Brow Body Studio
ร้านสักคิ้วในบ้านเรียบง่ายหลังสีขาวที่ต้อนรับลูกค้าด้วยบรรยากาศแสนสบายใจ

“ความยากของโปรเจกต์นี้ คือทางเจ้าของชอบโครงสร้าง สเปซและรูปลักษณ์ของบ้านหลังเดิม เราต้องหาคอนเซ็ปต์เข้าไปเพิ่มเติมยังไงก็ได้ให้น่าสนใจ โดยไม่รบกวนของที่มีอยู่”

จากความท้าทายในโจทย์ของการออกแบบร้านสักคิ้วใหม่ในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 ที่นำโดยเจ้าของวัย 34 อย่างคุณบุ๋มบิ๋ม-ภัทรา ฤทธากร สู่ Brow Body Studio ร้านสักคิ้วที่เปลี่ยนบรรยากาศของความกลัวหรือความไม่มั่นใจในบรรยากาศอบอุ่นเหมือนบ้าน ด้วยการออกแบบที่พยายามเข้าถึง ปลอบโยนและคลายความกลัวให้ผู้มาใช้บริการได้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต่างจากการมาสปา โดยได้สถาปนิกคนคุ้นเคยอย่าง S.O.S Architects มารับหน้าที่ออกแบบ

เก็บโครงสร้างเดิม เพิ่มเส้นสายที่ไม่ขัดกับตัวบ้าน

ตั้งแต่การเข้าถึงแรกที่ผู้คนมองเห็นได้ตั้งแต่ผ่านไปมา นั่นคือ บริเวณฟาซาดภายนอกของอาคาร ซึ่งทางเจ้าของต้องการเก็บรูปลักษณ์เดิมไว้ สถาปนิกจึงต้องมาทำการบ้านต่อว่า ต้องเพิ่มอะไรเข้าไปสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับอาคาร จึงจะตอบโจทย์ได้ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี

นำมาสู่การออกแบบเส้นสายกำแพงอิฐโค้งบริเวณด้านหน้าอาคาร ซึ่งทำหน้าที่สร้างคาแร็กเตอร์ให้ผู้ที่ผ่านไปมาบนถนนสามารถจดจำอาคารได้ง่ายขึ้น รวมถึงไม่เข้าใจฟังก์ชันผิดว่าที่แห่งนี้เป็นเพียงบ้านพักอาศัย นอกจากนั้นระนาบกำแพงนี้ยังเป็นตัวบดบังโครงสร้างอาคารเดิมบริเวณด้านล่าง ซึ่งมีกริดเสาที่ค่อนข้างสะเปะสะปะไม่สวยงาม ก่อนที่เส้นสายกำแพงอิฐนี้จะค่อย ๆ ผสมผสานตัดเข้าหากำแพงสีขาวเส้นตรงและไหลต่อเนื่องเข้าสู่ทางเข้าภายในอาคาร

ความคอนทราสของวัสดุ สร้างความน่าสนใจ

“ทางเจ้าของเขาชอบวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเราเองก็อยากใช้วัสดุที่ให้เท็กเจอร์ไม่เรียบอย่างหิน แต่หินมันมีข้อจำกัดตรงที่ แต่ละก้อนจะมีลักษณะไม่เท่ากันเลยอาจจะยากต่อการขึ้นฟอร์ม เราเลยเลือกใช้อิฐ วัสดุหาง่ายมาสร้างความคอนทราสกับเส้นสายของอาคารที่มันมินิมอล”

จะเห็นได้ว่า นอกจากบ้านสองชั้นหลังเดิมที่มีสีขาวมินิมอล อบอุ่น สถาปนิกยังเติมคาแร็กเตอร์ให้กับอาคารด้วยการเลือกใช้อิฐที่มีรูปแบบการก่อแตกต่างกัน เพื่อเติมสีสัน และเท็กเจอร์ ช่วยลดความเพลนและแบนของอาคารให้ดูมีมิติมากขึ้น

กำแพงอิฐด้านหน้าเชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ด้านใน ซึ่งทีมสถาปนิกยังเลือกใช้ผนังอิฐบริเวณประตูทางเข้า ต่อเนื่องสู่ผนังด้านหลังบริเวณรีเซปชั่น และยังคงไหลต่อเนื่องเข้าสู่ผนังโค้งซึ่งมีฟังก์ชันเป็นพื้นที่พักคอย จนมาสิ้นสุดบริเวณผนังชั้นวางโชว์ของตกแต่ง และวางน้ำดื่มสำหรับบริการลูกค้า เพื่อไม่ให้แต่ละสเปซที่อยู่ภายในตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งผนังนี้ยังช่วยบดบังมุมมองพื้นที่เซอร์วิสและทางเข้า-ออกด้านหลังบ้านไปด้วยในตัว

“การสักคิ้ว จริง ๆ แล้วมันไม่เจ็บนะ แต่ถ้าดูจากรูปอย่างเดียวความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น คือคนจะคิดว่าเจ็บ หรือบางคนจะเกิดความกังวล เพราะมันเกี่ยวกับใบหน้า กลัวจะไม่ถูกใจ เราเลยอยากให้เขาเกิดความผ่อนคลายก่อนจะไปสักจริง”


ด้วยความที่ทางเจ้าของต้องการสร้างบรรยากาศสบายใจให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนมานั่งพักอยู่ในบ้าน หรือแม้แต่ผู้ติดตามที่มาเป็นเพื่อนกันนั่งพัก ถ่ายรูปเล่นบ้างก็สามารถทำให้ร้านได้โปรโมทไปด้วย นอกเหนือจากอิฐ ภายในจึงออกแบบให้มีการลดทอนรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ออกไป ผ่านการเลือกใช้เคาน์เตอร์ต้อนรับ พื้น ผนังบางส่วนและเพดานที่ออกแบบให้เป็นสีขาว เพื่อเป็นแบคกราวด์ให้วัสดุหลักอย่างอิฐโดดเด่นขึ้น เสริมบรรยากาศอบอุ่นเสมือนบ้านด้วยการเติมสัดส่วนของไม้เข้าไปเป็นองค์ประกอบเช่น การเก็บฝ้าเพดาน หรือตงไม้เดิมไว้ เก็บตำแหน่งคานไม้เดิมไว้ เพียงแต่ทำฟินิชชิงครอบเข้าไปเพื่อแก้ปัญหางานระบบบริเวณคานเดิมที่มีความไม่เรียบร้อยซ่อนอยู่

ก่อนจะขึ้นสู่พื้นที่บริเวณชั้นสอง จะมีประตูกั้นเพื่อแบ่งโซนเป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นโซนที่แบ่งและเปลี่ยนพื้นที่จากการนั่งคอยสู่การสักคิ้ว โดยลูกค้าจะต้องมาถอดและเปลี่ยนรองเท้าเพื่อเข้าสู่การสักจริง ประตูนี้ยังเป็นตัวกั้นโซนเพื่อเปิด-ปิดลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศในบางเวลาที่ไม่มีคนใช้งาน

สำหรับชั้น 2 จากพื้นที่โล่งของบ้านหลังเดิม ทางเจ้าของมีโจทย์ที่ต้องการกั้นห้องเป็นสัดส่วน เพื่อให้การสักคิ้วในแต่ละคิวสามารถทำได้อย่างเป็นส่วนตัวและบริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่มากที่สุด จากบริเวณบันไดซึ่งเก็บของเดิมไว้ รวมถึงตงไม้ พื้นไม้เดิม ปรับแต่งทำสีใหม่ให้มีภาพลักษณ์ที่น่าใช้งาน ส่วนบริเวณตรงกลางเป็นโซนนั่งพักคอยที่กลายเป็นมุมถ่ายรูปเช็คอิน ถัดไปโซนด้านขวาจากมุมนั่งพักคอยเป็นพื้นที่ออฟฟิศสำหรับพนักงานและช่างสัก ส่วนด้านซ้ายจะเริ่มเข้าสู่โซนห้องสัก ซึ่งสถาปนิกเก็บพื้นที่ต่างระดับของบ้านเดิมไว้ เพิ่มด้วยการสร้างระนาบผนังขึ้นมาเป็นตัวกั้นโซนให้เกิดความไพรเวทสูงสุด

ห้องสักแต่ละห้อง ยังได้แสงธรรมชาติจากบานช่องเปิดที่แตกต่างกัน สร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับผู้รับบริการได้อีกทางหนึ่ง และนอกจากนั้นการออกแบบทางเข้าห้องสัก ยังลดบรรยากาศแบบคลินิกเสริมความงามทั่ว ๆ ไปซึ่งจะมีห้องเล็ก ๆ เรียงรายรอให้เข้าไปใช้งาน ซึ่งสำหรับที่นี่ผู้ออกแบบมีการสร้างผนังโค้งฟรีฟอร์มด้วยการใช้ไม้อัดทำเป็นระแนงติดกับผนัง พ่นด้วยสีเท็กเจอร์สร้างสัมผัสที่ลดความเรียบจนเกินไป และบิดมุมเล็กน้อยเพื่อซ่อนทางเข้าห้องสักไว้ด้านหลังของบานประตูเหล่านั้น

ส่วนกรอบภายนอกสุดของอาคาร อย่างรั้ว ดีไซน์ขึ้นเพื่อสร้างความรู้สึกแข็งแกร่ง ทนทาน (เพื่อป้องกันขโมย) แต่ในขณะเดียวกันทางเจ้าของก็ยังต้องการให้รั้วมีความโปร่ง เพื่อให้มุมมองจากถนนสามารถมองเห็นภายในอาคารได้บางส่วน และไม่ปิดกั้นจนเกินไป ดีไซน์เนอร์จึงเลือกใช้โครงเหล็กที่ดูแข็งแรงสร้างเป็นโครงหลักของรั้ว และลดทอนความแข็งกระด้าง ความทึบตันลงด้วยการนำอิฐแตกหักชิ้นเล็ก ๆ มาเติมใส่ สร้างความคอนทราสระหว่างแมททีเรียลอิฐที่ดูแข็งแรง แต่นำมาทำให้ซอฟท์ลงด้วยวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้อาคารดูเฟรนลี่ พร้อมต้อนรับแขกมากขึ้น

คุณบุ๋มบิ๋ม-ภัทรา ฤทธากร เจ้าของโครงการ

โจทย์ของสถาปนิกที่ว่า “เติมของใหม่ยังไงให้น่าสนใจ และไม่รบกวนของเดิม” นำมาสู่ผลลัพธ์ของร้านสักคิ้วภายในบ้านสองชั้นที่เรียบง่ายและมีความน่าสนใจกำลังดี ผ่านการครีเอทระนาบแนวตั้งต่าง ๆ เข้าไปผสมผสานกับผนังอาคารเดิมที่มีอยู่ สร้าง Approach ทางเข้าอาคารให้น่าดึงดูดมากขึ้น พร้อมคำนึงถึงการโอบล้อมสเปซที่สร้างความน่าสนใจให้การใช้งานภายในไปพร้อมกัน

ใครสนใจเข้ารับบริการสามารถลองติดต่อเข้าไปสอบถามได้ที่ Brow Body Studio

Location : Bangkok, Thailand
Area : 218.50 sq.m.
Lead Architect : Tawanshine somboon
Interior Design : Jie Dissaraporn
Site Architect : Auey Ardsaya
Structure Engineer : chaiwat kaewkam
Photographer Credits : Tanatip Chawang

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้