Taryn Tara Café & Stay
อาคารลุคโมเดิร์นบนหน้าผาชันที่นอบน้อมกับธรรมชาติและบริบทเดิม

ระหว่างทางขึ้นเขามุ่งหน้าสู่หมู่บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ ริมทางขนาบแม่น้ำแม่ลาย ที่นี่มีหมุดหมายใหม่ที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ Taryn Tara Café & Stay บ้านพักตากอากาศและโฮมคาเฟ่ในลุคหน้าตาสุดโมเดิร์นแบบอาคารสมัยใหม่แทรกตัวไปกับป่าไม้ โขดหิน ลำธารและธรรมชาติ ด้วยโจทย์ของการออกแบบซึ่งสถาปนิกจาก S.O.S Architects ตั้งใจว่า “จะเป็นไปได้ไหมถ้าอาคารโมเดิร์นที่ดูผิดแผกไปจากสถานที่ใกล้เคียง จะสามารถเคารพ และนอบน้อมกับพื้นที่นั้นให้มากที่สุด”

บ้านพักอาศัย + Airbnb + Home Café 

ก่อนจะมาลงตัวเป็นบ้านพักและคาเฟ่ โจทย์แรกเริ่มต้นจากการเป็นเพียงบ้านพักตากอากาศขนาดเล็ก ๆ ที่คุณพ่อและคุณแม่เจ้าของตั้งใจย้ายมาพักหลังจากเกษียณ แต่พอทำแบบอาคารเสนอไปได้ประมาณหนึ่ง ลูกสาวทั้งสองก็มองว่าน่าจะเสริมส่วนของโฮมคาเฟ่เข้าไป เผื่อเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวแม่กำปองได้แวะพักผ่อนดื่มกาแฟระหว่างทาง แต่หลังจากคุยแบบต่อไปได้ไม่นาน จากบ้าน 1 ห้องนอนก็ขยับขยายกลายเป็น 3-4 ห้องนอนเพราะมีการคิดเผื่อกิจกรรมรวมญาติหรือครอบครัวใหญ่ในบางครั้ง ซึ่งในบางโอกาสที่ไม่มีคนมาใช้งาน บ้านและห้องพักก็สามารถปล่อยเช่าเป็น Airbnb ได้ในตัว

“ความน่าสนใจของที่นี่คือพื้นที่ตั้งโครงการ ที่เราว่าไม่ให้หาทำได้ง่าย ๆ ตอนเริ่ม เราเลยต้องลงมาดูสถานที่ วิเคราะห์ไซท์เยอะมาก มาคอยถ่ายภาพเอาไปสเก็ตช์ จะเปิดมุมมองตรงไหนดี ตรงไหนมองเห็นน้ำตก หรือยอดเขา”

สถาปนิกเล่าว่า ความท้าทายของงานนี้อยู่ที่ไซท์การก่อสร้างซึ่งเป็นแนวหน้าผาชันลดหลั่นไปจนถึงลำธารที่อยู่ด้านล่างของไซท์ ทางสถาปนิกจึงวางผังให้สอดคล้องไปกับบริบทเดิมโดยจากแนวพื้นชั้นบนสุดที่ติดกับถนนจะเป็นห้องนั่งเล่นของบ้าน มีพื้นที่รับประทานอาหารและแพนทรี่เล็ก ๆ ลดหลั่นกันไป ขยายขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยในแนวตั้งเพื่อลดการกระจายพื้นที่แนวราบไปเบียดเบียนธรรมชาติเดิม ซึ่งพื้นที่ชั้นสองจะเป็นห้องพักจำนวน 2 ห้องของคุณพ่อคุณแม่และลูกสาวทั้งสองที่มีไฮท์ไลท์ คือวิวเรือนยอดไม้ธรรมชาติ และยอดดอยที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างชัดเจน

แปลนชั้นล่างสุด
แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2

ส่วนอีกหนึ่งห้องนอนสำหรับแขก ถูกดีไซน์ให้แยกออกจากตัวบ้าน โดยจะอยู่บริเวณด้านล่างติดกับลำธาร เพื่อแบ่งสัดส่วนการใช้งานจากบ้านหลักได้อย่างเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังเปลี่ยนมุมมองของอาคารได้อีกหนึ่งเลเยอร์ ซึ่งมุมเรือนยอดไม้จะกลายเป็นวิวลำธารและพุ่มไม้แทน

อาคารที่อยู่ทางด้านขวาเมื่อมองจากถนน เป็นโฮมคาเฟ่ที่เน้นฟังก์ชันง่าย ๆ ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก โดยภายในชั้นหนึ่งจะมีเพียงบาร์และครัวเล็ก ๆ สำหรับใช้อบขนม ส่วนพื้นที่นั่งรับประทาน ทางเจ้าของต้องการเน้นโซนภายนอกเพื่อให้ลูกค้าสัมผัสความเป็นธรรมชาติของพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ถัดขึ้นไปชั้นบนเป็นห้องพักเล็ก ๆ สำหรับเจ้าของ เผื่อในวันที่บ้านถูกปล่อยเช่าเป็น Airbnb ก็ยังมีพื้นที่ให้นอนพักเฝ้าร้านได้อย่างลงตัว

วัสดุจากบ้านไม้หลังเดิมสู่รูปลักษณ์ของอาคารแบบใหม่

อีกโจทย์สำคัญจากทางเจ้าของ คือไม้สักเก่าที่คุณพ่อคุณแม่สะสมมานานจากการรื้อบ้านหลังเดิม แต่ทางสถาปนิกมองว่าคงไม่เหมาะ ถ้าหากจะนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลัก เพราะอาจจะไม่คงทนแข็งแรงมากพอ โครงสร้างอาคารหลักที่ดีไซน์ใหม่จึงเป็นโครงสร้างปูน คอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนบริเวณที่ใกล้กับลำธารจะเลือกใช้โครงสร้างเหล็กที่รื้อถอนได้ง่าย มีความยืดหยุ่นและน้ำหนักเบา สร้างความคอนทราสให้ภายในดูโคซี่มากขึ้นด้วยการออกแบบพื้นที่ภายในและดีเทลต่าง ๆ ด้วยวัสดุไม้ เช่น วงกบ ประตูหน้าต่าง ราวจับ พื้น ระเบียง หรือผนัง ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า ผนังและพื้นไม้จะมีขนาดที่คละปะปนกัน เนื่องจากต้องเลือกใช้ไม้เก่าที่มีขนาดหน้าไม้ 4” 3” 2” ไม่เท่ากันนั่นเอง  

“ความยากคือ เทคนิคก่อสร้าง พออาคารตั้งอยู่บนสโลป เราต้องคำนึงเรื่องน้ำจากถนน การทำกำแพงกันดิน ร่องน้ำ และการเดรนน้ำต่าง ๆ นอกจากนั้น พอมันเป็นหน้าผา บริเวณใต้อาคารจะเป็นดินน้อยมาก ส่วนมากเป็นหินทั้งหมด เลยต้องคอยปรับแบบหน้างานตอนทำฐานราก เช่น บางจุดขุดเจอหินก้อนใหญ่มาก ขุดไปต่อไม่ได้ เราก็จะทำงานกับวิศวกรโครงสร้างต่อ ซึ่งเขาแนะนำให้เจาะฝังเข้าไปในหิน และเทปูนอมหินไปเลย เพื่อใช้หินธรรมชาติเป็นหนึ่งในฐานรากของเรา”

ที่มาของลุคอาคารหน้าตาโมเดิร์นที่เป็นความชอบส่วนตัวของทางเจ้าของ สถาปนิกใส่ความโค้งมนของอาคารที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นคอนทัวร์ พื้นที่ท็อปวิวของอาคารและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง โดยมีการเจาะช่องเปิดในลักษณะโค้ง พร้อมขยับเสาของอาคารให้เข้ามาด้านใน เพื่อไม่ให้เสาอยู่ตรงมุมอาคารบดบังทิวทัศน์และลดโอกาสที่จะมองเห็นวิวแบบพาโนรามามากขึ้น อาคารจึงล้อไปกับเส้นสายของธรรมชาติ แนวโขดหิน ส่วนผนังอาคารลดความเรียบ เพิ่มมิติของแสงเงาตกกระทบจากธรรมชาติด้วยการออกแบบผนังเท็กเจอร์เลียนแบบแนวหินธรรมชาติที่มีพื้นผิวขรุขระ

“ถ้ามองจากบริเวณลำธาร เราจินตนาการว่าอยากให้อาคารโผล่ออกมานิด ๆ จากแนวต้นไม้เดิมในไซท์ อย่างอาคารคาเฟ่จะหลบและแทรกไปกับต้นขนุนที่มีอยู่เดิม ส่วนระเบียงเราวางตำแหน่งตามมุมมอง ตรงไหนมีต้นไม้ใหญ่เราจะเจาะช่องพื้นเพื่อหลบต้นไม้ อย่างต้นกระท้อนบริเวณระเบียงห้องนอนแขก คือเราพยายามวางอาคารให้มันแทรกไปกับพื้นที่ของความเป็นธรรมชาติ เพราะเราไม่ได้คิดแค่ว่า อยากวางตรงนี้ ต้องตัดของเดิมให้หมด เราต้องการให้มันแหวกแทรกเข้าไปอยู่อย่างถ่อมตัว และเคารพทุกอย่างในพื้นที่เดิมให้มากที่สุด” สถาปนิกเล่า

Architect: S.O.S Architects
Design Team : Chaikla Dangboon, Alongkot Paophanit
Structure Engineer : Chaiwat Kaewkam
Construction Consultant : Creative Design
Photographer : Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้