ให้บรรยากาศร่มรื่นแบบทรอปิคอล ส่วนไม้ใบเล็กสีอ่อนผสมสวนหินเข้ามาประกอบกับทางเดินที่ได้ทั้งความเป็นญี่ปุ่น และยังเดินง่าย หรือรองรับฟังก์ชันรถเข็นที่อาจต้องมีการใช้งานในอนาคต  

ใจพิมพ์ อิวาโมโตะ (ภูมิสถาปนิก) และ พัชรินทร์ ชฎาวัฒน์ (สถาปนิก)

สิ่งที่เซอร์ไพรส์เรา สำหรับโอกาสที่ได้สัมผัสแนวคิดของบ้านหลังนี้อย่างใกล้ชิด คือการได้รู้ว่าจากเดิมอาคารพาณิชย์ที่มีหน้าตาสี่เหลี่ยมธรรมดา ก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ไปจนถึงพื้นที่ภายในที่กลายเป็นตอบโจทย์การใช้งานในอนาคตได้อย่างลงตัว ซึ่งความสมบูรณ์ของบ้าน ใช่เป็นเพียงสเปซที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย แต่ยังรวมถึงความใส่ใจในบรรยากาศหรือมุมมองเล็ก ๆ ที่เกิดจากการร่วมมือและคิดไปพร้อมกันระหว่างสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน นำไปสู่ผลลัพธ์ของการอยู่อาศัยในบ้านหลังใหม่ที่ร่มรื่น อยู่สบายตอบโจทย์การอยู่อาศัยจากทั้งภายในและภายนอก

Location : RATCHADAPHISEK ROAD, BANGKOK, THAILAND
Area : 300 SQM.
Owner : Sitthisak Monrudee Tayanuwat
Architect : DIU Architect Co., Ltd. Patcharin Chadavadh, Phutthaphol Simmanee
Interior Designer : WVS Co.,Ltd.
Landscape Architect : ON GROUND Co.,Ltd.
Photographer : Tanatip Chawang

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้