พื้นที่ที่ไร้จุดสิ้นสุดคืออะไร?
ทำความรู้จักพื้นที่ไร้จุดสิ้นสุดในเชิงสถาปัตยกรรม

หากว่ากันตามหลักการออกแบบ Elements of Design สิ่งที่สามารถรับรู้โดยทั่วไปในเชิงมิติพื้นที่ จะประกอบด้วยองค์ประกอบขั้นพื้นฐานไปถึงองค์ประกอบที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ จุด (Point) เส้น (Line) ระนาบ (Plane) และปริมาตร (Volume) แต่ในบางบริบทองค์ประกอบเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการรับรู้ หรือความนึกคิดในจินตนาการของศิลปินและนักออกแบบที่เรียกว่า “องค์ประกอบในความนึกคิด” (Conceptual Elements) ที่ประกอบขึ้นจากจุดและเส้น จนเกิดเป็นระนาบของพื้นที่ กว้าง คูณ ยาว ในลักษณะสองมิติ และถูกห่อหุ้มด้วยระนาบอีกทีจนเกิดเป็นความลึก ซึ่งส่งผลให้เกิดการรับรู้แบบสามมิติ ในรูปแบบของปริมาตร หรือที่ว่าง (space) ในจินตนาการได้

โดยหากพิจารณาในเชิงสถาปัตยกรรม รวมถึงศิลปะแขนงอื่นๆ แนวคิดดังกล่าวมักถูกนำมาใช้ในการสร้างจินตภาพ ที่ต้องการสื่อถึงถึงระนาบและปริมาตรในจินตนาการ ที่มีความหนาแน่น, แบบแผน (pattern), องค์ประกอบซ้ำ (repetitive), ที่มีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอไร้จุดสิ้นสุด ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในแนวคิดหรือทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม, ผลงานศิลปะแบบ conceptual art, หรือฉากในภาพยนต์เรื่องสำคัญ โดยทั้งหมดจะเป็นการสร้างการรับรู้ด้วยองค์ประกอบจากจินตนาการผ่านสื่อชนิดต่างๆ ในเชิงทัศนศิลป์ ไม่ว่าจะเป็น ภาพร่างแนวคิด ภาพประกอบ หรือภาพเคลื่อนไหว ออกมาเป็นองค์ประกอบทางกายภาพที่สามารถสร้างจินตภาพได้อย่างน่าทึ่ง และยังแฝงด้วยปรัชญาหรือมโนทัศน์บางอย่างได้อย่างน่าคมคาย ซึ่งวันนี้จะมาขอพูดคุยเกี่ยวกับผลงานที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับพื้นที่ ที่ไร้จุดจบในเชิงสถาปัตยกรรม โดยจะมี keyword ร่วมกันคือ การซ้ำ (repetitive) และแพทเทิร์น (pattern) ขององค์ประกอบเชิงสถาปัตยกรรมภายในพื้นที่ ที่แผ่กระจายออกไปอย่างน่าสนใจมาพูดคุยกัน

Between Possibilities and Limitations

Ozair Mansoor นักเรียนจาก Indus Valley School of Art and Architecture เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน ผู้ชนะการแข่งขัน One Drawing Challenge เมื่อปี 2019 กับผลงาน Between Possibilities and Limitations ที่เป็น Architecture Drawing นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่จินตนาการ ในลักษณะของห้องโถงขนาดใหญ่ที่ทอดยาวออกไปอย่างไร้จุดจบ และยังแฝงด้วยปรัชญาของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบของการซ้ำที่เป็นแบบแผนขององค์ประกอบปริมาตรทรงกลมที่วางซ้อนกันเป็นชั้นที่ทอดยาวไปถึงระยะอนันต์ ที่สะท้อนถึงความจริงที่เป็นไปได้ไม่รู้จบในโลคยุคโลกาภิวัฒน์

องค์ประกอบทรงกลมในกล่องสี่เหลี่ยมที่ขยายตัวออกไปแสดงให้เห็นถึง “ข้อจำกัด” ของมนุษย์ ที่ไม่สามารถใส่องค์ประกอบทรงกลมมากกว่าหนึ่งชิ้นในหนึ่งกล่อง ที่แสดงถึงข้อจำกัดบางอย่างตามกฏความเป็นมนุษย์ รวมถึงการซ้ำกันขององค์ประกอบดังกล่าวได้เปรียบเปรยกับความจริงของมนุษย์ที่ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยังแสดงให้เห็นว่าปลายทางของชะตากรรมที่มนุษย์ทุกคนได้รับจะมี “ความเหมือนกัน”  และมีความ “เท่าเทียมกัน” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Non-Stop City และ Agronica

สถาปนิกและนักทฤษฎีสถาปัตยกรรมชาวอิตาลี Andrea Branzi ได้นำเสนอแนวคิด No-stop City ในลักษณะของภาพประกอบที่แสดงระบบผังเมืองในอุดมคติที่แผ่ขยายออกไปอย่างไม่สิ้นสุด แบ่งย่อยด้วยเส้นบางส่วนที่เป็นสัญลักษณ์ของผนังและเส้นกริดแสดงตารางหน่วยของที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมากที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งหมดถูกจัดวางอย่างเป็นแบบแผนกระจายออกไปอย่างไม่มีสิ้นสุด อยู่ในระนาบสองมิติที่ไร้ขอบเขต ทรัพยากรทั้งหมดจะถูกจัดสรรให้เพียงพอต่อพลเมืองทุกคนโดยไม่มีความได้เปรียบจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชน สิ่งดังกล่าวจะแสดงถึงปรัชญาของสังคมในอุดมคติที่เป็นอิสระจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม การไม่ระบุตัวตน และเมืองในอุดมคติที่มีความเสมอภาค

อีกหนึ่งแนวคิดของ Andrea Branzi คือ Argonica ซึ่งเป็นแนวคิดของระบบเกษตรกรรมในอุดมคติ ที่แสดงถึงระนาบพื้นที่ Landscape  ที่ทำการเพาะปลูกอย่างไร้ขอบเขต โดยจะมีการแทรกแซงอย่างมีแบบแผนขององค์ประกอบที่แสดงถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ และการซ้ำองค์ประกอบของระบบพลังงานของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่กระจายทั่วทั้งพื้นที่ในลักษณะเส้นกริด สิ่งดังกล่าวเป็นโมเดลเพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของบริบทของพื้นที่ยุคเกษตรกรรมที่จะเปลี่ยนถ่ายไปสู่ความเป็นเมือง รวมถึงเป็นการจำลองพื้นที่เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ของโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่จากระบบทุนนิยมและพื้นที่นิเวศวิทยาดั้งเดิมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการเกษตรของรูปแบบเมืองในอนาคต

Infinity Mirror Room

อีกตัวอย่างของการสร้างการรับรู้เชิงพื้นที่ที่ไม่มีจุดสิ้นสุดคือผลงาน Infinity Mirror Room ของศิลปินชาวญี่ปุ่น Kusama Yayoi ที่มีแนวคิดการสร้างงานโดยเทคนิคลวงตาและการซ้ำ ตามปรัชญาของงานศิลปะรูปแบบมหภาคและจุลภาคของจักรวาลที่ไร้จุดจบและแนวคิดเรื่องภาวะอนันต์ที่เป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัดที่เกิดขึ้นในทุกๆงานของเขา โดยที่งานของ Yayoi จะเป็นการใช้องค์ประกอบเดียว สร้างเอฟเฟกต์การรับรู้เหมือนกับการ copy การมองเห็นวัตถุจำนวนนับไม่ถ้วนลงในพื้นที่ห้องกระจกขนาดเล็ก แต่สร้างการรรับรู้เชิงพื้นที่ที่ไร้ข้อจำกัด ทำให้ผู้เยี่ยมชมรู้สึกเสมือนว่าตนเองอยู่ในพื้นที่มีวัตถุซ้ำกันเป็นแพตเทิร์นจำนวนมหาศาลภายในจักรวาลอันไร้ขอบเขต

Vivarium

ฉากหลังในภาพยนต์ไซไฟระทึกขวัญ Vivarium ของผู้กำกับชาวไอริช Lorcan Finnegan เป็นเป็นหมู่บ้านไร้จุดสิ้นสุด โดยการวางผังโครงการจะเป็นแพตเทิร์นเดียวกันทั้งหมด รวมถึงลักษณะทางกายภาพของบ้านทุกหลังและองค์ประกอบต่างๆอื่นๆอย่างเช่น ลักษณะทางสถาปัตยกรรม หลังคา สีและวัสดุ รั้วบ้าน และ โคมไฟถนน รวมถึงสภาพแวด้อมโดยรอบอย่างเช่นท้องฟ้า และก้อนเมฆ ที่มีลักษณะเหมือนภาพวาดสามมิติและยังดูสมบูรณ์แบบจนน่าขนลุก ไม่ต่างอะไรกับการ Copy + Paste ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ออกมาเป็นพื่นที่ในเชิงสถาปัตยกรรมที่ไร้ทางออกกระจายตัวออกไปอย่างไร้จุดจบราวกับเขาวงกต ลักษณะของมิติพื้นที่ดังกล่าวยังแฝงถึง แนวคิดการโหยหาสภาพสังคมในอุดมคติ กับดักของระบบทุนนิยม และรูปแบบของวัฒนธรรมบริโภคนิยม รวมถึงวัฏจักรของชีวิตที่ไร้จุดจบ

Interstellar

ฉากในห้องเหนือมิติที่ 4 (Tesseract room) ภายในหลุมดำ ของภาพยนต์เรื่องไซไฟ interstellar ที่คูเปอร์ นักวิทยาศาสตร์ตัวเอกของเรื่อง ได้ส่งรหัสกู้โลกออกมาข้ามมิติเวลาในรูปแบบของแรงโน้มถ่วง เป็นพื้นที่ในเชิงสถาปัตยกรรมในรูปแบบของปริมาตร 3 มิติ (กว้าง ยาว สูง) มาเรียงต่อกันในรูปแบบของแพตเทิร์นแบบ cluster 4 มิติที่มีความซับซ้อนเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย และกระจายตัวออกไปทุกทิศทางอย่างไร้จุดสิ้นสุด (เนื่องจากมิติเวลาไม่มีจุดสิ้นสุด?) เกิดเป็นพื้นที่ปริมาตร (ห้อง) ที่สามารถเดินทางไปทุกช่วงมิติเวลาได้ จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต พร้อมๆกัน องค์ประกอบทางทัศนศิลป์ที่เกิดขึ้น เป็นแนวคิดสุดล้ำของผู้กำกับ Christopher Nolan ที่สร้างจินตภาพการรับรู้เชิงพื้นที่อันน่าทึ่งที่มากกว่ามิติการรับรู้ของมนุษย์โดยทั่วไป

Playtime

ฉากหลังของเมือง สถาปัตยกรรม หรือสภาพแวดล้อมภายในของภาพยนต์เรื่อง Play time ของผู้กับกับชาวฝรั่งเศส Jacques Tati เป็นการนำเสนอวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ (modern city) ของกรุงปารีส ที่มีกลิ่นอายจากแนวคิดของแบบสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น (modernism architecture) ที่แสดงออกมาเป็นลักษณะทางกายภาพอย่างน่าสนใจ อย่างเช่น รูปแบบของอาคารที่มีเส้นสายเรียบง่ายเรียงต่อกัน, ฟาซาดอาคารกระจกสี่เหลี่ยมที่มีแพตเทิร์นซ้ำกันอย่างสวยงาม, ทางเดิน corridor ยาวสุดสายตาที่มีการแบ่งจังหวะช่วงเสาอย่างเป็นระเบียบ, รวมถึงฉากสำคัญในสำนักงานที่มีคอกทำงานรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เหมือนกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมภายในที่กระจายตัวออกไปอย่างมีระเบียบแบบแผน และใช้วัสดุตกแต่งภายในจำพวกโลหะสีมันวาวที่มีแพตเทิร์นเหมือนกันในทุกๆยูนิต อย่างไรก็ตาม ภาพยนต์เรื่องดังกล่าวสร้างปลายยุค 1960 ที่ยังไม่มีสเปเชียลเอฟเฟกต์เทียบเท่ากับยุคปัจจุบัน จะใช้เพียงแต่การสร้างฉากหลังด้วยไม้ทาสีเป็นเทคนิคลวงเท่านั้น แต่ก็ได้ทำให้ผู้รับชมสามารถสร้างจินตภาพถึงวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ในอนาคต ที่เกิดขึ้นหลังการเฟื่องฟูของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตซ้ำทีจะจำนวนมากๆแบบ mass production ได้อย่างดี

Upside Down

ในภาพยนต์โรแมนติก-ไซไฟ เรื่อง Upside down ของผู้กำกับชาวอาร์เจนตินา Juan Diego Solanas เป็นการเล่าเรื่องถึงดินแดนที่ อยู่ภายในดาวเคราะห์ทั้งสองโคจรรอบกันในระยะที่ใกล้มาก จนทำให้แรงโน้มถ่วงแยกโลกออกเป็น 2 ส่วน คือโลกเบื้องบน (Up Top) และโลกเบื้องล่าง (Down Below) ที่แฝงด้วยปรัชญาการแบ่งชนชั้นทางสังคม และมีเพียงท้องฟ้าเบื้องบนเท่านั้นที่มาบรรจบเข้าหากัน มีการเชื่อมต่อทางกายภาพที่เชื่อมต่อโลกทั้งสอง และสามารถเข้าออกอย่างถูกกฎหมายเพียงแห่งเดียว คือสำนักงานใหญ่ของบริษัท “TransWorld” โดยที่พื้นที่ส่วนทำงานจะจะจับแปลนแบบ open-plan office ที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นคอกทำงานสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นแพตเทิร์นอย่างเป็นระเบียบแผ่ขยายออกไปสุดลูกหูลูกตาที่ระนาบโลกเบื้องล่าง โดยที่มีการซ้ำขององค์ประกอบคอกทำงานที่เหมือนกันแต่กลับด้านตรงข้ามอยู่ที่ระนาบโลกเบื้องบน คล้ายกับการใช้คำสั่ง mirror ในการโปรแกรมเขียนแบบสามมิติ สิ่งดังกล่าวเป็นสร้างจินตภาพอันน่าทึ่งในการรับรู้เชิงพื้นที่ (space) ไร้จุดจบที่อยู่ไกล้ชิดกัน แต่มีลักษณะตรงกันข้ามได้อย่างดี

จากตัวอย่างที่หยิบยกมาพูดคุยในวันนี้ จะพบได้ว่า พื้นที่ (ปริมาตร) ที่ไร้จุดสิ้นสุดในเชิงสถาปัตยกรรม เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างปริมาตรเสมือน (องค์ประกอบความนึกคิด) และปริมาตรจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ นักคิด สถาปนิก และนักออกแบบมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างจินตภาพ หรือถ่ายทอดแนวคิดถึงลักษณะพื้นที่ที่มีความซับซ้อน และอยู่นอกเหนือขอบเขตพื้นที่กายภาพเชิงสถาปัตยกรรมที่จะสามารถปรากฎได้ในความเป็นจริงได้อย่างดี

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว