ก่อนที่เราจะไปท่องเที่ยวที่กรุงโซล เราพยายามหาสวนสาธารณะที่ค่อนข้างแปลกใหม่ หรือไม่มีที่ไหนเคยทำมาก่อนอยู่สักพักใหญ่ ซึ่งก็มีสวนสาธารณะที่น่าสนใจอยู่มากมายเต็มเมืองไปหมด แต่ด้วยเวลาที่จำกัด เราจึงต้องเลือกที่น่าสนใจที่สุด และเดินทางได้ง่ายที่สุดนั่นเอง
จนเราได้พบว่ามีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า World Cup Park ที่มีสวนสาธารณะอยู่ในพื้นที่ถึง 5 แห่งด้วยกัน แถมยังมีสนามกีฬา Seoul World Cup Stadium อยู่ร่วมกันอีกด้วย ซึ่งความน่าสนใจของพื้นที่แห่งนี้ก็คือ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ฝังกลบขยะหลายหมื่นตันมานานกว่า 15 ปี อะไรที่ทำให้กรุงโซลพลิกความเหม็นเน่า มาสู่ความสดชื่นได้ขนาดนี้ไปดูกัน
การขยายตัวของเมืองที่รวดเร็วทำให้ขยะมีจำนวนเพิ่มขึ้น
World Cup Park สวนสาธารณะนิเวศขนาดใหญ่ของกรุงโซล ที่ประกอบไปด้วย สวนสาธารณะ 5 แห่ง และ สนามกีฬาขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนจะเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แบบนี้ เดิมทีพื้นที่แห่งนี้มีชื่อเรียกว่า นานจีโด (Nanjido) ซึ่งเคยเป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกล้วยไม้ ทุ่งหญ้า และที่อยู่อาศัยของนกอพยพ ซึ่งเป็นแหล่งระบบนิเวศสำคัญของกรุงโซลเลยก็ว่าได้ แต่แล้วเกาะแห่งนี้ก็กลายเป็นที่ฝังกลบขยะของประชากรมากกว่า 10 ล้านคนไปเสียอย่างนั้น เพราะการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว และส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นภูเขาขยะสูงถึง 98 เมตร หรือ 28,877 ตัน ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น (ระหว่าง ค.ศ. 1978 – ค.ศ. 1993) จึงทำให้เกิดของเสียที่มาจากขยะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำชะขยะ ก๊าซมีเทนไหลลงสู่ลำคลอง และแม่น้ำฮัน จนส่งผลให้พื้นที่เริ่มค่อยๆ แห้งแล้ง ไร้ผู้คน เพราะสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันว่าพื้นที่ Brown Field เขตพื้นที่สีน้ำตาล
จากภูเขาขยะสู่การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ
จนเมื่อปี 1990 แผนการพัฒนาของกรุงโซลได้เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากยิ่งขึ้น และนานจีโดเองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ต้องรีบปรับปรุงให้เร็วที่สุด จนกระทั่งในปี 1998 ก็ได้เริ่มทำการปรับปรุงพื้นที่ และเริ่มก่อสร้างสวนสาธารณะ และ สนามกีฬา ในปี 2000 ที่นอกจากจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางระบบนิเวศให้ดีมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งจุดประสงค์ก็คือเพื่อเทศกาลฟุตบอลโลกระหว่างเกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งกว่าเป็นสวนสาธารณะที่อุดมสมบูรณ์ สถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร จะต้องออกแบบ และปรับพื้นที่ด้วยการใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้
1.การบำบัดน้ำชะขยะ (Leachate Treatment)
การบำบัดน้ำชะขยะ โดยทำการติดตั้งผนังลงไปในใต้ดินบริเวณที่ขยะถูกทับถมที่ความลึก 17 – 56 เมตร ละมีความยาว 6,017 เมตร ไปบริเวณรอบๆ หลุมฝังกลบ และใช้ท่อสูบน้ำเพื่อเป็นการบำบัดน้ำที่เกิดจากขยะเป็นอันดับแรก ก่อนจะส่งน้ำที่ถูกบำบัดแล้วลงไปสู่แม่น้ำฮัน
2.หลุมบำบัดก๊าซมีเทน (Gas Extraction Well)
เนื่องจากขยะที่ถูกทับถมเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดก๊าซมีเทน และก๊าซอื่นๆ เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการติดตั้ง Gas Extraction Well หรือหลุมบำบัดก๊าซ ที่ถูกติดตั้งลงไปในชั้นใต้ดินทั้งหมด 31 หลุม โดยมีระยะห่างแต่ละหลุมที่ 200 เมตร โดยบ่อเหล่านี้จะทำการรวบรวมก๊าซ และส่งไปยังอาคารใกล้เคียง หรือสนามกีฬา เพื่อใช้เป็นพลังงานต่างๆ ได้
3.การคลุมดิน (Top cover)
เนื่องจากทั้งผนังและบ่อการบำบัดมากมาย ฉะนั้นเรื่องของน้ำฝนจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ที่ไม่ควรให้น้ำเข้าไปภายในหลุมจนเกิดเป็นน้ำเน่าเสีย หรือ ก๊าซต่างๆ อีก จึงทำการคลุมดินด้วยพลาสติก และติดตั้งที่กีดขวางทางน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปในพื้นที่ และสร้างให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้พืชเจริญเติบโตขึ้นได้เองตามธรรมชาติ
4.ปรับปรุงความลาดชันให้มีความเสถียร (Slope Stabilization)
การถมขยะในจำนวนมากทำให้ความลาดชันของภูเขาเกิดความไม่สมดุล จึงต้องทำการปรับปรุงความลาดชันต่างๆ ให้เกิดความเสถียร ด้วยอุปกรณ์ป้องกันการไหลของดิน พร้อมปลูกพืช ขนาดเล็กและใหญ่ คลุมดินเพื่อให้รากของต้นไม้ยึดเกาะหน้าดิน จนเมื่อต้นไม้สูงใหญ่จะช่วยให้หน้าดินแน่น และไม่ทลายลงมา อีกทั้งเป็นการใช้พืชเบิกนำให้พืชชนิดอื่นๆ สามารถเติบโต รวมไปถึงสัตว์ชนิดต่างๆ ก็สามารถเข้ามาอาศัยได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจาก 4 ขั้นตอนหลักนี้แล้วยังมีเทคนิควิธีการในเชิงลึกทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และวิชาการอื่นๆ อีกมากมาย ที่ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง
5 สวนสาธารณะที่อุดมสมบูรณ์
หลังจากทำการปรุงพื้นที่เรียบร้อยแล้ว พื้นที่แห่งนี้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า เวิลด์คัพพาร์ค (World Cup Park) ที่ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 2,284,085 ตารางเมตร ถูกแบ่งเป็น Seoul World Cup Stadium และสวนสาธารณะถึง 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ สวนสาธารณะพยองฮวา (Pyeonghwa Park), สวนสาธารณะนานจีฮันกัง(Nanji Hangang Park), สวนสาธารณะฮานึล (Haneul Park), สวนสาธารณะโนอึล (Noeul Park) และสวนสาธารณะนานจีชอน (Nanjicheon Park) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทาง ของการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2002 รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกัน ของมนุษย์กับธรรมชาติอีกด้วย
สวนสาธารณะพยองฮวา (Pyeonghwa Park)
เป็นสวนสาธารณะครอบคลุมพื้นที่กว่า 449,000 ตารางเมตร ภายในสวนแห่งนี้ถูกออกแบบให้เป็นเส้นทางเดินไม้ริมบึงน้ำที่สามารถเดินเล่น และนั่งพักผ่อนได้ โดยที่วิวทิวทัศน์ด้านหน้าเป็นป่าที่ถูกปลูกขึ้นถึง 10 ล้านต้น จึงทำให้ระบบนิเวศภายในส่วนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์มาก เพราะการออกแบบที่ทำให้ผู้คนใช้สายตามองเห็นแค่สวนป่า และสัตว์นานาชนิดเท่านั้น แต่ไม่สามารถเดินเข้าไปในพื้นที่ของป่าได้ ซึ่งเป็นการออกแบบอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยรักษาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
สวนสาธารณะนานจีฮันกัง (Nanji Hangang Park)
สวนสาธารณะเรียบแม่น้ำฮันที่มีระยะทางทั้งหมด 4.7 กิโลเมตร ออกแบบให้ทางต้อนรับเป็นลานสี่เหลี่ยมพร้อมน้ำพุ เชื่อมโยงกับที่สามารถเชื่อมกับสวนสาธารณะพยองฮวาได้ ซึ่งไฮไลท์ของสวนแห่งนี้ก็คือ สนามเด็กเล่นน้ำริมแม่น้ำที่ออกแบบให้มีความลึกแค่ 80 เซนติเมตร และ ถนนสกายพาร์ค ที่ลายล้อมไปด้วยต้นสนขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับตั้งแคมป์ได้อีกด้วย
สวนสาธารณะสวนฮานึล (Haneul Park)
สวนสาธาณระแห่งที่สองที่ถูกสร้างบนภูเขาขยะที่ความสูง 98 เหนือน้ำทะเล ถูกออกแบบให้เป็นเส้นทางจักรยานขนาดกว้าง 10 เมตร โดยรอบภูเขา ซี่งตลอดเส้นทางสามารถมองเห็นวิวของกรุงโซล และภูเขาลูกอื่นๆ ได้ หรือหากต้องการชมวิวในจุดสูงสุด ก็สามารถปั่นจักรยาน หรือเดินขึ้นไปบนยอดเขาด้วยความระยะความชันที่ค่อนข้างสูง ซึ่งตำแหน่งสูงสุดของภูเขานี้จะเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ และการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับไฟถนนภายในสวน ภายในสวนแห่งนี้มีพันธุ์พืชมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีความอุมดมสมบูรณ์อย่างมาก
สวนสาธารณะนานจีชอน (Nanjicheon Park)
เดิมลักษณะพื้นที่เป็นลำธารธรรมชาติ แต่แล้วก็ต้องเต็มไปด้วยมลพิษ และของเสียต่างๆ ลงสู่แม่น้ำฮัน จนในปัจจุบันนี้ได้รับการฟื้นฟูด้วยการบำบัดน้ำ และทำการฟื้นฟูต้นไม้ใหม่ ได้แก่ ต้นหลิว (Willow Tree), ทุ่งหญ้าแพมพัส (Pampas Grass), ทุ่งต้นกก และต้นไม้เล็กใหญ่ โดยมีต้นไม้สูงประมาณ 2,000 ต้นและต้นไม้เล็กๆ จำนวน 50,000 ต้น ซึ่งเป็นสวนสวนสาธารณะที่เน้นให้เป็นป่ามากกว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้จะออกแบบให้กลายเป็นป่า แต่ก็ได้มีการจัดวางฟังก์ชันสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่ เช่น สนามกีฬา ห้องน้ำ เส้นทางจักรยาน และทางเท้า เป็นต้น
สวนสาธารณะโนอึล (Noeul Park)
สวนที่ถูกสร้างขึ้นบนภูเขาฝังกลบขยะ ที่เริ่มแรกถูกออกแบบให้เป็นสนามกอล์ฟก่อนเพื่อป้องกันการทรุดตัว และรักษาเนินเขาให้มีความแข็งแรง คงทนมากขึ้น ต่อมาจึงได้ทำการปิดตัวลงในปี 2008 และทำการออกแบบสวนแห่งใหม่ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางนิเวศหิ่งห้อย และหนอนไหม เพราะในสวนแห่งนี้มีจำนวนสัตว์เหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 10,000 ตัวต่อปี ซึ่งเป็นการชี้วัดคุณภาพทางระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากๆ อีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ศึกษาดาราศาสตร์ที่สามารถมองดวงดาวได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย
การเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติให้กับเมืองมีข้อดีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอากาศให้มีบริสุทธิ์ซึ่งช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน หรือ ทำให้สัตว์หลากหลายชนิดเข้ามามีที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายก็คือคนเมืองที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเหนื่อยล้าจากการทำงานเมื่อไหร่ ก็สามารถเข้ามาพักผ่อนทำกิจกรรมท่ามกลางธรรมชาติได้ สำหรับ World Cup Park ถือว่าเป็นโมเดลพื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้หวือหวาอะไร แต่น่าสนใจในแง่ของธรรมชาติซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าสวนแห่งนี้จะเกิดขึ้นจริงจากบ่อขยะที่ถูกทับถมมานานมากกว่าสิบปี
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!