Capsule Hotel and Bookstore in Qinglongwu
เสน่ห์ของภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เลือกเก็บไว้ สู่โรงแรม Minimal Rustic-Industrial
ในชนบทที่เคารพความเป็นท้องถิ่น

เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าหิ่งห้อยตัวน้อยก็ค่อย ๆ เปล่งแสงไฟ ป่าใหญ่ที่เงียบสงัดและมืดมิดก็เริ่มต้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง … ถึงแม้ว่าสถาปัตยกรรมแห่งนี้จะไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากหิ่งห้อยแต่อย่างใด แต่ทันทีที่เห็นอาคารนี้ในยามพลบค่ำก็ทำให้เรานึกถึงแมลงน้อยตัวนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน แสงไฟสีนวลที่เปล่งออกมาจากภายในลอดผ่านส่วนท้ายอาคารที่เป็นเรือนกระจกใสจนสร้างบรรยากาศสุดโรแมนติกทั้งภายในและภายนอก นี่อาจเป็นเสน่ห์แสนเรียบง่ายที่ทำให้ใครหลายคนหลงรักตั้งแต่แรกเห็นเลยทีเดียว

ที่พักดีไซน์ใหม่ในบ้านท้องถิ่นหลังเก่า

หิ่งห้อยตัวยักษ์สุดโรแมนติกนี้คือโปรเจกต์ Capsule Hotel and Bookstore in Qinglongwu โรงแรมไซส์เล็กน่าพักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนป่าลึกในหมู่บ้านชิงหลงวู่ ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นเก่าแก่ที่อยู่ภายในหุบเขาแห่งหนึ่งของเมืองเมืองถงหลู มณฑลเจ้อเจียง  ประเทศจีน เนื่องจากที่นี่เป็นหมู่บ้านแสนสงบในชนบททางเจ้าของโปรเจกต์นี้จึงต้องการสร้างโรงแรมให้ดูกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมและท้องถิ่นโดยรอบเพื่อไม่สร้างความแปลกแยกหรือสร้างสิ่งรบกวนต่อชุมชน

ตัวอาคารของโรงแรมจึงไม่ใช่สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ หากแต่เป็นนำเอาอาคารเก่าในชุมชนมารีโนเวทใหม่โดยที่ภายนอกยังคงรักษาโครงสร้างไปจนถึงผนังของอาคารดั้งเดิมไว้ และปรับเปลี่ยนความดิบของพื้นผิววัสดุตลอดจนความเก่าแก่ทรุดโทรมในส่วนต่าง ๆ บนอาคารให้กลายเป็นรายละเอียดสถาปัตยกรรมในสไตล์ Minimal Rustic-Industrial ที่ดูเรียบง่ายแต่เท่ทีเดียว

อาคารเก่าแก่นี้เคยเป็นบ้านหลังใหญ่ในชุมชน (และอาจเคยใช้ประโยชน์เป็นโกดังหรือโรงงานขนาดเล็กมาก่อน) ที่สร้างขึ้นตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงสร้างเดิมนั้นก่อสร้างขึ้นจากงานไม้ผสมการสร้างผนังจากโคลนดินผสานการเสริมคอนกรีตในบางส่วน อีกส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมแสนมีเสน่ห์ที่ทางสถาปนิกเลือกคงไว้ คือหลังคามุงจาก ซึ่งส่วนนี้เองที่ทำให้อาคารหลังนี้มีเสน่ห์แตกต่างไปจากอาคารปูนธรรมดาที่ก่อสร้างขึ้นแบบง่าย ๆ นั่นเอง

ลักษณะของบ้านดินที่ผสมผสานกับการมุงหลังคาจากนี้เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้ภายในอาคารมีอากาศหมุนเวียนและยังระบายอากาศได้ดี ทำให้ภายในเย็นสบายเวลาที่อากาศร้อนและในขณะเดียวกันก็รักษาความอบอุ่นได้ดีในยามอากาศเย็นลงด้วย ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ทำให้บ้านอยู่สบายได้ตลอดเวลาและนั่นก็เป็นคีย์สำคัญของการปรับเปลี่ยนให้อาคารหลังนี้กลายมาเป็นที่พักสุดฮิปที่น่าเข้ามาพักผ่อนเช่นกัน

ห้องสมุด + ที่พัก สองฟังก์ชันที่อยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว

อันที่จริงแล้วจุดประสงค์หลักของการรีโนเวทสถาปัตยกรรมครั้งนี้ก็คือการต้องการสร้างที่พักขึ้นพร้อมกับห้องสมุดซึ่งทั้งสองฟังก์ชันมีความสำคัญพอ ๆ กันและต้องสามารถผสมผสานอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนลงตัว หากผู้เข้าพักเป็นหนอนหนังสือก็จะยิ่งรู้สึกหลงรักสเปซแห่งนี้มากเป็นพิเศษเพราะภาพรวมของการออกแบบนั้นยึดธีมห้องสมุดเป็นหลักที่คำนึงการออกแบบตามมาตรฐานห้องสมุดอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ในขณะเดียวกันก็ลดทอนความทางการจากห้องสมุดปกติด้วยการแทรกโซนที่นั่งอ่านหนังสือหลากหลายสไตล์ ตั้งแต่ โซนอ่านแบบเป็นจริงเป็นจัง โซนนั่งอ่านแบบพักผ่อนชิลๆ ไปจนถึงโซนริมขอบหน้าต่างที่ปรับเปลี่ยนให้เอนกายนั่งอ่านได้อย่างสุดเท่

สถาปนิกต้องการออกแบบให้ที่พักแห่งนี้เป็นเสมือนห้องสมุดอารมณ์บ้านที่สามารถพักผ่อนกับหนังสือได้ตามอิริยาบถและบรรยากาศที่ต้องการ แน่นอนว่าจุดเด่นในส่วนนี้ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือการออกแบบชั้นวางหนังสือให้ผสานเข้าไปในทุกส่วนของตัวอาคารได้อย่างน่าสนใจ ชั้นวางหนังสือถูกตกแต่งให้เป็นผนังอาคารด้านในทุกด้าน และผนังกั้นพื้นที่ต่างๆ ไปในตัว รวมถึงเป็นผนังกั้นของโซนที่พักที่ทำให้เราแทบไม่เห็นว่าห้องสมุดแห่งนี้มีซอกนอนพักผ่อนแทรกตัวอยู่

ชั้นวางหนังสือทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นจากไม้ไผ่ท้องถิ่นเพื่อให้กลิ่นอายใกล้ชิดธรรมชาติ ที่สำคัญไม้ไผ่ท้องถิ่นนี้มีคุณลักษณะพิเศษที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวทำให้เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ภายในจะได้กลิ่นไม้ไผ่อ่อนๆ คลุ้งไปทั่วซึ่งกลิ่นนี้ยังทำให้รู้สึกอบอุ่นผ่อนคลายและใกล้ชิดธรรมชาติมากกขึ้นกว่าเดิมด้วย ในส่วนของวัสดุที่ใช้ทำชั้นวางหนังสือยังสอดคล้องกับพื้นอาคารในแต่ละชั้นที่เป็นวัสดุไม้ ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้มีกลิ่นอายและดีไซน์เอิร์ธโทนที่น่าสนใจ

แบ่งชั้นปันส่วน

ด้านนอกนั้นถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีแต่สำหรับโซนด้านในสถาปนิกเลือกรื้อผนังกั้นและพื้นดั้งเดิมออกทั้งหมดจนกลายเป็นโถงโล่งขนาดใหญ่หนึ่งเดียวก่อนที่จะมีการจัดสรรปันส่วนพื้นที่ใหม่ด้วยการออกแบบตกแต่งในสไตล์เรียบเท่ทันสมัยที่โดดเด่นทั้งในเรื่องฟังก์ชันและดีไซน์

ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งสันปันส่วนพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้สอยพื้นที่ได้อย่างเต็มประโยชน์แทบทุกตารางเมตร แต่สิ่งที่สัมผัสได้ทันทีตั้งแต่ก้าวเข้ามากลับไม่ใช่ความอึดอัดและกลับเป็นความอบอุ่นและโล่งสบายแทน ตรงจุดนี้ทางสถาปนิกเลือกใช้เอกลักษณ์ของโถงสูงโปร่งผสานกับการเสริมพื้นแบบไม่เต็มพื้นที่เพื่อให้เกิดช่องว่างที่ทำให้ภาพรวมดูโปร่งสบายและช่วยระบายอากาศได้ดีไปพร้อมกัน

พื้นที่ใช้สอยอาคารหากดูผิวเผินแล้วอาจเป็นเพียงโถงขนาดใหญ่เพียงห้องเดียวที่ปล่อยสเปซแนวตั้งให้สูงโปร่งจรดหลังคาแล้วแบ่งชั้นและผนังอาคารแบบไม่ปิดทึบเสียทีเดียว ในส่วนครึ่งแรกของอาคารมีการเสริมพื้นแบบไม่เต็มชั้นแล้ววางสลับกันแบบซิกแซกขึ้นไปเรื่อย ๆ ในลักษณะแบบชั้นลอยเพื่อทำให้การใช้สอยพื้นที่ดูมีมิติและดีไซน์ที่น่าสนใจ รวมถึงลดความอึดอัดลงได้ดี ส่วนนี้แบ่งพื้นที่ใช้สอยได้เป็น 3 ชั้นหลัก ๆ (ไม่รวมชั้นพื้นที่ชั้นล่างสุด) ซึ่งในส่วนนี้ใช้ชั้นหนังสือแบ่งเป็นพาร์ทิชันกั้นโซน บริเวณนี้เองที่มีการแบ่งช่องนอนในลักษณะแบบ Capsule Hotel แทรกตัวเข้าไปอย่างกลมกลืนรวมทั้งหมด 20 แคปซูล

แซมกลิ่นอายโมเดิร์นคลาสสิกเพื่อเสริมสไตล์สุดเท่

นอกจากการแบ่งพื้นที่จะช่วยลดความอึดอัดแล้วอีกรายละเอียดหนึ่งที่ช่วยให้อาคารดูโปร่งโล่งยิ่งขึ้นก็คือการออกแบบบันไดตลอดจนระเบียงกั้นด้วยเหล็กแผ่นบางที่ช่วยเสริมกลิ่นอาย Modern Industrial & Rustic Style ได้อย่างลงตัวทีเดียว และไม่ทำให้พื้นที่ดูทึบอึดอัดแถมระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้นด้วย

รายละเอียดส่วนบันไดและระเบียงนี้ยังสอดรับกับส่วนอื่นของอาคารที่ออกแบบให้มีกลิ่นอาย Modern Industrial & Rustic Style เพื่อให้เข้ากันอย่างลงตัว ตั้งแต่การโชว์โครงสร้างเหล็กตามส่วนต่าง ๆ และโครงสร้างหลังคาแบบเปลือยเพดานด้านบน ไปจนถึงโครงสร้างอาคารหลักที่ทำให้ภาพรวมเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเสน่ห์

เรือนหิ่งห้อย

อีกครึ่งหนึ่งของอาคารทางสถาปนิกเลือกปล่อยพื้นที่โล่งตั้งแต่พื้นจรดเพดานเพื่อเผยให้เห็นการออกแบบรายละเอียดส่วนหลังที่สวยงามลงตัวแล้วก็ช่วยลดความอึดอัดของอาคารไปพร้อมกัน แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของส่วนนี้ คือโซนเรือนกระจกโถงสูงขนาดใหญ่ที่สร้างเสริมออกมาเล็กน้อยให้สอดรับกับโครงสร้างเดิมอย่างลงตัว ในส่วนของผนังด้านข้างไปจนถึงหลังคาปูด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสง (เกือบใส) ในขณะที่ฟาซาดส่วนตัดด้านหน้ารูปห้าเหลี่ยมปูด้วยกระจกใสบานใหญ่เต็มพื้นที่ ความโปร่งแสงและความโปร่งใสทำให้เราเห็นโครงสร้างอาคารที่สอดผสานเสริมความแข็งแรง เป็นมุมมองที่สถาปนิกตั้งใจจนทำให้อาคารส่วนนี้ดูสวยมีเอกลักษณ์ขึ้นมาทันที

ในส่วนของโซนด้านในบริเวณโถงโล่งสูงนี้ปรับให้กลายเป็นโซนอ่านหนังสือรับแสงธรรมชาติที่น่าเอนกายนั่งพัก สถาปนิกเลือกออกแบบบริเวณพื้นให้โดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยการเจาะพื้นเป็นรูปครึ่งวงกลมลงไปแล้วปรับเปลี่ยนดีไซน์พร้อมปูพื้นหินให้กลายเป็นที่นั่งกึ่งอัฒจันทร์สำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือพักผ่อนชมริวรับแสงธรรมชาติได้อย่างสบายอารมณ์ สอดรับกับการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ตรงด้านหลังให้กลายเป็นโซนนั่งคุยสบาย ๆ ที่น่าทิ้งตัว

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการเสริมเรือนกระจกที่โผล่ออกมาเพียงน้อยนิดแต่โดดเด่นนี้ก็เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติส่องผ่านมายังด้านในได้อย่างเต็มที่ เพิ่มความสว่างและลดความอึดอัดได้เป็นอย่างดี รวมถึงลดการใช้ไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพในคราวเดียวกัน เมื่อยามอาทิตย์ลับขอบฟ้าบริเวณนี้จะเปิดไฟแสงนวลส่องสว่างจนทำให้มีบรรยากาศสุดแสนโรแมนติกไปอีกรูปแบบ ถ้าหากมองจากภายนอกแสงเรืองรองที่ส่องลอดผ่านปลายอาคารส่วนนี้ซึ่งตัดกับความมืดมิดเงียบสงัดโดยรอบทำให้อาคารหลังนี้ดูมีเสน่ห์ท่ามกลางขุนเขาเป็นอย่างมาก และนั่นเองเป็นที่มาของมุมมองที่เปรียบสถาปัตยกรรมนี้เป็นดั่งหิ่งห้อยที่มาเติมชีวิตชีวาให้กับผืนป่ายามค่ำคืน

Maximalist VS Minimalist

ดูเหมือนว่าภาพรวมของสถาปัตยกรรมนี้จะจับสไตล์ Maximalist มาผสมผสานกับสไตล์ Minimalist ไว้อย่างลงตัว เพราะหากเราเบื่อรายละเอียดการออกแบบที่ดูจัดเต็มทั่วพื้นที่ด้านในแล้วล่ะก็ เพียงก้าวเดินออกจากตัวอาคารคุณก็จะสามารถนั่งพักซึมซับกับสไตล์เรียบง่ายได้ในทันที

ฟาซาดอาคารด้านนอกโดยรอบยังคงผนังซีเมนต์ผสมดินดิบพร้อมคราบความเขรอะของอาคารดั้งเดิมไว้โดยไม่ทาสีใหม่ทับ พร้อมตั้งใจให้ส่วนนี้กลายเป็นดีเทลอาคารสุดเท่สำหรับอาคารใหม่ไปในตัว คราบเปื้อนบนผนังอาคารตลอดจนคราบสีของอักษรจีนที่วาดไว้ผสานกับโครงหน้าต่างเก่าทำให้โซนนี้กลายเป็นความเก่าที่ดูเก๋าขึ้นมาทันใด

สำหรับโปรเจกต์ Capsule Hotel and Bookstore in Qinglongwu นี้ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกจีนอย่าง Atelier toa+c ที่เคยฝากผลงานโดดเด่นในสไตล์ Modern Minimalist ไว้มากมาย ดีไซน์ที่โดดเด่นของโฮสเทลแห่งนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ FRAME Awards 2021 ในหมวด HOSPITALITY Hotel of the Year จากสื่อดังมาแล้วด้วย รวมถึงยังเริ่มเข้าตากรรมการในอีกหลายเวทีด้วย แล้วทันทีที่ภาพเหล่านี้เผยโฉมออกสู่สาธารณะ โรงแรมแห่งนี้ก็กลายเป็นจุดปักหมุดสุดป๊อบ และกลายเป็นแหล่งแฮงค์เอาท์โดนใจของบรรดาหนอนหนังสือยุคใหม่ไปในทันที

Information
Atelier toa+c: www.ateliertaoc.com/en

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน